เป็นอีกหนึ่งปีที่ “เศรษฐกิจไทย” ต้องเผชิญความท้าทายต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ ที่เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.0% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลานานขึ้นจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จึงจะสามารถกลับสู่ระดับศักยภาพที่แท้จริงได้ และยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมิน เนื่องจาก 1.วิกฤตการณ์ด้านราคาพลังงาน การขาดแคลนอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจส่งผลต่อภาคครัวเรือน การผลิตและการส่งออกสินค้า มีความรุนแรงกว่าที่คาด
2.เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ จากมาตรการ Zero-Tolerance COVID-19 Policy และ 3.เศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หากไม่สามารถรองรับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ตึงตัวขึ้นเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามพัฒนาการกันต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อมาดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2565 พบว่ามีการขยายตัวที่ระดับ 2.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปี 2564 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้าย ทั้งในส่วนของการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า แต่ในระยะต่อไปแรงส่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะลดลง หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงชัดเจน อันเป็นผลมาจากสงครามในยุโรปและผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณเริ่มมีข้อจำกัด
ขณะเดียวกัน ttb analytics ยังได้ปรับลดอัตราการเติบโตของปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้ลงด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าลงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา IMF ได้ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้เหลือ 3.6% จากเดิม 4.4% นอกจากนี้ปัญหาการชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลต่อกระบวนการผลิตและการส่งออกสินค้าบางส่วนของไทย ขณะที่แนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะช่วยรักษาศักยภาพการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ส่วนภาพ “การท่องเที่ยวไทย” ยังฟื้นตัวสอดคล้องกับที่เคยประเมินไว้ โดยยังคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อยู่ที่ 4.5 ล้านคน นำโดยนักท่องเที่ยวจากยุโรป อาเซียน และเอเชียตะวันออก (ไม่รวมจีน) ที่ยังเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นตามคาด หลังการผ่อนคลายมาตรการที่ทำให้การเดินทางเข้าออกประเทศสะดวกมากขึ้น ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่คาดว่าจะเดินทางกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้นในไตรมาสที่ 4/2565 หากความขัดแย้งระหว่างประเทศไม่รุนแรงขึ้นในฝั่งจีนและเอเชียตะวันออกในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ ttb analytics มองว่า แรงพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐมีข้อจำกัดมากขึ้น ขณะที่ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งความท้าทายจากภาระหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อครัวเรือนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมลดลง แต่ปัจจัยลบเหล่านี้ถูกชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าของวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อกลับมาใช้ชีวิตและจับจ่ายใช้สอยได้ใกล้เคียงภาวะปกติมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการท่องเที่ยว อาทิ การขยายเวลาใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 และทัวร์เที่ยวไทยไปจนถึง ก.ย.2565 และการเพิ่มสิทธิเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 อีก 1 ล้านสิทธิ เหล่านี้ช่วยพยุงให้การบริโภคภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ แม้แรงส่งอาจจะแผ่วลงบ้างในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นภาครัฐจึงควรเน้นให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และหาโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยในช่วงวิกฤตอาหารโลก.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ
ปี68ธุรกิจบริการอาหารยังโตต่อเนื่อง!
“ธุรกิจบริการอาหาร” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาในปี 2568 จากอานิสงส์ท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคอาหารน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐยังมีการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก