สนทนา 'สภากาแฟ'

เชื่อแล้วล่ะว่า "นายกฯ ประยุทธ์" นี่

"หัวดี"

ตอนเป็นเด็กนักเรียน สอบแต่ละครั้ง คะแนนเฉลี่ยไม่เคยต่ำกว่า ๘๐%

เพราะอย่างนี้นี่เอง ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลา "ส่งคำชี้แจง" ภายใน ๑๕ วัน นับจากวันรับคำร้องเมื่อ ๒๔ ส.ค.๖๕ ประเด็น "นายกฯ ๘ ปี"

ท่านใช้เวลาทำข้อสอบแค่ ๗ วัน ก็เสร็จ ส่งครูเรียบร้อย ตั้งแต่ ๑ กันยา

จะบอกว่าเด็กชายตู่ "หัวดี" หรือ "ข้อสอบง่าย" หรือประกอบกันทั้ง ๒ อย่าง ก็ไม่รู้สินะ

แต่ที่รู้แน่ๆ รายการนี้ ไม่มีข้อสอบรั่ว ไม่มีติดสินบนครู  ไม่มีบกพร่องโดยสุจริต เหมือนใครบางคน ในคดี "ซุกหุ้น"!

อย่างนี้ หมายความว่า ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยได้เร็วใช่หรือไม่?

มาตรฐานยุติธรรมนั้น

"การลัดคิว" นั่นก็ "ไม่ยุติธรรม" แล้ว!

ดังนั้น ศาลฯ ท่านก็พิจารณาไปตามลำดับเรื่องที่รับไว้และตามเทอมเวลาแต่ละเรื่องที่มีกฎหมายเป็นข้อบ่งกำหนด

อย่างเรื่องนายกฯ ๘ ปี ตามเทอมเวลากฎหมายชี้บ่ง ยังไงก็ต้องรู้ผลภายใน ๔๕ วัน

คือจะเร็ว-ช้า ไม่เกินจากนี้แน่!          

เพราะเท่าที่ผมฟังรองนายกฯ วิษณุพูดเมื่อวาน (๒ ก.ย.) ท่านบอกว่า

ศาลรัฐธรรมนูญให้ "นายมีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๖๐​ และ "นายปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาธิการกฤษฎีกา และอดีตเลขานุการ กรธ.

ยื่นคำให้การด้วยเช่นกัน "ภายใน ๑๕ วัน"!

ก็ไม่ทราบว่าอาจารย์มีชัยกับคุณปกรณ์จะเป็นนักเรียนหัวดีเหมือนท่านนายกฯ หรือเปล่า?

แต่ที่แน่ๆ ทั้งสองท่าน ละเอียด รอบคอบ สุขุม จะคิด-จะทำอะไร ก็คิดและทำเป็นกระบวนการเชื่อมโยง

ถ้าเป็นช่างตัดเสื้อนอก ก็ต้องบอกว่า....

"เข้าตะเข็บได้เนี้ยบ" ชนิดช่างอิตาลีมองค้อน!

ฉะนั้น ท่านอาจใช้เวลา ๗ วัน หรือประณีตศิลป์ ถึงนาทีสุดท้ายของเวลา ๑๕ วันก็ได้ ดังนั้น ตั้งนาฬิกาใจ เผื่อไว้ที่ ๓๐ กันยาจะได้ไม่ต้องคอยชะเง้อทุกวัน

อีกอย่าง ด้วยระบบไต่สวน ศาลท่านอาจมีคำถามหรืออยากได้เอกสารอะไรเพิ่มเติมอีกก็ได้

เรื่องนี้ เท่าที่ผมสังเกต แทนที่ฝ่ายผู้ถูกร้อง คือนายกฯ จะเดือดร้อน กลับชิลๆ นุ่งขาก๊วย อวดน่องอยู่บ้าน สบายอารมณ์

ตรงข้ามกับเพื่อไทย-ผู้ร้อง.......

ดูจะหื่นกระหาย กระหืดกระหอบ ไม่ทันใจ ถึงขั้นไล่ให้ลาออกไปเองซะเลย

บ่งบอกอาการ ปากโจรว่าจะแลนด์สไลด์ แต่ใจกลัวทหาร จนขี้ขึ้นสมอง!

เนี่ย.....

เราๆ ก็พูดกันไป นายกฯ ๘ ปี...นายกฯ ๘ ปี ก็หมุนซ้าย-หมุนขวาไปตามคนโน้นพูด-คนนี้พูด....ตัวเองไม่มีแก่นยึด

เหมือนนักเรียนตอนสอบ...

ถ้าอ่านโจทย์หรือตีโจทย์ไม่แตก ก็ทำข้อสอบไม่ได้ หรือได้ อาจผิดมากกว่าถูก

กรณีนี้เช่นกัน เรามาดูโจทย์ คือประเด็นที่เพื่อไทยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่อง "๘ ปี ของนายกฯ ประยุทธ์" ชัดๆ กันก่อน

โจทย์ที่ฝ่ายค้านส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ประมาณว่า

"ให้ตีความว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา  ๑๗๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๖๐ 

โดยเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ ๘ ปี ในวันที่ ๒๓ ส.ค.๖๕ นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรก เมื่อ ๒๔ ส.ค.๕๗"

ทีนี้ มาดู ๒ มาตรา ในรัฐธรรมนูญ ๖๐ ที่ฝ่ายค้านอ้าง

มาตรา ๑๗๐ มีความว่า.....

ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

 (1) ตาย

 (2) ลาออก

 (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ

 (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160

 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187

 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171

นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย

ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย

มาตรา ๑๕๘ มีความว่า.........

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

ก็เป็นเรื่อง "ข้อกฎหมาย" ล้วนๆ ที่ต้องตีความ มาตรา  ๑๗๐ และมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐ โดยเฉพาะ

นี่คือโจทย์ของฝ่ายค้าน

ก็จะเห็นว่าฝ่ายค้านตัดต่อสายพันธุ์เอา "นายกฯ เผด็จการ" ตามรัฐธรรมนูญ ๕๗ โยงสายสิญจน์ มาเป็นนายกฯ เลือกตั้ง ในระบบรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ปี ๖๐ ด้วย

เพื่อจะได้เข้าเงื่อนไข ๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐!?

กรอบของโจทย์ที่ศาลฯ ต้องตีความ ตามที่ฝ่ายค้านร้องขอ ก็เฉพาะที่มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๕๘  วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐

นั่นก็คือ ถ้านายกฯ ยังคง "หัวดี" เหมือนตอนเป็นนักเรียนก็น่าจะตีโจทย์ได้ตรงประเด็น จึงทำข้อสอบส่งครูได้เร็ว  เหลือเวลาไปซื้อไอติมแท่งแทะเล่นเย็นๆ เหงือก อีกตั้ง ๗  วัน

อาจารย์มีชัยในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๖๐ และคุณปกรณ์ ในฐานะเลขาฯ กรธ.

ไม่ต้องไปห่วงหรอกว่าท่าน "เข้าใจโจทย์" ขนาดไหน?

ไปคลิกเว็บอ่าน "คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐"

เปิดที่คำอธิบายประกอบมาตรา ๑๕๘ และมาตรา ๑๗๐  ก็เข้าใจเจตนารมณ์ผู้ร่างแล้ว ว่า

๘ ปี ตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ เชื่อมโยงกับมาตรา  ๑๗๐ นั้น     

เจตนารมณ์ เขาให้นับเวลา ๘ ปี ตามรัฐธรรมนูญฉบับไหน?

อันรัฐธรรมนูญนั้่น จะอ่านเฉพาะวรรค เฉพาะมาตราแล้วทึกทักเอาไม่ได้

ต้องอ่านทุกวรรค-ทุกคำ เพราะในความเชื่อมโยงถึงกันของแต่ละมาตรานั้น จะบ่งบอกให้รู้ถึงเจตนาของจุดประสงค์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

อย่างมาตรา ๑๕๘ ที่ชอบยกวรรคสี่ เฉพาะตรง "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้" มาพูดกันนั้น

ควรต้องรู้ว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ตามวรรคสี่นี้ หมายถึงผู้มีคุณสมบัติผ่านมาตามขั้นตอน วรรคหนึ่ง..วรรคสอง...วรรคสาม ตามลำดับ ถึงจะเข้าองค์ประกอบนายกฯ ตามความในวรรคสี่

โดยมี มาตรา ๑๗๐ วรรคสอง เชื่อมโยงรองรับกันอยู่ในความเป็นนายกฯ ตามมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญ ๖๐

อ่านคำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของมาตรา ๑๕๘ ซักหน่อยเป็นไร

คำอธิบายประกอบ มาตรา ๑๕๘....ฯลฯ.......

 (๒) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  ๒๕๖๐ ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๕๙

โดยกำหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า

จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่า

บุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา

กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม

แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

.............................

เห็นแล้วใช่มั้ย นายกฯ ๘ ปี ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ ต้องมาตามขั้นตอนอย่างนี้

๔ ปีแรกของพลเอกประยุทธ์ เหมือน "บวชนอกโบสถ์"

จะมานับพรรษาต่อ ตอนมีพระอุปัชฌาย์ "บวชให้ใหม่" ในโบสถ์ ไม่ได้หรอก...โยม!

วันเสาร์ที่ปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่างฯ 'หัวขวด' เพื่อใคร?

"นักการเมือง" คือคนโง่ เพราะทำอะไรก็ยาก มีกฎหมายหลักคือรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ต่างๆ

'Grab rider ต้วง'

ดู "นาฬิกากรรม" แล้ว ก็อยากบอกว่า.... ช่วงนี้ ใครมีธุระอะไร ก็ไปทำซะให้เสร็จ ยังพอมีเวลา