ถามหน่อยครับ
หาร ๑๐๐ กับ หาร ๕๐๐ ทำให้ประเทศไทยมีผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพมากขึ้นหรือเปล่า?
ถ้าหารแล้วเราได้ผู้แทนฯ ไม่โกงไม่กิน ก็ควรสนับสนุนสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่หารแล้วเป็นเรื่องความได้เปรียบในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร
นอกจากหารแล้วใครได้เปรียบเสียเปรียบ รัฐสภาไทยได้คิดเรื่องปฏิรูปการเมือง ให้มี ส.ส.น้ำดีเต็มสภาบ้างหรือเปล่า
ก็อ้างได้ครับว่า การแก้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หรือการตรวจสอบการทำงานรัฐบาลของฝ่ายค้าน เป็นคนละเรื่องกัน
แต่คนที่จะมาเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้านมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.นี่ซิครับ ฉะนั้นจะบอกว่าไม่เกี่ยวกันเลยคงไม่ได้
เกมชิงไหวชิงพริบ เข้าข่ายทำลายความน่าเชื่อถือของสภาหนักเข้าไปทุกที
ตามข่าวบอกว่าสาเหตุที่ประชุมร่วมรัฐสภาล่มเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม มีสาเหตุมาจาก ส.ส.พลังประชารัฐ และ ส.ส.เพื่อไทย อยู่ในห้องประชุมกันน้อย เนื่องจากไม่ต้องการให้องค์ประชุมครบ
เพราะ ส.ส.ทั้งสองพรรคไม่ต้องการให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย ๕๐๐ จึงเล่นเกมล่มสภามันซะเลย
๑๕ สิงหาคมนี้ หากพิจารณาไม่ทัน ร่างกฎหมายก็ตกไป ส่วนจะกลับไปใช้ร่างฉบับเดิมที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอจริงหรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหาว่าใช่หรือเปล่า?
แต่...ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คุณหมอระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ บอกว่ามีคำสั่งให้ ส.ส.กลับบ้านเพื่อทำให้สภาล่ม
"...ไม่คิดว่าจะมีการเล่นเกมใต้โต๊ะ ชกใต้เข็มขัด ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ทำให้รัฐสภาเสื่อมเสีย แต่เท่าที่ทราบคือมีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย
แต่เมื่อ ส.ส.บางคนไม่ทำ ยังอยู่ร่วมประชุม ก็ยังมีตัวแทนมาไล่ ส.ส.ให้กลับบ้าน อ้างว่านายสั่งให้กลับ มีหลายคนมาเล่าให้ฟัง
แม้กระทั่ง ส.ส.พรรคเล็กบางคนก็ยังถูกตัวแทนคนดังกล่าวมาสั่งให้กลับบ้านเช่นกัน เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐสภาก็ล่ม
สภาล่มไม่ได้เกิดจากเหตุสมาชิกไม่ครบแบบทั่วไป แต่เกิดจากการเล่นเกมของพรรคใหญ่อันดับหนึ่งและสอง ที่สมาชิกไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุม มีความพยายามคว่ำการประชุมให้ได้ เพื่อที่กฎหมายลูกจะไม่สามารถมีโอกาสเข้าสภาได้ และต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณหาร ๑๐๐ ตามร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเข้ามาในตอนแรก
การกระทำเช่นนี้ผมรับไม่ได้ ถ้ามาเล่นนอกกติกาแบบนี้ ไม่ใช่วิธีที่ลูกผู้ชายทำกัน...”
ถ้าจริงตามนี้บรรเทิงครับ!
ไม่ต้องมีสภาก็ได้มั่ง?
หน้าที่หลักของสมาชิกรัฐสภาคือ การทำหน้าที่นิติบัญญัติ
ออกกฎหมาย
วันดีคืนร้ายมีคนมาบอกว่าไม่ต้องทำหน้าที่แล้วให้กลับไปนอนบ้าน น่าจะให้กลับยาวจริงๆ
มีสภาก็ไม่อยากจะทำหน้าที่
ครั้นสภาไม่มีเพราะถูกยึดไป ก็โอดครวญไม่มีสนามให้เล่น
ตกลงจะเอาไง?
เข้าใจครับว่านักการเมืองอยากได้กฎหมายเลือกตั้งที่ตรงใจตัวเองมากที่สุด แต่การออกกฎหมายไม่ใช่เล่นขายของ ลมเพลมพัดไม่ได้
ที่จริงมันผิดตั้งแต่แก้รัฐธรรมนูญแล้ว ระบบเลือกตั้งหากไม่ดีควรจะมีการศึกษาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบก่อน จากนั้นค่อยหาวิธีแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนมากที่สุด
ไม่ใช่ให้ถูกใจนักการเมืองมากที่สุด
ประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น ๒๘ ครั้ง
ผ่านระบบเลือกตั้งมาแล้วนับสิบวิธี
ในทางทฤษฎี การเลือกตั้่งบ่อยๆ น่าจะทำให้ได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประชาชนได้เรียนรู้ว่าควรเลือกคนแบบไหนเป็นผู้แทนฯ
แต่ในทางปฏิบัติ ก็อย่างที่เห็น
ทีนี้มาถึงอีกปัญหา หากร่างกฎหมายเลือกตั้งตกไปเพราะพิจารณาไม่ทันในวันที่ ๑๕ สิงหาคม จะกลับไปใช้กฎหมายฉบับไหน?
คำอธิบายของ "คำนูณ สิทธิสมาน" สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) น่าจะชัดเจนที่สุด
"...เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องคือมาตรา ๑๓๒ (๑) ไม่ได้เขียนไว้อย่างนี้ “….ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวัน….. ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา ๑๓๑”
ไม่มีคำว่า "ร่างของคณะรัฐมนตรี" เลยนะ มีแต่ "ร่างที่เสนอตามมาตรา ๑๓๑" เท่านั้น ทีนี้ก็ต้องย้อนขึ้นไปดูมาตรา ๑๓๑ ชัดๆ
มาตรา ๑๓๑ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าสามารถเสนอได้ ๒ ทาง คือ
(๑) คณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง
(๒) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้มีการเสนอเข้ามาทั้งหมดถึง ๔ ร่าง แม้จะมีหลักการใกล้เคียงกัน แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยย่อมมีความแตกต่างกัน
๑.ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของ กกต.
๒.ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
๓.ร่างที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล
๔.ร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล
ร่างที่ ๑ เป็นร่างตามมาตรา ๑๓๑ (๑) ร่างที่ ๒, ๓ และ ๔ เป็นร่างตามมาตรา ๑๓๑ (๒) โดยทั้ง ๔ ร่างล้วนเป็น "ร่างที่เสนอตามมาตรา ๑๓๑" ตามความตอนท้ายในมาตรา ๑๓๒ (๑) ทั้งสิ้น
รัฐสภาพิจารณาทั้ง ๔ ร่างพร้อมกันในวาระที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ และมีมติรับหลักการทั้ง ๔ ร่าง
และแม้รัฐสภาจะมีมติให้ใช้ร่างที่ ๑ เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในมาตรา ๑๓๒ (๑) กรณีรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วันแต่ประการใด
ถ้ารัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน แล้วที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๒ (๑) ว่าให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตาม "ร่างที่เสนอตามมาตรา ๑๓๑" จะเกิดคำถามใหญ่ขึ้นมาทันทีว่า…ในกรณีนี้คือร่างไหนใน ๔ ร่าง? ด้วยเหตุผลใด?
เท่าที่สอบถามในประเด็นนี้ มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.๒๕๖๓ ข้อ ๑๐๑ เขียนรายละเอียดไว้แล้วว่า ในกรณีนี้ให้ถือว่าร่างที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาคือร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ..."
ก็หาร ๕๐๐ นั่นแหละครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถึงคิว 'แพทองธาร'
งานงอก! เริ่มต้นจากข้อเขียนของ "คำนูณ สิทธิสมาน" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ มาตรา ๑๗๘
หนึ่งในเหตุวิกฤต
ปล่อยไปไม่ได้ วันก่อน นายกฯ แพทองธาร พูดเรื่อง การจัดการพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำเอาโซเชียลร้อนฉ่า
จ่อคอหอย 'ทักษิณ'
สงสัยกันเยอะพอควร... พรรคเพื่อไทยกับพรรคส้ม ถล่มกันเละในสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มันของจริง หรือทะเลาะทิพย์
เรื่อง 'ทักษิณ' เพิ่งเริ่มต้น
"ดีค่ะ เพราะก่อนหน้านี้มันไม่ได้เป็นข่าวดีตลอดเวลา ข่าวที่ได้รับวันนี้ถือว่าเป็นข่าวดี รู้สึกดีใจ"
แบบนี้ต้องล้างคุกรอ
เสี่ยงคุกจริงๆ ครับ... วันนี้ไม่มีใครในรัฐบาลพูดเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ๑ หมื่นบาท ผ่านระบบบล็อกเชน มีความปลอดภัยสูงสุดกันแล้ว
'ยิ่งลักษณ์' จะกลับไง
ตามที่จั่วหัวไว้เลยครับ "ยิ่งลักษณ์" จะกลับไทยด้วยวิธีไหน นิตยสาร Nikkei Asia อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ช่วงที่ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.