วันนี้...หัวใครกระเด็น?

เป็นไงครับ.....?

หนังกลางสภาเรื่อง "เด็ดหัวสอยนั่งร้าน" ฝ่ายค้าน "สมุนแม้ว" นำเสนอ ๔ วัน ๔ คืน จบไปแล้ว

เช้าของเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎา คือเช้านี้่แหละ

ก็จะรู้กัน..........

ว่า "หัวที่ถูกเด็ด-นั่งร้านที่ถูกสอย" จะเป็นหัวและนั่งร้านฝ่ายรัฐบาลหรือเป็น "หัวแม้ว" และ "หัวสมุนหมา" ที่เป็นนั่งร้าน ครอบครัวตระกูลโกง?

แต่ผมดูแล้ว มันเป็น "กากหนังเก่า" ที่เก็บมายำ แล้วใช้ความถ่อยริยำทางถ้อยคำและทางเบือนบิด พากย์ออกจอ มุ่งด่านายกฯ "ระบายแค้น" ซะละมากกว่า

ใช้วาจาชนิดหมดยางอาย ทั้งหญิงและชาย หลังจากไล่งับมา ๘ ปี ก็งับไม่ถึงโคนขานายกฯ ซักที จนหมดเทอม!

ก่อนจะลุ้นผลโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ๑๑ รัฐมนตรีรวมทั้งนายกฯ วันนี้ ควรรู้กติกากันก่อน

ถ้าไม่รู้ ก็จะเหมือนคนดูฟุตบอลที่ไม่รู้กติกา ก็เชียร์-ก็ด่าบ้าใบ้ไปตามประสาคนไม่รู้

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๑ วรรคสี่ ระบุว่า......

"มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร"

ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจกัน ก็คือ

การออกเสียงลงคะแนน "ไม่ไว้วางใจ" รัฐธรรมนูญเน้นตรงเสียง "ไม่ไว้วางใจ"

ว่าต้องได้ "เกินกึ่งหนึ่ง" ของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมด

ไม่ได้เน้นเสียง "ไว้วางใจ" ว่าจะต้องได้คนละเท่าไหร่?

อย่างตอนนี้ ส.ส. "ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล" มีอยู่ทั้งหมด รวม ๔๗๗ คน

กึ่งหนึ่งเท่ากับ ๒๓๘ คนครึ่ง

"มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ก็เท่ากับ ๒๓๙ คน
ดังนั้น รัฐมนตรีจะตกเก้าอี้ได้ จะต้องมีเสียงโหวต "ไม่ไว้วางใจ" ตั้งแต่ ๒๓๙ เสียงขึ้นไป

ไม่ต้องไปจ้องว่า นายกฯ และรัฐมนตรี ทั้ง ๑๑ คน จะได้คะแนนโหวต "ไว้วางใจ" กันคนละกี่คะแนน

คือ จะได้คนละ ๑ คะแนน หรือ ๓๐๐ คะแนน ไม่ใช่ประเด็น รัฐธรรมนูญ "ไม่เน้น" ตรงนี้

รัฐธรรมนูญเน้นตรง.......

เสียงโหวต "ไม่ไว้วางใจ" แต่ละรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย จะต้องมีมากกว่า "กึ่งหนึ่ง" เข้าใจกันนะ

นั่นคือ เช้าวันนี้ ให้ดูตรงจำนวน "ไม่ไว้วางใจ"

ถ้ารัฐมนตรีคนไหน มีเสียงโหวต "ไม่ไว้วางใจ" ตั้งแต่  ๒๓๙ เสียงขึ้นไป

"ตกเก้าอี้" ทันที!

ทีนี้ก็มาดู ฝ่ายรัฐบาล มี ๒๗๐ เสียง ฝ่ายค้านมีราวๆ ๒๐๗ เสียง นั่นคือ ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ๖๓ เสียง

ดังนั้น ฝ่ายค้านถ้าจะล้มรัฐบาลหรือทำให้รัฐมนตรีคนไหน "ตกเก้าอี้" ได้

จะต้องมีฝ่ายรัฐบาล ๓๒ เสียงขึ้นไป มาร่วมโหวต "ไม่ไว้วางใจ"!

เน้น....ขั้นแรก

ให้ดู ๒๓๙ คะแนน "ไม่ไว้วางใจ" เป็นเกณฑ์ ไม่ต้องไปดูคะแนน "ไว้วางใจ"

นายกฯ หรือรัฐมนตรีคนไหน ถูก ๒๓๙ เสียงขึ้นไป "ไม่ไว้วางใจ" ปั๊บ

"หัวขาดกระเด็น" ปุ๊บเลย!

ส่วนคะแนน "ไว้วางใจ" จะได้เท่าไหร่ก็ช่าง แม้จะงดออกเสียงกัน มีโหวต "ไว้วางใจ" บ้าง แค่ ๑ คน ๒ คน ก็ถือว่า "สอบผ่าน"

สรุป.....

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐธรรมนูญเน้นเสียง "ไม่ไว้วางใจ" ต้อง "มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ของ ส.ส.เท่าที่มีอยู่

ไม่ได้เน้น "เสียงไว้วางใจ"

คือไม่มีกฎเกณฑ์เป็นกติกาว่า ผู้ถูกอภิปรายจะต้องได้รับเสียงโหวต "ไว้วางใจ" มาก-น้อยเท่าไหร่

เรื่่องจำนวนเสียงโหวต "ไว้วางใจ" นั้น ถึงรัฐธรรมนูญไม่เน้น แต่สังคม "การบ้าน-การเมือง" เน้น

คือมันเป็น "กติกา-มารยาท" โดยตรง แม้สอบผ่านทางรัฐธรรมนูญ แต่ถือว่า "สอบตก" ทางมโนธรรมสำนึกนักการเมือง

ในเมื่อรัฐบาลมีเสียง ๒๗๐ เสียง มากกว่าฝ่ายค้านตั้ง  ๕๐-๖๐ เสียง

ฉะนั้น สมควรต้องได้เสียงโหวต "ไว้วางใจ" คนละ  ๒๕๐ ขึ้นไป ถึงจะมีสง่าราศี แม้ต่ำสุด ซัก ๒๔๕ ขึ้นไป ก็ยังพอกล้ำกลืน

ถ้าถามว่า โอกาสที่ฝ่ายค้านจะรวมเสียง "ไม่ไว้วางใจ" ได้ถึง ๒๓๙ เสียงมีมั้ย?

มันก็มีนะ ใช่ว่าไม่มี

เพราะ ๒๗๐ เสียงรัฐบาล นั้้น หมายรวมถึง ส.ส.พรรคธรรมนัส กับกลุ่มพรรคเล็กด้วย ซึ่งไม่แน่นอน

ถ้า พรรคธรรมนัสกับกลุ่มพรรคเล็ก เทเสียงโหวตให้ฝ่ายค้าน ๒๓๙ เสียงไม่ไว้วางใจ ก็อาจเกิดขึ้นได้

ยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ "ใหญ่กันทุกคน" หัวหน้าพรรคคุมใครไม่ได้ ทั้งยังมี "ตัวยืน" ๒-๓ ตัว เป็นฝ่ายค้านในพรรคร่วมรัฐบาลมาตลอดกาลด้วยแล้ว

ทำให้การลุ้นผลโหวตวันนี้ มีสีสันน่าลุ้นระทึกมากขึ้น!

วัดบารมี "ลุงป้อม" ผมด้วย

ว่า "เอาอยู่" แค่ไหน กับพรรคธรรมนัสและกลุ่มพรรคเล็ก ถ้าเอาอยู่ แสดงว่า "ลุงป้อม" ยังปึ้ก

บ่งบอกบารมี "ตีตั๋วยาว" ในการคุมเกมเลือกตั้งปีหน้าไปเลย

เช่นเดียวกับคุณจุรินทร์ เท่าที่ดู อำนาจบารมีในการเป็นหัวหน้าพรรคของท่าน ถูกลูกพรรคท้าทายมาตลอด ถ้าการโหวต "วัดเป็น-วัดตาย" วันนี้

คุมไม่ได้....

ปล่อยให้เสียงแตก ๒ รัฐมนตรี "จุติ-นิพนธ์" ถูกลอยแพ คุณจุรินทร์ก็ยากจะอยู่เป็นหัวหน้าพรรคได้

แม้อยู่จนผ่านเลือกตั้งปีหน้า......

จะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับใครก็ยาก เพราะเขาจะไม่เชื่อว่า มาร่วม เอาตำแหน่งไป แล้วตอนโหวตจะ "คุม ส.ส." ได้หรือไม่?

อย่างทุกวันนี้ เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด

มีชัวร์อยู่พรรคเดียวคือ "ภูมิใจไทย" ถ้าคุณอนุทินบอกว่าชัวร์ เชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์!

ก็แจกแจงแล้วทุกด้าน ดังนั้น เช้านี้ก็ดูเอา แต่ ยห.อย่าห่วง เรื่องฟุตบอลเชื่อแป้ง

แต่เรื่องโหวต ต้อง "เชื่อป้อม"!

ไม่ได้คุยด้านการอภิปรายส่งท้ายเมื่อวานนี้เลย สรุปในภาพรวม ผมว่านายกฯ ท่านให้เกียรติสภาและ ส.ส.ผู้อภิปรายมากนะ

เห็นได้จาก แม้จะมีภารกิจต้องทำในหน้าที่นายกฯ มากมาย แต่ท่านพยายามมารับฟังและจดหัวข้อที่ฝ่ายค้านกล่าวหาไปหาคำตอบมาชี้แจง เรียกว่า "ขมีขมัน" ตอบ เป็นระยะๆ ตลอด

๔ ปี ในบทบาทนายกฯ จากเลือกตั้ง จากปีแรกในสภา จนมาถึงปีสุดท้ายของเทอม

จาก "ห้าวทหาร" ระบบสภา บ่มเพาะให้ท่านเป็นนักการเมือง "สุขุม-นุ่มลึก"

ทำไม่ "บาดคอ" แต่คำ "บาดใจ"!

โดยเฉพาะตอน "ศอกกลับ" จอมวาทะบางคนที่ยียวนกวนโอ๊ย ท่านลุกขึ้นมาพูด ๓-๔ คำ ก็ฟันศอกโชะ แล้วเดินเข้ามุมไปเลย

แต่ไอ้เจ้าห้าวเป้งนั่น หน้าแหกเลือดสาด ยืนเซ่อ หามุมไม่เจอไปเลย!

ยามจะอธิบายขยายสาระความ ท่านก็เรียบเรียงได้ราบรื่น เสียงแจ่มชัด กังวาน จริงใจ ฟังง่าย เข้าใจง่าย

รัฐมนตรีพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” อีกคน  ท่านไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่สามารถคุมอารมณ์ได้ดี  รักษาบุคลิกภาพได้สมภูมิ-สมสถานะ

แม้เสียงจะเบา แต่นุ่มนวล อธิบายความได้กระชับ เข้าใจง่าย ไม่เยิ่นเย้อ และดูจริงใจ

เห็นประธานวิปฝ่ายค้านบอกตอนเย็นว่า ฝ่ายค้าน โดยคุณสุทิน คลังแสง ขุนพลผู้ภักดีโทนี่เอ๋ง

จะใช้เวลาราวๆ ๔ ชั่วโมง จากใกล้ๆ ๒ ทุ่ม โชว์ลีลาวาทะ สรุปยุทธการ "เด็ดหัวสอยนั่งร้าน" จะไปจบเอาตอนใกล้เที่ยงคืน

งั้นผมขอนมัสการกราบลา "ต่อปั้งไล้อุ๊ก" ก่อนละกัน  ฉลองรางวัล "น้ำท่วมทุ่ง" วันไหนบอกด้วย

จะหิ้ว "หัวแม้ว" ต้มจิ้มแจ่วไปแจม!

วันเสาร์ที่ปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองไทยวันนี้! ฝ่ายหนึ่งโหยหาอดีตที่ไม่มีวันกลับมา อีกฝ่ายโหยหาอนาคตที่ไม่มีวันเกิดขึ้น

ฝ่ายหนึ่งโหยหา “ลุงตู่” อดีตผู้นำในวัยชรา ฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า แม้มีอันเป็นไป ก็จะมี “ผู้นำรุ่นใหม่” เกิดขึ้นทดแทนตลอดเวลา ฝ่ายหนึ่งโหยหาอดีต

'วันแห่งนครา-ประชาสุข'

อบอุ่น ปีติ ชื่นใจ กาลนี้ เป็นอะไรๆ ที่ต้องใช้คำว่า "สุขทั่วหล้า-ประชาพร้อมใจ-ใสสดทั้งนครา"

'จากกัญชาถึงค่าไฟ'

เชื่อแล้วจ้า..เชื่อ ๑๐๐% ว่า "วุฒิสภา" ชุดนี้ "สีน้ำเงิน" เข้ม ชนิด "แรงดี-สีไม่ตก"!