มีเสียงด่าไล่หลัง
ทำไมรัฐบาลไม่ยุบสภาลาออก เพราะฝ่ายค้านเอาหลักฐานมาแฉในสภา ทั้งเรื่องทุจริต ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ยันเรื่องบนเตียง
โพลฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้นรัฐบาลสอบตกเรียบ
อีกทั้งผลโหวตคู่ขนานจากมือประชาชน ๙๖-๙๗ เปอร์เซ็นต์ ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก ๑๐ คนให้ทำงานอีกต่อไป
ตัดโพลพรรคการเมืองออกไปครับ เพราะอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่
มาดูโพลธรรมศาสตร์ เพราะมีการนำไปอ้างอิงกันเยอะว่าเป็นความเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง
แม้การลงมติในสภา รัฐมนตรีและนายกฯ จะสอบผ่านไปได้ทุกคน แต่เสียงก่นด่าที่ตามมาคือ พวกมากลากไป ระบอบประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากมีปัญหา
เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภายใต้ระบบรัฐสภา แต่ในระบอบเผด็จการ
นักการเมืองแค่เล่นปาหี่กัน
อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของชนส่วนน้อย ฯลฯ
สุดแต่จะสรรหามาด่ากันครับ
ราวกับว่านี่เป็นครั้งแรกที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตเสียงให้รัฐบาล ไม่ยอมโหวตให้ฝ่ายค้าน
บางทีอาจเป็นข้อเสียของรัฐบาลประยุทธ์ที่อยู่ในอำนาจมายาวนานถึง ๘ ปี ทำให้การเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ค่อยชัดเจนนัก
หลายๆ คนคงลืม หรือแกล้งลืมไปว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผลโหวตในสภาฝั่งรัฐบาลก็ชนะ
แต่นายกฯ หนี รัฐมนตรีติดคุก เพราะคดีโกง
ใช่ครับ...ผลโหวตในสภาไม่ได้สะท้อนการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างแท้จริง และเป็นแบบนี้มานานมากแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดเมื่อสัปดาห์ก่อน
ที่ผ่านมาคิดจะแก้ไขเรื่องนี้กันบ้างหรือเปล่า
โพลเครือข่ายนักวิชาการ ๔ มหาวิทยาลัย นำโดยธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ๔ สถานี หลับตาก็มองเห็นภาพแล้วว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ธรรมศาสตร์ ตัวตั้งตัวตีคนสำคัญ อธิบายผลโพลไว้ยาวเหยียด ในเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ดังนี้ครับ
...รายงาน #ผลการโหวตคู่ขนาน
เสียงประชาชนไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง ๑๑ คน
ตามที่สื่อต่างๆ ได้มีการรายงานผลการลงมติ “เสียงประชาชน” ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง ๑๑ คนไปแล้วนั้น แต่อาจมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบผล ผมจึงขอรายงานผลโดยสรุป และรายงานเพิ่มเติมในประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
๑.มีการร่วมโหวตทั้งหมด ๕๒๔,๘๐๖ โหวต โดยเป็นการโหวตที่สมบูรณ์คือลงมติครบทั้ง ๑๑ คน จำนวน ๙๙% และมี ๖,๘๗๖ ครั้งที่เป็นการลงมติที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเทียบได้กับบัตรเสีย ทั้งนี้ในการโหวตที่สมบูรณ์ มี ๕๑๑,๘๐๗ โหวตที่ลงมติในประเทศไทย
๒.ผลการโหวตในภาพรวมสรุปได้ดังนี้
(๑) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง ๑๑ คน ได้คะแนนไม่ไว้วางใจมากกว่าคะแนนไว้วางใจ โดยมีรัฐมนตรีจำนวน ๘ คนได้คะแนนไม่ไว้วางใจ ๙๗% ได้คะแนนไว้วางใจ ๓% จำนวน ๘ คน และมีรัฐมนตรีจำนวน ๓ คนที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจ ๙๖% ได้คะแนนไว้วางใจ ๔%
(๒) รัฐมนตรีที่ได้คะแนน #ไม่ไว้วางใจมากที่สุด คือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี (๕๑๐,๔๑๓ คะแนน) รองลงมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (๕๐๘,๘๓๓ คะแนน)
๓.เนื่องจากกติกาในการโหวตคือ “หนึ่งเครื่องหนึ่งเสียง” ทำให้อาจจะมีคนที่มีโทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่องทำการโหวตมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นกติกาที่ประกาศให้ทราบกันล่วงหน้าแล้ว แต่สำหรับการใช้มือถือเครื่องเดียวกันโหวตมากกว่าหนึ่งครั้งนั้น แม้ว่าในทางทฤษฎีจะมีวิธีการที่ทำได้จริง แต่ในทางเทคนิคเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก และที่สำคัญที่สุดที่ผมขอแจ้งให้ทราบคือ #จากการตรวจสอบไม่พบการโหวตซ้ำโดยโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวกัน หรือจาก IP เดียวกัน
๔.ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกจึงใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับประชาชนคือ “หนึ่งเครื่องหนึ่งเสียง” อย่างไรก็ตามเพื่อให้การโหวตออนไลน์สามารถพัฒนาไปสู่การโหวตภายใต้หลัก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ตามวิถีทางประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ในการทำโครงการเสียงประชาชนครั้งต่อไป จะได้มีการใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งนี้โดยต้องปลอดภัย ข้อมูลไม่รั่วไหล และยังคงสะดวกสำหรับประชาชนต่อไป
ในนามของผู้ประสานงานโครงการ “เสียงประชาชน” ผมขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกสำนักที่ร่วมโครงการ และช่วยประชาสัมพันธ์จนทำให้มีผู้มาร่วมโหวตมากเกินความคาดหมาย และที่สำคัญที่สุดต้อง #ขอขอบคุณประชาชน ที่มาร่วมโหวตทุกท่าน ที่ทำให้การโหวตเสียงประชาชนครั้งแรกนี้สำเร็จด้วยดี ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้เสียงประชาชนดังยิ่งขึ้นต่อไปครับ..........
ข้อควรระวังในการทำโพลยุคที่การเมืองแบ่งประชาชนเป็น ๒ ขั้วท่ามกลางความขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานกว่า ๑๐ ปี คือ ต้องยืนอยู่ตรงกลางให้ได้ก่อน
ไม่แปลกใจครับที่ผลโพล ออกมาในลักษณะกลุ่มตัวอย่างเกือบ ๑๐๐% ไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะฐานของโพลคือกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
ยกตัวอย่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งที่ผ่านมา สื่อต่างขั้วต่างทำโพล ผลที่ออกมาแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
โพลฝั่งเชียร์ ชัชชาติ ให้ชนะ ๙๙%
ฝั่งตรงข้ามให้ ชัชชาติ แพ้แต่ไม่ขาดบ้าง ชนะบ้าง
มันอยู่ที่ถามคนกลุ่มไหน
หรือคนกลุ่มไหนมาร่วมกิจกรรมโพล
มันต่างไปจากการลงคะแนนจริงอย่างสิ้นเชิง
ผลเลือกตั้งที่ออกมา ชัชชาติ ชนะขาด แต่ไม่ใช่ ๙๙%
โพลอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เช่นกัน เห็นชื่อมหาวิทยาลัย เห็นชื่อสื่อแล้ว ถ้าผลออกมาไว้วางใจรัฐบาลสิเป็นเรื่องแปลก
ฉะนั้น การทำโพลในลักษณะที่รู้อยู่แล้วว่าผู้โหวตเป็นคนกลุ่มไหนพึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก
เพราะความบิดเบี้ยวเกิดขึ้นได้สูงมาก
การโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลองให้สื่ออีกขั้วที่ยืนตรงข้ามระบอบทักษิณทำ ผลก็ออกมาตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
หรือไม่ลองทำโพลเฉพาะที่ภาคใต้ ผลจะต่างออกไปกับโพลที่ทำเฉพาะในภาคอีสาน
มันถึงต้องหลีกเลี่ยงทำโพลภายใต้เงื่อนไขที่ว่านี้
แต่เมื่อทำไปแล้ว และมีคนเอาไปอ้างอิงกันเยอะในโซเชียลว่า รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภา เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ คนทำโพลอย่าง อาจารย์ปริญญา จึงต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้
เพราะอาจารย์ปริญญา ก็รู้ดีว่ากลุ่มที่ร่วมโหวตนั้นคือคนกลุ่มไหน
คนที่สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์แทบจะไม่เกลือกกลั้วกับ อาจารย์ปริญญา
เช่นเดียวกันกิจกรรมที่ อาจารย์ปริญญาจัดขึ้นในธรรมศาสตร์ ทั้งหมดก็เพื่อมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์
ดังนั้นหากจะอ้างทำโพลเชิงวิชาการ ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ให้รอบคอบกว่านี้
เว้นเสียว่าอยากให้โพลออกมาเป็นแบบนี้ เพราะต้องการไล่รัฐบาล
ก็ชัดเจนครับ เลือกตั้งครั้งหน้าได้รัฐบาลใหม่ อาจจะเป็นเพื่อไทยยอมผสมพันธุ์กับก้าวไกล
ถึงวันนั้นลองทำโพลอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอีกที
น่าจะสนับสนุนรัฐบาลโกง ๑๐๐%.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี