อย่างที่เคยเขียนไปในที่ต่างๆว่า ประเทศไทยเรา มีการทำรัฐประหารติดอันดับโลก โดยในศตวรรษที่ยี่สิบ เรามาเป็นอันดับสอง และในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเราตกอันดับมาเป็นอันดับสาม ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรายังครองแชมป์อันดับหนึ่งอยู่ แต่ในบริบทการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราถือเป็นประเทศที่ไม่มีผู้นำทางการเมืองที่ครองอำนาจยาวนานเท่าประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ กัมพูชามาเป็นอันดับหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ส่วนประเทศอื่นๆนั้นก็ยาวนานกว่าบ้านเรา ดังนั้น การทำรัฐประหารมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ผลในมุมกลับคือ เราไม่มีผู้นำเผด็จการครองอำนาจยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการที่มาจากรัฐประหาร และครองอำนาจโดยไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือให้มีเลือกตั้ง แต่อยู่ในระบอบสังคมนิยมที่ผู้นำปกครองภายใต้ระบบพรรคการเมืองเดียว หรือไม่ได้เป็นสังคมนิยม แต่ปกครองในแบบอำนาจนิยม ที่แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองอื่นแข่งขันในการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกริดรอนเสรีภาพจนไม่สามารถต่อสู้กับพรรคการเมืองหลักของผู้นำได้
ซึ่งระบอบการปกครองแบบที่มีเลือกตั้ง แต่พรรคอื่นไม่มีทางท้าทายได้เลย เพราะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ตัดสิทธิ์ต่างๆของคู่แข่ง นักวิชาการฝรั่งเขาได้บัญญัติศัพท์เฉพาะขึ้นมาเรียกว่า “competitive authoritarian regime” ถ้าจะแปลไทยก็คือ ระบอบอำนาจนิยมที่เปิดให้มีการแข่งขันในการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งที่มีนั้น ก็เป็นการเลือกตั้งแบบงั้นๆ พอเป็นพิธีให้นานาชาติได้เห็นว่ามีการเลือกตั้งแล้วนะ ซึ่งการทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งแบบงั้นๆ ขอไปที ฝรั่งเขาเรียกว่า “to rig election” แปลว่า โกง-ทุจริตการเลือกตั้งก็ได้ หรือทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมก็ได้
ส่วน competitive authoritarian regime นั้น นักวิชาการที่บัญญัติศัพท์มีสองคนร่วมกันคิด คือ สตีเวน เลวิตสกี้ (Steven Levitsky) และ ลูคัน เอ. เวย์ (Lucan A. Way) คนแรกเป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชี่ยวชาญเรื่องลาตินอเมริกามากๆ ส่วนคนหลังเป็นศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตรอนโต เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยและระบอบอำนาจนิยมในประเทศกำลังพัฒนาและรัสเซียสมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต
แม้การเมืองบ้านเราจะเว้นวรรครัฐประหารมาได้ 8 ปี (พ.ศ. 2557-2565) แต่การเว้นวรรคไป 8 ปีก็ไม่ได้จะแปลว่า จะไม่มีอีกแล้ว แต่ผู้เขียนเชื่อว่า เงื่อนไขที่จะเกิดรัฐประหารในอนาคตมีน้อยเต็มที เพราะอะไรหรือ ? คงต้องเขียนอธิบายแยกไปโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงขอเว้นวรรคไว้ก่อน
มีคำอธิบายแบบง่ายๆที่ว่าเว้นวรรค 8 ปีไม่ได้แปลว่าจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว โดยดูจากสถิติของช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหาร นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2557 เป็นเวลา ๘๒ ปี ได้เกิดการทำรัฐประหารในการเมืองไทยรวมทั้งสิ้น ๑๓/+/- ครั้ง ที่ใส่เครื่องหมาย +/- เพราะการนับว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองใดเป็นการทำรัฐประหารก็มีเกณฑ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง อย่างเช่นในกรณีของศาสตราจารย์ ดร. สุจิต บุญบงการ ถือว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475 เป็นการทำรัฐประหารด้วย หรือในกรณีที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อาจารย์ สุจิตไม่ถือว่าเป็นการทำรัฐประหาร เพราะสาระสำคัญของเกณฑ์ของการทำรัฐประหารอยู่ที่การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร หรือในกรณีรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และรัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะถือเป็นการทำรัฐประหารสองครั้งที่แยกจากกันหรือถือรวมเป็นครั้งเดียว
หากคิดในแง่ของค่าเฉลี่ยแล้ว จะพบว่ามีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 6 ปี ขณะเดียวกัน ในรอบ 82 ปีมีการเลือกตั้งทั่วไป (การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ทั้งสิ้น 27/+/- ครั้ง ที่ใส่เครื่องหมาย +/- เพราะในการเลือกตั้งทั่วไปทั้งสิ้น 27 ครั้ง มีอยู่ 2 ครั้งที่ไม่สามารถนำไปสู่การเปิดประชุมสภาและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ นั่นคือ การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ และการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 1 ครั้งในทุกๆ 3 ปี และหากพิจารณาการเปลี่ยนรัฐบาลในรอบ 82 ปี จะพบว่า มีการเปลี่ยนรัฐบาลโดยการเลือกตั้ง 27 ครั้ง และการเปลี่ยนรัฐบาลโดยรัฐประหาร 13 ครั้ง นับเป็นอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่งหรือเท่าๆกัน ถือว่าการเปลี่ยนรัฐบาลในการเมืองไทยมีความเบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานประชาธิปไตยร้อยละห้าสิบ แต่ถ้าพิจารณาจากความถี่ของการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้น จะพบว่า ในช่วงรอบ 25 ปีแรก (2475-2500) มีการทำรัฐประหารถี่ที่สุดนั่นคือ 7 ครั้ง และอีกรอบ 25 ปีต่อมา (2500-2525) ลดลงเหลือ ๓ ครั้ง และรอบ 25 ปีที่สาม (2525-2550) ลดลงเหลือ 2 ครั้ง และในช่วงล่าสุดในเวลา ๗ ปี (2550-2557) ได้เกิดขึ้นไปแล้ว 1 ครั้ง
หากประเมินตามสถิติเบื้องต้นนี้ อาจทำให้ประมาณการณ์ได้ว่า การทำรัฐประหารจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จากการเมืองไทย แต่หากพิจารณาลงไประดับที่ลึกขึ้นกว่าตัวเลขที่ปรากฏ จะพบว่ามีปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาในการทำความเข้าใจความถี่ในการทำรัฐประหารในแต่ละรอบ 25 ปีข้างต้นด้วย
กล่าวคือ จากตัวเลขที่ปรากฏข้างต้น จะพบว่าในรอบ 25 ปีแรกมีการทำรัฐประหารถี่ที่สุดนั่นคือ 7 ครั้ง การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 10 ครั้ง ในรอบ 25 ปีที่สองที่มีการทำรัฐประหารลดลงเหลือ 3 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 5 ครั้ง ในรอบ 25 ปีที่สามที่มีการทำรัฐประหารลดลงเหลือ 2 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 11 ครั้ง (และถูกวินิจฉัยให้โมฆะ 1 ครั้ง) ในรอบสุดท้ายคือ 7 ปีที่มีการทำรัฐประหารไปแล้ว 1 ครั้ง มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น 2 ครั้ง (และถูกวินิจฉัยให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง) และหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการทำรัฐประหารกับการเลือกตั้งทั่วไปในช่วง 50 ปีแรก จะพบว่า หากมีการเลือกตั้งทั่วไปบ่อยครั้ง ก็จะมีโอกาสเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งตามไปด้วย และในทางกลับกัน หากมีการเลือกตั้งทั่วไปน้อยครั้ง รัฐประหารก็จะเกิดขึ้นน้อยครั้งลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบช่วงเวลาโดยรวมของนายกรัฐมนตรีที่มาจากมติสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง กับ นายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหาร โดยไม่นับนายกรัฐมนตรีคนแรก นั่นคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จะพบว่าช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมาจากมติสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในระยะเวลารวม 40 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้ผ่านจากการรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับมติจากสภาผู้แทนราษฎร 8 ปี (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) นอกนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหารหรือไม่ก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากสถานการณ์พิเศษ กล่าวได้ว่า ครึ่งหนึ่งของแปดสิบสองปีของประชาธิปไตยไทย จำนวนนายกรัฐมนตรีไทยครึ่งหนึ่งไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทั่วไปของประชาธิปไตย
สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นสภาพการณ์ที่เบี่ยงเบนในอัตราที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับประเทศอาร์เจนตินาที่เคยเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารสูงในศตวรรษที่ยี่สิบดังที่ได้กล่าวไปแล้ว กล่าวคือ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1930-1976ือาร์เจนตินามีรัฐประหารเกิดขึ้น 6 ครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร ค.ศ. 1930, 1943, 1955, 1962, 1966 และ 1976
ส่วนประเทศไทยมีสถิติทำรัฐประหารในศตวรรษที่ยี่สิบใกล้เคียงกันในระหว่าง พ.ศ. 2443-2553 โดยเริ่มต้นเกิดรัฐประหารหลัง พ.ศ. 2475 เป็นจำนวน 7 ครั้ง
นายพลโฮเซ่ เฟลิกซ์ อูริบูรู ผู้ทำรัฐประหารครั้งแรกในอาร์เจนตินา
นายพลจอร์จ ราฟาเอล วิเดลล่า ผู้ทำรัฐประหารครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2519
แต่ในกรณีของอาร์เจนตินาหลังจาก ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา ปลอดจากการทำรัฐประหาร แม้ว่าจะมีความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองก็ตาม แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อิทธิพลทหารในอาร์เจนตินาถดถอยลงก็คือ การที่รัฐบาลทหารได้นำประเทศไปสู่ความพ่ายแพ้ต่ออังกฤษในสงครามฟอล์คแลนด์ในปี ค.ศ. 1982 ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบระยะเวลาของการเกิดและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของสองประเทศนี้ จะพบว่า อาร์เจนตินาได้พัฒนาประชาธิปไตยมาก่อนประเทศไทยเป็นเวลาถึง 71 ปี อีกทั้งประเทศอาร์เจนตินาเคยเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกมาก่อนด้วย
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวมแล้ว จะพบแนวโน้มที่รัฐประหารไทยจะลดน้อยลงดังที่ได้แสดงให้เห็นไปข้างต้น และเมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาที่ปลอดรัฐประหารในการเมืองไทย เราจะพบว่ามีสามช่วง อันได้แก่ ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2501-2514, ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2534. และช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535-2549 ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาทั้งสามนี้มีในระยะเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือ 13-14 ปี
ในตอนหน้า จะได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาทั้งสามนี้ปลอดรัฐประหาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ยันไม่ได้พูดเอาหล่อ ภูมิใจไทยค้านกม.สกัดรัฐประหาร ขอไม่โต้ 'ทักษิณ'
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แซวว่านายอนุทินชิงหล่อกรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม
เหลี่ยมจัด! 'หัวเขียง' ขอปรับแก้ 24 จุด กม.สกัดรัฐประหาร ก่อนดันเข้าสภาฯอีกรอบ
นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส. พรรคถึงเรื่องการเตรียมถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ถึงต.ค. 67
วิสุทธิ์พลิ้ว! ปมกฎหมายยึดอำนาจกองทัพ
'วิสุทธิ์' ลั่นพรรคไหนก็ไม่เอาด้วยทั้งนั้น 'รัฐประหาร' ยอมรับ ร่าง กม.'ประยุทธ์' จัดระเบียบกลาโหม หลายคนติงให้ถอนมาปรับปรุง ชี้บางพรรคยังไม่เห็นของ 'เพื่อไทย' เลยไม่สบายใจ แต่ต้องคุยกัน
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 ร่างกม.ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 เหตุ สังคมโลกเปลี่ยนไป ชี้ ร่างกฎหมายของ 'ประยุทธ์' ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม
'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้
'ทั่นเต้น' ประกาศหนุนร่างยึดอำนาจกองทัพแม้ไม่เชื่อสกัดรัฐประหารได้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก