ผมเชื่อว่า “สนุกแน่” ไม่ว่าจะออกมาในรูปไหน
หากการประชุมสุดยอด G-20 ที่บาหลีและ APEC ที่กรุงเทพฯในเดือนพฤศจิกายนนี้ได้ต้อนรับอาคันตุกะจากบรรดาประเทศที่กำลังมีข้อพิพาทระดับโลกกันอยู่ขณะนี้
ไม่ว่าจะเป็นสี จิ้นผิงจากจีน
วลาดีเมียร์ ปูตินจากรัสเซีย
โจ ไบเดนจากสหรัฐฯ
วลาดีเมียร์ เซเลนสกีจากยูเครน
และผู้นำอินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์
และอย่าลืมคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือด้วย (ถ้าไทยกับอินโดฯประสานมือกันสร้างประวัติศาสตร์โลก)
แน่นอนว่าผู้นำอาเซียนหลานคนก็คงจะมาปรากฏตัวในสองเวทีนี้ด้วยอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้ มีข่าวจาก Wall Street Journal ว่าสี จิ้นผิงของจีนตกลงจะมาร่วมประชุมสุดยอดสองงานนี้
และเตรียมจะนัดกับไบเดนเพื่อมีโอกาสเจอกันตัวเป็น ๆ อีกด้วย
ไม่ว่าจะเป็นที่บาหลีหรือกรุงเทพฯ
ก็สร้างความตื่นเต้นได้ระดับหนึ่ง
แม้ว่าทั้งปักกิ่งและวอชิงตันจะยังไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธข่าวนี้
แต่ความน่าสนใจถูกยกระดับขึ้นทันทีเมื่อประธานาธิบดีโจโก วิโดโดให้สัมภาษณ์ Bloomberg ว่าปูตินและสี จิ้นผิงรับปากว่าจะมาร่วมประชุม G-20 ค่อนข้างแน่นอนแล้ว
ทำให้ผมเห็นภาพของความคึกคักในสองประเทศอาเซียน (อินโดฯกับไทย) ขึ้นอย่างทันที
เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะและสำคัญยิ่ง
เรียกว่าถูกเวลา, ถูกสถานที่และถูกคน
ส่วนเอาเข้าจริง ๆ จะมาครบถ้วนหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับว่ามีสัญญาณจากเมืองหลวงใหญ่ ๆ ของโลกว่าผู้นำเขาเห็นความสำคัญของการมาที่อาเซียนเพื่อใช้เป็นเวทีของการพบปะหารือ
จะเป็นการมาเปิดใจ, ต่อรอง, เผชิญหน้าหรือหาทางออกร่วมกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เอาเป็นว่าพอมีข่าวทำนองนี้ออกมาเท่านั้น บรรยากาศในเวทีระหว่างประเทศก็ร้อนแรงทันที ต่างจับตาดูความเคลื่อนไหวระดับสากลอย่างใกล้ชิดกันทันที
รายละเอียดที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นมาจาก Andi Widjajanto – ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของที่บอกกับนักข่าวยืนยันที่โจโกวีพูดไว้ก่อนหน้านั้น
"ผู้นำจีนและผู้นำรัสเซียจะเข้าร่วมการประชุม"
กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ให้ความเห็นต่อข่าวนี้
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะปกติปักกิ่งจะไม่แสดงจุดยืนอะไรในเรื่องเหล่านี้เร็วเกินไป
จะสงวนท่าทีและตรวจสอบรายละเอียดก่อน...เช่นใครจะมาบ้าง, วาระการประชุมเป็นอย่างไร, มีการประสานงานกันแล้วมากน้อยเพียงใด
ใครจะต้องเจอกับใคร และจะเจอกันแบบไหน
ทั้งหมดนี้เป็นพิธีกรรมสำคัญยิ่งสำหรับผู้นำจีนก่อนที่จะบอกกล่าวอะไรเป็นทางการ
ด้านรัสเซีย โฆษกเครมลินก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นกัน
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวที่ส่งสัญญาณว่าปูตินสนใจที่จะมาแสดงตนในเวทียักษ์อย่างนี้
เพราะเขาเห็นความสำคัญของการทูตระดับโลกที่ทำให้ปูตินมีความโดดเด่น
โดยเฉพาะเมื่อต้องการให้เวทีระหว่างประเทศเหล่านี้ได้ยินเสียงดัง ๆ จากปากของผู้นำรัสเซียเองว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียในยูเครนนั้นเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมจากมุมมองของมอสโก
สำนักข่าวต่างประเทศบอกว่าเจ้าหน้าที่อีกคนที่คุ้นเคยกับสถานการณ์บอก "ปูตินจะเข้าร่วม"
สี จิ้นผิงไม่ได้ออกต่างประเทศมาหลายปี ยกเว้นล่าสุดที่ไปเยือนเมียนมาเมื่อต้นปีนี้
ที่เป็นงานใหญ่ฮ่องกง 30 มิถุนายนที่ผ่านมาถือเป็นกรณีพิเศษเพราะเป็นโอกาสวันเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ของการรับมอบเกาะคืนจากอังกฤษ
อีกทั้งการที่ผู้นำปักกิ่งไปฮ่องกงนั้นไม่ถือว่าเป็นการ “เดินทางต่างประเทศ”
เพราะจีนถือว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน
หรือแม้หากสี จิ้นผิงจะบินไปเยือนไต้หวัน (ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด) ก็ต้องถือว่าเป็นการไป “ตรวจงานในประเทศ” เช่นเดียวกัน
แต่ภาพสมมตินี้คงไม่เกิดง่าย ๆ
ผมยกตัวอย่างให้เห็นเปรียบเทียบเท่านั้นเอง
ที่เป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ก็คือเซเลสกีจะมาร่วมประชุมที่บาหลีและกรุงเทพฯจริงหรือ
เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังไม่มีใครตอบได้แม้แต่เซเลนสกีเอง
เพราะแม้ว่าโจโกวีจะไปพบเซเลนสกีที่กรุงเคียฟหลังไปคารวะปูตินที่มอสโกเมื่อเดือนที่ผ่านมา
และออกคำเชิญให้ทั้งสองท่าน แต่ปูตินกับเซเลนสกีคงจะมีคำถามข้อเดียวกันว่า
แล้วจะให้เขาสองคนพบกันตัวเป็น ๆ หรือมีคนกลาง
หรือจะให้เซเลนสกีเข้าร่วมประชุมผ่านวีดีโอออนไลน์?
และก่อนจะถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ไตยิป แอร์โดอันก็อาสาเป็นกาวใจให้ทั้งสองคนไปพบกันที่ตุรกีก่อนแล้ว
ดังนั้น หากทั้งสองคนนี้พร้อมจะเจอกันจริงก็คงจะไม่ต้องรอถึงปลายปี
แต่ก็อีกนั่นแหละ จังหวะนี้ยังไม่เหมาะที่ปูตินกับเซเลนสกีพร้อมจะนั่งลงต่อรองกัน
เพราะเงื่อนไขเบื้องต้นของแต่ละฝ่ายห่างไกลกันเกินกว่าที่จะมีโอกาสได้ตั่งลงเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น
เอาเป็นว่ายังมีความเป็นไปได้ที่เซเลนสกีจะมาร่วมประชุมสุดยอดที่บาหลีหรือกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตาม
ตั้งความหวังไว้ดีกว่าจะบอกปัดไปตั้งแต่ต้น
เพราะไม่มีสงครามใดไม่จบลงที่โต๊ะเจรจา
เดือนพฤศจิกายนนี้มีกิจกรรมทางการเมืองใหญ่ทั้งที่สหรัฐฯและจีน
เป็นจังหวะของการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะได้เห็นการยืนยันรับรองให้สี จิ้นผิงต่ออายุการเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไปอีกหนึ่งสมัยค่อนข้างแน่นอน
และเป็นช่วงที่จะมีการเลือกสภาผู้แทนฯและวุฒิสภากลางเทอมของสหรัฐฯที่มีความหมายทางการเมืองอย่างยิ่งสำหรับโจ ไบเดน
แต่ถ้าผู้นำทั้งสองเห็นความสำคัญของการมาปรากฏตัวที่บาหลีและกรุงเทพฯ ก็คงจะสามารถจัดตารางหน้าที่งานการให้สับหลีกให้เหมาะเจาะก็ได้
งานนี้ โจโกวีแห่งอินโดฯได้คะแนนความพยายามทางการทูตระหว่างประเทศไปเต็ม ๆ ... หากผู้นำมหาอำนาจและผู้เกี่ยวข้องกับสงครามยูเครนและความวุ่นวายรอบ ๆ ไต้หวันสำเร็จ
เขาพยายามวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นคนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและพร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือไกล่เกลี่ย...แล้วแต่จะเรียกขาน
โจโกวีอ้างว่าทั้งจีนและรัสเซียยอมรับอินโดนีเซียเป็น "สะพานแห่งสันติภาพ"
ส่วนประเทศไทยเราจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลด้วยหากวางตัวให้เป็น “สะพานสันติภาพต่อเชื่อมกับอินโดฯ” ไปพร้อม ๆ กัน
หวังว่ากระทรวงต่างประเทศเราก็กำลังทำการบ้านกันอย่างหนักอยู่เพื่อผลักดันท่าทีของไทยให้เด่นชัด, สร้างสรรค์และจับต้องได้อย่างจริงจัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ