Net zero ความท้าทาย ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

การผลิตเหล็กโลกมีการใช้พลังงานจากถ่านหินในสัดส่วนที่สูง จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากตามไปด้วย โดยเฉพาะกระบวนการถลุงแร่เหล็กและการหลอมเหล็กซึ่งจำเป็นต้องใช้ความร้อนสูง โดยถ่านหินเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 75% ของการใช้พลังงานทั้งหมด รองลงมาเป็นการใช้แหล่งเชื้อเพลิงจากไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วน 13% และ 8% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ตามลำดับ

นอกจากนี้ข้อมูลจาก World Steel Association ระบุว่า การผลิตเหล็กทุกๆ 1 ตันจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1.85 ตัน และใช้น้ำมากถึงกว่า 128,704 ลิตรในกระบวนการหล่อเย็น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตเหล็กส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกจึงมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนระบบเตาหลอม การปรับปรุงเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิต โดยใช้ไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม วรรณโกมล สุภาชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรุนแรงทำให้หลายประเทศตื่นตัวกับการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการลดก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต และอาจส่งผลต่อการส่งออกเหล็กไทยหากยังไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG ประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น จีน EU ญี่ปุ่น พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นการปรับกระบวนการผลิต เช่น การปรับเปลี่ยนระบบเตาหลอม การปรับปรุงเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิตโดยใช้ไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการที่ป้องกันไม่ให้สินค้าที่มีความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่ผลิตจากประเทศที่ไม่มีข้อกำหนดด้านการปล่อย GHG ที่เข้มงวด เข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป จะเป็นแรงกดดันให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตเหล็กทั่วโลก และอาจส่งผลไปถึงสินค้าที่มีส่วนประกอบของเหล็กจากไทยที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ที่เคร่งครัดต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต หากยังไม่มีการปรับปรุงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ยังระบุว่า สำหรับประเทศไทยซึ่งผลิตเหล็กกลางน้ำและปลายน้ำนั้น การส่งเสริมให้รีไซเคิลเหล็กเพิ่มขึ้น ควบคู่การเปลี่ยนเตาหลอมเป็น EAF หรือเตาหลอมเหล็กด้วยไฟฟ้า จะเป็นกลไกสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หากประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการลดการผลิตเหล็กในประเทศลง และหันไปพึ่งพาเหล็กนำเข้ามากขึ้น จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งผู้ผลิตเหล็กในประเทศและอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กปริมาณมาก

ดังนั้น การรีไซเคิลเหล็ก เป็นทางเลือกที่ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรที่ใช้แล้วให้กลับมาเกิดประโยชน์ใหม่ได้ รวมถึงการเปลี่ยน หรือปรับปรุงเทคโนโลยีและเทคนิคการผลิต เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพื่อปรับตัวลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน โดยเตาหลอม EAF จะช่วยลดอุปสรรคจากการหาเศษเหล็กที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถรีไซเคิลเศษเหล็กที่มีคุณภาพแตกต่างกันในปริมาณมากขึ้น และยังช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย รวมถึงภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ภาครัฐควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการเป็นกรีนสตีล (Green steel) จากปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการผลิตเหล็กให้ชัดเจน เพื่อให้มีมาตรฐานตัวชี้วัดสำหรับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเหล็ก อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนค่อนข้างสูง และผู้ผลิตเหล็กไทยบางส่วนยังไม่มีความพร้อมสำหรับการลงทุน ภาครัฐจึงควรออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ผลิตเหล็กสามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี สนับสนุนทางด้านการเงิน ยกเว้นภาษีนำเข้าหากมีการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร ส่งเสริมกลไกการระดมทุนผ่านกรีนบอน (Green bond) รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้เหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กไทยควรใช้โอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ในหลายประเทศต่างก็เริ่มดำเนินมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เร่งวางแผนการดำเนินธุรกิจ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้สอดคล้องไปกับกระแส Net Zero.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม

จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เปิดขุมทรัพย์จากพฤติกรรมสุดขี้เกียจ

เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโดฯ สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ

สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด ผู้ชนะก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งคว้าชัยแบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต

แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก

เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย

ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง

แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว