ได้เวลาประเมิน ‘ยุทธศาสตร์ทุเรียน’

อ่านเรื่องราวของคนจีนกับทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันก่อนแล้ว ก็มองเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมี “ยุทธศาสตร์การทูตทุเรียน” ระยะกลางและระยะยาวเลยทีเดียว

เพราะข่าวบอกว่าบางแห่งของจีนเริ่มปลูกทุเรียนได้เอง และเมื่อใส่งานวิจัยและพัฒนาเข้าไปด้วยแล้ว อนาคตการขายทุเรียนไทยในเมืองจีนอาจจะกำลังถูกท้าทายก็ได้

บทความใน Nikkei Asia พูดถึงตลาดทุเรียนในเมืองจีนที่เฟื่องฟูเอามากๆ

ประเทศที่ส่งทุเรียนไปจีนก็ล้วนคือประเทศในอาเซียน...และไทยเราเป็นอันดับหนึ่งขณะนี้

มีคู่แข่งสำคัญคือ มาเลเซีย

สาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวเรื่องทุเรียนเข้าจีนก็คือ ข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ทุเรียนบูม” ในจีน

แต่ความยั่งยืนของตลาดนี้ยังเป็นที่น่าสงสัย

ข้อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership ใหม่ ซึ่งทำให้จีนนำเข้าผลไม้สดจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ง่ายขึ้น

และกลายเป็นกรณีทดสอบว่าตลาดเสรีทางการค้าใหญ่ขนาดนี้จะทำให้เกิดผลดีและผลกระทบต่อสมาชิกมากน้อยเพียงใด

RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง 15 ชาติต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว มาเลเซีย เมียนมา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม  สมาชิก 15 ประเทศมีสัดส่วนประมาณ 30% ของประชากรโลก (2.2 พันล้านคน) และ 30% ของ GDP ทั่วโลก (29.7 ล้านล้านเหรียญฯ) ทำให้เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา

เมืองสิบสองปันนาในมณฑลยูนนานของจีนเป็นที่รู้จักว่าเป็นตลาดกลางทุเรียนที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใหญ่ที่สุด

แม้ว่าต้นทุนการขนส่งและนำเข้าจะลดลงตั้งแต่ RCEP มีผลบังคับใช้ แต่ราคากลับเพิ่มขึ้น เพราะความต้องการที่พุ่งขึ้นของจีน

ปีที่แล้ว การนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้น 42.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 821,600 ตัน และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 82.4% เป็น 4.205 พันล้านดอลลาร์

ตามสถิติของศุลกากรจีน การนำเข้าเติบโตขึ้นเกือบ 4 เท่า ในปี 2560 โดยมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

รายงานนี้บอกว่า เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ประเทศผู้ผลิตต่างเร่งขยายการส่งออก

เฉพาะประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 1.29 ล้านตัน ในปี 2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปี 2562

 “การนำเข้าของจีนนั้นสูงอยู่แล้ว แต่การบริโภคต่อหัวของจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก เกษตรกรไทยมีแรงจูงใจอย่างมากที่จะขยายการผลิต” เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในจีนบอกกับนักข่าว Nikkei

คู่แข่งสำคัญของไทยคือ มาเลเซีย

ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีนสำหรับผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ของมาเลเซียที่เรียกว่า "Musang King" ซึ่งได้รับการขนานนามว่า "Hermes of durian" ในประเทศจีน

แม้ว่ามาเลเซียคาดว่าผลผลิตทุเรียนจะลดลงในปีนี้ เนื่องจากฝนตกหนัก รัฐบาลมาเลเซียก็กำลังชูธงผลักดันการส่งออกทุเรียนให้จีนให้เติบโตต่อเนื่อง เพราะพื้นที่เพาะปลูกยังคงขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง

ประเทศในอาเซียนกำลังพยายามหาทางให้ได้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP

โดยมองไปที่ตลาดจีนถือเป็นแรงส่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมการส่งออก

นอกเหนือจากการยกเลิกภาษีแล้ว ข้อตกลงนี้ยังกำหนดว่า โดยทั่วไปพิธีการทางศุลกากรสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่ายจะทำให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง

ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก และให้ประโยชน์อย่างมากสำหรับทุเรียน ซึ่งความสดเป็นสิ่งสำคัญ

ในทางกลับกัน การ “บูม” ของทุเรียนในตลาดจีนก็หมายถึงความท้าทายในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่

มีการแสดงความกังวลว่า ในกรณีบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่กำลังพัฒนาสวนทุเรียนอย่างรวดเร็วในป่าฝนเขตร้อน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางสำนักอ้างถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

อีกทั้งยังไม่มีใครรู้ว่า “ความคลั่งไคล้ทุเรียนในจีน” จะอยู่ได้นานแค่ไหน                

และยังมีความเสี่ยงในการเร่งเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาจีนมากเกินไป

ต้นทุเรียนต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีจึงจะสุกและออกผลที่ส่งออกได้

หากจีนหยุดนำเข้าหลังจากการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เกษตรกรจะประสบกับความสูญเสียมหาศาล

ก่อนหน้านี้จีนสั่งห้ามนำเข้าสับปะรดไต้หวันเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

ถูกมองว่าเป็นการ “ลงโทษ” ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ที่วิพากษ์วิจารณ์จีน

จีนเคยระงับการนำเข้ากล้วยของฟิลิปปินส์ เนื่องจากข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้

ประเทศไทยและมาเลเซียไม่มีปัญหาทางการทูตหรือความมั่นคงอย่างร้ายแรงกับจีนในปัจจุบัน

แต่ในขณะที่การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรุนแรงขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าความตึงเครียดในเอเชียจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตเมื่อใด

หากเศรษฐกิจของอาเซียนต้องพึ่งพาจีนเพิ่มขึ้น ก็อาจจะถูกบังคับให้อยู่ในตำแหน่งที่ต่อรองได้ยากยิ่งกับตลาดใหญ่อย่างจีน

นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งออกไปยังจีน จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถในการวิจัยและการผลิตที่เข้มข้นและได้มาตรฐาน

และหากจีนเริ่มปลูกทุเรียนเองได้ล่ะ?

 “สภาพภูมิอากาศของเกาะไหหลำนั้นแตกต่างจากของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย” ประธานบริษัทที่ลงทุนในการปลูกทุเรียนบนเกาะแห่งนี้บอก

 “แต่กระนั้นก็ตาม ฉันคิดว่าเราจะสามารถลองปลูกทุเรียนขั้นต้นเพื่อการค้าได้ภายในเวลา 2 ปี”

บริษัทจีนแห่งนี้ตั้งเป้าที่จะผลิต "มูซังคิง" ยอดนิยมของมาเลเซีย

ประเทศจีนได้พยายามหลายครั้งในการผลิตทุเรียนระดับไฮเอนด์ในหลายๆ จุด เช่น มณฑลยูนนาน กวางสี และไหหลำ แม้ว่าละติจูดที่สูง พายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง และสภาพอากาศอื่นๆ เป็นอุปสรรคพอสมควร

แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีนได้ผลักดันให้บริษัทต่างๆ พิจารณาลงทุนในการผลิตทุเรียนมากขึ้น

จะเกิดอะไรขึ้นหากจีนประสบความสำเร็จในการผลิตทุเรียนภายในประเทศ?

มีตัวอย่างองุ่นสุดหรูของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า "Shine Muscat" ซึ่งจีนก็พยายามจะปลูกด้วยตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายใน

จึงมีคำเตือนว่า การผลิตทุเรียนอาจแพร่กระจายในจีนก่อนที่เราจะรู้ตัว

และวันหนึ่งข้างหน้าก็เป็นไปได้ที่เราอาจเห็นวันที่ตลาดส่วนใหญ่ของทุเรียนถูกครอบงำโดยทุเรียนจีน

ดังนั้นไทยเราจึงจำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ทุเรียนให้ครบทุกมิติ

และจะต้องมียุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วย “ทุเรียน” อย่างมองทะลุถึงอนาคตอย่างตรงไปตรงมาด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ