สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ลงนามในกฎหมาย CHIPS and Science Act ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งมิติของการแข่งขันแย่งชิงอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ
เพราะกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นศักยภาพทางการแข่งขันของสหรัฐฯ ต่อประเทศจีน
ด้วยการจัดสรรงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตชิปคอมพิวเตอร์และการวิจัยด้านเทคโนโลยี
ไบเดนบอกย้ำว่า "ด้วยกฎหมายฉบับนี้ สหรัฐฯ ต้องเป็นผู้นำโลกในด้านการผลิตชิปคอมพิวเตอร์สมัยใหม่”
ลุงโจเน้นว่านี่คือการลงทุนครั้งสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในยุคนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจและปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
ไบเดนหาเรื่องจีนอีกครั้งด้วยการบอกนักข่าวว่า รัฐบาลจีนได้พยายามล็อบบี้ภาคธุรกิจในอเมริกาให้ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้
ความหมายคือ ไบเดนต้องการจะบอกว่าจีนกลัวสหรัฐฯ จะพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้เร็วกว่าจีน
เป็นเพราะความเชื่ออย่างนี้ในรัฐสภาอเมริกาหรือเปล่าที่ร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act มูลค่า 280,000 ล้านดอลลาร์ สามารถผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ด้วยคะแนน 243-187 และผ่านวุฒิสภาด้วยคะแนน 64-33 เสียง
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ กฎหมาย CHIPS Act จัดให้มีงบลงทุน 52,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ
แน่นอนว่าเป้าหมายคือการช่วยเพิ่มความสามารถของการแข่งขันของสหรัฐฯ กับประเทศที่ปัจจุบันเป็นผู้เล่นรายใหญ่อยู่ คือ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้
ถือได้ว่าสหรัฐฯ เองเพิ่งจะตระหนักถึงความล้าหลังของตนในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป
เอกชนอเมริกาขานรับทันที
บริษัท Micron ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศแผนลงทุน 40,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายการผลิตทันที
บริษัท Qualcomm และ GlobalFoundries ก็ประกาศเตรียมขยายการลงทุนด้วยการสร้างโรงงานผลิตชิปฯ ในรัฐนิวยอร์ก มูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์
อาการ “ถดถอย” ของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมด้านนี้เห็นได้ชัดจากตัวเลขส่วนแบ่งตลาด
ตลาดชิปคอมพิวเตอร์โลกของสหรัฐฯ ลดลงจาก 37% เมื่อปี ค.ศ.1990 เหลือเพียง 12% วันนี้
นั่นก็เป็นเพราะรัฐบาลอื่นๆ ได้เสนอผลประโยชน์จูงใจให้กับบรรดาผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในประเทศนั้น
สถิติล่าสุดบอกว่าจีนครองส่วนแบ่งในตลาดชิปคอมพิวเตอร์โลกที่ 24% รองลงมาคือ ไต้หวัน (21%) เกาหลีใต้ (19%) และญี่ปุ่น (13%
สังเกตเห็นได้ว่าตอนที่ แนนซี เพโลซี ไปเยือนไต้หวันเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เธอขอเจอนายมาร์ก หลิว ประธานบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. หรือ TSMC
เธอเล่าให้ผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทนี้ว่า อเมริกากำลังจะผ่านกฎหมาย CHIPS and Science Act
และชักชวนให้ไปตั้งและขยายกำลังการผลิตของโรงงานที่อเมริกา
TSMC กำลังสร้างโรงงานชิปมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ในรัฐแอริโซนา ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตขั้นสูงแห่งแรกที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
สะท้อนถึงความกังวลของอเมริกาต่อความสามารถของตนในการสร้างความมั่นคงด้านนี้
พูดง่ายๆ คือ อเมริกากลัวว่าหากเกิดเรื่องตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ก็จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
เพโลซีไม่ได้คุยกับ TSMC ของไต้หวันเท่านั้น พอเธอแวะเกาหลีใต้ก็นัดหมายพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กรุงโซลด้วยเช่นกัน
เห็นได้ว่า “ชิป” มีความสำคัญสำหรับอเมริกาและประเทศอื่นๆ อย่างไร
เพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นเสมือน “สมอง” ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน เซิร์ฟเวอร์ศูนย์ข้อมูล หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการสร้างอาวุธ รวมถึงยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบินรบ F-35 ของอเมริกาอีกด้วย
ลึกๆ แล้วสหรัฐฯ กลัวว่าถ้าจีนบุกไต้หวัน หนึ่งในเป้าหมายก็อาจจะเป็นการยึด TSMC เพื่อควบคุมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก
แต่ประธาน TSMC ก็ออกมายืนยันว่า “ไม่มีใครสามารถใช้กำลังมาควบคุม TSMC ถ้าคุณใช้กำลังทหารหรือบุกมายึดเรา ก็เท่ากับว่าคุณจะทำให้โรงงาน TSMC ไม่สามารถเดินหน้าได้...”
พร้อมกับสำทับว่า กระบวนการผลิตชิปนั้น “มีความซับซ้อน” ไม่น้อย
ไต้หวันเป็นผู้รับผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก เพราะมีส่วนแบ่งถึง 64% ของรายได้จากการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของไต้หวัน และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตชิปล้ำสมัยที่สุดให้แก่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเช่น Apple, Qualcomm และ Nvidia ขณะที่เกาหลีใต้คือผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 รองจากไต้หวัน
ช่วงหลังนี้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์พุ่งสูงขึ้น การส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์จึงครองสัดส่วนเกือบ 40% ของการส่งออกทั้งหมดของไต้หวัน และครองสัดส่วน 15% ของ GDP ไต้หวัน
จึงเข้าใจได้ว่าทำไมมาตรการลงโทษทางการค้าต่างๆ ที่จีนกระทำต่อไต้หวันในช่วงความตึงเครียดนี้จึงไม่มี “ชิป” อยู่ด้วย
เพราะจีนมีความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์อย่างมาก
แม้จีนจะมีบริษัทผลิตชิปเองคือ SMIV แต่บริษัทนี้ก็มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10% เท่านั้น
แปลว่าจีนต้องพึ่งพาการผลิตชิปจากต่างประเทศ หรือบริษัทต่างชาติที่ตั้งโรงงานในจีนอีกมาก
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ สี จิ้นผิง ได้ประกาศให้ความสำคัญกับการสร้างอุตสาหกรรมด้านนี้ของจีนเองอย่างคึกคักตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ในการบริหารยุทธศาสตร์ว่าด้วยความขัดแย้งของจีนกับไต้หวันและสหรัฐฯ นั้น “ชิป” จึง “หาย” ไปจากสมการไม่ได้เป็นอันขาด!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ