ก่อนจะถึงน้ำตกอีกวาซู

จากเมืองมาเนาส์ รัฐอามะโซนัส ประเทศบราซิล ผมได้รับภารกิจให้ติดตามพระคุณเจ้า 2 รูปไปยังอาร์เจนตินา หรือในความหมายที่แท้จริงก็คือพาท่านทั้งสองไปส่งและรับใช้ตามสมควรที่วัดในจังหวัดบัวโนสไอเรส

ทั้งสองท่านไม่มีวีซ่าเวเนซุเอลาเหมือนกับคณะใหญ่ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมเทศกาลอาหารไทยที่กรุงการากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิมา ซึ่งเวเนซุเอลาเป็นหนึ่งในประเทศที่สถานทูตไทยประจำเปรูดูแลรับผิดชอบ

คณะดังกล่าวมีพระสงฆ์ 3 รูป โยมติดตาม 3 คน เดินทางจากบราซิลเข้าเวเนซุเอลาโดยรถบัส เมื่อข้ามชายแดนบราซิล-เวเนซุเอลาไปแล้วก็จ้างรถอีกหลายต่อกว่าจะถึงกรุงการากัส จนสุดท้ายได้เข้าพบประธานาธิบดี “นิโกลัส มาดูโร” และได้สอนการฝึกสมาธิเบื้องต้นแก่รัฐมนตรี ภริยา และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเวเนซุเอลา

ผมเองไม่มีวีซ่าเวเนซุเอลาเช่นกัน เพราะตอนที่เขาทำวีซ่าเวเนซุเอลากันที่เม็กซิโกนั้นผมยังเข้าเม็กซิโกไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องวีซ่าเม็กซิโกจนต้องบินตามไปสมทบที่โคลอมเบีย ก่อนจะร่วมคณะล่องแอมะซอนจนมาถึงเมืองมาเนาส์ของบราซิล

โยมท่านหนึ่งถวายปัจจัย 500 ดอลลาร์เพื่อให้พระคุณเจ้าทั้งสองไปเที่ยวกันที่ไหนก็ได้ในอาร์เจนตินา ทั้งสองท่านมีมติตรงกันเลือกน้ำตกอีกวาซู ภารกิจย่อยของผมก็เริ่มขึ้นหลังจากเดินทางถึงวัดหลวงอาร์เจนตินา เมืองจาโคมุส จังหวัดบัวโนสไอเรส โดยจะขอกล่าวถึงวัดและชุมชนชาวลาวอพยพที่อุปถัมภ์วัดในโอกาสต่อไป

น้ำตกอีกวาซูตั้งอยู่ห่างจากวัดหลวงอาร์เจนตินาไปทางทิศเหนือเกือบๆ 1,400 กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงบัวโนสไอเรสไปลงที่สนามบินเมืองอีกวาซู ค่าตั๋วถูกสุดสำหรับ 3 คนรวมไป-กลับที่ผมหาได้ในช่วงนั้นตกอยู่ที่ประมาณ 400 ดอลลาร์ เหลือเงินอีก 100 ดอลลาร์ ก็หมดลงทันทีตั้งแต่อาหารเพลก่อนขึ้นเครื่อง

เราบินด้วยสายการบิน Aerolineas Argentinas จากสนามบิน Ezeiza ถึงสนามบิน Cataratas del Iguazú เวลาประมาณ 1 ทุ่ม ออกจากอาคารผู้โดยสารขาเข้าแล้วก็เจอคิวแท็กซี่

เจ้าหน้าที่คุมคิวให้ผมเขียนชื่อ-ที่อยู่ของที่พักในตัวเมือง Puerto Iguazú ค่ารถออกมาที่ 1,800 เปโซ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 320 บาท ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับระยะทาง 20 กิโลเมตร จากนั้นเขาก็เรียกเจ้าของแท็กซี่มาพบ โชคดีเหลือเกินโชเฟอร์พูดภาษาอังกฤษได้

ระหว่างทาง พอทราบว่าเรามีเวลา 2 วัน (ไม่รวมวันนี้) ลุงโชเฟอร์เจ้าของรถเก๋งเรโนลต์ เสนอขับรถนำเที่ยวน้ำตกทั้งฝั่งอาร์เจนตินาและฝั่งบราซิล แกแนะนำว่าวันแรกให้ไปฝั่งบราซิลก่อน เพราะต้องผ่านด่านตรวจคนออกเมือง-เข้าเมือง 2 รอบ (ไปและกลับเข้ามาใหม่) ถ้าจะยุ่งก็ยุ่งเสียตั้งแต่วันแรก วันที่สองเที่ยวฝั่งอาร์เจนตินาได้อย่างสบายใจจนถึงเย็น จากน้ำตกไปสนามบินแค่ 15 นาที ค่าบริการรวม 15,000 เปโซ หรือ 75 ดอลลาร์ (อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเดือนพฤษภาคม 1 ดอลลาร์เท่ากับ 200 เปโซ ซึ่งเรตทั่วไปกับเรตทางการของอาร์เจนตินานั้นต่างกันประมาณครึ่งต่อครึ่ง ผมจะอธิบายภายหลัง)

ลุงโชเฟอร์ชื่อ “บาซิลิโอ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บาซี” คงกลัวผมไม่ตอบตกลง แกอธิบายต่อว่ารถของแกจดทะเบียนเป็นรถเพื่อการท่องเที่ยว ไม่ต้องเข้าคิวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเหมือนรถทั่วไป อีกทั้งแกรู้จักกับเจ้าหน้าที่ ใช้เวลาเรื่องหนังสือเดินทางที่ด่านแค่ไม่กี่นาที แกเหนือชั้นกว่าตรงที่นอกจากพูดสเปนแล้วยังพูดโปรตุเกส ภาษาของชาวบราซิลได้ด้วย และที่สำคัญแกพูดภาษาอังกฤษได้ แท็กซี่ทั่วไปพูดไม่ได้ แกเป็นคนท้องถิ่น รู้เรื่องน้ำตกและเรื่องอื่นๆ แถบนี้เป็นอย่างดี แถมประสบการณ์ก็นาน ลูกค้าจะได้ไกด์นำเที่ยวในราคารถแท็กซี่ พอรถแกจอดหน้าที่พักของเรา ผมก็ตอบตกลง

เช้าวันรุ่งขึ้นแกมารอหน้าที่พักก่อนเวลานัด 10 โมงเช้าประมาณ 15 นาที ตอนที่พวกเราลงไปลุงบาซียืนดูดเยอบามาเต ชาแบบฉบับของชาวปารากวัย อาร์เจนตินา และอุรุกวัย แกว่าชานี้ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สมองปลอดโปร่ง ไม่ง่วงซึม และไม่ค่อยหิว มีโอกาสแล้วผมจะกล่าวถึงชามาเตอย่างละเอียดต่อไปครับ

ลุงบาซีมีข้อเสนอใหม่เพิ่มเข้ามาในทริปวันนี้ นั่นคือก่อนไปเที่ยวน้ำตก แกจะขับเลยไปเที่ยววัดจีนก่อน โดยขอบวกเพิ่ม 5,000 เปโซ เพราะระยะทางไป-กลับเพิ่มขึ้น 35 กิโลเมตร รวมเป็น 20,000 เปโซ ผมตกลง

รถของลุงบาซีเข้าช่องทางสำหรับรถสาธารณะและบริการท่องเที่ยว ไม่ต้องเข้าคิวเดียวกับรถทั่วไปซึ่งแถวยาวเหมือนที่แกว่าจริงๆ แกจอดรถแล้วเอาพาสปอร์ตของพวกเราลงไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประทับตราออก แล้วเดินกลับมาอย่างรวดเร็ว

ออกจากด่านตรวจคนเข้าเมืองของอาร์เจนตินา ถนนมุ่งหน้าสู่บราซิล แต่ก่อนถึงฝั่งบราซิลต้องผ่านแม่น้ำอีกวาซูโดยข้ามสะพานชื่อ Tancredo Neves ลุงบาซีจอดรถให้เราลงไปถ่ายภาพ ตรงกลางสะพานคือเขตแดนระหว่างอาร์เจนตินาและบราซิล แบ่งกันด้วยสีฟ้าขาวและเขียวเหลืองของแผงคอนกรีตใกล้ราวสะพาน

ทางทิศตะวันออกของสะพาน ห่างออกไปราว 17 กิโลเมตรคือน้ำตกอีกวาซู และหากเรามองไปทางทิศตะวันตกซึ่งอยู่ห่างออกไป 3 กิโลเมตร คือจุดที่แม่น้ำอีกวาซูไหลไปบรรจบกับแม่น้ำปารานา ซึ่งปารานาคือแม่น้ำสายยาวอันดับสองของอเมริกาใต้ รองจากแอมะซอน เป็นแม่น้ำอีกสายที่มีความสำคัญอย่างมากต่อชาวอเมริกาใต้ อีกฝั่งของแม่น้ำปารานาคือประเทศปารากวัย สามารถมองเห็นจุดบรรจบที่ตัดกันเป็นมุมฉาก รวมทั้งป่าไม้และอาคารบ้านเรือนของฝั่งปารากวัย

จากสะพานถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองของบราซิลระยะทาง 1.3 กิโลเมตร ลุงบาซีใช้เวลาดำเนินการทุกอย่างเสร็จสิ้นด้วยความรวดเร็วเช่นกัน จากที่พักจนออกจากด่านของบราซิล เราใช้เวลาแค่ประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น สำหรับการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางผมจะได้อธิบายอีกครั้ง เพราะอีกเกือบ 3 เดือนหลังจากวันนี้ ผมหาโอกาสใช้รถโดยสารเส้นทางนี้ได้สำเร็จ

ลุงบาซีขับผ่านตัวเมือง Foz do Iguaçu ขึ้นไปทางทิศเหนือ เลี้ยวซ้ายทีหนึ่ง จากนั้นก็ดูไม่ค่อยมั่นใจทิศทาง แกต้องจอดรถถามทางที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง และพอขับไปถึงปากทางเข้าวัดแกก็บอกว่าไม่เคยมาเหมือนกัน เพิ่งจะทำการบ้านมานิดหน่อยเมื่อคืน

มีคนคอยโบกรถอยู่ตรงปากถนนเข้าวัดซึ่งคงเป็นถนนที่วัดสร้างขึ้นเอง เพราะนอกจากวัดแล้วไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ และถนนไม่เชื่อมกับเส้นอื่น ลุงบาซีถามคนโบกรถว่ามีค่าเข้าชมไหม ได้รับคำตอบว่าไม่มี ถนนขึ้นเนินไปถึงหน้าวัด พื้นที่ลานจอดรถกว้างขวาง ลุงบาซีจอดรถแล้วเดินเข้าวัดไปด้วย ก่อนที่ต่างคนต่างแยกย้ายกันถ่ายภาพ

 

วัดแห่งนี้ชื่อวัดเฉิงเทียน (ภาษาโปรตุเกสใช้ Templo Chen Tien และวงเล็บไว้ว่า Cheng Tian) ตั้งอยู่บนเนินริมฝั่งแม่น้ำปารานา ซึ่งแม่น้ำปารานาช่วงนี้คือพรมแดนธรรมชาติระหว่างบราซิลและปารากวัย เมื่อมองลงไปทางทิศใต้จะเห็นสะพานมิตรภาพบราซิล-ปารากวัย และเมือง Ciudad del Este ของปารากวัย

วันนี้อากาศดี แดดจ้าแต่ไม่ถึงกับร้อน นักท่องเที่ยวมีไม่มาก ป้ายข้อความในวัดล้วนเป็นภาษาโปรตุเกส ผมสงสัยอยู่ว่าวัดจีนแห่งนี้น่าจะสร้างโดยชาวไต้หวัน พอเดินถ่ายภาพจนหนำใจแล้วผมเดินเข้าร้านขายของที่ระลึกซึ่งเป็นอาคารเล็กๆ แยกออกมา มีสตรี 2 คนทำหน้าที่ คนหนึ่งอายุคงประมาณ 70 ปี อีกคนเกือบๆ 50 ปี คนที่อายุน้อยกว่าพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานของผมได้ว่าวัดนี้เป็นวัดไต้หวันจริงๆ

ผมหาข้อมูลภาษาอังกฤษของวัดในอินเทอร์เน็ตหลังจากนั้น แต่หาไม่ได้ โชคยังดีที่ซื้อหนังสือแนะนำวัดมา 1 เล่ม แม้จะเป็นภาษาโปรตุเกสแต่ก็สามารถใช้แอปมือถือสแกนข้อความและแปลออกมาได้ คำที่เป็นชื่อบุคคลผมต้องคงภาษาเดิมไว้ เพราะกลัวว่าเขียนเป็นภาษาไทยแล้วอาจเพี้ยน

ข้อมูลพอสังเขปของวัดมีว่า พระอาจารย์ Tong Zhong จากวัด Chen Tien กรุงไทเป เดินทางมายังนครเซาเปาโลเมื่อปี ค.ศ.1992 จากนั้นก็ข้ามไปสร้างศูนย์วิปัสสนาที่เมือง Ciudad del Eeste ในปารากวัย ก่อนจะกลับมาสร้าง “วัดพุทธศาสนานานาชาติเฉิงเทียน” ขึ้นที่เมือง Foz do Iguaçu รัฐปารานา ประเทศบราซิลในปี ค.ศ.1996 เริ่มจากสร้างพระพุทธรูป “พระเมตไตรย” ขึ้น 1 องค์ และ “พระอมิตภะ” 108 องค์ ใช้ช่างและวัสดุจากบราซิลทั้งหมด ปีต่อๆ มาจึงได้นำพระพุทธรูปและรูปปั้นต่างๆ เข้ามาจากต่างประเทศ (ไม่ได้ระบุชื่อประเทศ) รวมถึงพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ และที่ประดิษฐานในพระวิหารคือ รูปปั้น 4 กษัตริย์สวรรค์ และ 18 พระอรหันต์ ซึ่งทางวัดไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ

ปี ค.ศ.2014 ได้นำพระพุทธศากยมุนีเข้ามาประดิษฐานบริเวณทางเหนือสุดของวัด ด้านหลังของพระเมตไตรยและพระอมิตภะ 108 องค์ หนังสือเล่มนี้ระบุว่าพระพุทธศากยมุนีเมื่อรวมฐานแล้วมีความสูง 10 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ข้อมูลนี้อาจไม่ถูกต้อง เพราะยังมีพระพุทธรูปองค์โตที่วัดลาวเมืองโปซาดัส ประเทศอาร์เจนตินา สูงถึง 13 เมตร ผมไปเห็นมาแล้ว ใหญ่โตกว่าของวัดไต้หวันอย่างแน่นอน

สำหรับวัดเฉิงเทียน (ในไต้หวัน) ต้นสังกัดของพระอาจารย์ Tong Zhong ก่อนที่ท่านจะเดินทางมายังบราซิลนั้น ผมเชื่อว่าเป็นวัดเดียวกับวัดซิงเทียน (Hsing Tian Kong) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในไต้หวัน

ในหนังสือระบุว่าผู้ก่อตั้งวัดเฉิงเทียนไต้หวันคือท่านกวงชิง (Guang Qin) ท่านเกิดที่มณฑลฝูเจี้ยน ค.ศ.1892 อพยพไปไต้หวัน ค.ศ.1947 ก่อตั้งวัดหลายแห่ง รวมถึงวัดเฉิงเทียน มรณภาพ ค.ศ.1986 ท่านถือเป็นแบบอย่างพระสายปฏิบัติทั้งในจีนและไต้หวัน

เพียงแต่ว่าเว็บไซต์ของวัดซิงเทียนไต้หวันนั้นเขียนชื่อผู้ก่อตั้งเป็นตัวอักษรโรมันว่า Hsuan Kung ผมไม่สันทัดการออกเสียงภาษาจีนจึงไม่กล้ายืนยันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ผมสอบถามสตรีร้านขายของที่ระลึกว่าในวัดเฉิงเทียนแห่งนี้มีพระสงฆ์จำวัดหรือไม่ เพราะไม่เห็นพระแม้แต่รูปเดียว เธอตอบว่ามี ซึ่งตอนนี้พระท่านคงอยู่ในกุฏิ อาคารเล็กๆ สามสี่หลังที่ไม่เปิดให้เข้าชม

เราออกจากวัดเวลาเที่ยงนิดๆ ระหว่างทางมุ่งหน้าไปน้ำตกอีกวาซู ลุงบาซีแวะจอดที่ร้านอาหารขนาดใหญ่ชื่อ Rafain แกพยายามเสนอให้กินมื้อเที่ยงแบบบุฟเฟต์ที่นี่ตั้งแต่ตอนเช้าแล้ว ผมรู้ว่าแกได้ค่าคอมมิชชันแน่นอน เพราะแกถึงขั้นยื่นมือถือให้ดูเรตราคาในเว็บไซต์ของร้าน ผมยังไม่ได้ตอบตกลง ตอนหลังแกคงไปคุยกับพระคุณเจ้าและท่านคงไม่ได้ปฏิเสธเพราะท่านฟังไม่ออก ลุงบาซีเลยถือวิสาสะตีความเอาเอง ผมรู้ดีค่าอาหารไม่ธรรมดา หัวละ 99 เรียล ยังไม่รวมเครื่องดื่ม ไม่รวมภาษี ไม่รวมทิป แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ และยิ่งคนไทยไม่ยอมเสียหน้าอยู่แล้ว

พอเราได้โต๊ะนั่ง ลุงบาซีบอกผมว่าแกจะไปกินที่อื่น ร้านนี้แพงไปสำหรับแก แล้วแกก็พูดออกมาเป็นภาษาสเปน ผมรู้ว่าหมายถึงอะไร แต่ทำเป็นไม่เข้าใจ คิดว่าแกจะต้องพูดใหม่เป็นภาษาอังกฤษแน่ แล้วแกก็พูดออกมาจริงๆ ผมตอบแกไปว่ากินที่นี่ดีกว่าครับ ผมดูแลเอง จะได้นั่งคุยกัน

ตอนเช็กบิล ราคาออกมาให้เลือกจ่ายได้ 3 สกุลเงิน ได้แก่ 85 ดอลลาร์, 425 เรียล และ 17,000 เปโซ ผมลืมเงินสดเกือบทั้งหมดไว้ที่ที่พัก เนื่องจากค่าเงินเปโซนั้นอ่อนปวกเปียก ต้องพกทีละปึกใหญ่ พอใส่กระเป๋าตังค์ไม่ได้ก็ทำให้ลืมทั้งปึก ลองรูดบัตรเครดิตก็ไม่ผ่าน เพราะเครื่องรูดบัตรมีปัญหา

ลุงบาซีเลยต้องออกไปก่อน 17,000 เปโซ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก