เมืองมาเนาส์และการเดินทางของยางพารา

ย่าน Centro หรือใจกลางเขตเมืองเก่ามาเนาส์ มีอาคารหลังหนึ่งที่สวยงามโดดเด่นกว่าใคร ชื่อว่า Teatro Amazonas นิตยสาร Vogue เลือกให้เป็น 1 ใน 15 โรงละครโอเปราที่สวยที่สุดในโลก เวลานี้มีอายุได้ 125 ปีแล้ว และหากไม่ใช่เพราะยางพารา โรงละครแห่งนี้อาจไม่มีวันถูกสร้างขึ้น

ต้นยางพาราขึ้นอยู่ในป่าแอมะซอนมาช้านาน ชาวพื้นเมืองค้นพบและนำมาใช้ประโยชน์เมื่ออย่างน้อย 3,600 ปีก่อน ชาวพื้นเมืองในเปรูเรียกยางไม้นี้ว่า “เกาโช” แต่ชาวยุโรปเรียกว่ายางพารา (Para Rubber) เพราะพวกเขาเข้าไปตะลุยหายางชนิดนี้กันในภูมิภาคที่มีชื่อว่า Para ต่อมารัฐบาลบราซิลแบ่ง “ปารา” ออกเป็น “รัฐปารา” และ “รัฐอามะโซนัส”

นักสำรวจจากยุโรปนำกลับไปยังประเทศของตนแล้วทดลองใช้ประโยชน์แตกต่างกันไป ในอังกฤษเอาไปทำยางลบ เรียกว่า Rubber กลายเป็นคำศัพท์ควบคู่กับคำว่า Eraser ส่วนในฝรั่งเศสนำไปทำสายรัดถุงน่องสตรี

     ข้อเสียของยางพาราคือมีความเหนียวหนืดเมื่อถูกความร้อนและแข็งทื่อเมื่อโดนอากาศเย็น จนเมื่อมีการคิดค้น Vulcanization หรือกระบวนการทำให้คงตัวขึ้นสำเร็จในปี ค.ศ.1839 ก่อให้เกิดพัฒนาการการใช้งานที่หลากหลาย ป้อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปและอเมริกาเหนือ

     ผู้ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจยางพาราในเขตลุ่มน้ำแอมะซอนต่างร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีทุกรายไป เรียกยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่าเป็นยุค Rubber Boom หากแปลเป็นภาษาไทยก็คงเรียกได้ประมาณ “ยุคตื่นยาง”

     ยางพาราเป็นสินค้าส่งออกของบราซิลถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ รายได้ของชาวมาเนาส์ต่อหัวมากกว่าภูมิภาคผลิตกาแฟหลักๆ อย่างเซาเปาลู, รีโอเดจาเนโร และเอสปิริโตซานโต ราว 2 เท่า และกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายเพชรของโลก

       “มาเนาส์” เมืองหลวงของรัฐอามะโซนัส และ “เบเลม” เมืองหลวงของรัฐปารา มีความเจริญรุดหน้าอยู่ในอันดับต้นๆ ของบราซิล มีรถรางไฟฟ้าใช้ เกิดถนนกว้างแบบอเวนิว ตึกรามบ้านช่องสวยงามหรูหรา

     สำหรับมาเนาส์นั้นถือว่าเป็นเมืองแรกในบราซิลด้วยซ้ำไปที่เติบโตในความหมายของความเป็นเมืองใหญ่ และเป็นเมืองที่ 2 ในบราซิลที่มีไฟฟ้าใช้ (หลังเมืองกัมปุส ดุส กอยตากาซิส ในรัฐรีโอเดจาเนโร) และก่อนหลายเมืองในยุโรป

     นอกจากนี้เมืองมาเนาส์ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาใต้ ชาวยุโรปผู้มีฐานะและบรรดาศิลปินหลากหลายแขนงย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากและประกอบวิชาชีพตามที่ตัวเองถนัด วิทยาการและศิลปวัฒนธรรมที่พวกเขานำเข้ามาทำให้สภาพความเป็นอยู่ในมาเนาส์ดูทันสมัยไม่แตกต่างจากยุโรป จนมาเนาส์ได้รับฉายา “ปารีสเขตร้อน”

     สำหรับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เราได้เห็นสถาปัตยกรรมดังๆ โดยเฉพาพาะ Teotro Amazonas ออกแบบโดยสถาปนิกอิตาเลียน รวมถึงตลาด Mercado Adolpho Lisboa ตามแบบของตลาด Les Halles ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

     ความเจริญรุ่งเรืองที่ได้มาแบบชั่วข้ามคืนของชาวยุโรปนั้น ส่วนมากแล้วเกี่ยวข้องกับการเอารัดเอาเปรียบคนท้องถิ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกรีดยางพาราในบริเวณเขตแม่น้ำปุตุมาโย (Putumayo) สาขาสำคัญของแม่น้ำแอมะซอนซึ่งอยู่ในประเทศเปรู

     บริษัท Anglo-Peruvian Rubber Co. ของ “ฆูลิโอ ซีซาร์ อารานา” ซึ่งระดมทุนในอังกฤษโดยนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้เงินลงทุนมา 1 ล้านปอนด์ บริษัทได้นำเจ้าหน้าที่ผู้คุมงานในไร่อ้อยจากบาร์บาโดสมายังลุ่มน้ำปุตุมาโย และได้กวาดต้อนบังคับใช้แรงงานชนพื้นเมืองจำนวนมหาศาลในการกรีดยางพารา

     ในช่วงเวลาไม่กี่ปี ชนพื้นเมืองเสียชีวิตไปนับแสนรายจากโรคระบาดและการถูกปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนทารุณ โลกภายนอกไม่มีใครรู้เห็นโศกนาฏกรรมของพวกเขา กระทั่ง “วอลเตอร์ ฮาร์เดนเบิร์ก” วิศวกรหนุ่มชาวอเมริกันได้เดินทางไปยังเขตดังกล่าวก่อนที่จะถูกจับเป็นนักโทษโดยคนของบริษัท Anglo-Peruvian Rubber Co.

     เมื่อหลุดรอดการคุมขังออกมาได้ ฮาร์เดนเบิร์กเขียนบทความหลายตอนลงในนิตยสาร Truth เมื่อปี ค.ศ.1909 เกี่ยวกับสิ่งที่เขาพบเจอ เว็บไซต์ survivalinternational.org

     ตัดทอนมาลงไว้ดังนี้

       “เจ้าหน้าที่ของบริษัทบังคับให้ชนพื้นเมืองอินเดียนในปุตุมาโยทำงานทั้งวันทั้งคืน ไม่มีค่าตอบแทน ยกเว้นอาหาร เพื่อให้พวกเขายังคงมีชีวิตทำงานได้ต่อไป…”

       “...พวกเขาถูกปล้นพืชผลทางการเกษตร ถูกปล้นแม้กระทั่งลูกและเมีย...พวกเขาถูกเฆี่ยนเหมือนไม่ใช่มนุษย์จนกระดูกโผล่ออกมา… พวกเขาถูกปล่อยให้ตาย ถูกหนอนกิน และเป็นอาหารของสุนัข”

       “... ลูกน้อยของพวกเขาถูกจับเอาหัวอัดกระแทบกับต้นไม้และกำแพงจนสมองกระจาย… ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กถูกยิงเพื่อความบันเทิง… พวกเขาถูกราดน้ำมันก๊าดแล้วจุดไฟเผา เพื่อให้บรรดาลูกจ้างของบริษัทได้รับความสนุกสนานจากความบรรลัยของผู้อื่น”

     พอเรื่องแดงขึ้นมา รัฐบาลอังกฤษก็ส่งคณะตรวจสอบลงพื้นที่ระหว่างปี ค.ศ.1910-1911 หนึ่งในนั้นคือกงสุลอังกฤษประจำนครรีโอเดจาเนโร นาม “โรเจอร์ เคสเมนต์” ซึ่งต่อมาได้ทำรายงานไปในทางเดียวกับเรื่องราวที่ “ฮาร์เดนเบิร์ก” นำเสนอ

     “เคสเมนต์” ตีพิมพ์สิ่งที่พบเห็นในหนังสือชื่อ “Putumayo: The Devil’s Paradise” เขียนถึงการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ การจับคนเป็นทาส การเฆี่ยนตีอย่างต่อเนื่อง ฆาตกรรม และการใช้ตลาดหุ้นเป็นเครื่องมือทรมานชนพื้นเมืองอินเดียนแดง

     นายกรัฐมนตรีอังกฤษ “เฮอร์เบิร์ต แอสควิธ” ขอให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาว่าควรมีมาตรการเช่นไร สุดท้ายผู้เกี่ยวข้องถูกลงโทษกันถ้วนหน้า

     “เวด เดวิส” นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดา ระบุในหนังสือ One River ของเขาในเวลาต่อมาว่า “...การกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนต่อชาวอินเดียนในแอมะซอน ยุคที่การตื่นยางขึ้นสู่จุดสูงสุดนั้นเป็นความน่าสะพรึงกลัวชนิดที่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่การเข้าไปพิชิตดินแดนโลกใหม่ของสเปนในยุคเริ่มต้น”

     ส่วนการใช้แรงงานในเขตรัฐอามะโซนัสและปาราของบราซิลไม่ค่อยมีรายงานเรื่องการกดขี่และปฏิบัติกับแรงงานด้วยความรุนแรงเหมือนในเปรู อย่างไรก็ตาม โรคระบาดที่มากับชาวยุโรปก็ทำให้แรงงานชนพื้นเมืองเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย

     จุดพลิกผันที่ทำให้ Rubber Boom สิ้นยุค เกิดขึ้นเมื่อ “เฮนรี วิกแฮม” นักสำรวจชาวอังกฤษได้ใช้เวลา 1 ปีเต็มในการเก็บเมล็ดพันธุ์ยางพาราทั่วลุ่มน้ำแอมะซอน ก่อนบรรทุกลงเรือนำออกจากบราซิลเขารายงานต่อทางการว่าเป็น “ตัวอย่างเพื่อการศึกษาทางวิชาการ” จำนวน 70,000 ตัวอย่าง ซึ่งตามปกติเป็นคำที่ใช้เรียกพืชหรือสัตว์ที่ตายแล้ว ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์พืช เท่ากับว่าเขาลักลอบขนย้ายหรือขโมยนั่นเอง

     กลางเดือนมิถุนายน ค.ศ.1876 ตัวอย่างทั้งหมดเดินทางถึง Royal Botanic Garden เมืองคัว สหราชอาณาจักร จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการจารกรรมในนามองค์กรของรัฐ และไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเมล็ดยางพาราจำนวน 70,000 เมล็ด แตกหน่อออกมา 2,700 ต้น จากนั้นทางการอังกฤษก็ได้นำไปปลูกที่บริติชซีลอน (ศรีลังกา), บริติชมลายา (คาบสมุทรมลายู), เกาะชวา และในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา

     หลังจากต้นยางเติบโตและให้น้ำยาง จักรวรรดิอังกฤษก็กลายมาเป็นผู้ควบคุมการค้ายางพาราของโลกแทนที่บราซิล ส่วนไทยของเราก็ได้รับอานิสงส์จากการจารกรรมทางชีววิทยาครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกครั้งดังกล่าวมาเต็มๆ และโดยคุณูปการของ “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี” และ “พระสถลสถานพิทักษ์” จนไทยเป็นประเทศส่งออกยางพาราอันอับ 1 ของโลกในปัจจุบัน

     ทั้งนี้มีรายงานว่าอังกฤษเคยลักลอบนำเมล็ดพันธุ์ยางพาราออกมาจากป่าแอมะซอนแล้ว มี 12 เมล็ดที่แตกหน่อและนำไปปลูกที่อินเดีย แต่ตายหมดทุกต้น

     การทำสวนยางพาราในเอเชียนั้นมีความสะดวกในการใช้พื้นที่เพาะปลูก และให้ผลผลิตงอกงามมากกว่าในป่าแอมะซอนของบราซิลและเปรูหลายเท่า เนื่องจากภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกัน แต่เป็นการปลูกในเชิงพาณิชย์บนที่ดินที่เตรียมไว้อย่างเหมาะสม ทั้งมีระบบบริหารจัดการที่ดีกว่า ขณะที่ในแอมะซอนนั้นเป็นการไปกรีดยางเอาตามต้นยางพาราในป่า นอกจากนี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันได้เกิดโรคเชื้อราในใบของยางพารา รวมถึงโรคอื่นๆ และการถูกรบกวนจากทั้งสัตว์และวัชพืช

สัญลักษณ์แห่งทรงจำยุค Rubber Boom โรงละครโอเปราแอมะซอน Teatro Amazonas เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ.1884 เปิดใช้งานปี ค.ศ.1896

     ยุคตื่นยางสิ้นสุดลงในช่วงประมาณปี ค.ศ.1920 บรรดาเจ้าสัว นักธุรกิจยางพารา และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจทั้งในรัฐอามะโซนัสและรัฐปาราหอบเงินไปลงทุนที่อื่น ส่งผลให้เมืองใหญ่ที่เติบโตเพราะยางพาราซบเซาลงอย่างรวดเร็ว รัฐทั้งสองสูญเสียรายได้จากภาษี เมืองไร้แสงสว่างเพราะไม่มีเงินสำหรับค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ประชาชนว่างงานในอัตราที่สูง เกิดการย้ายถิ่นกลับชนบท ที่ไม่ย้ายก็อยู่อาศัยในเรือนแพริมน้ำ รอคอยโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ

     ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกยึดประเทศต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศปลูกยางพาราทั้งหลายโดนกันถ้วนหน้า ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสูญเสียการเข้าถึงการใช้ยางพาราถึง 97 เปอร์เซ็นต์ของยางทั้งหมดที่ผลิตในทวีปเอเชีย แม้ทางสหรัฐอเมริกาจะคิดค้นและพัฒนายางสังเคราะห์ขึ้นใช้การได้ดีสำหรับผลิตยางรถยนต์ แต่ความต้องการใช้ยางธรรมชาติยังไม่ลดน้อยลงไป

อีกมุมมองของ Teatro Amazonas โรงละครโอเปราในลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ Renaissance Revival

     รัฐบาลบราซิลได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยการทำข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐว่าจะผลิตยางจากป่าแอมะซอนในปริมาณมากอีกครั้ง ทว่าคนงานในธุรกิจยางพาราลดเหลือ 35,000 คน เพื่อให้ถึงเป้าหมายในการเอาน้ำยางออกมาใช้ 45,000 ตันต่อปี พวกเขาต้องการแรงงาน 100,000 คน สุดท้ายก็ต้องเกณฑ์แรงงานไปกรีดยางโดยใช้ระบบเดียวกับการเกณฑ์ทหาร รัฐบาลสหรัฐจ่ายรายหัวให้กับรัฐบาลบราซิลสำหรับแรงงานที่ถูกส่งไปยังป่าแอมะซอนคนละ 100 เหรียญฯ รวมถึงเงินสนับสนุนอื่นๆ

     แรงงานเหล่านั้นเสียชีวิตด้วยโรคในป่าดิบชื้น อาทิ มาลาเรีย ไข้เหลือง และโรคตับอักเสบ รวมถึงการถูกโจมตีจากสัตว์ร้ายจำพวกเสือดำและงูพิษ แรงงานหรือทหารกรีดยางถูกส่งไปยังแอมะซอน 54,000 คน เสียชีวิตไปถึงราว 30,000 คน

จัตุรัส São Sebastião รายล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างสำคัญ ได้แก่ โรงละครแอมะซอน, อนุสาวรีย์ฉลองเปิดท่าเรือมาเนาส์ และโบสถ์ซานเซบาสเตียน

     เมืองมาเนาส์และเมืองใหญ่ในภูมิภาคกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในช่วงสั้นๆ เรียกว่ายุค Second Rubber Boom แต่พอสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไม่นานความคึกคักหดหาย ความเงียบเหงาเข้ามาแทน ส่วนชะตากรรมของพวกที่รอดชีวิตจากการใช้แรงงานกรีดยางเดินทางกลับภูมิลำเนาเพียงประมาณ 6,000 คน รัฐบาลไม่ได้ทำตามสัญญาในการยอมรับพวกเขาในฐานะวีรบุรุษสงครามเหมือนเช่นพวกที่ไปรบ จนถึงตอนนี้ทหารกรีดยางที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ไม่กี่รายยังคงเรียกร้องการยอมรับและเงินชดเชยจากรัฐบาล

     การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งกับเมืองมาเนาส์ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 สมัยเผด็จการทหารของบราซิล มีการออกนโยบายสำคัญๆ และนำโครงการใหญ่ๆ เข้าไปยังเขตชั้นในของประเทศ รัฐบาลได้จัดตั้ง Free Trade Zone ขึ้นที่เมืองมาเนาส์เมื่อปี ค.ศ.1967 และเนื่องจากมีข้อจูงใจทางภาษีก็ทำให้การลงทุนได้หลั่งไหลกลับเข้าไป ทั้งจากในและต่างประเทศ

     เศรษฐกิจมาเนาส์กลับมาเข้มแข็ง เที่ยวเรือที่ท่าพลุกพล่าน ทั้งเรือสินค้าและเรือท่องเที่ยว มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 6 ของประเทศ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI อยู่ในระดับสูง จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีมากกว่า 2 ล้านคน มากเป็นอันดับ 7 ของประเทศ เมื่อฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ สนามฟุตบอล Arena da Amazonia เมืองมาเนาส์ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสังเวียนการแข่งขัน

       ทั้งนี้ บราซิลเกิดรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ.1964 ได้รับการหนุนหลังอย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลทหารบราซิลอยู่ในอำนาจถึง 21 ปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย