Porto de Manaus

หากข้อตกลงหลักในการแบ่งโลกใบนี้ออกเป็น 2 เขตอิทธิพลระหว่างสเปนและโปรตุเกสตาม “สนธิสัญญาตอร์เดซิยาส ค.ศ.1494” ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด บราซิลจะมีพื้นน้อยกว่าในปัจจุบันถึงเกือบ 5 เท่า

     เส้นแวงที่เรียกว่าเส้นลีก นับไป 370 ลีกทางทิศตะวันตกของเกาะเคปเวิร์ดในมหาสมุทรแอตแลนติก คือเส้นแบ่งดังกล่าว หากเทียบในปัจจุบันก็จะอยู่ที่ราวๆ เส้นลองติจูด 46 องศา 30 ลิปดาตะวันตก ทุกตารางนิ้วในโลกที่ไม่ใช่ยุโรปและไม่ใช่ดินแดนชาวคริสต์ ด้านตะวันของเส้นนี้กวาดยาวไปจนสุดขอบโลกเป็นของสเปน ตะวันออกของเส้นนี้เป็นของโปรตุเกส

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ภายใต้สังกัดสเปนล่องเรือพบหมู่เกาะเวสต์อินดีส หรือโลกใหม่ทวีปอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1492 กลับสู่สเปนเมื่อปี ค.ศ.1493 โป๊ปสมัยนั้นซึ่งเป็นชาวสเปนออกบัญญัติ Papal Bull แบ่งโลกกันที่ระยะ 100 ลีกไปทางตะวันตกของเกาะเคปเวิร์ด สเปนกะกินรวบอเมริกาทั้งทวีป ส่วนแอฟริกาก็ให้โปรตุเกสไป พอมาเลื่อนไปที่เส้น 370 ตามสนธิสัญญาตอร์เดซิยาสในอีก 1 ปีต่อมาก็ยังคิดว่าได้อเมริกาทั้งทวีป โดยที่ตอนนั้นยังไม่เจออเมริกาใต้ พอพบว่าอเมริกาใต้มีแผ่นดินส่วนโค้งทางขวาของแผนที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเส้นแบ่งตามสนธิสัญญา โปรตุเกสจึงได้บราซิลมาแบบโชคช่วย

Catedral Metropolitana de Manaus สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1788 แทนโบสถ์หลังเดิมที่สร้างตั้งแต่ ค.ศ.1695

      อย่างไรก็ตาม หากวัดจากเส้นแบ่งโลกของมหาอำนาจทั้งสอง โปรตุเกสจะได้ไปเพียงตะวันออกของเส้นแวงที่ตัดผ่านเซาเปาโลขึ้นไปถึงปากแม่น้ำแอมะซอนเท่านั้น แอมะซอนเกือบทั้งหมดจะเป็นของสเปน และในปัจจุบันก็คงจะเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งที่ได้รับเอกราชจากสเปนในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

     หลักฐานและบันทึกต่างๆ ล้วนสนับสนุนว่าสเปนพบแม่น้ำแอมะซอนก่อน และสำรวจก่อนโดยเริ่มมาจากฝั่งต้นน้ำในเปรูจนทะลุออกมหาสมุทรแอตแลนติก ฝ่ายโปรตุเกสในเวลาต่อมารุบคืบจากทางปากแม่น้ำแอมะซอนเข้าไปในพื้นที่ชั้นใน คนของสเปนค่อยๆ ข้ามมาจากเปรูโดยมีเทือกเขาแอนดีสเป็นอุปสรรค สเปนมีคณะมิชชันนารี โปรตุเกสก็มีเหมือนกัน และที่โปรตุเกสเหนือกว่าคือกองทัพและเหล่านักล่าทาส-สมบัติ-ทรัพยากรทั้งหลายดูจะเอาจริงเอาจังกว่ามาก

     ทั้งสองชาติทำสงครามกันในพื้นที่อื่นด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันคือประเทศอุรุกวัย สุดท้ายความขัดแย้งจบที่โต๊ะเจรจา สนธิสัญญามาดริด ค.ศ.1750 กำหนดเส้นแบ่งอาณาเขตหลักๆ ระหว่างสเปนและโปรตุเกส โดยให้แอมะซอนเป็นของโปรตุเกส รีโอเดลาปลาตาเป็นของสเปน (อุรุกวัยและดินแดนส่วนหนึ่งของอาร์เจนตินา) ส่วนที่เป็นของโปรตุเกสในวันนั้นส่วนใหญ่ก็กลายเป็นบราซิลในทุกวันนี้ รวมถึงเมืองมาเนาส์ รัฐอามะโซนัส

นาฬิกา Relógio Municipal สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1929 นำวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดเข้ามาจากสวิตเซอร์แลนด์

     มาเนาส์ตั้งตามชื่อของชนพื้นเมืองในดินแดนแถบนี้ก่อนการรุกรานของชาวยุโรป มีความหมายว่า “มารดาแห่งเทพทั้งมวล” โปรตุเกสเข้าไปสร้างป้อมปราการเมื่อปี ค.ศ.1669 หลักๆ เพื่อไว้ป้องกันพวกดัตช์เข้ามาวุ่นวาย จากนั้นคณะมิชชันนารีคาร์เมไลต์สร้างโบสถ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1695

อาคารร้านค้าบนถนนหลังโบสถ์ Catedral Metropolitana

     ด้วยตำแหน่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ตั้งอยู่ที่จุดบรรจบของแม่น้ำรีโอเนโกรและแม่น้ำโซลิโมยส์ (แอมะซอนตอนบน) หลังบราซิลประกาศอิสรภาพจากโปรตุเกสได้ครบ 1 ทศวรรษ มาเนาส์ก็ได้รับสถานะเป็นเมืองเมื่อ ค.ศ.1832 สังกัดรัฐกรัง-ปารา

ริมทางบาร์เบอร์สำหรับท่านชาย

     อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากอันประกอบไปด้วยชนพื้นเมือง กลุ่มลูกผสม และอดีตทาสที่เป็นไท ดำรงชีพอยู่อย่างยากจนแร้นแค้น ขณะที่คนขาวชาวยุโรป โดยเฉพาะโปรตุเกสที่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เพราะร่ำรวยจากอาชีพการเกษตร นอกจากนี้จังหวัดกรัง-ปาราไม่ได้รับการใส่ใจพัฒนาเท่ากับภูมิภาคทางตะวันออกของบราซิล

     ด้วยเหตุปัจจัยที่กล่าวมาทำให้เกิดกลุ่ม Cabanagem (กบฏคาบานาเจ) เริ่มที่เมืองเบเลมและกระจายไปสู่มาเนาส์ เรียกร้องความสำคัญของพวกเขา และต้องการบทบาทการปกครองตนเอง พวกเขาลุกฮือขึ้นจับอาวุธตั้งกองกำลังต่อสู้กับฝ่ายรัฐระหว่างปี ค.ศ.1835-1840 บางช่วงเวลาสามารถยึดเมืองใหญ่อย่างเบเลมและมาเนาส์ได้ ประชาชนที่ไม่ใช่คนผิวขาวให้การต้อนรับอย่างดี รวมถึงเข้าร่วมในขบวนการ

ชาวมาเนาส์นั่งบาร์ริมทางตั้งแต่เย็น

     แต่สุดท้ายก็ถูกฝ่ายรัฐปราบปรามลงได้อย่างเด็ดขาด ในช่วงความไม่สงบหลายปี กรัง-ปารามีประชากรลดลงไปถึงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จากราว 1 แสนคน เหลือประมาณ 6 หมื่นคน แต่การต่อสู้ไม่สูญเปล่า ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวแอมะซอนส่วนใหญ่ที่แสดงออกมา พวกเขาได้อามะโซนัสเป็นรัฐใหม่ในบราซิล และนี่คือรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศ

มวยไทยดังไกลถึงแอมะซอน

     มาเนาส์ เมืองหลวงของรัฐเจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วยธุรกิจการแปรรูปยางพาราตามที่ผมได้กล่าวไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ในปี ค.ศ.1899 รัฐบาลท้องถิ่นมีโครงการปรับปรุงท่าเรือที่มีอยู่และสร้างท่าเรือใหม่ และในปี ค.ศ.1902 บริษัทจากอังกฤษชื่อ Manaos Harbor Limited ได้รับการว่าจ้าง ท่าเรือสร้างเสร็จเปิดใช้งานในปี ค.ศ.1907 ท่าเรือและสิ่งที่ได้มาจากการขนส่งค้าขาย ส่งผลให้เมืองมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีทัดเทียมเมืองใหญ่อื่นๆ ของบราซิล มีระบบสาธารณูปโภคอันทันสมัย ดึงดูดชาวโลกมาสู่มาเนาส์ กลายเป็นเมืองตัวอย่างแห่งความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมในบราซิล

อาจเรียกได้ว่านี่คือจุดเช็กอินถ่ายภาพของท่าเรือเมืองมาเนาส์

     หลังถูกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แย่งความเป็นเจ้าตลาดยางพาราไป ความซบเซาเข้าครอบงำมาเนาส์นานหลายปี รัฐบาลทหารในปี ค.ศ.1967 ตั้งให้มาเนาส์เป็นเขตส่งเสริมการผลิต-การค้าปลอดภาษี ปัจจุบันมาเนาส์เป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม สบู่ ถั่วชนิดต่างๆ เนื้อวัว หนังสัตว์ และสินค้าเกษตร เฉลี่ยมีสินค้าผ่านท่าเรือมาเนาส์ถึงปีละประมาณ 10.6 ล้านตัน นอกจากนี้มาเนาส์ยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการต่อเรือและโรงงานสุรากลั่นในภูมิภาคอีกด้วย

     วันสุดท้ายในเมืองมาเนาส์ ผมเดินสำรวจและถ่ายภาพบรรดาร้านรวง อาคารสถานที่ในย่านใกล้ๆ ท่าเรือ ตอนเย็นใกล้พระอาทิตย์ตกตินก็ได้เดินเลยไปจนถึงท่าเรือ ลุงเจ้าหน้าที่หน้าตาเหมือนคนญี่ปุ่นเข้ามาดึงแขนผม แกพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย เดินนำไปยังห้องขายตั๋วสำหรับเข้าเยี่ยมชมท่าจอดเรือ ค่าตั๋ว 5 เรียล หรือประมาณ 35 บาท ซื้อเสร็จคนที่ตรวจสอบตั๋วก็คือลุงญี่ปุ่นนั่นเอง

     จากนั้นผมก็เดินไปบนสะพานยาวเกือบๆ 100 เมตรไปยังท่าจอดเรือรูปตัว T ที่อยู่กลางแม่น้ำ ท่าจอดเรือรูปตัว T มีอยู่ 2 ท่า อยู่ไม่ห่างกัน ส่วนที่อยู่กลางน้ำซึ่งขนานกับท่าติดฝั่งใช้ได้ทั้งหน้าน้ำหลากและหน้าแล้ง ส่วนที่ติดฝั่งใช้ได้เฉพาะฤดูน้ำหลาก

แอมะซอนบนตึกสูง

     ตอนที่เรือโดยสารของเราเดินทางจากเมืองตาบาติงกามาถึงมาเนาส์ เรือเข้าเทียบที่ท่าใหญ่ติดชายฝั่ง ส่วนตอนที่เรานั่งเรือนำเที่ยวล่องแอมะซอนสาขาไปชมโลมาสีชมพูและหมู่บ้านชนพื้นเมืองนั้นเรือออกจากท่าริมฝั่งทางทิศตะวันออกของท่าใหญ่ ซึ่งท่าริมฝั่งของเรือนำเที่ยวมีอยู่หลายท่า ท่าเรือประมงก็อยู่ติดๆ กัน เรือพวกนี้มีขนาดเล็ก กินน้ำไม่ลึก ไม่จำเป็นต้องไปจอดที่ท่ากลางน้ำ

      นอกจากเรือขนส่งสินค้า เรือนำเที่ยวขนาดเล็ก และเรือโดยสารแล้ว ท่าเรือเมืองมาเนาส์ยังถือเป็นจุดศูนย์กลางของการล่องเรือสำราญท่องแอมะซอนมานับตั้งแต่เมื่อท่าเรือเปิดใช้ เรือออกจากมาเนาส์และกลับมาจบทริปที่มาเนาส์ ท่ากลางแม่น้ำที่ผมเดินมาเป็นท่าของเรือท่องเที่ยวจำพวกเรือสำราญ

เรือท่องเที่ยวแอมะซอนจอดเทียบท่ามาเนาส์

     เรือสำราญมีมากมายหลายขนาด และบางทีเรือเล็กนั้นเมื่อคิดราคาต่อหัวต่อคนหรือต่อเคบินแล้วออกมาสูงกว่าเรือใหญ่ด้วยซ้ำไป นั่นก็เพราะความสามารถในการทะลุทะลวงไปยังแม่น้ำสาขาสายแคบๆ ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้ดูสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้หายากในระยะประชิด และความเป็นส่วนตัว

     ยกตัวอย่าง เรือสำราญขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงอย่าง Iberostar Grand Amazon ให้บริการเคบิน (ห้องนอน) ละ 2 คน ราคาต่อคน 929 เหรียญสหรัฐ สำหรับทริป 4 วัน ขณะที่เรือขนาดเล็กชื่อ Amazon Odyssey คิดราคาเหมาสำหรับ 4 เคบิน รองรับผู้โดยสาร 13 คน ราคาต่อวันคือ 5,274 เหรียญฯ เฉลี่ยคนละ 405 เหรียญฯ หากล่องแอมะซอน 4 วันก็จะมีค่าใช้จ่ายคนละ 1,622 เหรียญฯ มากกว่าเรือใหญ่เกือบ 2 เท่า

เรือท่องเที่ยวแอมะซอนจอดเทียบท่ามาเนาส์

     ผมเดินถ่ายรูปเรือท่องเที่ยวอยู่จนฟ้าใกล้จะมืด พระอาทิตย์ตกไปแล้วโดยไม่มีโอกาสได้เห็นเพราะกลุ่มเมฆเข้าบดบัง ได้เวลาเดินกลับฝั่ง ก่อนจะเข้าไปยังตัวอาคารผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วก่อนหน้านี้ ผมเลี้ยวไปทางซ้าย มีระเบียงยาวยื่นออกไปในน้ำสำหรับให้นักท่องเที่ยวออกไปยืนถ่ายรูปโดยมีน้ำ เรือสำราญ และท้องฟ้าเป็นฉากหลัง แต่วันนี้เดินเข้าไปในระเบียงยาวไม่ได้ เพราะมีเชือกกั้น

     จากตรงนี้พอหันหลังกลับ เห็นห้องกระจกใสของอาคารผู้โดยสาร ในนั้นเต็มไปด้วยร้านเบียร์สด ผมเดินคอแห้งอยู่หลายชั่วโมงแล้วจึงรีบเดินเข้าไปใช้บริการ ดูๆ ไปลูกค้าของแต่ละร้านไม่ใช่ผู้โดยสารรอขึ้นเรือ แต่เป็นคนที่มานั่งดูน้ำและดูเรือมากกว่า

 

     พนักงานเสิร์ฟพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมก็พูดโปรตุกีสไม่ได้ ผมตั้งใจสั่งอย่างหนึ่ง แต่ได้อีกอย่างหนึ่งมาดื่ม และมาแบบ 1 ไพนต์ แถม 1 ไพนต์ ซ้ำละเลงเกลือมารอบขอบแก้ว

      หมดเพียงค่อนไพนต์หายคอแห้ง ผมก็เรียกเก็บเงิน.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

4 กลุ่มชั่วน่ากลัวเป็นนักหนา กลุ่มที่ 5 ยิ่งน่าสยอง

ณ เวลานี้ หลายคนมองประเทศไทยด้วยความห่วงใยว่า ประเทศไทยของเราที่เป็นที่ชื่นชมของชาวโลก ทั้งการลงทุน การทำมาค้าขาย การเข้ามาพำนักยามชรา และการมาท่องเที่ยว

ลิ้นงู...ที่อยู่ในปากงู!!!

ถึงแม้นจะพะงาบๆ อยู่ห่างๆ...ไม่มีโอกาสได้ลงลึก เจาะลึก ในรายละเอียด ด้วยเหตุเพราะสุขภาพ สังขาร ร่างกาย และอาจด้วยความห่างเหิน ห่างหาย กับใครต่อใครมานานแสนนาน

ตั้ง 'นายพัน' สีกากีเริ่ม

อะไรจะเร็วขนาดนั้น! โผแต่งตั้ง "ตำรวจ" ระดับ "นายพันสีกากี" เริ่มขยับนับหนึ่งกันแล้ว ทั้งๆ ที่ระดับ "นายพล" ล็อตแรก ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม