หยุดปฏิบัติหน้าที่

ชัดขึ้นมาอีกนิดครับ

วานนี้ (๒๔ สิงหาคม) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ มีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังรับคำร้องการดำรงตำแหน่ง ๘ ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้พิจารณา

พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า วาระ ๘ ปี เริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปสิ้นสุดเมื่อไหร่

ระหว่างนี้ จะต้องมีบุคคลมาทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แล้วใครจะมาเป็นนายกฯ รักษาการ  

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๓๗/๒๕๖๓ เรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

เรียงลำดับตามนี้ครับ

๑.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

๒.นายวิษณุ เครืองาม

๓.นายอนุทิน ชาญวีรกูล

๔.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์            

๕.นายดอน ปรมัตถ์วินัย

๖.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ฉะนั้น "ลุงป้อม" จะรักษาการแทน

หลังจากนี้ ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่ได้แล้วนะครับ "ลุงป้อม" 

ต้องรู้!

อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นรักษาการนายกฯ แล้ว

ก็ไม่ใช่ครั้งแรกครับ "ลุงป้อม" เคยทำหน้าที่แทนมาแล้ว

ล่าสุด "ลุงตู่" เดินทางไป ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนสหรัฐฯ สมัยพิเศษครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๓  พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

"ลุงป้อม" ก็รักษาการอยู่ ๓-๔ วัน

แต่ครั้งนี้จะรักษาการนานกว่าที่ผ่านมา

เป็นไปได้สูงครับว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย โดยใช้เวลาไม่นานนัก

ไม่เกิน ๑ เดือน!

หาก ๘ ปี จบวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ก็คือจบ

ต้องยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๑ วรรคท้าย

"...คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ..."

"ลุงป้อม" ก็รักษาการไป

ขณะเดียวกันการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ต้องดำเนินไปเช่นกัน

จะใช้เวลาเท่าไหร่ ใครจะมา ก็ต้องจบช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อการประชุมเอเปก ประเทศไทยจะได้มีนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็ม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

ต้องไม่ใช่นายกฯ รักษาการ

ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วไงต่อ

ระหว่างนี้ "ลุงตู่" ยังประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่จะทำงานหรือตัดสินใจในฐานะนายกรัฐมนตรีมิได้

ก็ดำรงสถานะนี้ไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในอีก ๒ ทาง คือ

นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ วาระ ๘ ปี จะไปสิ้นสุดในวันที่ ๕  เมษายน ๒๕๖๘

และหากนับจากวันโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี  วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ วาระ ๘ ปี ก็จะสิ้นสุดวันที่ ๘  มิถุนายน ๒๕๗๐

ทั้ง ๒ ทางนี้ "ลุงตู่" จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ต่อ ไปจนมีการเลือกตั้งใหม่ช่วงกลางปีหน้า

หลังจากนั้นจะได้เป็นนายกฯ ต่ออีกหรือไม่ อยู่ที่้ผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล

หากศาลวินิจฉัยว่าจบที่ ปี ๒๕๖๘ ก็ไม่เหมาะที่ "ลุงตู่"  จะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง เพราะอยู่ต่อได้ไม่เกิน ๒ ปีเท่านั้น

และไม่คิดว่าจะมีใครไปหาเสียงเพื่อเป็นนายกฯ แค่ ๒  ปี

หากวินิจฉัยว่าจบในปี ๒๕๗๐ ดูไทม์ไลน์แล้ว ยังเป็นนายกฯ จนครบวาระได้ แต่อย่างที่บอก อยู่ที่้ผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาล

มาถึงประเด็นสำคัญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีแนวโน้มว่าคำวินิจฉัยหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร?

คำตอบคือ จากสถิติหลายๆ คดีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ ต้องพ้นจากตำแหน่งครับ

เช่นกรณีของ เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

สำลี รักสุทธี อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคภูมิใจไทย

ถ้ายึดบรรทัดฐานเดียวกันในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีนับสิบคดีครับ ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วสอยทีหลัง

น้อยมากที่จะรอด

แต่ก็มีกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง โดยไม่สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถูกสอยในภายหลัง เช่นกรณีสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ

ฉะนั้นก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า "ลุงตู่" ถูกสอยแน่ๆ

รอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ที่ต้องย้ำเพราะหากไม่เคารพอะไรกันเลย บ้านเมืองมีแต่จะวุ่นวาย

แต่ตงิดๆ ตรงที่ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พูดกับนักข่าวว่า

"...ไม่ตกใจ เพราะรับทราบเรื่องนี้จากสื่อล่วงหน้าหมดแล้ว ไม่ว่าจะออกมาในสถานการณ์แบบไหน..."

"...และในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมก็มีการพูดคุยกัน มีแจ้งให้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร รู้ล่วงหน้าในมุมว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ทั้งอันดับแรก อันดับสอง  อันดับสาม..."

ไม่ทราบรู้ล่วงหน้าเรื่องอะไร แต่หากเป็นคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นปัญหาครับ

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  หากใครมาพูดว่ารู้ล่วงหน้า ก็เท่ากับมีการแทรกแซง ไม่เป็นผลดีต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

แต่หากสิ่งที่รู้ล่วงหน้านั้น เป็นแนวทาง หรือสิ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิด หนึ่ง สอง สาม สี่ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

ฉะนั้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นแบบนี้ อย่าให้มีความสับสนเพิ่มเติมขึ้นมา เพราะมีคนพร้อมหยิบเอาไปเป็นชนวนจุดเชื้อความไม่พอใจอยู่แล้ว

ครับ...

ปัดฝุ่นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กันอีกครั้ง

เพื่อไทยมี ๓ คน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ชัยเกษม นิติสิริ

ประชาธิปัตย์ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภูมิใจไทย มี อนุทิน ชาญวีรกูล

หาก "ลุงตู่" ไป นี่คือคนที่จะมา

ส่วนนายกฯ ก๊อกสอง อย่าไปไกลครับ ไม่คุ้มกับความวุ่นวายที่จะตามมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี