เอเปค-นายกฯ๘ปี

เรตติ้งดี....

ยังวนกับเรื่อง นายกฯ ๘ ปี ครับ เพราะมีประเด็นต่อเนื่องทุกวัน

เอาที่ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมา ตั้งแต่วันที่ ๒๔  สิงหาคม ๒๕๕๗   นี่คือข้อเท็จจริง  ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

และเช่นกัน จะครบ ๘ ปี ในวันที่ ๒๓ สิงหาคมนี้  นี่ก็คือข้อเท็จจริงเช่นกัน

แต่ที่เห็นต่างกันคือวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๘ ปี ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ นั้น  ต้องเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้ำกันอีกทีที่วิจารณ์กันอยู่มี ๓ แนวทาง

 ๑. เริ่มนับจากวันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ จะสิ้นสุดในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕

๒. นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ จะครบ ๘ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๘

และ ๓. นับจากหลังการเลือกตั้ง ๒๕๖๒ ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา คือวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ ระยะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๗๐

แนวทางแรกคือแนวทางที่พรรคฝ่ายค้านฟันธงว่าเป็นแบบนั้น ในการยื่นคำร้องกับประธานรัฐสภา แนบคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย และคดี สิระ เจนจาคะ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ

๒ คดีนี้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐาน การวินิจฉัย กรณีนายกฯ ๘ ปี เพราะเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้มีผลย้อนหลัง

เอามาฝากครับ

คดียุบพรรคไทยรักไทย ขณะนั้นมีการคำถามเช่นกันว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ๑๑๑ คนมีผลย้อนหลังหรือไม่

เนื่องจากการกระทำของพรรคไทยรักไทยที่เป็นเหตุแห่งการให้ยุบพรรคเกิดขึ้นเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙  อันเป็นวันที่ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓  ซึ่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับต่อไป

จึงมีปัญหาว่า ประกาศ คปค. ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับย้อนหลังแก่การกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคซึ่งเกิดขึ้นเสร็จสมบูรณ์ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ หรือไม่

ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ๖ เสียง  เห็นว่า มีผลใช้บังคับย้อนหลังได้

พร้อมกับยกเหตุผล ๓ ข้อ คือ

๑.การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามกฎหมายพรรคการเมืองปี ๒๕๔๑

๒.เพื่อมิให้กรรมการบริการพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

๓.แม้สิทธิเลือกตั้งจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ ก็ย่อมมีได้

ส่วนคดี สิระ เจนจาคะ  ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ๗ ต่อ ๒ ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของนายสิระสิ้นสุดลง นับแต่วันทีเลือกตั้ง คือย้อนหลังไปวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ 

เหตุที่ต้องย้อนหลังเพราะ "สิระ เจนจาคะ"  ไม่มีคุณสมบัติสมัครส.ส.ตั้งแต่แรก

เข้าใจว่าพรรคฝ่ายค้านต้องการนำกรณีนี้เป็นบรรทัดฐานในกรณีการดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เหมือนหรือต่าง กรณี นายกฯ ๘ ปี

"สิระ เจนจาคะ"   ถูกวินิจฉัยให้สิ้นสภาพส.ส. จากดคีฉ้อโกง ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๘

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘  บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

 (๑๐)  เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน

ฉะนั้นฉ้อโกงตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ก็ไม่รอดครับ

ประเด็นนี้คลายข้อสงสัยเรื่องรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมปราบโกงจริงหรือไม่ ได้เช่นกัน เพราะมีคนบางพวกเอารัฐธรรมนูญไปด้อยค่า ด่าสารพัด

ในทางกฎหมาย บรรทัดฐาน เป็นแบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องที่เหมือนกัน เช่น ในกรณีศาลในอดีตได้เคยพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งไว้แล้ว

ต่อมาปรากฏมีคดีความที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกันขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอีก ศาลก็จะพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังนั้นโดยยึดคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นบรรทัดฐาน

เช่นเดียกับกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นในทางกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้แล้ว

หากมีการหารือปัญหาข้อกฎหมายนั้นขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกันกับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือไว้แล้ว 

คณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะยึดความเห็นทางกฎหมายที่เคยให้ไว้แล้วเป็นบรรทัดฐาน

ฉะนั้นคำวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย กับคดี สิระ เจนจาคะ   เป็นบรรทัดฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยคดี นายกฯ ๘ ปี หรือไม่ วิญญูชนย่อมรู้ดี

เริ่มมีการจี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วให้เร่งพิจารณาคดี

อย่าดองเรื่องช่วย "ลุงตู่"

ลองเทียบคดียุบพรรคอนาคตใหม่ครับ

วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ "ศรีสุวรรณ จรรยา"  ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบสัญยาการกู้เงินระหว่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับพรรคอนาคตใหม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่า การกู้ยืมเงินจากนายธนาธรของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา ๗๒ แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

วันที่ ๒๑ กุมพาพันธุ์ ๒๕๖๓  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

ใช้เวลาพอควร

ตัดไทม์ไลน์ ศรีสุวรรณ ออกไป ให้เหลือกกต.กับศาลรัฐธรรนูญ จะเห็นว่าใช้เวลาร่วม ๒ เดือน

คดีนายกฯ ๘ ปี   วันนี้คำร้องยังอยู่ที่ประธานรัฐสภา  อาจจะส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญวันที่ ๒๓ สิงหาคม เพราะถือเป็นวันที่เกิดปัญหาสงสัยต้องตีความรัฐธรรมนูญแล้ว

หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา ๒ เดือน โดยมีคำวินิจฉัยช่วงปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน จะเกิดอะไรขึ้น

เกิดแน่ครับ เพราะไทยต้องเป็น มีการประชุมผู้นำเอเปค ในวันที่ ๑๔-๑๙ พฤศจิกายน

มันก็อลเวงพอควร

ที่่ปล่อยข่าวยุบสภายิ่งแล้วใหญ่

หากนายกฯจะชิงยุบสภา ไม่ใช่ก่อนวันที่ ๒๓ สิงหาคมแน่นอน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเลย

หรือหากจะยุบสภาก่อนมีคำวินิจฉัย ก็อีกเป็นเดือนครับ

เป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้

อย่างเร็วสุดอาจเป็นปลายเดือนกันยายน

กรณียุบสภาต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน ๔๕-๖๐ วัน

หรือเราจะเลือกตั้งกันช่วงประชุมเอเปค

ครับ...ไทม์ไลน์สิ้นปีดูจะยุ่งเหยิงพอควร 

แต่ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี นายกฯ ๘ ปี หลังการประชุมเอเปคผ่านพ้นไป

แต่ก็ไม่แน่อีกนั่นแหละครับ ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเร็วกว่าคดีอื่นๆ

เพื่อให้การประชุมเอเปคผ่านไปอย่างราบอื่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี