หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รับราชการเป็นแพทย์ตำรวจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช และผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านนิติเวช เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา และแพทย์ใหญ่ตำรวจ ก่อนเกษียณราชการในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีตำรวจ

ในช่วงเวลาที่รับราชการ ท่านเป็นทั้งหมอตำรวจ อาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ และอาจารย์สอนตำรวจในวิชานิติเวชทุกหลักสูตร พนักงานสอบสวนทั่วประเทศเป็นลูกศิษย์

กิจวัตรประจำทุกเช้าวันทำงาน อาจารย์หมอประเวศน์จะมาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หน้ากรมตำรวจ (ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) แล้วก็เดินทักทายข้าราชการตำรวจ ผู้สื่อข่าวประจำกรมตำรวจ ที่เริ่มมาปฏิบัติหน้าที่ ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ด้วยอัธยาศัยไมตรี จึงเป็นที่เคารพรักของทุกคน

มีเรื่องเล่ากันว่า เคยมีผู้สื่อข่าวหญิงของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ประจำที่กรมตำรวจ ขณะเดินทางกลับบ้านถูกลอบทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ คนร้ายหลบหนีไป สาเหตุน่าจะมาจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงกลัวผู้ใด ผู้สื่อข่าวหญิงได้รีบเดินทางกลับมาโรงพยาบาลตำรวจ ร้องขอให้อาจารย์หมอประเวศน์แต่เพียงผู้เดียวมาดูแลและให้การรักษาพยาบาลจนปลอดภัย เป็นกรณีที่โจษขานเล่ากันมาตลอด

ท่านได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ คนดีศรีแพทย์ทหาร ฯลฯ

พลตำรวจเอกนายแพทย์จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ อดีตแพทย์ใหญ่ตำรวจ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "อาจารย์หมอประเวศน์เป็นผู้ริเริ่มจัดทีมตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เป็นทีมของตำรวจ และเมื่อเกิดเหตุกรณีวินาศภัยเครื่องบินสายการบินเลาดาแอร์ตกที่ จว.สุพรรณบุรี ท่านเป็นผู้นำทีมออกไปปฏิบัติงานในสถานที่เกิดเหตุ จนได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถาบันนิติเวชให้เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ ก่อตั้งหน่วยงาน กลุ่มงานพิเศษ เพื่อประสานงานมูลนิธิ ลดความขัดแย้งในการเก็บศพ รักษาสถานที่เกิดเหตุ สภาพศพ ดูแลทรัพย์สินของศพ และควบคุมการปฏิบัติงานของมูลนิธิ”

คดีแตงโม นิดา ที่ปรากฏเป็นข่าว มีการช่วยเหลือตำรวจสืบสวนคดีนี้จากหลายภาคส่วนทางสังคมออนไลน์ และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการกล่าวหาการทำงานของหมอนิติเวช สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ทำให้สังคมกลับมาสนใจการทำงานของหมอนิติเวชอีกครั้ง

พลตำรวจตรีนายแพทย์สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน “คลิปดรามาผ่าศพแตงโม นิดา” เป็นของจริง ไม่ได้หลุดจากนิติเวช ตร. แต่ไม่ขอพูดว่าหน่วยงานไหน ยันไม่มีการขโมยศพ (ศพเก็บรักษาอยู่ที่นิติเวช ตร.อยู่แล้ว) ทำตามขั้นตอนกฎหมาย ระบุบาดแผลศพแตงโม 26 บาดแผล ตั้งแต่ผ่าศพครั้งแรกแล้ว”

เรื่องสถาบันนิติเวชวิทยาและการทำงานของหมอนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ทราบว่าหน่วยงานนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อไร ตั้งอยู่ที่ไหน มีหน้าที่และความสำคัญอย่างไร หมอนิติเวชทำงานอะไรบ้าง

สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงพยาบาลตำรวจ ด้านหลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยอาคาร 2 อาคาร อาคาร 1 เป็นสำนักงานสถาบันนิติเวชวิทยา อาคาร 2 เป็นห้องบรรยายวิชาการ สถานที่เก็บศพ และห้องประกอบพิธีทางศาสนา

มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรทั่วประเทศ ในการนำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ผสมผสานกับงานทางด้านสืบสวนสอบสวน เพื่อใช้ในการคลี่คลายคดีสำคัญต่างๆ

ประวัติสถาบันนิติเวชวิทยา เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.2440 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ รศ.116 ในมาตรา 47 ข้อ 1 มีข้อความระบุถึงการชันสูตรบาดแผลและชันสูตรศพ

ต่อมาอีก 1 ปี นายอีริค เจ ลอว์สัน ชาวอังกฤษ เจ้ากรมพลตระเวนได้จัดตั้งกองแพทย์ตำรวจขึ้นเพื่อรักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เจ็บป่วย พร้อมกับชันสูตรบาดแผลและชันสูตรศพผู้ที่ตายผิดธรรมชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาคดี

ในขณะนั้น หมอทำหน้าที่รักษาพยาบาลคนไข้ และเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ก็ออกไปทำการชันสูตรพลิกศพ ตรวจบาดแผล ไม่มีหมอนิติเวชโดยเฉพาะ

ปี พ.ศ.2484 เริ่มมีการเรียนการสอนวิชานิติเวชศาสตร์ โดยอาจารย์สงกรานต์ นิยมเสน ผู้วางรากฐานวิชานิติเวชวิทยาคนสำคัญของประเทศไทย เป็นวิชาหนึ่งในแผนกพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ขณะนั้นงานนิติเวชยังไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป

เดือนมิถุนายน พ.ศ.2489 นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โดยมีคณะกรรมการแพทย์ ทั้งหมด 21 ท่าน ร่วมกันผ่าชันสูตรพระบรมศพ ตามหลักวิชาการทางด้านนิติเวชศาสตร์

ครั้งนั้นสาธารณชนได้รับรู้ผลการชันสูตรพระบรมศพ ซึ่งอธิบายโดยใช้หลักวิชานิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ งานนิติเวชจึงเริ่มมีบทบาทและความสำคัญเป็นที่รับรู้กันทั่วไป

ปี พ.ศ.2496 กรมตำรวจได้ก่อตั้งโรงพยาบาลตำรวจ และตั้งหน่วยงานฝ่ายนิติเวช เริ่มทำการผ่าศพเพื่อชันสูตรพลิกศพ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2496 โดยมีนายแพทย์ถวัลย์ อาศนะเสน จากแผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายนิติเวช ส่วนนายแพทย์สงกรานต์ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา และเป็นอาจารย์ผู้สอนวิชานิติเวชให้แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ

การดำเนินการระยะแรก แพทย์โรงพยาบาลตำรวจซึ่งมีจำนวนน้อยมาก ผลัดกันออกไปชันสูตรพลิกศพและตรวจบาดแผลเกี่ยวข้องกับคดีความต่างๆ ต่อมามีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก็มีการยกระดับงานด้านนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เป็นระยะๆ

ปี พ.ศ.2503 ยกฐานะจาก "ฝ่าย” ขึ้นเป็น "แผนกนิติเวช” และต่อมาปี พ.ศ.2523 “แผนกนิติเวช” ได้เลื่อนฐานะหน่วยงานขึ้นเป็น "สถาบันนิติเวชวิทยา” (เทียนเท่ากองบังคับการ) มีหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้บังคับการ (ยศพลตำรวจตรี) มาจนถึงปัจจุบัน

สถาบันนิติเวชวิทยารับผิดชอบงานนิติเวชศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบ่งงานออกเป็น 6 ฝ่าย ฝ่ายนิติพยาธิ ฝ่ายพิสูจน์บุคคล ฝ่ายพิษวิทยา ฝ่ายตรวจเลือดชีวเคมี ฝ่ายภาพถ่ายทางการแพทย์ และกลุ่มงานพิเศษ

ร่วมกันรับหน้าที่สำคัญในด้านการชันสูตรพลิกศพ การใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ และค้นคว้าหาหลักฐานเพื่อช่วยเหลือกระบวนการยุติธรรม และภารกิจด้านการสอน อบรม และให้ความรู้ทางนิติเวชศาสตร์หน่วยงานทุกฝ่าย จะเป็นเรื่องงานโดยตรงกับงานนิติเวชวิทยายกเว้นงานของกลุ่มงานพิเศษ ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานนิติเวชวิทยา ซึ่งก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมา

สืบเนื่องมาจากกรณีเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินเลาดาแอร์ตก เมื่อปี พ.ศ.2534 ที่ จว.สุพรรณบุรี มีคนร้ายเข้าไปฉกฉวยทรัพย์สินของผู้ตาย เป็นข่าวครึกโครม กรมตำรวจจึงได้จัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น เพื่อเก็บรักษาสภาพศพ วัตถุพยาน รักษาสภาพสถานที่เกิดเหตุ และควบคุมกำกับดูแล เจ้าหน้าที่มูลนิธิที่มาช่วยเหลือการปฏิบัติงานตำรวจ

เดิมมี 2 มูลนิธิ คือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งให้การสนับสนุนภารกิจของตำรวจในการเก็บศพ เคยมีเรื่องขัดแย้ง เกิดเหตุทะเลาะวิวาทอย่างหนัก มีการปะทะใช้อาวุธทำร้ายร่างกายกัน เพื่อจะแย่งศพในที่เกิดเหตุ ทำให้สถาบันนิติเวชวิทยาต้องเข้าไปบริหารจัดการ

ปี พ.ศ.2540 สถาบันนิติเวชวิทยาได้ทำข้อตกลงกับมูลนิธิทั้งสอง แบ่งเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นฝั่งพระนครและธนบุรี สลับมูลนิธิกันทำงาน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กลุ่มงานพิเศษ ร่วมกำกับดูแลปฏิบัติงานด้วย

ปัจจุบันมูลนิธิทั้งสองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ขยายงานนอกจากเก็บศพไร้ญาติ ออกไปเป็นงานบรรเทาสาธารณภัย โรงพยาบาล ฯลฯ ทำให้มีมูลนิธิใหม่ๆ เริ่มเข้ามาขอมีส่วนในพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ใช้รูปแบบเดียวกับมูลนิธิทั้งสอง ในการช่วยเหลือการทำงานของตำรวจ

ผลงานของสถาบันนิติเวชวิทยาที่ได้รับการยกย่องชมเชยจากนานาชาติ การปฏิบัติการในประเทศ ได้แก่ การเก็บรักษาศพและชันสูตรพลิกศพ กรณีเครื่องบินเลาดาแอร์ตก เมื่อปี พ.ศ.2534 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 223 คน

กรณีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมสึนามิถล่มฝั่งอันดามันของประเทศไทย 6 จังหวัด เมื่อ ปี พ.ศ.2547 มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 5,400 คน

สถาบันนิติเวชวิทยาเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปทำงานในพื้นที่และเป็นหน่วยงานสุดท้ายที่อยู่ปิดภารกิจ ในปี พ.ศ.2553 (ปฏิบัติภารกิจยาวนานที่สุด 6 ปี) โดยดำเนินการชันสูตรพลิกศพและตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยและจากนานาชาติ

การปฏิบัติการนอกประเทศ อาทิ กรณีแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ สถาบันนิติเวชวิทยาได้ส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์ศพและนำศพคนไทยที่เสียชีวิตกลับบ้านได้ทั้งหมด

ผลงานในการชันสูตรพลิกศพคดีสำคัญ เช่นการผ่าศพและชันสูตรพลิกศพนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ นักการเมือง มีประเด็นว่ายิงตัวตายหรือถูกฆาตกรรม มีกรณีโต้แย้งการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน นำไปสู่การผ่าศพและชันสูตรหลายครั้ง เพื่อรูปสำนวนการสอบสวน

คดีฆาตกรรมเชอรี่แอน ดันแคน ซึ่งเป็นคดีตำรวจจับคนร้ายผิดตัว ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย สร้างความเศร้าสลดกับเหตุการณ์ครั้งนี้มิรู้เลือน ทำให้ต้องมีการจัดตั้งและปรับปรุงหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและเยียวยาผู้เสียหาย ผู้ต้องหา ให้ดียิ่งขึ้น

ผลงานสำคัญด้านวิชาการที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2533 สถาบันนิติเวชวิทยาเริ่มใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์ (DNA) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำมาใช้ในการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก ได้ทำการตรวจพิสูจน์ 8 ราย ภายใต้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ จากวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ต่อมาสถาบันนิติเวชวิทยาได้พัฒนาการตรวจ (DNA)พิสูจน์วัตถุพยาน ช่วยสนับสนุนคลี่คลายคดีและจับกุมผู้กระทำผิดจำนวนมาก รวมทั้งนำไปใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ในเหตุจลาจลและก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัจจุบันสถาบันนิติเวชวิทยาเป็นองค์กรหลักปฏิบัติภารกิจด้านการศึกษา อบรมให้ความรู้วิชานิติเวชวิทยา อย่างเป็นประจำ สถาบันของตำรวจ หน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน

แพทยสภาได้อนุมัติสถาบันนิติเวชวิทยา เป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในการฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์และพยาบาล สาขานิติเวชวิทยา และให้จัดอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขานิติเวชวิทยา

มีหลักสูตรที่มาศึกษาดูงานกว่า 10 หลักสูตร เช่น หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรอัยการผู้ช่วย หลักสูตรผู้ช่วยผู้พิพากษา หลักสูตรการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่รองรับการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาแพทย์ จากมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 15 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯลฯ

ในอนาคตสถาบันนิติเวชวิทยามีแผนงานจะพัฒนาขีดความสามารถงานนิติเวชศาสตร์ โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับสังคมและการพัฒนาประเทศ แนวโน้มทางด้านผลกระทบจากพิษของสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ภัยจากการก่อการร้าย (การใช้อาวุธชีวภาค ก๊าซพิษ นิวเคลียร์) ยกระดับมาตรฐานการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของสากล

การนำเอาระบบเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารมาใช้ในการบริหารจัดข้อมูลด้านนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ให้แก่ศูนย์สืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถานีตำรวจทั่วประเทศ

การพัฒนาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจที่มีขอบเขตและความซับซ้อนมากขึ้นตามภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตามสถาบันนิติเวชวิทยาก็ยังคงต้องเป็นสถาบันหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านการชันสูตรพลิกศพ และการพิสูจน์หลักฐานคดีต่างๆ ทั้งในเรื่องความถูกต้อง และมาตรฐานการทำงานตามหลักวิชาการ

ทุกวันนี้ หมอนิติเวช สถาบันนิติเวชวิทยา ทำการการผ่าศพและชันสูตรพลิกศพ (เฉลี่ยวันละ 16 ศพ) สถิติจำนวนศพที่ส่งมาตรวจ ปี พ.ศ.2562 จำนวน 5,974 ศพ พ.ศ.2563 จำนวน 5,812 ศพ พ.ศ.2564 จำนวน 6,418 ศพ พ.ศ.2565 (ม.ค.-ก.ค.) จำนวน 3,221 ศพ

ขอกราบคารวะดวงวิญญาณของอาจารย์หมอประเวศน์ คุ้มภัย ปูชนียบุคคลของหมอนิติเวช ผู้วางรากฐานและพัฒนากิจการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ให้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้

ขอชื่นชมเป็นกำลังใจให้หมอนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจทุกท่าน ที่ทุ่มเทการทำงานอยู่กับศพตลอดเวลา อย่างเสียสละ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยจิตวิญญาณอุดมการณ์ของแพทย์และผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อประชาชนตลอดไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ

ตำรวจสวนสนาม

การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์