ความมุ่งหมาย'นายกฯ๘ปี'

น่าจะจบเร็วกว่าที่คิด

ดูรูปการณ์แล้ว หลังจากทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องให้วินิจฉัยการเป็นนายกฯ ๘ ปี ไปเรียบร้อยก็น่าจะนับถอยหลังได้เลย

ถือว่าส่งเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

นี่แค่ประมาณ ๑๐ วันเองครับ

หลังจากนี้ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยเมื่อไหร่

การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน

หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง  ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ศาลอาจเรียกพยานมาไต่สวนเพิ่มเติ่ม

ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควร

หากศาลรัฐธรรมนูญมองว่า กรณีนายกฯ ๘ ปีเป็นเพียงปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียกพยานหลักฐาน ก็สามารถวินิจฉัยได้ทันที

ก็จบเร็วครับ

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญอาจเรียก พยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้

กรณีนายกฯ ๘ ปี ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ "มีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ​ ๒๕๖๐ (กรธ.) และ "ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกา" และอดีตเลขานุการกรธ. ยื่นคำให้การภายใน ๑๕ วัน เช่นกัน

ไทม์ไลน์การยื่น ใกล้เคียงกับ ทีมกฎหมายลุงตู่  ฉะนั้น จึงมีแนวโน้มจบเร็วสูง

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

มีบันทึกกรณีนายกฯ ๘  ปี ที่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก   นั่นคือ เอกสาร ที่ชื่อว่า "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐"

เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ อย่างถูกต้อง

ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แตกต่างจากการเรียกขานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ที่มักจะเรียกเอกสารลักษณะนี้ว่า...

เจตนารมณ์

เพราะคณะกรรมการ ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า การพิจารณาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญนั้น ต้องพิจารณาตามหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษร

กล่าวคือ การพิจารณาจากบทบัญญัติที่ได้บัญญัติไว้เป็นสำคัญ ดังนั้น ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้พัฒนาการจัดทำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเรียกว่า

 “การจัดทำความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

เนื้อหานอกจากจะบอกเล่า ความมุ่งหมายและความหมายแล้ว

ยังจะบอกเล่าถึงเหตุผล ความเป็นมาของแนวคิดที่นำมาบัญญัติ พัฒนาการของมาตรานั้นๆตั้งแต่ในอดีตจนถึงแนวความคิด และความมุ่งหมายล่าสุดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรานั้น ๆ ด้วย โดยหวังว่าจะได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

ทั้งที่เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาหากมีเหตุให้ต้องตีความ

ครับ...นั่นคือ "คำนำ" ของ เอกสาร "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐"

สาระสำคัญคือ ใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาตีความ

ไปดูมาตราที่เกี่ยวข้องกับ กรณี นายกฯ ๘ ปีครับ

มาตรา ๑๕๘ มีคำอธิบายประกอบดังนี้

...รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้ง บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๕๙ โดยกำหนด หลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี

และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนด ข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจาก ตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้...

ใช่ครับ...นี่คือหลักการใหม่ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในอดีต ระบุถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีโดยคำนึงถึงประชาชนมากเท่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แล้วหลักการนี้สามารถนำไปตีความกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นได้หรือไม่

และนั่นจะเป็นคำตอบว่า วาระ ๘ ปี ของ "ลุงตู่" แท้ที่จริงแล้วเริ่มต้นเมื่อไหร่กันแน่

คำอธิบายในมาตรา ๑๕๙ ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกัน

...บทบัญญัติในวรรคหนึ่งแห่งมาตรานี้เป็นการวางหลักการใหม่เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับการเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งจะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติเสนอรายชื่อล่วงหน้า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ทราบและเป็นเหตุผลหนึ่งในการพิจารณาตัดสินใจในการลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองใด อันเป็นการเน้นถึงความสำคัญของพรรคการเมืองที่จะต้องพิจารณาบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี

แนวคิดในเรื่องการให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองประสงค์จะสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรลุเป้าหมาย ๓ ประการ คือ

ประการแรก เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้ใด ประชาชนจะต้องพิจารณา ทั้งตัวบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นโยบายของพรรคการเมือง และตัวบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นเสนอให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากพรรคการเมืองนั้นได้รับคะแนนเสียงข้างมาก

ประการที่สอง พรรคการเมืองต้องคัดสรรบุคคลที่จะเสนอให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีอย่างเข้มงวดโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ

ประการที่สาม เป็นการป้องกันมิให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก นำบุคคลที่ประชาชนไม่เคยรับรู้มาก่อนมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าจะนำบุคคลเช่นนั้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประชาชนอาจไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นและพรรคการเมืองนั้นก็ได้

แนวคิดนี้เป็นการสอดคล้องกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ลงคะแนนครั้งเดียวแต่ส่งผลต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี...

ครับ...ในทางกฎหมาย นายกฯลุงตู่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ กับนายกฯลุงตู่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง

รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ คือสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ วางหลักการใหม่

หลักการนี้ย้อนกลับไปบังคับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๗ ได้หรือไม่

คำตอบอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง