คิสซิงเจอร์ (99) เตือนมะกัน อยู่ปากเหวสงครามกับจีนและรัสเซีย

สหรัฐฯ กำลังยืนอยู่บน “ปากเหว” ของสงครามกับรัสเซียและจีน

เพราะวอชิงตันปฏิเสธประเพณีการทูตแบบดั้งเดิม

และเพราะอเมริกาขาดผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพียงพอ

สองประโยคนี้มาจาก “ท่านผู้เฒ่า” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์

ที่บอกกับ Wall Street Journal ด้วยเหตุผลเหล่านี้ สถานการณ์จึงได้ผลักดันให้โลกต้องเผชิญสงครามยูเครนและวิกฤตไต้หวัน

ก่อนหน้านี้ คิสซิงเจอร์ (ปีนี้อายุ 99) ก็มีข้อเสนอที่ทำให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางพอสมควร

เพราะแกบอกว่ายูเครนควรจะยอมสละดินแดนบางส่วนให้กับรัสเซียเพื่อยุติสงคราม

แน่นอนว่าทั้งโลกตะวันตกและยูเครนเองก็ต้องมองว่าแกเสนออย่างนี้เป็นการเอาใจรัสเซีย

เป็นแนวทางทูตแบบ “ดั้งเดิม” ที่ให้ประเทศที่มีอำนาจต่อรองมากกว่ามีสิทธิ์มีเสียงต่อประเทศที่เล็กกว่าโดยเฉพาะที่ติดอยู่ข้างบ้าน

แต่ล่าสุดประโยคนี้ของอดีตคนใกล้ชิดประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายอย่างคิสซิงเจอร์ก็เรียกร้องความสนใจอย่างกว้างขวางด้วยการเอ่ยเอื้อนว่า

“เราอยู่ในภาวะสงครามกับรัสเซียและจีนจากเงื่อนไขที่เราสร้างขึ้นบางส่วน โดยไม่มีแนวคิดว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรหรือจะนำไปสู่อะไร”

แปลว่าแกกำลังโยนความผิดส่วนใหญ่ไปให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน

ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ 'Leadership : Six Studies in World Strategy'

แปลว่า “หกกรณีศึกษาว่าด้วยความเป็นผู้นำในยุทธศาสตร์โลก”

คิสซิงเจอร์วิเคราะห์บทบาทของโลกตะวันตกในความขัดแย้งกรณีสงครามยูเครนได้อย่างน่าสนใจ

แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องกับแก

เพราะประวัติการทำงานด้านการเมืองให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตนั้นมีหลายเรื่องหลายราวที่ถูกมองว่าเป็นพวกเหยี่ยวที่ใช้อำนาจความเป็นมหาอำนาจโลกในยุคนั้นๆ เพื่อดำเนินนโยบายที่ให้ได้ประโยชน์วอชิงตันเท่านั้น

ในหนังสือเล่มนี้ แกเล่าถึงกระบวนการตัดสินใจของผู้นำหลายประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผลต่อสถานการณ์ของโลกวันนี้

คิสซิงเจอร์เชื่อว่าการตัดสินใจของรัสเซียในการส่งทหารเข้ายูเครนในเดือนกุมภาพันธ์นั้นมีผลมาจากข้อพิจารณาว่าด้วยการปกป้องความมั่นคงของตนเอง

แกมองว่ารัสเซียเชื่อว่าหากยูเครนเข้าร่วมกับ NATO ก็จะมีการติดตั้งอาวุธของพันธมิตรฯ ไปไว้ในรัศมี 300 ไมล์ (480 กม.) จากมอสโก

แต่แกก็เชื่อว่าในทางกลับกัน หากยูเครนทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ความมั่นคงของยุโรปดีขึ้นแต่อย่างไร

เพราะ "ความกลัวในประวัติศาสตร์ของยุโรปที่มีความหวั่นเกรงถึงเรื่องการครอบงำของรัสเซีย"

แกจึงเสนอว่านักการทูตในกรุงเคียฟและวอชิงตันควรพยายาม

"สร้างสมดุล" ให้กับความกังวลเหล่านี้

แปลว่าตะวันตกต้องเข้าใจถึงความกังวลของรัสเซียต่อการรุกคืบของ NATO ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อมอสโก

และสรุปว่าวิกฤตยูเครนเป็น “ผลพวงจากการเจรจาเชิงกลยุทธ์ที่ล้มเหลว” ของโลกตะวันตก

คิสซิงเจอร์ยืนกรานว่าฝ่ายตะวันตกควรปฏิบัติตามข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน อย่างจริงจัง

และทำให้ชัดเจนว่ายูเครนจะไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพันธมิตรของนาโต

ความจริง ก่อนที่ปูตินจะส่งทหารเข้ายูเครนนั้น รัสเซียให้นำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรถึง “ความกังวลทางด้านความมั่นคง” ของรัสเซียว่าด้วยเรื่องยูเครนและนาโต

แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา

คิสซิงเจอร์มีประวัติการทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งในเวทีต่างๆ ทั่วโลก

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 แกเป็นคนอยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าเจรจาอย่างกว้างขวางกับคอมมิวนิสต์เวียดนาม แม้ในขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ยังทำสงครามกับเวียดนาม

แกบอกว่าผู้นำอเมริกันสมัยใหม่มักจะมองว่าการทูตคือ “การมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับฝ่ายตรงข้าม”

คิสซิงเจอร์วิพากษ์ว่าผู้นำอเมริกันยุคนี้ “มักจะมองการเจรจาทางการทูตคือการไปเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะเข้าใจในแง่จิตวิทยา

นั่นคือพยายามเปลี่ยนใจหรือประณามคู่เจรจามากกว่าที่จะเจาะลึกความคิดของฝ่ายตรงกันข้าม

คิสซิงเจอร์เสนอว่าสหรัฐฯ ควรแสวงหา "สมดุล" อันเหมาะสมระหว่างตัวเอง รัสเซีย และจีน

นั่นหมายความถึง "ความสมดุลของอำนาจที่ยอมรับความชอบธรรมของค่านิยมที่ขัดแย้งกันในบางครั้ง"

“เพราะถ้าคุณเชื่อว่าผลลัพธ์สุดท้ายของความพยายามของคุณต้องเป็นการกำหนดคุณค่าของคุณ ผมคิดว่าความสมดุลก็เป็นไปไม่ได้”

ภายใต้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน คิสซิงเจอร์ปูทางด้วย “การทูตราชการลับ” ของสหรัฐไปยังจีนในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การดึงปักกิ่งออกจากมอสโก

และเปลี่ยนความสมดุลของอำนาจในโลกให้ห่างไกลจากคอมมิวนิสต์ตะวันออก

ต้องถือว่าแกมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยน “ดุลอำนาจโลก” ในโลกยุคนั้นทีเดียว

วันนี้คิสซิงเจอร์เชื่อว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถจะใช้นโยบายดึงเอารัสซียหรือจีนให้แยกออกจากกันได้เหมือนในอดีตอีกแล้ว

“สิ่งที่อเมริกาทำได้ก็คือ อย่าเร่งความตึงเครียด แต่ต้องสร้างทางเลือกให้มากขึ้น และหากจะทำอย่างนั้นได้ สหรัฐฯ ก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนบางอย่าง”

คิสซิงเจอร์คือผู้สนับสนุนนโยบายที่เรียกว่า realpolitik ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นั่นหมายถึงการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จับต้องได้ของประเทศต่างๆ เหนืออุดมการณ์ทางการเมือง

พูดง่ายๆ คือทุกประเทศย่อมมองผลประโยชน์ของตนมาก่อน และการที่จะป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศก็คือการที่ต้องเคารพในการรักษาผลประโยชน์ของตนและของอีกฝ่ายหนึ่ง

ด้วยการพยายามทำความเข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งกังวลอะไร และต้องการจะรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างไร

จากนั้นก็ต่อรองเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของกันและกัน

ก็ด้วยจุดยืนเช่นนี้แหละที่ทำให้คิสซิงเจอร์ได้รับคำสาปแช่งพอๆ กับเสียงขานรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศพอสมควร

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ประธานาธิบดียูเครน วลาดิมีร์ เซเลนสกี ออกมาประณามคิสซิงเจอร์ ที่เสนอให้ยูเครนยอมรับการกลับสู่ "สถานะปัจจุบัน" โดยสละการอ้างสิทธิ์ในดินแดนไครเมีย

และให้เอกราชแก่สาธารณรัฐโดเนตสค์และลูแกนสค์

เพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย เพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3

ต่อมาคิสซิงเจอร์ชี้แจงว่า ความหมายของเขาคือให้ยูเครนระงับเงื่อนไขเหล่านั้นไว้ชั่วคราวเพื่อหาทางเจรจาหยุดยิงทันที

แต่ก็หนีไม่พ้นว่าเซเลนสกีเห็นแกเป็น “ศัตรู” ที่เป็นเครื่องมือของโฆษณาชวนเชื่อและแบล็กเมล์ของรัสเซียของฝ่ายรัสเซียมากกว่าที่จะมีความจริงใจในการช่วยแก้ปัญหาสงครามยูเครน

ไม่ว่าจะชอบแกหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่าวันนี้แม้คิสซิงเจอร์น่าจะล่วงเข้าวัยเกือบ 100 แล้วอะไรๆ ที่แกเขียนและพูดก็ยังกระตุ้นให้เกิดการถกแถลงอย่างร้อนแรงได้ตลอดเวลา!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ