เมื่อลาฟรอฟเยือนเมียนมา

ใครจะต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยก็ดูเหมือนรัสเซียจะไม่สนใจ

ยังเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาลทหารของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย Sergei Lavrov บินไปเยี่ยมเยือนผู้นำทหารพม่าอย่างชื่นมื่น

สื่อพม่าบอกว่าที่เมียนมานั้น ลาฟรอฟเดินทางมาถึงมีช้อปเปอร์คุ้มกันและได้รับเชิฐร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรมหรูกับพ่อค้าอาวุธด้วยอย่างเป็นกันเอง

สื่อ Irrawaddy News ของเมียนมารายงานว่า ชาวเมืองเนปยีดอว์ เมืองหลวงของประเทศตื่นขึ้นในเช้าวันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ได้เห็นเฮลิคอปเตอร์ทหารบินว่อนอยู่เหนือท้องฟ้า

ถนนสู่กระทรวงการต่างประเทศถูกปิดกั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยที่ประชาชนไม่ได้รับการบอกเล่าว่าสาเหตุอันใด

แต่ภาพที่เห็นแปลกๆ บ่งบอกว่ามีคนสำคัญกำลังเดินทางไปเนปยีดอว์

ชาวบ้านไม่รู้ว่าใครคือแขกผู้มีเกียรติท่านนั้น เพราะข้อมูลข่าวสารทั้งหลายทั้งปวงถูกเก็บเป็นความลับสุดยอดเพื่อความปลอดภัยของผู้มาเยือน

แต่สื่อรัสเซียรายงานว่า เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศกำลังเดินทางไปเนปยีดอว์

ทันทีที่ลาฟรอฟไปถึงเมืองหลวงที่ร้อนระอุ ก็ได้เห็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับอาคันตุกะที่รัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แขกพิเศษจากรัสเซียท่านนี้ได้รับการต้อนรับที่สนามบิน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาและอธิบดีกรมยุทธศาสตร์ศึกษาและฝึกอบรมของกระทรวงการต่างประเทศ

ผู้อำนวยการใหญ่ U Zaw Phyo Win เป็นบุตรเขยของ Than Shwe อดีตผู้นำเผด็จการ

เนปยีดอว์ถือเป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดในเมียนมาแล้ว เพราะเป็นที่พำนักของมิน อ่อง หล่าย, ผู้นำรัฐประหาร

เขาสั่งการให้ใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหลือล้นก็เพื่อแสดงความขอบคุณต่อรัสเซีย

มอสโกและปักกิ่งเป็น 2 ประเทศหลักสกัดกั้นการดำเนินการใดๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ต่อต้านระบอบการปกครองทหารของเมียนมามาตลอด

นักข่าวพม่าบอกว่า ดูเหมือนลาฟรอฟจะแสดงความพึงพอใจกับการต้อนรับอันอบอุ่นและคึกคักวันนั้น

เริ่มด้วยการประชุมระหว่างลาฟรอฟกับนายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ที่กระทรวงการต่างประเทศ

แถลงการณ์ทางการหลังจากการประชุมแจ้งว่าทั้ง 2 ฝ่าย “แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างจริงใจเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือ และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในเวทีพหุภาคี บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

อีกทั้งยังระบุว่า รัฐมนตรีเมียนมาได้แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสหพันธรัฐรัสเซีย มิตรแท้ของเมียนมา สำหรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องที่มอบให้เมียนมาทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

ลาฟรอฟตอบสนองด้วยการขอบคุณเมียนมาสำหรับการสนับสนุนการบุกเข้ายูเครนของรัสเซีย โดยกล่าวว่า

“เรามีจุดยืนที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความพยายาม [โดยรัฐบาลทหารของเมียนมา] ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพสถานการณ์ในประเทศ”

รัสเซียเป็นพันธมิตรรายใหญ่และเป็นผู้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ที่ฝ่ายต่อต้านในเมียนมาบอกว่าถูกนำไปใช้ไล่ล่าและโจมตีพลเรือนนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปีที่แล้ว

จังหวะการมาเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเป็นการสะท้อนถึงความไม่ยี่หระของมอสโกต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารพม่าในหลายๆ กรณี

รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารได้จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจในระดับนานาชาติอีกครั้ง ด้วยการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คนก่อนหน้านั้นไม่นาน

ภาพที่เห็นคือ การรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรมหรูกลางเมืองหลวงของเมียนมา

วันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา (ที่ไม่ได้รับเชิญไปร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญ) เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับคณะผู้แทนรัสเซียที่โรงแรม Aureum Palace

สื่อ Irrawaddy News บอกว่า เจ้าของโรงแรมหรูแห่งนี้คือ Teza หนึ่งในนายหน้าหลักที่มีบทบาทโยงกับข้อตกลงด้านซื้อขายอาวุธระหว่างกองทัพเมียนมากับรัสเซีย

จากนั้นลาฟรอฟก็ได้พบ มิน อ่อง หล่าย ที่ทำเนียบประธานาธิบดี

ที่ทำงานแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อโดยหัวหน้ารัฐบาลทหารตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วเป็น “สำนักงานสภาบริหารรัฐ” (State Administration Council)

ห้องโถงรับรองแห่งนี้เองที่เคยเป็นที่ที่ประธานาธิบดีอูวินหมิ่นเคยใช้เป็นที่ต้อนรับบุคคลสำคัญระดับนานาชาติ ก่อนที่เขาจะถูกขับออกไปพร้อมกับรัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยมี อองซาน ซูจี เป็นเป้าหมายหลักของการโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

นักข่าวบอกว่า มิน อ่อง หล่าย พยายามเต็มที่ในอันที่จะสวมบทบาทเป็น “ประมุขที่ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐ” ขณะที่ให้การต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนจากรัสเซีย

เช่นเดิม มิน อ่อง หล่าย บอกลาฟรอฟถึงเหตุผลที่ต้องก่อรัฐประหาร

โดยใช้ข้ออ้างเดิมๆ กล่าวหาว่าพรรค NLD โกงคะแนนเสียงครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งปี 2020

ไม่ต้องวิเคราะห์ให้ยากก็พอจะรู้ว่าการมาเยือนของลาฟรอฟคือการส่งสัญญาณสนับสนุนรัฐบาลทหารแม้จะถูกประณามอย่างหนัก (แม้จากเพื่อนสมาชิกอาเซียนเอง) จากการกระทำทารุณหลังรัฐประหารต่อพลเรือนและการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเร็วๆ นี้

ความหวั่นเกรงของนักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศก็คือ การที่มอสโกแสดงออกเช่นนั้นอาจจะเป็นการให้ท้าย มิน อ่อง หล่าย เดินหน้ากระทำความทารุณต่อพลเรือนและผู้เห็นต่างอย่างไม่สิ้นสุด

ลาฟรอฟเคยไปเยือนเมืองเนปยีดอว์เมื่อปี 2013

ส่วน มิน อ่อง หล่าย เยือนรัสเซียมาแล้ว 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2013 ล่าสุดคือในเดือนกรกฎาคมของปีนี้นี่เอง

แต่เขายังไม่มีโอกาสพบประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจนถึงวันนี้

แค่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียมาปรากฏตัวกลางเมืองหลวงเมียนมาก็สะท้อนถึงจุดยืนของรัสเซียต่อรัฐบาลเมียนมาที่เห็นพ้องต้องกันว่า

เสียงเรียกร้องให้มีการเจรจากับฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาเพื่อแสวงหาสันติภาพตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนนั้นไม่มีความหมายสำหรับทั้ง มิน อ่อง หล่าย และลาฟรอฟเลยแม้แต่น้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ