เทียบท่าที่มาเนาส์

ตารางเวลาเดินเรือที่ติดไว้หน้าห้องพักของลูกเรือระบุว่าเรือโดยสาร GM II จะถึงท่าเมืองมาเนาส์ 6 โมงเย็นของวันเสาร์ หลายคนทราบว่าเรือทำเวลาได้เร็วกว่ากำหนด โดยเฉพาะคนท้องถิ่นที่เคยโดยสารเรือเส้นทางนี้มาแล้ว

     เด็กวัยรุ่นกลุ่มที่ดื่มกับผมเมื่อคืนบอกว่าน่าจะถึงมาเนาส์ตอนเที่ยงๆ คุณน้าบุรุษพยาบาลประจำเรือให้ผมดูโทรศัพท์มือถือของแกซึ่งใช้ระบบสัญญาณผ่านดาวเทียมแจ้งพิกัดตำแหน่งเรืออยู่ตลอดเวลา จึงได้รู้ว่าเหลืออีก 30 กิโลเมตรเท่านั้น

นับจาก 10 โมงตอนนี้ คำนวณแล้วเรือน่าจะเข้าเทียบจอดที่ท่าเมืองมาเนาส์ราวๆ 11 โมงครึ่ง เป็นข่าวดีมาก เพราะการมาถึงเร็วจะทำให้หาที่พักได้สะดวกขึ้น และสำหรับบางท่านก็จะมีเวลาสำรวจเมืองในช่วงบ่ายถึงเย็น ส่วนผมเองจะยกยอดไปช่วงค่ำ กะว่าได้ห้องพักแล้วจะนอนชดเชยให้พลังกลับมาก่อน เพราะที่ผ่านมา 3 คืนนอนหลับไม่สนิท ไม่เต็มตื่น แม้แต่คืนเดียว

     หากมาคำนวณความเร็วในการเดินเรือเที่ยวนี้ จากระยะทางประมาณ 1,600 กิโลเมตร เรือใช้เวลาเดินทาง 71 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วเรือวิ่ง 22.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 12 นอต ถือว่าเร็วพอสมควร สาเหตุหนึ่งก็เพราะเรือแล่นตามกระแสน้ำ และแล่นกลางแม่น้ำซึ่งเป็นจุดที่น้ำไหลแรงที่สุด ช่วยส่งให้เรือแล่นเร็วและช่วยประหยัดเชื้อเพลิง

ปั๊มน้ำมันลอยน้ำใกล้เมืองมาเนาส์

     นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าเรือที่แล่นสวนมานั้นจะแล่นริมแม่น้ำ เพราะต้องการหลีกกระแสเชี่ยวตรงกลางของลำน้ำแอมะซอน ผมเคยอ่านพบว่านักท่องธรรมชาติตัวจริงนิยมโดยสารเรือขาขึ้นมากกว่า เพราะจะรู้สึกใกล้ชิดกับป่า รวมถึงได้เห็นสิงสาราสัตว์หลากหลายกว่าเรือเที่ยวล่องอยู่มาก

     พอแจ้งเวลาเรือเทียบท่าให้ทางคณะรับทราบ ผมก็ได้รับมอบหมายให้จองที่พัก แต่ในเรือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต จะมีก็ต่อเมื่อเรือใกล้จอดที่ท่ามาเนาส์ และต้องเป็นการแชร์สัญญาณจากเครื่องคนอื่นเพราะซิมการ์ดบราซิลของผมยังใช้การไม่ได้

กลุ่มของเรือนแพริมน้ำ-ชายป่าแอมะซอน

     ระหว่างนี้ผมก็ขอถ่ายรูปบุคคลที่น่าประทับใจในการเดินทางครั้งนี้หลายคน อาทิ บุรุษพยาบาล กัปตันเรือ ผู้ช่วยกัปตัน หนุ่มอ้วนเจ้าของร้านค้าประจำเรือ เอดัวร์โด-นักมวยไทย กลุ่มวัยรุ่นนักศึกษาปี 1 ในมาเนาส์ และที่จะลืมไม่ได้คือเจ๊แม่ครัวผู้ทำงานหนัก ทั้งทำอาหาร ตักอาหารแจกผู้โดยสาร ล้างจานชามและอุปกรณ์ทั้งหมด แถมยังต้องต้มน้ำร้อนให้พวกเรายามต้องการน้ำร้อนไปชงกาแฟ วันสองวันหลังผมรู้สึกเกรงใจเจ๊และเริ่มสนิทกับหนุ่มอ้วนในฐานะลูกค้ารายใหญ่ และเขาก็มีน้ำใจเอาน้ำใส่แก้วแล้วเข้าไมโครเวฟให้

     สำหรับอาหารมื้อเที่ยงบนเรือวันนี้เป็นอันรู้กันว่าไม่มี หรือจะเป็นไปได้ไหมที่เรือทำเวลาให้เร็วกว่าปกติเพื่อให้บริษัทประหยัดค่าอาหารไปได้ 1 มื้อ

     แม่น้ำแอมะซอนส่วนที่เราล่องมานี้ คนนอกบราซิลเรียกว่า “แอมะซอนตอนบน” หรือ Upper Amazon แต่ในบราซิลเขาเรียกแม่น้ำโซลิโมยส์ (Rio Solimões) โดยนับตั้งแต่ต้นทางในเปรูจนถึงเมืองมาเนาส์ของบราซิล โซลิโมยส์มีทิศทางการไหลโดยรวมจากทิศตะวันตกไปตะวันออก พอถึงมาเนาส์ก็เลี้ยวโค้งขึ้นเหนือนิดหนึ่งเพื่อรวมกับสาขาอีกสายของแอมะซอน ชื่อว่าแม่น้ำเนโกร (Rio Negro) หรือแม่น้ำดำ ทำให้เกิดแม่น้ำ 2 สี คือสีดำของแม่น้ำเนโกรและสีน้ำตาลของแม่น้ำโซลิโมยส์ และจากจุดนี้ลงไป ชาวบราซิลจึงเรียกว่าแม่น้ำ “แอมะซอน” จนกว่าจะไหลไปลงมหาสมุทรแอตแลนติกที่รัฐปาราและรัฐอามาปา

     แม่น้ำเนโกรนี้มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศโคลอมเบียทางตะวันออก ไหลผ่านตอนใต้ของเวเนซุเอลา แล้วจึงเข้ารัฐอามะโซนัสของบราซิล ถือเป็นสาขาทางฝั่งซ้ายที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำแอมะซอน มีปริมาณน้ำมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ที่ประกอบกันเป็นแอมะซอน มีอัตราการไหลเฉลี่ย 26,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มากเป็นอันดับ 6 ของโลก ความยาวก็ใช่ย่อย ตั้งประมาณ 2,250 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังเป็นแม่น้ำสีดำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยสีดำของน้ำไม่ได้เป็นน้ำเสียน้ำเน่า แต่มาจากกรดฮิวมิกที่ผสมอยู่ โดยกรดฮิวมิกนี้เกิดจากการย่อยสลายที่ไม่สมบูรณ์ของสารประกอบฟีนอลในพืชที่แม่น้ำไหลผ่าน

     สำหรับเมืองมาเนาส์ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแอมะซอนนั้น แม่น้ำที่ไหลผ่านเป็นหลักคือแม่น้ำเนโกร จุดบรรจบที่โซลิโมยส์เชื่อมกับเนโกรนั้นเกือบจะเลยตัวเมืองมาเนาส์ไปแล้ว และแม่น้ำทั้ง 2 สีนี้ไหลขนานกันไปถึง 9 กิโลเมตรโดยไม่รวมเป็นสีเดียวหรือเนื้อเดียวกัน เมืองมาเนาส์จึงเป็นเมืองน้ำดำ หรือจะให้ชื่อแบบไทยๆ ว่า “กาฬสินธุ์” ก็ย่อมได้

     เรือโดยสารของเราไม่ได้แล่นไปยังจุดบรรจบตามธรรมชาติของสองแม่น้ำ หากแต่แล่นเลี้ยวซ้ายเข้าคลองเชื่อมซึ่งอยู่ใกล้กว่าประมาณ 15 กิโลเมตร คลองนี้ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร หลุดออกมาจากคลองก็พบกับน้ำดำ เด็กวัยรุ่นบอกผมล่วงหน้าแล้วว่าให้เตรียมถ่ายรูปแม่น้ำ 2 สี แต่เอาเข้าจริงก็ถ่ายยาก เพราะเราไม่ได้อยู่ในองศาที่มองเห็นได้ชัดเจนนัก วันต่อมาเราถึงมีโอกาสได้นั่งเรือไปถ่ายได้อย่างถนัดถนี่บริเวณจุดบรรจบแท้จริงของสองแม่น้ำ

ใกล้เทียบท่าเมืองมาเนาส์ เมืองหลวงของรัฐอามะโซนัส

     ผมขอให้พวกเขาแนะนำที่พักในเมืองมาเนาส์ที่ไม่ห่างจากท่าเรือ พอตอนเรือแล่นเข้าใกล้ชายฝั่งและกำลังจะเทียบท่าในอีกราวๆ 10 นาที พวกเขามาพร้อมชื่อ 3 โรงแรม ด้านบุรุษพยาบาลแนะนำโรงแรมชื่อ Lider Hotel อยู่ห่างจากท่าเรือไม่ถึง 1 กิโลเมตร แต่ถ้านั่งรถยนต์ระยะทางจะเพิ่มเป็น 2 กิโลเมตร ผมแชร์สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากลูเซียโน หนึ่งในกลุ่มเด็กวัยรุ่น หาที่พักในระยะกระชั้นชิดซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ตามกรอบวงเงิน ไม่ห่างจากท่าเรือ และต้องจองหลายห้อง บางห้องต้องระบุว่าพัก 2 คน บางห้องพัก 3 คน

     บุรุษพยาบาลมีอัธยาศัยดีและใส่ใจในความกังวลของผมมากแม้ว่าจะพูดกันไม่รู้เรื่องเลย พวกเด็กวัยรุ่นบอกว่าแกมีรถยนต์จอดอยู่บนฝั่ง จะขับไปส่งที่โรงแรม ผมกล่าว  Obrigado ขอบพระคุณ และบอกว่าไม่เป็นไรเพราะพวกเรามีกันหลายคน กระเป๋าอีกหลายใบ แกก็ยังให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ กำชับผ่านเด็กวัยรุ่นว่าหากมีปัญหาอะไรในมาเนาส์ให้โทร.หาแกได้ตลอดเวลา

     แกกดเบอร์ในมือถือของผมและพิมพ์ชื่อ Estanislau Oliveria da Silva จะโทร.คุยอย่างไร เพราะคุยกันคนละภาษา ผมยกมือไหว้ท่วมหัว แกยิ้มตอบ

ใกล้ถึงท่าเมืองมาเนาส์ มองเห็นสะพานข้ามแม่น้ำเนโกร ความยาว 3,595 เมตร

     ตอนเรือเทียบท่ามาเนาส์ ผมยังไม่ได้กดจองที่พักเพราะยังติดประเด็นเรื่องราคา มีกลุ่มคนอาชีพขนของลงจากเรือเข้ามากลุ้มรุม ไม่มีใครต่อรองราคาให้รู้เรื่องก่อนแต่อนุญาตให้ชาย 2 คนขนสัมภาระลงไป บางคนถือของตัวเองเท่าที่ถือได้ ช่วงนี้ชุลมุนวุ่นวายมาก

     ท่าเทียบเรือมีลักษณะคล้ายลานจอดรถ คนในคณะของเราที่ลงไปก่อนเจรจาได้รถตู้เก่าคันหนึ่งซึ่งเป็นแท็กซี่ดัดแปลงไว้ใส่กระเป๋าสัมภาระในช่วงกลางรถได้หลายใบ รถสีส้ม คนขับก็ใส่เสื้อสีส้ม

     ระยะทางการขนสัมภาระจากเรือไปสู่รถตู้ส้มที่จอดรออยู่ห่างไปประมาณ 50 เมตรเท่านั้น การนำของลงจากเรือก็ไม่ได้ใช้แรงยกทั้งหมดเพราะมีบันไดทางลาดพาดไปเทียบถึงชั้น 2 ของเรือ

     คนขนของคิดค่าขนเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ตั้งคนละ 20 ดอลลาร์ รวม 40 ดอลลาร์ เรื่องการจ่ายเงินให้แรงงานท้องถิ่นแบบนี้ต้องให้คนที่รู้อัตราแลกเปลี่ยนและคำนวณในหัวได้อย่างรวดเร็วเป็นคนจัดการ แต่มันก็ชุลมุนวุ่นวายอยู่ดี

     ผมเข้าไปบอกกับชายทั้งคู่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งพวกเขาพอฟังเข้าใจว่าเราจะไม่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์ คิดมาใหม่ว่ากี่เรียล ฝ่ายคนอายุมากคิด 100 เรียลต่อคน รวมแล้วตก 1,400 บาท สำหรับค่าขนกระเป๋า 50 เมตร ผมบอกว่าจะจ่ายคนละ 10 เรียล พวกเขาไม่ยอม เพิ่มให้คนละ 20 เรียล ก็ยังไม่พอใจ เลยเอาเงินใส่มือ คนอายุมากเอามือหลบไปไพล่ไว้ข้างหลังและส่ายหน้า ผมก็ยัดใส่มือคนอายุน้อย หมอนี่รับไว้ ผมบอกคนอายุมากว่าไม่รับก็เรื่องของคุณนะ เราจะไปแล้ว เขาเห็นว่าในมือผมยังมีใบละ 2 เรียลและ 5 เรียลก็ขออีก ผมรำคาญก็ให้ไป

นักมวยไทยชาวเวเนซุเอลาที่ผู้เขียนพบเจอในเรือโดยสารทาบาติงกา-มาเนาส์

     พวกนี้ทำงานง่ายๆ แค่ไม่กี่นาทีได้เงินไปคนละประมาณ 200 บาท ถ้าอากาศเมืองมาเนาส์ไม่ร้อนพอๆ กับเมืองไทยและไม่กำลังยืนท้าแดดตอนเที่ยงอยู่ผมคงจะรับมือพวกเขาได้ดีกว่านี้ ยังรู้สึกว่าเสียทีและพ่ายแพ้ให้แก่การเล่นจิตวิทยาของนักขนกระเป๋า การเดินทางนานๆ ไปในหลายๆ เมืองนั้น การตัดรำคาญด้วยการจ่ายๆ ไปให้จบๆ โดยไม่คิดคำนวณให้ดีถือว่าไม่ฉลาดอย่างยิ่ง ยกเว้นว่าเงินท่านหนักกระเป๋าจนเกินไป จนอยากจะทำให้ตัวเบาลง

     โชเฟอร์แท็กซี่รถตู้แนะนำโรงแรม Lider Hotel เช่นกัน และทางคณะก็ตกลงเพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะไปไหน มีคุณป้า-โยมติดตามพระ 2 คนเดินไปหาร้านอาหารสำหรับถวายเพลให้ทันก่อนเที่ยง และทั้งคู่ยังไม่มีเบอร์โทร.ติดต่อ

     แท็กซี่ขับผ่านศูนย์อาหารใกล้ท่าเรือ เป็นไปได้สูงที่คุณป้าทั้งสองจะอยู่ในนั้น ผมลงไปตามหาและเจออยู่ในนั้นจริงๆ กำลังหาที่นั่งให้กับคณะ เป็นฟู้ดคอร์ตที่มองแล้วคงสั่งมารับประทานยากอยู่สักหน่อย ผมขอให้ท่านทั้งสองขึ้นรถไปหาร้านใกล้ๆ โรงแรม

     พอเช็กอินเสร็จก็เดินไปหาร้านอาหาร ได้ร้านใกล้โรงแรมห่างไปไม่ถึง 1 นาทีเดิน เป็นบุฟเฟต์แบบตักไปชั่งกิโล ทางร้านคิดเงินตามน้ำหนัก ไม่ว่าอาหารจะเป็นข้าวผัด สลัด เนื้อย่าง ก็คิดราคาเดียวกัน วันหลังผมจะเล่ากติกาบุฟเฟต์แบบชั่งกิโลอีกครั้ง

     มาเนาส์เป็นเมืองหลวงของรัฐอามะโซนัส และยังเป็นศูนย์กลางของป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเหมือนหัวใจของแอมะซอน ในอดีตเคยรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยอุตสาหกรรมยางพารา ส่งผลให้เป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาใต้ยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดึงดูดให้เศรษฐีจากยุโรปย้ายเข้ามาตั้งรกรากพร้อมนำศิลปะวิทยาการเข้ามาด้วย ในตอนหน้าผมจะกลับมาขยาย โดยเฉพาะเรื่องยางพารา

บริเวณใกล้ๆ ท่าเรือเมืองมาเนาส์

     บราซิลมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับ 3 ของโลก ช่วงปลายเมษายน ต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยลดลงมา ทั้งประเทศเหลือวันละประมาณ 15,000 คน และที่เมืองมาเนาส์มีข่าวรายงานว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ทำให้ในเมืองนี้ไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

     เรื่องโควิดเป็นศูนย์นี้อาจจะจริงแค่ในทางตัวเลข ผมไม่ค่อยเชื่อว่าจะปราศจากผู้ติดเชื้อในความเป็นจริง เพราะมาเนาส์มีสนามบิน นักท่องเที่ยวต่างเมืองต่างชาติบินเข้า-ออกทุกวัน มีกระทั่งเที่ยวบินตรงจากสหรัฐ และบราซิลไม่ดูผลตรวจโควิดก่อนเข้าประเทศ นอกจากสนามบินแล้วก็ยังมีถนนที่เชื่อมกับเมืองอื่น รวมถึงออกไปสู่นอกรัฐอามะโซนัส

ภาพแม่น้ำ 2 สีที่ชัดที่สุดอยู่ในห้องอาหารของโรงแรม Lider

     ระหว่างอยู่ในเมืองมาเนาส์ผมได้เดินทางไปยังหลายสถานที่ นั่งเรือ เข้าร้านอาหาร นั่งดื่มในบาร์ ด้วยเพราะไม่อยากแปลกแยกจึงใส่หน้ากากอนามัยเฉพาะตอนเข้าห้องน้ำเท่านั้น

     ผลออกมาว่าทั้ง 4 วันในเรือโดยสาร และอีก 4 วันในเมืองมาเนาส์ ผมยังปลอดโควิดครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก