ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๗)

 

“Democracy in Siam” เป็นพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานไปยังคณะองคมนตรี เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ นั่นคือ การเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตย

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เริ่มสรุปสาระสำคัญของ “Democracy in Siam” โดยมีความตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การปกครองแบบประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้จริงๆ อยู่ที่คุณภาพของประชาชนเป็นสำคัญ จะต้องมีการพัฒนาประชาชนอย่างมาก  ขณะเดียวกัน อาจจะต้องรวมไปถึงเรื่องเงื่อนไขคุณสมบัติทางเชื้อชาติ (racial qualities) ด้วยก็เป็นไปได้  ซึ่งเป็นคุณสมบัติทางเชื้อชาติที่พวกแองโกล-แซกสันมี  ถึงจะทำให้สถาบันต่างๆในการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวมได้ และเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงจริงๆ (really and truly democratic) ไม่เพียงแต่เป็นประชาธิปไตยแค่เพียงรูปแบบ  เพราะประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเป็นประชาธิปไตยก็แต่เพียงรูปแบบเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็น”             

คำถามที่ผู้เขียนได้ทิ้งไว้คือ ทำไมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงใช้คำว่า racial qualities  ที่ผู้เขียนแปลว่า คุณสมบัติทางเชื้อชาติ 

racial qualities คืออะไร ?                     

คำว่า racial qualities นี้ สามารถพบได้ในบทความทางมานุษยวิทยาในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทางมานุษยวิทยาราชสถาบันมานุษยวิทยา (Royal Institute of Anthropology) ในบทความนั้น ผู้เขียนบทความได้ใช้คำว่า racial qualities ซึ่งเป็นคำเดียวกับอันเป็นคำเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงใช้ในพระราชหัตถเลขาเรื่อง “Democracy in Siam”

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความทางมานุษยวิทยาดังกล่าว และพบว่า ผู้เขียนบทความนั้นมีข้อสงสัยในความแตกต่างระหว่างความเจริญระหว่างสังคมอังกฤษและสังคมไอร์แลนด์ โดยผู้เขียนบทความได้ชี้เห็นว่า สังคมทั้งสองเคยประสบความสำเร็จในการอุตสาหกรรมผลิตสินค้าต่างๆในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนในการผลิตสินค้าอย่างเช่น สบู่ เทียนไข หมวก ถุงมือ ฯลฯ  แต่หลังจากที่เกิดการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ และนำมาใช้แทนที่แรงงานคน  ปรากฏว่า อุตสาหกรรมท้องถิ่นของไอร์แลนด์กลับล้มแบบไม่ฟื้น สลายตายไปพร้อมกับการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ดึงและดูดซับเอาอุตสาหกรรมดังกล่วาไป ในขณะที่อุตสาหกรรมพื้นบ้านของอังกฤษกลับไม่ตายเมื่อมีการใช้เครื่องจักรไอน้ำในการอุตสาหกรรม แต่สามารถปรับตัวและยังรักษาอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่อาศัยแรงงานคนอยู่  โดยผู้เขียนบทความได้อธิบายถึงลักษณะอุปนิสัยและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างคนอังกฤษกับคนไอริช และตั้งคำถามว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวที่แตกต่างกันนี้มาจากสิ่งที่เรียกว่า คุณสมบัติทางเชื้อชาติ racial qualities ใช่หรือไม่ ?     

คำอธิบายความแตกต่างของความเจริญหรืออารยธรรมระหว่างสังคมต่างๆโดยอิงอยู่กับสาเหตุเรื่อง race หรือ racial qualities (เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือ คุณสมบัติทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์) นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบห้าที่ประเทศในยุโรปตะวันตกเริ่มเดินทางออกสำรวจดินแดนต่างๆที่พวกเขายังไม่เคยไป และพบว่า มีมนุษย์ที่มีผิวพรรณรูปร่างหน้าตาตลอดจนวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากพวกเขา ทำให้ชาวตะวันตกเกิดความคิดว่าสามารถแบ่งมนุษย์ออกเป็นเชื้อชาติที่มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างกัน และเชื่อว่ามนุษย์ที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ประจักษ์ได้ด้วยสายตาอันได้แก่ รูปร่างหน้าตาผิวพรรณนั้น ไม่เพียงแต่จะมีความแตกต่างทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปด้วย โดยพฤติกรรมที่แตกต่างกันนี้เป็นผลมาจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันนั่นเอง พูดง่ายๆคือ พฤติกรรมที่แตกต่างกันนั้นสืบสานผ่านทางชีวพันธุกรรม  และเป็นอะไรที่ติดอยู่ในสายพันธุ์ของมนุษย์เชื้อชาติต่างๆ และเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ล้างไม่ออก ลบไม่หาย       

ความคิดความเชื่อเรื่อง คุณสมบัติทางเชื้อชาติ racial qualities ได้สืบสานและพัฒนาเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่สิบเก้าอันเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2448-2457 และที่ฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ. 2463-2467  ผู้เขียนสันนิษฐานว่า การที่พระองค์ทรงสนพระทัยในเรื่อง racial qualities ที่ปรากฏอยู่ในบทความวิชาการทางด้านมานุษยวิทยา ก็เพราะแน่นอนว่า เมื่อพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่อังกฤษ อันเป็นประเทศที่เจริญเป็นอันดับหนึ่งของโลก ณ เวลานั้น พระองค์คงทรงเห็นความแตกต่างอย่างยิ่งระหว่างสังคมอังกฤษและสังคมไทย  ที่ระดับความเจริญและการพัฒนาแตกต่างกันอย่างยิ่งยวด  ขณะเดียวกัน นอกเหนือไปจากรูปร่างหน้าตาผิวพรรณแล้ว  วิถีชีวิตความคิดอ่านของผู้คนก็แตกต่างกัน ดังนั้น คำถามสำคัญที่อาจเกิดขึ้นก็คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สังคมหนึ่งมีเจริญที่แตกต่างกันจากอีกสังคมหนึ่งขนาดนั้น ? และโดยรวมๆคือ ความแตกต่างระหว่างสังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออก

และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นความเป็นไปได้ว่า สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจาก racial qualities และคุณสมบัติทางเชื้อชาติที่ทำให้สังคมตะวันตกบางสังคมมีความเจริญมากกว่าสังคมอื่นๆ ขณะเดียวกัน อาจมีคุณสมบัติอะไรบางอย่างทางเชื้อชาติที่ชาวแองโกล-แซกสันมีมากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ  ที่เป็นตัวทำให้ชาวแองโกล-แซกสัน (Anglo-Saxon) สามาถใช้ระบอบประชาธิปไตยและประสบความสำเร็จ ดังที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ในพระราชหัตเลขา Democracy in Siam ว่า “It is even possible that there must also be certain racial qualities (which the Anglo-Saxons possess to a high degree) if democratic institutions are to be really beneficial to the people as a whole and to be really and truly democratic, not only in form, but also in fact.”

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า พระองค์น่าจะทรงหยิบยืมคำนี้มาจากพวกนักมานุษยวิทยาอังกฤษในขณะนั้น  โดยผู้เขียนสันนิษฐานอีกด้วยว่า ในครั้งที่พระองค์ยังทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนอีตัน (Eton) ที่เป็นโรงเรียนประจำชั้นดีของอังกฤษและของโลก พระองค์น่าจะได้อ่านบทความวิชาการทางมานุษยวิทยาที่มีการใช้คำว่า racial qualities ก่อนที่พระองค์จะไปศึกษาต่อในวิชาการทหารปืนใหญ่ที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลลิช (Woolwich) ทางตะวันออกของลอนดอน  นับว่าพระองค์ทรงมีความรู้รอบด้านและเป็นความรู้ที่ทันสมัย ณ เวลานั้น

สมัยที่ผู้เขียนยังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พำนักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Plumstead ที่อยู่ทางตะวันออกของลอนดอน เวลาเดินทางกลับจากมหาวิทยาลัย ก็จะผ่านวูลลิชอยู่เป็นประจำ และได้เห็นโรงเรียนนายร้อยวูลลิช และขณะนั้นก็ทราบจากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯแล้วว่า โรงเรียนนายร้อยแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาที่พระองค์ทรงเคยมาประทับศึกษา ผู้เขียนก็เกิดความรู้สึกประทับใจที่ได้เดินทางผ่านและเคยเดินเที่ยวเล่นบริเวณดังกล่าว และเป็นไปได้ว่า พื้นถนนหรือพื้นทางเท้าตรงใดตรงหนึ่งที่ผู้เขียนเดินย่ำผ่าน ก็เป็นที่ๆพระองค์เคยเดินผ่านมาแล้ว  ทำให้รู้สึกเหมือนตัวเรากำลังเดินตามรอยพระบาท

โรงเรียนนายร้อยวูลลิช

การอธิบายพฤติกรรม-ความสำเร็จและความล้มเหลวของคนในประเทศต่างๆด้วยเรื่องคุณสมบัติทางเชื้อชาติ racial qualities นี้ ต่อมาได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่งในฐานะที่เป็นคำอธิบายที่นำไปสู่การเกิดอคติทางเชื้อชาติ ตลอดจนการเหยียดหรือรังเกียจผิวหรือเชื้อชาติ (racism) เช่น การเหยียดคนผิวดำ การรังเกียจคนเชื้อสายยิว คนจีน คนผิวสี นำมาซึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)  และการยกย่องคนผิวขาวว่ามีความประเสริฐสูงสุด (white supremacy)

ดังนั้น นักวิชาการในศตวรรษที่ยี่สิบจึงไม่เห็นด้วยกับคำอธิบาย-เหตุผลทางคุณสมบัติทางเชื้อชาติ และเปลี่ยนมาอธิบายด้วยเรื่องวัฒนธรรม (culture) แทน และในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันก็จะเรียกว่า วัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศมีการปกครองที่แตกต่างกัน และไม่สามารถปรับตัวหรือประสบความสำเร็จในการใช้ระบอบการปกครองบางอย่างได้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทางการเมือง  ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้เรื่องวัฒนธรรมจะช่วยให้เกิดทัศนคติที่ไม่ตายตัวเหมือนเรื่องคุณสมบัติทางเชื้อชาติ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่มนุษย์เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสังคมสร้างขึ้นมา จึงเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ หรืออย่างที่ศัพท์วิชาการที่อิงกับคำกรีกโบราณเรียกว่า nomos  ส่วนคุณสมบัติทางเชื้อชาติเป็นเรื่องตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรือเป็นธรรมชาติ (physis) นั่นเอง ซึ่งในตอนต่อไปจะกล่าวถึงที่มาของวัฒนธรรมทาการเมืองในทางวิชาการรัฐศาสตร์

แต่ก่อนจะจบบทความนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกการจัดอันดับเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทางการเมืองปี พ.ศ. 2565 ของสำนัก “Freedom House”  โดย Freedom House ได้จัดอันดับประเทศที่ยอดแย่ (Worst of the Worst) ในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง 16 ประเทศ ได้แก่  ซาอุดิอาระเบีย ซูดานใต้ ซีเรีย ประเทศเติร์กเมนิสถาน เอริเทรีย เกาหลีเหนือ อิเควทอเรียลกินี อาระเบียใต้ โซมาเลีย เบลารุส ทาจิกิสถาน อาเซอร์ไบจาน จีน ลิเบีย เมียนมาร์ และเยเมน

น่าสังเกตว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศคนผิวสีทั้งสิ้น และมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่จัดอันดับโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นคนผิวขาว  หวังว่า ประเทศยอดแย่เหล่านั้นจะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองให้เป็นเหมือนชาวแองโกล-แซกสันได้สักวันหนึ่งในอนาคต    

(แหล่งอ้างอิง: https://freedomhouse.org/sites/default/files/2022-02/FIW_2022_PDF_Booklet_Digital_Final_Web.pdf)

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490