ทำกันเอง 'แล้วอย่าร้อง'

 "นายกฯ ๘ ปี"

เรื่องถึงมือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เรียบร้อยแล้ว (๒๒  ส.ค.๖๕)

ฉะนั้น

ฝ่ายค้านในคอกหมาก็ดี ฝ่ายอีเวนต์โจรในถนนก็ดี  ฝ่ายสามนิ้วในคราบนักศึกษา "วอนนอนคุก" ก็ดี

อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็อย่าทำตัวเป็น "สากกะเบือไม่รู้รสพริก" ต้องทำตัวเข้าถึง "ประชาธิปไตย" ด้วย

เมื่อเรื่อง ๘ ปี เข้าสู่ "เขตอำนาจศาล" แล้ว

การปั่นประเด็น พูดจาชี้นำ-ชี้แนะใดๆ รวมทั้งการคุกคาม-ข่มขู่ศาล

"อย่าทำ"!

รอศาลวินิจฉัย "เป็นที่ยุติ" เท่านั้น แม้คำวินิจฉัยจะออกมาถูกใจ-ไม่ถูกใจ ฝ่ายใด

ทุกคน-ทุกฝ่าย ต้องยอมรับ!

ไอ้ที่ ส.ส.ในคอกแต่ละตัว รับออร์เดอร์ให้เวียนหน้าออกมาสัมภาษณ์โหมหนักช่วงนี้

หวังในทางเจตนาชี้นำกระแส ว่าถ้าศาลวินิจฉัยไม่เป็นคุณกับฝ่ายเรา หมายความว่า "ยุติไม่เป็นธรรม" ต้องเฮกันลงถนน แล้วป่วนลากยาวหวังล้ม APEC แบบนั้นน่ะ

บอกได้คำเดียว

เจอประชาธิปไตยระบบไอ้กันแน่ แล้วก็อย่าหวังว่าพ่อพวกมึงจะใช้โลกมาล้อมไทยได้

นี่...ไม่ได้ขู่นะ แค่เอา "เรื่องจริง" มาบอก!

ก็รู้แล้ว เคยเห็นกันแล้วใช่มั้ย ว่าประชาธิปไตยไอ้กันตอนปราบม็อบป่วนเมืองนั้นน่ะ เขาทำแบบไหน?

ตอนนี้ อยากรู้กันว่า ช้า-เร็วขนาดไหน คำวินิจฉัยจึงจะออกมา อย่างนั้นใช่มั้ย?

ผมไม่ใช่ผู้รู้ แต่มีท่านผู้รู้อธิบายถึงกรอบ-ขอบเขต ตามเทอมเวลาไว้แล้ว คือท่าน "จรัญ ภักดีธนากุล" อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ท่านให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวไทย" ไว้วันก่อน ผมจะยกมาเพื่อศึกษาหาความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน ดังนี้

.....................................

กระบวนการหลังประธานสภาฯ ส่งคำร้องตีความวาระนายกฯ ๘ ปี ให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดย "นายจรัญ ภักดีธนากุล"
เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องไว้ตรวจสอบความเรียบร้อยเบื้องต้น โดยใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ก่อนทำเรื่องเสนอให้ศาลพิจารณาสั่งรับคำร้องขอ

ซึ่งบางครั้ง อาจต้องใช้เวลาข้ามวัน เพราะศาลอาจมอบหมายให้องค์คณะ ๑ คน หรือ ๒ คน หรือ ๓ คนทำ

สมมติว่า ศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว........

โดยหลักก็จะต้องดูว่า ไปกระทบผลได้ผลเสียของใครบ้างหรือไม่ หากกระทบ ก็ควรให้คนเหล่านั้น ได้มีโอกาสคัดค้านโต้แย้งตามหลักการ ฟังความให้ครบทุกฝ่าย ไม่ฟังความด้านเดียว

อย่างเรื่องนี้ ก็มีคนที่ถูกกระทบสิทธิจากผลของคำร้องนี้ ก็ควรจะให้มีการส่งสำเนาและให้โอกาสการโต้แย้งคัดค้านจากผู้ที่เดือดร้อนก่อน

ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย ๗ วัน ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องดังกล่าวเร่งด่วนแค่ไหน

เมื่อได้คำคัดค้าน จากผู้ที่เกี่ยวข้อง มาแล้ว........

ศาลก็อาจจะฟังความเห็นของคนที่เกี่ยวพันกับหลักกฎหมายข้อนี้

เป็นไปได้ ที่ศาลอาจจะขอฟังความเห็นจาก กกต. หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

หรืออาจจะขอบันทึกเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จากเลขาธิการรัฐสภา

รวมทั้งเอกสารบันทึกการประชุมที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ซึ่งถ้าศาลขอเช่นนั้น ก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย ๒ สัปดาห์

เพราะคนที่จะทำความเห็นส่งมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องให้เวลาเขา

จากนั้น จะดูว่า.....

ต้องไต่สวนพยานบุคคล หรือพยานเอกสารหรือไม่?

ซึ่งส่วนตัว เห็นเหมือนกับความเห็นส่วนใหญ่ว่า ไม่น่าจะจำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคล เพราะถ้าไต่สวนพยานบุคคลก็จะยาว

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ความเห็นและได้เอกสารมาแล้ว  ศาลจะประชุมหารือโต้เถียงออกความคิดเห็นกัน อย่างน้อยที่สุด ๑-๒ ครั้ง

ผมคิดว่า ๒ ครั้ง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาห่างกันอย่างน้อยครั้งละ ๑ สัปดาห์

และหลังจากความคิดเห็นตกผลึก ก็จะนัดประชุมเพื่อลงมติ ก็จะต้องเลือกเวลาอย่างน้อย ๑ สัปดาห์

เนื่องจากเป็นข้อยุติ "ผูกพันทุกองค์กร"

เข้าใจว่าต้องเร็ว แต่ก็ต้องแม่น จึงต้องใช้เวลาตัดสินใจให้ดี

ทั้งนี้ เมื่อออกคำวินิจฉัยก็จะรู้ผลในวันนั้นเลย ข่าวก็จะออกได้เลย

แต่คำ "วินิจฉัยเป็นทางการ" ก็จะส่งไปที่ประธานรัฐสภาในภายหลัง

ดังนั้น ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ผู้ร้องจึงได้ขอว่า

"เมื่อรับคำร้องแล้ว ขอให้สั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราว หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน"

ซึ่งกฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งอย่างนั้นได้ แต่ก็เป็นแนวทางปฏิบัติกันว่า

ศาลไม่สั่งง่ายๆ เรื่องแบบนี้

และต้องมีเหตุผลอันหนักแน่นจริงๆ ถึงจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน โดยเฉพาะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง

แต่ก็มีความเห็นอีกด้านหนึ่งว่า........

หากให้ปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว เกิดไม่มีผลทางกฎหมาย  ประเทศจะเดือดร้อนเสียหายหรือไม่

เรื่องนี้จึงยาก และผมก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปให้ความเห็นอะไรที่เกี่ยวข้องได้.

..................................

ผมนับๆ ดูตามขั้นตอนทั้งหมด อย่างช้าสุด

ใช้เวลาภายใน ๔๕ วัน!

สรุปเป็นว่า ปลายกันยาหรือช้าแบบเร็ว ก็ต้นๆ ตุลา ๘ ปี ตู่-อยู่ต่อ หรือ ๘ ปี ตู่-ต้องไป ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ขาด "เป็นที่ยุติ" แน่

อันที่จริง ก่อนเรื่องจะถึงศาล  ทั้งกูรู ทั้งกูรู้ ให้ทัศนคติและมุมมองบนฐานกฎหมายบ้าง บนฐานเข้าใจเอาบ้าง บนฐานอคติ-เจตนาไปทางใด-ทางหนึ่งบ้าง

เรียกว่า หลากหลาย "ครบถ้วน-ครบด้าน" จนไม่เหลือด้านไหน จะให้ด้าน แบบดั้นด้น ต่อแล้ว

พูดกันแฟร์ๆ ถึงวันนี้...หยุดพัก

แล้ว "รอ" ศาล!

แบบนี้ จะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยโจรและฝ่ายเผด็จการปราบโจร ใน "นวัตกรรมประชาธิปไตยไทย" มิติต้นแบบเลยทีเดียว

"เห็นต่างในทางคิด แต่อยู่ร่วมในทางทำ"

ทั้งด้านเศรษฐกิจ, สังคม, การบ้าน และการเมือง บนฐานอารยะ "ประโยชน์ชาติบ้านเมือง"

ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ มันจะแปลกตรงไหน?

ประเด็นสำคัญ ที่ต้องเป็นไปในทางเดียวกัน คือ "ชาติ-ศาสน์-สถาบันกษัตริย์" ต้องยกอยู่เหนือ "ความคิดต่างและการทำต่าง"

เพราะ ๓ ประสานนั้น คือ "รากเหง้า" ในวิถีแห่งจิตวิญญาณ ในความเป็นชาติไทย เป็นคนไทย

ดูอย่างคนตะวันตก..........

ไปถึงโลกพระอังคาร บ้าใกล้ขั้นจะสร้างจักรวาลเป็นของตัวเอง ถึงขนาดนั้น

"พระเจ้า" ก็ยังคงเป็นจิตวิญญาณของเขา!

แล้วทำไม "รุ่นใหม่" ไทยเรา จะให้เท่ ต้องชังชาติ-ชังสถาบัน ด้วยเล่า?

กลับบ้าน ตบหัวกระบาลพ่อ-แม่เล่นได้

ไอ้ตี๋หัวตั้ง ศาสดาสามสัส มันสอน.......

ครู-อาจารย์ ต้องเคารพทำไม ในเมื่อเราต้องจ่ายตังค์ค่าสอน พ่อ-แม่ มีพระคุณตรงไหน เคยถามเราซักคำมั้ยว่า  "อยากเกิดมั้ย" ก็เปล่า...แล้วจะมีบุญ-มีคุณอะไรต่อกัน?

ฉะนั้น ตบกระบาลได้ รุ่นใหม่ "เสมอภาค-ทัดเทียมกัน" ทุกคน!

นี่....ไม่ว่ารุ่นเก่า-รุ่นใหม่ และรุ่นใกล้ฝังอย่างผม

หาเวลาว่าง.........

นั่งมองภายในตัวเองบ้าง อย่ามอง-อย่าเห็นแต่สังคมและความเป็นไปนอกตัวตะพึด-ตะพือ ไม่เช่นนั้น ที่หลงว่ารู้ แท้จริงคืองมงาย ไม่รู้อะไรเลย

แม้กระทั่ง "ใจ" ที่อยู่ในอกของตัว!?

ต้นไม้ ต้องมีราก

คน ต้องมีจิตวิญญาณ จึงจะดำรงอยู่ได้ หลงอะไรก็หลงได้ แต่อย่าหลงทางในจิตวิญญาณชาติกำเนิด!

ทุกอย่าง มีเบื้องต้น มีท่ามกลาง และมีบั้นปลาย การกระทำก็เช่นกัน บั้นปลายของ "อสัตย์บ้าน-อสัตย์เมือง" นั้น

"มันมีแน่"!

นาฬิกาที่ว่าเที่ยง ก็ยังมิสู้ "กฎกรรม" ที่เที่ยงแท้-แน่นอนยิ่งกว่า

ฉะนั้น ใครทำอะไรกับบ้านเมืองไทย กับชาติ-ศาสน์-สถาบันกษัตริย์ เตรียมรับผลแห่งกายทุจริต-วจีทุจริต และมโนทุจริต นั้นไว้เถอะ

"โทนี่ เอ๋ง" ละ "นางสัมปะแหลด" นั่นด้วย!

"แผ่นดินไทย" นั่นน่ะ จะบอกให้

ถ้าไม่ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ เทวฤทธิ์ทุกชั้นฟ้าปกปักรักษาละก็

พวกมึงและโคตรเหง้า........

ก็จะไม่มีชาติให้เนรคุณเพื่อส่งพวกมึงคืนนรกตามเดิมหรอก!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'๑ ประเทศ ๒ รัฐบาล'

คงเป็น "ที่สุดแห่งปี" จริงๆ สำหรับประเทศแห่งประชากรผู้หิวโหยและเทิดทูน ๒ พ่อลูก "ตระกูลชิน"

แบงก์ชาติ 'อย่านึกว่ารอด'!

ประเทศ "พ้นบ่วงมาร" ไปอีกบ่วง! เมื่อวาน (๒๔ ธ.ค.๖๗) ปลัดคลังแถลง กฤษฎีกาตีความทางกฎหมายและตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว