สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ในต่างประเทศ ปรากฏข่าวคนร้ายได้ลอบวางระเบิด และเกิดเหตุระเบิด เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก
ประเทศไทยคนร้ายลอบวางระเบิดหรือใช้ระเบิดเป็นอาวุธก่อเหตุหลายครั้ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทำลายสถานที่ราชการ สถานที่ต่างๆเป็นประจำ ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 17สิงหาคม 2565 มีการลอบวางระเบิด วางเพลิง สถานที่ต่างๆ รวม 18 แห่ง
ระหว่างปี พ.ศ.2551 - 2557 มีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง โดยกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.)กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปฯ(กปปส.)
มีเหตุคนร้ายลอบขว้างปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม หรือลอบวางระเบิดในสถานที่ต่างๆ ก่อเหตุสร้างความวุ่นวาย สร้างความตระหนักตกใจให้กับประชาชนหลายต่อหลายครั้ง
เมื่อมีการลอบวางระเบิดเกิดขึ้นที่ใด หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันไม่ให้เกิดระเบิดขึ้นทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน คือ ตำรวจหน่วยเก็บกู้และตรวจสอบระเบิด EOD (Explosive Ordnance Disposal)
ประวัติความเป็นมาของหน่วยเก็บกู้ระเบิด เริ่มตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2483 ประเทศอังกฤษ ได้จัดตั้งหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด (Bomb Disposal)โดยรับอาสาสมัคร จำนวน 46 นาย
ปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้ระเบิดจากเครื่องบินโจมตีของฝ่ายเยอรมัน จนถึงปีพ.ศ.2485 เหลือรอดชีวิตอยู่เพีง 8 นายเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมการศึกษาเรื่องการทำลายวัตถุระเบิดมาก่อน
พ.ศ.2488 กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งโรงเรียนทำลายวัตถุระเบิด “Bomb Disposal School”ขึ้นเป็นครั้งแรก มุ่งศึกษาเฉพาะการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดทางอากาศ ต่อมาเปลี่ยนแปลงให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการเก็บกู้ระเบิดภาคพื้นดินด้วย
ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น”Explosive Ordnance Disposal School”ให้การฝึกและการศึกษาทั้งกำลังพลสหรัฐอเมริกาและของต่างชาติพันธมิตร
โรงเรียนแห่งนี้ สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาผลิตนักเก็บกู้ระเบิดออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสงครามสำคัญๆหลายครั้ง เช่น สงครามโลก ครั้งที่ 2 สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามอิรัก สงครามในอัฟกานิสถาน และ การต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก
พ.ศ.2491 กองทัพบกไทย ได้ส่งนายทหาร และนายสิบไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และจัดตั้งหน่วยแผนกกระสุน และวัตถุระเบิด กองการศึกษาโรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ปี พ.ศ.2509 หน่วยนี้ได้ให้การศึกษาในวิชากระสุนปืน และวัตถุระเบิด รับผิดชอบการฝึกนักทำลายล้างวัตถุระเบิดให้กับกองทัพบก และหน่วยต่างๆ ผลิตนักทำลายวัตถุระเบิดทั้งระดับนายทหารชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนไปประจำการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยต่างๆทั่วประเทศไทย
เมื่อปี พ.ศ.2504 กรมตำรวจ (ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ได้จัดตั้งแผนกวัตถุระเบิด สังกัดกองพลาธิการ กรมตำรวจ มีหน้าที่เกี่ยวกับคลังวัตถุระเบิด ตรวจพิสูจน์ระเบิดและเก็บกู้วัตถุระเบิด
พ.ศ.2521 ในขณะนั้น พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเก็บกู้วัตถุระเบิด ได้มีการจัดชุดเก็บกู้ระเบิด EOD ขึ้นเป็นครั้งแรก รับผิดชอบการเก็บกู้ระเบิดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
พ.ศ.2528 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้เริ่มจัดชุดเก็บกู้ระเบิด เพื่อรับผิดชอบในส่วนภูมิภาค เนื่องจากมีการลอบวางระเบิดสูงขึ้น
พ.ศ.2535 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 21)ลงวันที่ 10 เมษายน 2535 กำหนดให้งานเก็บกู้ระเบิด สังกัดกองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง
สำหรับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีชุดปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิด กระจายอยู่ตามหน่วยงาน ตชด.ทั่วประเทศ กก.ตชด.11 – 44 กองบังคับการการฝึก กก.1- 9 และกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ
พ.ศ.2547 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้จัดชุดเก็บกู้ระเบิดใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา
พ.ศ.2548 งานเก็บกู้วัตถุระเบิด กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง ได้ปรับเป็นกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์ระเบิด(เทียบเท่ากองกำกับการ) สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ(191) กองบัญชาการตำรวจนครบาล
มีหน้าที่รับผิดชอบงานตรวจพิสูจน์ ค้นหา เก็บกู้ ทำลาย พิสูจน์ทราบ ทำให้ปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง ซึ่งวัตถุระเบิดในสถานที่สงสัยว่าจะมีหรือได้รับแจ้ง
งานตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีที่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น มีเหตุขู่วางระเบิด มีเหตุพบวัตถุต้องสงสัย มีเหตุพบวัตถุระเบิด มีเหตุลอบวางระเบิด
การตรวจสอบสถานที่เพื่อถวายความปลอดภัยแด่ พระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลสำคัญ
ป้องกันการก่อวินาศกรรม และการก่อการร้ายในเมือง และงานอื่นๆที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
มีชุดปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิด โดยรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง
ย้อนอดีตการเกิดเหตุระเบิดครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2525 เวลาประมาณ 16.27 น.เกิดเหตุระเบิดที่ทำการของสถานกงสุลอิรักกรุงเทพฯ เป็นระเบิด C4 ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะเก็บกู้ระเบิด เป็นผลให้อาคารตึก 2 ชั้น 2 คูหา พังถล่มลงมา
พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส หัวหน้าแผนกวัตถุระเบิด ผู้นำกำลังตำรวจเข้าปฏิบัติการ เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 4 นาย และประชาชน 13 คนได้รับบาดเจ็บ นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมและความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของนักเก็บกู้ระเบิดตำรวจ
พ.ต.ท.สุรัตน์ สุมานัส ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าแผนกเก็บกู้ระเบิด กองกำกับการ 3 กองพลาธิการ กรมตำรวจ (พ.ศ.2521- 2525) วีระบุรุษโล่เงินผู้นี้ เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2481 ที่ ตำบลเกาะลอย อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จบการศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ
ปี พ.ศ.2503 พ.ต.ท.สุรัตน์ฯเริ่มเข้ารับราชการเป็นตำรวจ สังกัดกองพลาธิการตำรวจ พ.ต.ท.สุรัตน์ฯสนใจและศึกษาเกี่ยวกับวัตถุระเบิด เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรของกรมตำรวจ หลักสูตรผู้บังคับกองร้อย ที่โรงเรียนสรรพาวุธทหารบก
และได้เดินทางไปศึกษางานด้านวัตถุระเบิดที่สหรัฐอเมริกา และวิชาต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐอเมริกา จนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดมากที่สุดในขณะนั้นของกรมตำรวจ
ในปี พ.ศ.2525 มีการลอบวางระเบิดสถานที่ต่างๆ รวม 77 ครั้ง พ.ต.ท.สุรัตน์ฯได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยเก็บกู้ระเบิด ออกปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเองทุกครั้ง
พ.ต.ท.สุรัตน์ฯเสียสละอย่างยิ่งในการเลือกปฏิบัติหน้าที่ในแผนกวัตถุระเบิด เพราะหน่วยนี้ต้องเสี่ยงภัยอย่างมาก ทุกครั้งที่ออกปฏิบัติหน้าที่งานอาจพลาดพลั้งได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้เสมอทุกเวลา
พ.ต.ท.สุรัตน์ฯปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ นำหน้าผู้ใต้บังคับบัญชาในการกู้ระเบิดแทบทุกครั้ง แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำก็ได้ แต่มักจะทำด้วยตนเอง เป็นหัวหน้าที่ดี และเป็นตัวอย่างที่ดีของใต้บังคับบัญชา จนเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
ปี 2537 มีการลอบระเบิดในกรุงเทพฯครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายขับรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกแทงค์น้ำเหล็กทำเป็นระเบิดแบบคาร์บอมบ์ ภายในแทงค์น้ำเหล็กบรรจุปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรตผสมกับน้ำมันโซล่าเรียบร้อยแล้ว น้ำหนัก 1 ตัน โดยใช้ระเบิดซีโฟร์ ขนาด 2ปอนด์ เป็นตัวจุดระเบิด รถเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่ สน.ลุมพินี คนร้ายหลบหนีไป การก่อเหตุล้มเหลว
หน่วยเก็บกู้ระเบิดต้องรีบดำเนินการเก็บกู้ระเบิด เพราะระเบิดอานุภาพรุนแรงมาก หากจุดระเบิดสำเร็จรัศมีทำการไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตรทำลายล้างอาคารได้ทั้งหลัง
พระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง ช่วยคุ้มครองปกป้อง ที่สำคัญโชคไม่เข้าข้างคนร้ายขับรถมาเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ก่อนที่จะถึงเป้าหมายที่วางแผนคาร์บอมบ์เล่นงานคู่กรณี ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสถานทูตอิสราเอลหรือสถานทูตสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านดังกล่าว
ดังคำกล่าวที่ว่า”ตายหนึ่งเกิดเป็นแสน” หลังจาก พ.ต.ท.สุรัตน์ฯ เสียชีวิตไปแล้ว ตำรวจ EOD ก็ได้เพชรเม็ดงามมาอยู่ในหน่วยอีกคนคือ พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ(ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้บังคับการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน 5 จังหวัดลำปาง)
พล.ต.ต.กำธรฯเริ่มรับการครั้งแรกเป็นทหารอากาศ สังกัดกองสรรพาวุธ ทหารอากาศ เมื่อปี พ.ศ.2528 สำเร็จการฝึกอบรม EOD ผ่านการฝึกอบรมและการศึกษาดูงานต่างประเทศด้านวัตถุระเบิดหลายหลักสูตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนนาดา และประทศจีน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดทุกประเภท
ปี พ.ศ.2537 โอนย้ายมาเป็นตำรวจ สังกัดแผนกเก็บกู้วัตถุระเบิด ต่อมาเลื่อนตำแหน่งเป็นสารวัตร รองผู้กำกับ ผู้กำกับกลุ่มงานเก็บกู้ระเบิด และเป็นรองผู้บังคับการ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ(191) ตามลำดับ จนได้รับการโปรดเกล้าเป็นผู้บังคับการฯ เมื่อปีพ.ศ.2564
ตลอดระยะเวลา 36 ปี พล.ต.ต.กำธรฯเป็นนักเก็บกู้ระเบิด เป็นครูสอนนักเก็บกู้ระเบิด รับราชการและดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยเก็บกู้ระเบิดตำรวจ ยาวนานที่สุด เคยไปปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดเก็บกู้ระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ประสบการณ์เสี่ยงชีวิต เผชิญหน้าในการเก็บกู้ระเบิดมามากกว่า 5,000 ครั้ง
ผลงานที่สำคัญ อาทิ ตรวจพื้นที่ถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ในพื้นที่กรุงเทพฯตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 - พ.ศ.2564 เฉลี่ยปีละ400 ครั้ง ถวายความปลอดภัยงานฉลองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ฯลฯ
งานเก็บกู้ระเบิดที่สำคัญ เช่น
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 - 2552 เป็นหัวหน้าชุดเก็บกู้ระเบิด ตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนประมาณ1500 คดี
วันที่ 31 ธันวาคม 2549 เวลากลางคืนต่อวันที่ 1 มกราคม 2550 คนร้ายก่อวินาศกรรม วางระเบิดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและนนทบุรีรวม 9 จุด
ปี พ.ศ.2553 ช่วงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ออกตรวจสอบพื้นที่ ตรวจสถานที่เกิดเหตุระเบิด และวัตถุต้องสงสัย
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาณ 14.00 น.ได้เกิดระเบิด 3 จุดที่ 1.เกิดเหตุในบ้านพัก จุดที่ 2.คนร้ายปาระเบิดใส่รถแท็กซี่และจุดที่ 3.เกิดระเบิดหน้าโรงเรียนเกษมพิทยา บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 31- 33 ถนนสุขุมวิท 71 มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
ปี พ.ศ.2557 ช่วงชุมนุมประท้วง กปปส.เกิดเหตุคนร้ายขว้างปาระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนบรรทัดทองเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จำนวนมาก
วันที่ 17 สิงหาคม 2558 คนร้ายวางระเบิดท้าวมหาพรหมมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ หลายราย
วันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 คนร้ายลอบวางระเบิดและวางเพลิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี นับสิบจุด หน้าสถานที่ราชการที่สำคัญ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานปลัดกลาโหม ฯลฯ
พล.ต.ต.กำธรฯยังเป็นวิทยากรบรรยายให้กองทัพบกกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสถาบันการศึกษา 4 เหล่าทัพ ในการเก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดในพื้นที่3 จังหวัดภาคใต้ และการใช้เครื่องมือเทคนิคในการเก็บกู้ระเบิด ฯลฯ
นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรบรรยายให้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจห้างสรรพสินค้า โรงแรม และภาคเอกชนต่างๆในเรื่องการสังเกตุวัตถุต้องสงสัย และการตรวจวัตถุระเบิด
พล.ต.ต.กำธรฯได้รับรางวัลและโล่ผลงานการปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นมากมาย จากองค์การภาครัฐและสมาคมผู้สื่อข่าวต่างๆ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านการเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด
พล.ต.ต.กำธรฯได้สอนลูกศิษย์ไว้เสมอว่า”นักกู้ระเบิดต้องยึดปรัชญาในการเก็บกู้ระเบิด 4 ข้อ ได้แก่
1.ชีวิตต้องปลอดภัยทั้งชีวิตผู้เก็บกู้ระเบิด และชีวิตของประชาชน
2.ทรัพย์สินต้องไม่เสียหาย
3.วัตถุพยาน ต้องสมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีกับคนร้ายได้
4.ชุมชนต้องดำเนินชีวิตตามปกติ”
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกระเบียบสำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมการทำลายวัตถุระเบิด โดยมอบหมายให้ สำนักงานส่งกำลังบำรุง และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหน่วยมีหน้าที่ในการจัดการฝึกอบรม
ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่ ข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ และกองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง
หลักสูตรการฝึกอบรม ใช้เวลาในการศึกษา 14 สัปดาห์หรือ 490 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้นักเรียนมีความรู้ดังนี้
1.ความรู้ความชำนาญในเรื่องการเก็บกู้วัตถุระเบิด
2.การพิสูจน์ทราบวัตถุต้องสงสัย3.การตรวจสถานที่เกิดเหตุ
4.การพิสูจน์ทราบเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดขนาดต่างๆ
ผู้สำเร็จการฝึกอบรม จะได้รับวุฒิบัตร และเครื่องหมายแสดงความสามารถนักทำลายวัตถุระเบิด
และเมื่อได้รับการแต่งตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วย EODก็จะได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานทำลายวัตถุระเบิด ชั้นสัญญาบัตร เดือนละ 10,000 บาท ชั้นประทวน 7,500 บาท
ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีชุดเก็บกู้ระเบิดพร้อมที่ปฏิบัติหน้าที่ ทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยสังกัดตามหน่วยงานต่างๆดังนี้
1.ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด สังกัดกองสรรพาวุธ
2.ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด สังกัดกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ(191) รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร
3.ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด สังกัดกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธร ภาค 1-9 และสังกัดกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรทุกจังหวัด รับผิดชอบแต่ละจังหวัด รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภารกิจตามแนวชายแดน และสนับสนุนจังหวัด เมื่อได้รับการร้องขอ รวมถึงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งสำหรับตำรวจ EOD ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 เวลา 09.50 น. ร.ต.ต.แชน วรงค์ไพสิฐ หัวหน้าชุดตำรวจ EOD จังหวัดนราธิวาส พร้อม
ด้วย ร.ต.ต.จรูญ เมฆเรือง และ จ.ส.ต.นิมิตร ดีวงศ์ ได้เดินทางเข้าตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยที่หมู่ที่ 4 อำเภอบาเจอะ คนร้ายกดจุดชนวนระเบิดที่วางดักเอาไว้ ทำให้เสียชีวิตทั้ง 3 นาย ยังความเศร้าสลดเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัว ผู้บังคับบัญชา และพี่น้องประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศ
ร.ต.ต.แชน หรือ”ดาบแชน”เป็นตำรวจนักกู้ระเบิดที่มีชื่อเสียง เจ้าของฉายา”นักกู้ระเบิดพันลูกแห่งนราธิวาส” เคยให้สัมภาษณ์ตามสื่อค่างๆและออกรายการโทรทัศน์หลายครั้ง ผ่านการอบรมหลักสูตร EODจากสหรัฐอเมริกา ทุ่มเทการทำงานในการเก็บกู้ระเบิดเอาชีวิตเข้าเสี่ยงตายนับ 1,000 ครั้ง
เคยได้รับบาดเจ็บ จากการโดนระเบิดลูกที่ 2-3 ที่คนร้ายวางดักไว้ ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่น ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจดีเด่นต้นแบบมูลนิธิบุณยะจินดา ฯลฯ
เมื่อปี พ.ศ.2552 ร.ต.ต.แชนฯได้ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าวอิศราว่า
”ปรัชญาการทำงานของผมคือ ยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อญาติพี่น้อง ลูกเมียและประชาชน นอนหลับสบาย ผมเคยกู้ระเบิดโดยใช้มือเปล่าดึงออกมา ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย เพราะคิดว่าช้าไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ทั้งที่มีคีมกับมีดพก แต่ไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะหยิบมันออกจากกระเป๋าเสื้อเพื่อกรีดดูหลายครั้งผมถูกเรียกตัว ขณะออกกำลังกายอยู่ หรือกำลังขี่รถกลับบ้าน เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ เกิดเหตุได้ตลอดเวลา บางทีต้องไปกู้ระเบิดในชุดกีฬา”
อดีตจนถึงปัจจุบัน ตำรวจ EOD ได้พลีชีพเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ รวม 11 นาย บาดเจ็บสาหัสจนทุพพลภาพและบาดเจ็บทั่วไป รวม 34 นาย
ปี พ.ศ.2560 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มอบปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต กิตติมศักดิ์ ยกย่องเชิดชูเกียรติ ตำรวจ EOD ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 5 นาย ที่ได้เสี่ยงชีวิตปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เป็นตัวอย่างของการทำความดีและเสียสละอย่างแท้จริง
ได้แก่ ดต.เสกสรร สุวรรณยุหะ ผบ.หมู่ ตรวจทำลายวัตถุระเบิด กก.สส.ภ.จว.ปัตตานี ดต.อมรเทพ ทองเหลือง,ส.ต.อ.จีรศักดิ์ แก้วสุกใส, ส.ต.อ.เมธี ดีพาส ผบ.หมู่ ตรวจทำลายวัตุระเบิด กก.สส.ภ.จว.นราธิวาส และ ดต.ชนะ สุภาพบุรุษ ผบ.หมู่ ตรวจทำลายวัตถุระเบิด กก.สส.ภ.จว.ยะลา
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 สมเด็จพระกนิษฐาเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสร็จไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ ตำรวจทั้ง 5 นาย ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ดต.เสกสรรฯได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า”การทำงานของพวกผมมีแต่ความเสี่ยง คำว่าพลาดและขอโทษ ไม่ใช่สิ่งที่พูดได้เสมอ ถ้าพลาดนั่นหมายถึงชีวิต แต่ถ้าคิดดูแล้ว เรายอมเสียสละหนึ่งชีวิตเพื่ออีกหลายชีวิตก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ทุกคนในหน่วยงานไม่ว่าจะกดดัน หรือเสี่ยงแค่ไหน เราหวังให้งานจบโดยทุกคนปลอดภัย นี่คือจุดหมายสูงสุดของพวกเรา”
เรื่องราวของตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด ยังดำเนินการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยต่อไป ตราบสังคมยังไม่ปลอดจากอาชญากรรมและการก่อเหตุร้าย ที่ยังอาจเกิดขึ้นได้ในทุกเวลาทุกพื้นที่
ขอจบบทความนี้ด้วยคำสัมภาษณ์ของพล.ต.ต.กำธรฯ ต่อบรรดาสื่อมวลชนว่า”ผมไม่ได้เปรียบพวกเราเป็นวีระบุรุษหรือฮีโร่ เพราะงานที่เราทำอยู่เป็นการช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ให้ปลอดภัยจากเหตุระเบิด และในขณะที่ทุกคนเดินหนี แต่เรากลับเป็นคนที่เดินเข้าไปเพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดที่แสนอันตราย มันเป็นความภาคภูมิใจ ของชาวอีโอดี”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ
ตำรวจสวนสนาม
การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์