6 เดือนสมรภูมิยูเครนสงครามดำเนินต่อไป

กองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ นาโตยืนยันไม่ให้ทหารของตนปะทะกับทหารรัสเซีย เป็นจุดยืนที่ประกาศตั้งแต่ก่อนสงครามว่าสมรภูมินี้จะเป็นการปะทะระหว่างกองทัพยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น 6 เดือนให้หลังหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่ารัสเซียค่อยๆ รุกคืบกินพื้นที่ทางภาคตะวันออกกับภาคใต้ ทั้งกองทัพรัสเซียกับยูเครนต่างสูญเสียไม่น้อย แต่ไม่อาจสรุปว่าสูญเสียเท่าใดเนื่องจากข้อมูลขัดแย้งกัน

ภาพ: เครื่องบินรบ SU-57 E
เดรดิตภาพ: http://roe.ru/eng/catalog/aerospace-systems/fighters/su-57e/

สงครามยืดเยื้อต่อไป:

    ประการแรก การต่อสู้ระหว่างนาโตกับรัสเซีย

     นาโตให้ความช่วยเหลือด้านการทหาร เศรษฐกิจและอื่นๆ อาวุธของยูเครนจึงถูกเติมเข้ามาเป็นระยะๆ ต้นเดือนสิงหาคมกระทรวงกลาโหมสหรัฐรายงานว่าให้ความช่วยเหลือกองทัพยูเครนมูลค่ารวม 10,000 ล้านดอลลาร์แล้ว รัฐบาลไบเดนยืนยันให้ความช่วยเหลือต่อไป ดังนั้น สงครามยูเครนไม่ใช่เรื่องของยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น เป็นการขับเคี่ยวระหว่างนาโตกับรัสเซีย

    ประการที่ 2 สงครามเศรษฐกิจ

     เป้าหมายที่ฝ่ายสหรัฐวางไว้แต่แรกคือปิดล้อมรัสเซียทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ คว่ำบาตรการทำธุรกรรมการเงินกับรัสเซีย เป็นเหตุผลที่สมาชิกอียูหลายประเทศต้องทยอยลดเลิกนำเข้าพลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน) และมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอีกหลายอย่าง

     รัสเซียได้รับผลกระทบไม่น้อยถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย สำนักงานสถิติแห่งชาติรัสเซีย (Rosstat) ประเมินว่า GDP ไตรมาส 2 ปีนี้จะหดตัว 4% ยอดค้าส่งลดลง 15.3% ยอดค้าปลีกลดลง 9.8% ค่าเงินรูเบิล อัตราดอกเบี้ยปั่นป่วนอยู่พักใหญ่ การส่งออกพลังงานฟอสซิสมีปัญหา ทหารบาดเจ็บล้มตาย ใช้จ่ายงบกลาโหมมหาศาล

     อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียที่สั่นสะเทือนช่วงแรกกลับมาตั้งตัวได้ พยายามหาตลาดส่งออกพลังงาน มีข่าวว่าจีน ตุรเคีย อินเดีย นำเข้าพลังงานรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก ปลายเดือนกรกฎาคมดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 9.5% จากจุดสูงสุดที่ 20%

โหมกระพือสงครามเย็น:

     สงครามยูเครนมองได้หลายกรอบ ทั้งใหญ่กับเล็ก กรอบใหญ่สุดคือโหมกระแสสงครามเย็นใหม่ เป็นการต่อสู้ระหว่างขั้ว การต่อต้านรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรทางการเมืองเศรษฐกิจดังที่เป็นอยู่สำคัญกว่าความเป็นไปของประเทศยูเครน ส่งผลระดับโลก ข้อมูลในอดีตชี้ชัดว่า รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดจะทำเช่นนี้ คือกระชับความเป็นขั้ว ให้ทุกประเทศเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายใด

     หลังเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อ 11 กันยา. 2011 รัฐบาลสหรัฐสมัยนั้นประกาศให้นานาชาติเลือกข้างว่าจะร่วมต่อต้านก่อการร้ายหรือไม่ ประเทศใดไม่ช่วยต่อต้านก่อการร้ายคือศัตรูของอเมริกา การล้มรัฐบาลซัดดัมคือการเลือกข้างว่าจะอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการซัดดัม กรณียูเครนตอกย้ำการเลือกข้างระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับรัสเซีย รัฐบาลตะวันตกมักจะใช้คำว่าสงครามนี้คือสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตย เป็นวิธีการรักษาความเป็นมหาอำนาจของรัฐบาลสหรัฐ

คาดการณ์อนาคต:

    ประการแรก สงครามดำเนินต่อไป

     หลังกองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครนไม่นาน รัฐบาลยูเครนร้องขอเจรจา ปลายเดือนมีนาคมมีความหวังว่าน่าจะตกลงกันได้ มีร่างข้อสรุปเรื่องประกันความมั่นคงของยูเครนโดยจะทำเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ มีผู้ค้ำประกันหลายชาติ เช่น อังกฤษ จีน สหรัฐ ตุรเคีย ฝรั่งเศส ให้มีผลบังคับใช้จริงเมื่อยูเครนผ่านประชามติเรื่องดังกล่าว และรัฐสภาของทั้ง 2 ประเทศรับรอง ส่วนประเด็นสถานะของไครเมีย สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ (Donetsk People's Republic) กับสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ (Luhansk People's Republic) จะต้องหารือต่อไป ความเป็นกลางของยูเครนยังรวมถึงไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ไม่เป็นที่ตั้งฐานทัพของต่างชาติ ไม่เข้ากลุ่มร่วมมือทางทหารกับกลุ่มใดๆ

     แต่แล้วการเจรจาที่คืบหน้าดูเหมือนได้ข้อสรุปก็หยุดชะงักเมื่อรัฐบาลเซเลนสกีต้องการให้กองทัพรัสเซียถอนตัวกลับทั้งหมดก่อนจึงจะทำประชามติ รัฐบาลปูตินไม่ยอมรับข้อเสนอนี้

    ประการที่ 2 เป้าหมายรัสเซียเปลี่ยนไป

     เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่ารัสเซียประกาศมานานแล้วว่ายูเครนต้องไม่เป็นสมาชิกนาโต ถือว่าเป็นเส้นต้องห้าม (redline) เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่จะมีแนวรัฐกันชน (buffer state) กองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครนเพราะยูเครนไม่ยอมถอนนโยบายเป็นสมาชิกนาโต หลังการเจรจาเดือนมีนาคมล้มเหลวกองทัพรัสเซียรุกคืบกินดินแดนต่อไปอย่างช้าๆ และขยายไปทางทิศใต้ที่ติดทะเล มีแนวโน้มว่าอาจผนวกพื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเหมือนกรณีไครเมีย ยูเครนจะไม่เหลือพื้นที่ติดทะเลอีกต่อไป

    ประการที่ 3 ยูเครนเหยื่อที่ถูกทำลาย

     ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนว่าทั้งฝ่ายสหรัฐกับรัสเซียต่างได้ประโยชน์จากสงครามนี้ ยูเครนกลายเป็นประเทศที่ถูกทำลาย

     ณ วันนี้ไม่ทราบชัดว่าทหารกับประชาชนยูเครนบาดเจ็บเสียชีวิตกี่หมื่นกี่แสนราย ที่แน่ๆ คือชาวยูเครนกว่า 10 ล้านคนอพยพหนีภัยสงครามออกนอกประเทศนาน 6 เดือนแล้วและยังไม่มีวี่แววว่าจะได้กลับบ้าน ชีวิตคนยูเครนหลายสิบล้านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประเทศยูเครนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รวมทั้งอนาคตของประเทศที่อาจไม่ขึ้นกับการตัดสินใจของคนยูเครนอีกแล้ว

     สิ่งที่ยูเครนสูญเสียไม่อาจหวนกลับ ไม่เหมือนเกมที่กดปุ่มเล่นใหม่ได้อีก เหตุเพราะมีผู้นำแปลกๆ อย่างประธานาธิบดีเซเลนสกีที่ตัดสินใจทำสงครามกับรัสเซีย เป็นเรื่องแปลกที่ยูเครนกล้าทำสงครามเพียงลำพังกับมหาอำนาจทางทหารรัสเซีย ยิ่งสงครามยืดเยื้อเพียงไรยูเครนก็ยิ่งพังพินาศมากแค่นั้น มีข้อสังเกตว่าการรบเกือบทั้งหมดจำกัดในพื้นที่ประเทศยูเครนเท่านั้น ขีปนาวุธนับร้อยนับพัน ระเบิด กระสุนตกในพื้นที่ยูเครน หากรัฐบาลยูเครนตัดสินใจตั้งแต่ต้นประกาศไม่เข้าร่วมนาโตเรื่องก็จะไม่เป็นเช่นนี้

     ในระยะหลังประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวว่าสงครามนี้เกิดขึ้นเพราะรัสเซียยึดไครเมียเมื่อ 2014 ยูเครนต้องนำไครเมียกลับมาเป็นของตน เงื่อนไขนี้ยิ่งทำให้สงครามไม่จบง่ายๆ

สงครามจบเมื่อไหร่:

     หลังสงครามผ่านไปไม่กี่เดือนรัฐบาลเซเลนสกีร้องหาขอความช่วยเหลือด้านอาวุธ งบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ จากชาติตะวันตก อาวุธเครื่องกระสุนจากหลายประเทศทยอยส่งเข้ายูเครน การรบทุกวันนี้จึงขึ้นกับกำลังบำรุงจากต่างชาติโดยแท้ ตราบใดที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกยังส่งความช่วยเหลือแก่ยูเครน สงครามน่าจะดำเนินต่อไป ดังนั้นสงครามจะจบหรือไม่จึงขึ้นกับการตัดสินใจของนาโต โดยเฉพาะรัฐบาลไบเดน แม้ฝ่ายสหรัฐมีแรงกดดันจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจไม่น้อย แต่เนื่องจากเศรษฐกิจอเมริกาแข็งแรงจึงยังทนได้ เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีไบเดนจะยืดการรบไปถึงหลังเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงต้นพฤศจิกายนนี้ เพราะพรรคเดโมแครต (พรรคไบเดน) ไม่อยากถูกพรรครีพับลิกันตีตราว่าแพ้รัสเซีย ต้องรักษาจำนวน ส.ส. ส.ว. ในสภาให้มากที่สุด (และเป็นไปได้ว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐกับรัสเซียยังไม่ได้ข้อยุติ) รอพ้นเลือกตั้งกลางเทอมค่อยมาพิจารณาอีกรอบ ทั้งนี้ยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐยังดำเนินต่อไปคือปิดล้อมจีนกับรัสเซีย โหมกระแสสงครามเย็นใหม่

     อย่างไรก็ตาม น่าติดตามว่านานาชาติจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะตอนนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นมากทั้งจากราคาพลังงานกับอาหาร อันเป็นผลจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ภัยแล้งปีนี้ที่รุนแรงกว่าปกติ การแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจกำลังก่อความทุกข์ยากแก่ประชากรโลกนับพันล้าน คนยากคนจนคือพวกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทุกวันนี้ 811 ล้านคนอดอยากเพราะยากจนหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ยากจะหาอาหารมาเลี้ยงปากท้อง

     ข่าวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ด้วยแรงกดดันจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งหมายถึงนานาชาติร่วมมือร่วมใจเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐกับพวกเปิดทางให้สามารถซื้อขายสินค้าเกษตรของรัสเซีย ผลคือธนาคารยุโรปบางแห่งยอมรับการชำระเงินเพื่อซื้อขายอาหารกับปุ๋ยของรัสเซียแล้ว รัฐบาลสหรัฐยอมให้ซื้อขายสินค้าเกษตรกับเวชภัณฑ์ เรื่องนี้ลดแรงกดดันอาหารแพง

     โดยสรุปแล้ว ยูเครนเป็นแค่เหยื่อเพื่อนำสู่การต่อสู้ระหว่างขั้วสหรัฐกับรัสเซีย ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐหวังว่าถ้าเศรษฐกิจรัสเซียพังจะทำให้คะแนนนิยมปูตินตกต่ำ นำสู่การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ขั้วการเมืองใหม่ พร้อมกับโหมกระแสสงครามเย็นใหม่ กระตุ้นให้นานาประเทศเลือกข้าง ท้ายที่สุดแล้วแรงกดดันจากนานาชาติจะส่งผลต่อสงครามยูเครนอย่างไร ความเป็นไปของยูเครนเชื่อมโยงคนทั้งโลก.

--------------------

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด

ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ

จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย

อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด