สุดเสี่ยง! เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กลายเป็น ‘สมรภูมิสงคราม’

ก่อนที่เราจะกลัวว่ารัสเซียกับโลกตะวันตกจะเปิดสงครามนิวเคลียร์ที่จะมีผลทำลายล้างโลกนั้นเราต้องวิตกอย่างยิ่งกับความเสี่ยงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของยูเครนถูกระเบิดของทั้งสองฝ่ายถล่มโจมตีจนกลายเป็น “มหันตภัย” ที่ควบคุมไม่ได้

เพราะแม้สหประชาชาติจะพยายามเตือนแล้วเตือนอีก และขอเข้าไปกำกับดูแลจุดอันตรายนี้ก็ยังไม่เกิดผลแต่ประการใดทั้งสิ้น

จุดที่ว่านี้คือโรงไฟฟ้า Zaporizhzhia (ซาโปริชเชีย) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่อันดับ 9 ของโลก

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองแอแนร์ฮอดาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ใกล้กับแม่น้ำนีเปอร์

ที่ว่าใหญ่เพราะมีเครื่องปฏิกรณ์ผลิตพลังงาน 6 เครื่อง และเริ่มผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 1984

ก่อนเกิดสงคราม โรงงานแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศยูเครนเท่ากับ 20% ของความต้องการทั้งหมด

ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 4-4.2 หมื่นล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เฉพาะที่นี่จุดเดียวก็ผลิตไฟฟ้าเท่ากับ กว่า 45% ไฟฟ้าจากพลังนิวเคลียร์ทั้งหมดของประเทศนี้

พอเกิดสงครามเท่านั้น ที่นี่ก็กลายเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดจุดหนึ่งที่อาจจะนำไปสู่ความเสียหายใหญ่หลวงที่มีผลต่อทั้งยุโรปหรือทั้งโลกได้

ตั้งแต่สงครามเริ่ม เครื่องปฏิกรณ์ที่ 1 ถึง 4 ยังคงทำงานปกติ แต่เครื่องที่ 5 และ 6 หยุดทำงานชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมปรับปรุง

พอมีข่าวว่ากองกำลังรัสเซียที่อยู่ทางใต้จากแหลมไครเมียเคลื่อนพลขึ้นเหนือมุ่งหน้ามายังโรงไฟฟ้าแห่งนี้เท่านั้นแหละ ผู้คนที่รู้เรื่องดีก็ส่งสัญญาณเตือนอย่างเร่งด่วนทันที

และเป็นไปอย่างที่คาด ทหารรัสเซียเข้ายึดสถานีไฟฟ้าแห่งนี้ ทำให้ทหารยูเครนต้องต่อต้าน

การรบพุ่งก็เกิดขึ้น ณ จุดที่ต้องไม่เกิด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ก็จะพ่ายแพ้ยับเยินทั้งคู่

ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นผู้ถล่มโจมตีเข้ามา เพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าเสียหาย            

หากรังสีนิวเคลียร์รั่ว นั่นคือหายนะทันที

 ประธานาธิบดียูเครนเซเลนสกีออกมาโวยว่า นี่คือความพยายามของรัสเซียที่จะ “ก่อการร้ายนิวเคลียร์”

และยึดโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็น “ตัวประกัน”

ขณะที่รัสเซียกล่าวหาว่าทหารยูเครนต่างหากที่ยิงขีปนาวุธเข้ามาเพื่อจะทำลายโรงไฟฟ้าแห่งนี้

เซเลนสกีเตือนถึง "ภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์" ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นทั้งทวีปยุโรป

"หากทั่วโลกไม่แสดงความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยวในการปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ นั่นจะหมายความว่าโลกถึงคราวพ่ายแพ้แล้ว" เซเลนสกีกล่าว

ฝั่งรัสเซียโต้ว่าลูกปืนใหญ่ของยูเครนตกลงใกล้กับโรงไฟฟ้า

ยูเครนแย้งกลับว่า ทหารรัสเซียเป็นฝ่ายโจมตีและพยายามโยนความผิดให้ยูเครน

ที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครน 5 แห่ง

 

รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน โอเลกไซ เรซนิคอฟ บอกสื่อว่าไม่มีเหตุผลที่ยูเครนจะโจมตีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เพราะรู้ว่ามันมีความเสี่ยงเพียงใด

เขาบอกว่าคนยูเครนตระหนักดีถึงภัยจากนิวเคลียร์หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อปี ค.ศ.1986

เขายืนยันว่า

"เราขอร้องไปยังทุกฝ่ายช่วยเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ ไม่ใช่แค่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาคมโลกทั้งหมดเพื่อช่วยกันปกป้องไม่ให้เกิดหายนะด้านนิวเคลียร์อีกครั้งในยุโรป"

สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศที่ว่านี้คือ The International Atomic Energy Agency (IAEA) อยู่ใต้องค์การสหประชาชาติ

ที่ออกมาเตือนอย่างหนักแน่นมาตลอด...ยืนยันว่าหากไม่มีการหยุดยิงในบริเวณนั้น โลกจะเผชิญกับภัยอันใหญ่หลวง        

แต่ก็ไร้ผล

เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ พยายามต่อสายถึงรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซอร์เกย์ ชอยกู

เรียกร้องเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รัสเซียยึดครองไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม

และยังขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบระหว่างประเทศเดินทางเข้าไปตรวจความเสียหาย

แต่ก็ไม่เกิดผลทางปฏิบัติแต่อย่างไร

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา บอกว่า รัสเซียจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อเปิดทางให้ผู้ตรวจสอบของ IAEA เข้าถึงโรงไฟฟ้าแห่งนี้

แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียก็อ้างว่าไม่มีใครรับรองความปลอดภัยของทีมจาก IAEA ได้

เรื่องของเรื่องก็จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่พร้อมจะกลายเป็นจุดพร้อมระเบิดได้ตลอดเวลา

ผู้อำนวยการทั่วไปของ IAEA ที่ชื่อ Rafael Grossi ออกมาตอกย้ำถึงอันตรายที่โลกกำลังเผชิญอยู่ว่า             สถานการณ์ที่นั่นวันนี้ข้าม “เส้นแดง” ของความปลอดภัยมากแล้ว

เขาบอกว่า "มาตรฐานหลักที่ขาดไม่ได้ 5 ใน 7 ประการของความปลอดภัยและความมั่นคงทางนิวเคลียร์วันนี้ถูกละเมิดแล้ว"

นั่นแปลว่าการสู้รบระหว่างทหารรัสเซียกับยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ขณะนี้ในบริเวณนั้นกำลังจะนำพายุโรปเข้าสู่จุดอันตรายแล้ว

เพราะหากต่างฝ่ายต่างเคารพในความปลอดภัยของคนทั่วยุโรป (ไม่เฉพาะยูเครนและรัสเซียหรือประเทศเพื่อนบ้าน) ก็จำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องถอยห่างออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้

แล้วประกาศหยุดยิงอย่างน้อยก็ในบริเวณนี้

เพื่อให้สหประชาชาติและผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าไปกำกับดูแลและนำเสนอมาตรการที่จะทำให้ “แนวรบ” นี้กลายเป็น “เขตปลอดทหารและการสู้รบ” อย่างฉับพลัน

หาไม่แล้ว คำว่า “สงครามนิวเคลียร์” อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจกดปุ่มถล่มกันด้วยอาวุธร้ายแรงที่สุดที่ตนมีก็เป็นได้

วันนี้โลกตกอยู่ในสภาพไร้การควบคุมจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว