คนในโซเชียลมีเดียจีนเรียกเธอว่า “แม่มด” บ้าง “ตัวแสบ” บ้าง หรือ “อีนางร้าย” บ้าง
เพราะการมาเยือนไต้หวันของเธอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยกระดับความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอย่างรุนแรง
แต่ถ้าถามผู้นำจีนเช่นประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หรือรัฐมนตรีต่างประเทศหวัง อี้ ก็จะรู้ว่าประวัติการเมืองของแนนซี เพโลซีในฐานะผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นั้น เธอมีจุดยืนวิพากษ์จีนอย่างต่อเนื่องมายาวนานแล้ว
ในวัย 82 วันนี้ เพโลซีคงจะต้องการจะรักษาจุดยืนอย่างนั้นในช่วงก่อนจะทิ้งทวนออกจากแวดวงการเมือง
ย้อนกลับไป 1991 ซึ่งคือ 2 ปีหลังจาก “เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน” ที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาถูกกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์บดขยี้ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินกลางกรุง
เพโลซีกับ ส.ส.อเมริกันอีก 2 คนไปปรากฏตัวที่จัตุรัสแห่งนั้น
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าภาพชาวจีน
พอไปถึงจุดนั้น เธอกับพวกก็คลี่แบนเนอร์ผ้าเล็กๆ มีข้อความเขียนด้วยมืออ่านได้ความว่า "แด่ผู้ที่เสียชีวิตเพื่อประชาธิปไตยในจีน"
ตำรวจจีนรุดมาที่เกิดเหตุโดยพลัน เข้ามาสกัดนักข่าวฝรั่งที่ตามมาทำข่าวและไล่เพโลซีกับพวกออกไป
เธอเล่าในภายหลังว่า “เราวิ่งหนีตำรวจจีนเกือบเอาตัวไม่รอด...”
ตอนนั้นเธอเป็นเพียง ส.ส.จากรัฐแคลิฟอร์เนียใหม่ๆ ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรมากนัก
อีกทั้งกลไกการออกข่าวของจีนยังไม่ทันสมัยเหมือนวันนี้
หลังจากนั้นไม่กี่วัน กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "เรื่องตลกร้ายที่มีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า"
คนที่ไม่เห็นว่าตลกตรงไหนคนหนึ่งคือไมค์ ชีนอย อดีตหัวหน้าสำนักงาน CNN ประจำปักกิ่ง
เขาบันทึกเหตุการณ์วันนั้นว่า เพโลซีเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกตำรวจจีนจับในที่เกิดเหตุ
เขาบอกว่า “ผมไม่รู้ล่วงหน้าว่าเพโลซีวางแผนจะทำอะไรที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ผมถูกควบคุมตัวไว้หลายชั่วโมง เพราะตำรวจตามจับคณะของเธอได้”
นักข่าว CNN คนนี้บอกว่า
“มันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมกับการชอบแสดงออกอย่างกร้าวๆ ของเพโลซี เธอจงใจยั่วยุผู้บริหารคอมมิวนิสต์ของจีนโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา”
ในรัฐสภาสหรัฐฯ เพโลซีก็เป็นผู้นำในการลงมติประณามการกระทำของจีนในปี 1989
และจากนั้นเป็นต้นมา เธอก็ยังคงพูดถึง "การสังหารหมู่" ของผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ต้องสงสัยว่าผู้นำจีนจะมีทัศนคติต่อเธออย่างไร แม้ก่อนหน้าจะเกิดกรณีมาเยือนไต้หวันด้วยซ้ำ
“วีรกรรม” ของเพโลซีอีกเรื่องหนึ่งคือการพยายามจะยื่นจดหมายให้กับหู จิ่นเทา
ในการพบปะกับรองประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ที่ตอนนั้นเป็นรองประธานาธิบดีจีนในปี 2002 เพโลซีพยายามส่งจดหมายสี่ฉบับเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกักขัง และการจำคุกนักเคลื่อนไหวในจีนและทิเบต และเรียกร้องให้ปล่อยตัว
หูปฏิเสธ ไม่ยอมรับจดหมายจากเธอ
เจ็ดปีต่อมา เพโลซีก็ยื่นส่งจดหมายถึงหู จิ่นเทา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีแล้วใส่มือโดยตรง
เป็นจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงหลิว เสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยคนสำคัญของจีน
หลิว เสี่ยวโป ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2010 แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปนอร์เวย์เพื่อรับรางวัล
เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2017 ขณะที่ยังอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลจีน
ไม่แต่เท่านั้น ในปี 1993 เพโลซีคัดค้านการเสนอตัวของจีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโดยอ้างว่าจีนมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน
เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เรียกร้องประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ ให้คว่ำบาตรพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนของจีนในปี 2008 แต่บุชไม่ทำตาม
มาถึงปีนี้ เธอก็เรียกร้องให้มี "การคว่ำบาตรทางการทูต" ต่อโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่ง โดยอ้างถึงการปฏิบัติของทางการจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
หลายปีที่ผ่านมา เพโลซีได้ยกประเด็นเรื่องการค้าของจีนเพื่อโยงถึงประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเสนอให้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ปักกิ่งจะเข้าสู่องค์การการค้าโลก
ในปี 1999 ก่อนการเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีจีน จู หรงจี เพื่อหารือเกี่ยวกับการรับเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เพโลซีได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน และรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ขณะนั้นให้จีนยอมรับการประท้วงในปี 1989 ว่าเป็นความพยายามสนับสนุนประชาธิปไตย
และในปี 2008 หลังจากการพบปะกับทะไล ลามะ และเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เพโลซีวิพากษ์วิจารณ์สาธารณรัฐประชาชนจีนในการจัดการกับความไม่สงบในทิเบต
ในการปราศรัยกับชาวทิเบตหลายพันคนในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เพโลซีเรียกร้องให้ "ผู้รักเสรีภาพ" ทั่วโลกประณามจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต
ในปีเดียวกันนั้น เพโลซีชมเชยรัฐสภายุโรปสำหรับ "การตัดสินใจที่กล้าหาญ" ในการมอบรางวัล Sakharov Prize for Freedom of Thought แก่ผู้คัดค้านชาวจีนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน Hu Jia
และเรียกร้องให้รัฐบาลจีน "ปล่อย Hu Jia ออกจากคุกทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศจีน"
และปี 2010 เพโลซีสนับสนุนร่างกฎหมายที่ระบุจีนเป็นผู้บิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบสำหรับการส่งออกของจีน
เรื่องฮ่องกงก็เช่นกัน เพโลซีวิพากษ์วิจารณ์การจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกงในเดือนสิงหาคม 2017
และพอถึงยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่ทำเนียบขาวจะใช้มาตรการต่อจีนในปลายเดือนมีนาคม 2018 เพโลซีเป็นหนึ่งในบรรดาผู้กดดันให้ทรัมป์กำหนดบทลงโทษต่อจีน
เช่นในประเด็นการระบุจีนเป็นผู้บิดเบือนค่าเงิน และห้ามจีนกดดันบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้ยอมสละสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
ในเดือนกันยายน 2019 เพโลซีได้พบกับ Joshua Wong นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ตึกรัฐสภาที่วอชิงตัน
สื่อจีนตอบโต้ด้วยการกล่าวหาเพโลซีว่า "สนับสนุนและสนับสนุนนักเคลื่อนไหวหัวรุนแรง"
เห็นหรือยังว่าทำไมผู้นำจีนจึงมองเพโลซีเป็นศัตรูร้ายกาจที่ให้อภัยไม่ได้เป็นอันขาด
พอเธอมาเยือนไต้หวัน นั่นคือ “ฟางเส้นสุดท้าย” สำหรับปักกิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ