ก็มาดิครับ

วันนี้ครบ ๘ ปีแล้วครับ

"ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม  ๒๕๕๗

ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น

แต่ข้อกฎหมาย รอศาลรัฐธรรมนูญครับ

และวานนี้ (๒๒ สิงหาคม) ประธานชวน ให้​เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ​สภา​ผู้แทน​ราษฎร​ นำหนังสือ คำร้องที่พรรคฝ่ายค้านยื่นให้วินิจฉัยกรณี นายกฯ ๘ ปี ส่งศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อย

ไทม์ไลน์หลังจากนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาคดีซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ๖ ขั้นตอน

 ๑.การตรวจคำร้องและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้อง ในขั้นตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่า ๓ คน เป็นผู้พิจารณาก็ได้

เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งเรื่องให้คณะตุลาการดังกล่าวภายใน ๒ วันนับแต่วันที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง

โดยคณะตุลาการดังกล่าวจะต้องตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาภายใน ๕ วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

๒.การส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในคดีที่มีผู้ถูกร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็จะมีการส่งสำเนาคำร้องไปให้ผู้ถูกร้องทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องหรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

หากผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมาภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และศาลก็จะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป

๓.การพิจารณาคดี เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งขั้นตอนหนึ่ง โดยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้นใช้ระบบไต่สวน

การแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีไม่ใช่บทบาทของคู่กรณีเท่านั้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถลงไปค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ  ตลอดจนขอให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้

 ๔.การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดี คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของตนได้ตามที่ศาลเห็นสมควรและภายในเวลาที่ศาลกำหนด

การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของคู่กรณีต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแถลงการณ์ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ

๕.การทำคำวินิจฉัยและคำสั่ง เป็นขั้นตอนซึ่งตุลาการที่เป็นองค์คณะทุกคนจะต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมหารือร่วมกันแล้วจึงลงมติ

ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของตุลาการทุกคนที่ต้องร่วมทำคำวินิจฉัย เว้นแต่มีเหตุถูกคัดค้านหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

โดยตุลาการแต่ละคนต้องทำความเห็นส่วนตนโดยสังเขปนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะตามข้อกำหนดของศาลด้วย

องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า ๗ คน คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก

เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ศาลปรึกษาหารือกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ

๖.การอ่านและเผยแพร่คำวินิจฉัย เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายกำหนดให้คำวินิจฉัยมีผลในวันอ่าน และกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยที่มีคู่กรณี

ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย แล้วแต่กรณี ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ให้ศาลบันทึกไว้และถือว่าคำวินิจฉัยได้อ่านโดยชอบแล้ว

กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยแก่ผู้ร้อง และให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน

ทั้งนี้ จะต้องประกาศคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษาภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

 กระบวนการทั้งหมดนี้ช้าเร็วจะอยู่ที่การไต่สวน ตามข้อ ๓

คดีนายกฯ ๘ ปี หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่ไต่สวน แต่จะนัดวินิจฉัยเลย

ถ้าเป็นแบบนี้จะจบเร็วขึ้น

ไม่เกินเดือนกันยายน ได้รู้ครับว่าหมู่หรือจ่า

แต่ที่อัปลักษณ์ คือมีการปั่นกระแสตั้งธงจะไม่ยอมรับคำวินิจฉัย

ครั้งก่อนคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เครือข่ายต่อต้านรัฐบาล จัดให้มีการโหวตเสียงว่าจะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐบาลเรียงตัว

ไม่ต้องไปถามเรื่องผลครับ เพราะรู้ตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวว่าจะทำการโหวตแล้ว

การโหวตแบบนี้ ไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าเป็นความเห็นทางการเมืองของประชาชนโดยรวม

เพราะเป็นความเห็นของประชาชนขั้วการเมืองหนึ่งต่างหาก

หากว่าพรรคการเมืองเปิดให้โหวต ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่พรรคการเมืองต้องการวัดกระแสนิยมของตัวเอง

แต่หากสถาบันการศึกษาเป็นคนทำ สิ่งที่ต้องพึงระวังคือความครอบคลุมในช่องทางการโหวตเสียง

มาครั้งนี้เอาอีก เจ้าเดิม "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล"  อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำแบบเดิม

เปิดโหวตเสียง ประเด็น นายกฯ ๘ ปี ผ่านเครือข่ายนักวิชาการ “เสียงประชาชน” ๘ มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ ๘ สำนัก

ผลไม่ต้องพูดถึงเช่นเคย เพราะรู้ตั้งแต่เห็น รายชื่อ ทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ ๘ สำนัก

ฉะนั้นการเคลมผลว่า เป็นการโหวตของประชาชน ควรจะชัดเจนเสียก่อนว่า ประชาชนกลุ่มไหน

ปัจจุบันประชาชนถูกแบ่งเป็น ๒ ขั้วหลักอย่างชัดเจน

อยากได้ผลแบบไหนจากคำถามแบบไหน 

"ไทยโพสต์" ถึงไม่เปิดโหวตในลักษณะนี้ เพราะรู้ดีว่ากลุ่มคนที่จะมาโหวตเป็นใคร และผลจะออกมาอย่างไร

ที่สำคัญไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้ว่าเป็นความเห็นของ "ประชาชน" ได้

สถาบันการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย มีสิทธิขั้นพื้นฐานเต็มเปี่ยมครับที่จะไล่รัฐบาล

หรือจะไปร่วมกับพรรคการเมือง มวลชนทางการเมือง  เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยกันก็ไม่แปลก แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน

เหมือนที่ กปปส.เคยเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคการเมือง มหาวิทยาลัย ต่อต้านระบอบทักษิณ ระบอบโคตรโกง

วัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ต้องโหวต ไม่ต้องทำโพล

ไม่ต้องไปสร้างกระแสให้เข้าใจผิด

วันนี้ "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อยากไล่รัฐบาล ก็เชิญลงมาเดินถือธงนำหน้า

แต่การปั่นกระแสผ่านการโหวต อ้างว่า เป็นการโหวตของประชาชน เกือบ ๑๐๐% ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป นอกจากไม่สะท้อนความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเฉียดคำว่าวิชาการเลย

แค่จุดไฟให้พวกเดียวกันเองโกรธแค้นมากขึ้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า วาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบ ๘ ปี

หรือ "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" วันนี้ไม่ใช่นักวิชาการแล้ว

แต่กำลังจะเป็นหัวหน้าม็อบ

ก็มาดิครับ.                

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี