ล่องไปในแอมะซอน (2)

เรือโดยสารของเราล่องไปด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 15 นอต หรือราวๆ 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นานๆ ทีจะมีเรือขนาดใกล้เคียงกันสวนมาสักลำ และเนื่องจากว่าแม่น้ำนั้นกว้างขวาง ตลอดการเดินทางไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่รู้สึกว่าเรือโคลงเคลงจนน่าตกใจ

ภายในเรือ นอกจากบางคนในหมู่พวกเราทั้งหมด 9 คนแล้ว ไม่มีใครสวมหน้ากากกันโควิด ผมเองสวมเฉพาะตอนเข้าห้องน้ำในช่วงแรกๆ แต่ไม่ทันข้ามวันก็ตัดสินใจบอกลาหน้ากากอนามัย ไม่เพียงดูแปลกแยก ถึงใส่ก็คงไร้ความหมาย เพราะในห้องอาหารเป็นกระจกปิดรอบด้าน เปลนอนซึ่งเป็นเสมือนเคบินส่วนตัวของแต่ละคนผูกอยู่ติดๆ กัน ห้องน้ำที่เข้าวันละหลายครั้ง เช่นเดียวกับอ่างล้างหน้าแปรงฟันที่ในชั่วโมงเร่งด่วนจะไม่มีที่ว่าง มีการเดินสวนกับคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะใกล้ๆ กราบเรือ และยามดื่มบนดาดฟ้าเรือที่จะต้องมีการสนทนากัน

ชั้น 3 ของเรือโดยสารล่องแอมะซอนช่วงที่เพิ่งออกจากท่าตาบาติงกา พื้นที่ผูกเปลยังว่างหลายอัตรา

ระยะเวลา 4 วัน 3 คืน เราอยู่ในเรือบนสมมติฐานที่ว่าไม่มีผู้โดยสารคนใดเป็นโควิด ซึ่งหากมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีเชื้อ คนที่ลงเรือไปแล้วไม่ติดโควิดต้องถือว่า “ดวงล้วนๆ”

ผมดื่มเบียร์ ITAIPAVA (อิไตปาวา) ไปหลายกระป๋องที่โต๊ะหน้าเคาน์เตอร์ร้านค้าประจำเรือ ราคากระป๋องละ 5 เรียล หรือประมาณ 35 บาท คนบราซิลนั่งดูหนังจากจอทีวีที่แขวนผนังอยู่ตรงข้ามกับร้านค้า ผมถามหนุ่มอ้วนเจ้าของร้านว่ามี “วิโน ตินโต” หรือไวน์แดงมั้ย เขาแก้เป็นภาษาโปรตุเกสให้ว่า “ฟิงโย ชิงตู” แล้วตอบเป็นภาษาสเปน “โน เตงโก” (No tengo) แปลว่าไม่มี ผมเลยลงไปหยิบไวน์ชิลีมาจากกระเป๋าสัมภาระซึ่งเหลืออยู่ค่อนขวดจากเมื่อคืนก่อนที่เลติเซีย

เรือโดยสารล่องแอมะซอนยามนี้ไม่เหมือนช่วงก่อนการระบาดของโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยวจากยุโรปหรืออเมริกา ไม่มีเอเชียอื่นนอกจากพวกเรา ผู้โดยสารที่เหลือทั้งหมดคือคนท้องถิ่นชาวบราซิลและชาวต่างชาติในแถบนี้ที่โดยสารเพราะมีกิจธุระ

ท่าเรือ Benjamin Constant ขณะเรือโดยสาร GM OLIVEIRA II เข้าเทียบจอด

มีคนทักทายพูดคุยบ้าง ผมได้แต่ “โอลา” กลับไป เรียกได้ว่าพูดกับใครก็ไม่รู้เรื่อง วันแรกและคืนแรกบนเรือผมไม่เจอใครที่พูดภาษาอังกฤษได้เลย แต่ถ้าจับความว่าบางคำถามน่าจะหมายถึง “คุณมาจากประเทศอะไร” ผมตอบกลับไปว่า Yo soy de Tailandia” ภาษาสเปนง่ายๆ ที่คนใช้ภาษาโปรตุเกสต่างเข้าใจ

ผมไม่ได้ดาวน์โหลดแอปแปลภาษาโปรตุเกสมา และในเรือไม่มีสัญญาณไวไฟ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะมีก็ต่อเมื่อเรือจอดตามท่า เพื่อส่งคนเก่าลงไปและรับคนใหม่ขึ้นมา ช่วงเวลานี้ใครอยากสื่อสารหรือส่งข่าวไปที่ไหนก็ต้องรีบ โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีซิมการ์ดบราซิลและเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว บางคนมีซิมการ์ดแต่ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้

สภาพบ้านเรือนริมน้ำแอมะซอน มีทั้งเรือนแพและเรือนยกใต้ถุนสูง

เนื่องจากว่าผมไม่ได้กินอาหารเย็นของเรือ ตกดึกก็หิวขึ้นมา ยิ่งเมื่อแผ่นเนื้อบดนาบกระทะส่งกลิ่นหอมๆ มาจากร้านค้าประจำเรือ ผมเดินเข้าไปชี้ บอกหนุ่มอ้วนเจ้าของร้านว่า “อูนา อัมบูร์เกซา” ขอด้วย 1 ชิ้น

แฮมเบอร์เกอร์ ราคาชิ้นละ 10 เรียล หรือประมาณ 70 บาท รสชาติใช้ได้ จึงขอเป็นมิตรกับหนุ่มอ้วนไว้เพราะคาดการณ์ได้ว่าอาจต้องฝากท้องกับเขาอีกหลายมื้อ

เวลากลางคืนเรือแล่นลดความเร็วลง ช่วงนี้เป็นคืนข้างแรม รอบข้างดำมืด มีเพียงไฟที่หัวเรือที่ส่องสว่างนำทาง ด้านข้างนั้นจะมีสปอตไลต์ส่องแสงกลมๆ ไปยังริมฝั่งเป็นจังหวะ ส่องแล้วดับ จุดละไม่กี่วินาที ฝั่งละหลายๆ จุด ส่องทางซ้ายแล้วก็ย้ายไปส่องทางขวา

ย่านชุมชนใกล้ๆ ท่าเรือ Jutai

ไวน์หมดผมก็เข้าไปถามหนุ่มอ้วน “วิสกี้?” เขาตอบ “โน เตงโก” ถาม “วอดกา?, เตกิลา?” เขาตอบ “โน เตงโก” ผมเลยตัดสินใจไปนอน และเนื่องจากว่าผมไม่ได้นอนเปล แต่เอาถุงนอนมาจับจองพื้นที่ไว้บนชั้น 3 พอสอดตัวเข้าถุงนอนล้มตัวลง รู้สึกเย็นวาบที่แผ่นหลัง ทนอยู่ได้ไม่ถึงนาทีก็รู้ว่านอนไม่ได้แน่ พื้นเหล็กเก็บความเย็นไว้นานหลายชั่วโมง ตอนนี้ผมเข้าใจเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งแล้วว่าเหตุใดทุกคนถึงนอนเปล ผมต้องเดินลงชั้น 2 ไปคว้าเสื้อกั๊กจากกระเป๋ามาใส่เพิ่ม และเสื้อหนาวรองในถุงนอนอีกชั้น ไม่งั้นคงหลับไม่ลง

ผมตื่นไม่ทันมื้อเช้า สอบถามจากคณะก็ทราบว่าเจ๊แม่ครัวแจกขนมปัง กาแฟกดเอาจากถังใบใหญ่หน้าห้องอาหาร เธอชงพร้อมดื่มไว้แล้ว มื้อเช้าทั้ง 3 วันเป็นเมนูเดียวกัน เช่นเดียวกับมื้อเย็นที่เป็นซุปเนื้อทุกวัน ผมลงไปทันกาแฟช่วงก้นถัง กดมาชิมนิดเดียว หวานเหลือประมาณ ต้องไปคว้าเอากาแฟพร้อมชงยี่ห้อ Juan Valdez ที่เอามาจากโคลอมเบีย 2 กระปุก แล้วไปขอน้ำร้อนจากเจ๊แม่ครัว บอกเธอเป็นภาษาสเปนว่า Agua caliente เธอต้มน้ำอยู่พอดี พอน้ำเดือดก็เทจากหม้อใส่แก้วเก็บอุณหภูมิให้ผม เป็นแก้วที่ผมยืมคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งเป็นโยมติดตามพระธุดงค์ ตอนหลังเป็นอันรู้กัน ใครอยากชงกาแฟมาขอเจ๊ได้หากว่าเจ๊อยู่ในครัว และดูไปก็คล้ายเพิ่มภาระให้เธอ

บริเวณท่าเรือ Santo Antonio do Ica

เมื่อวานนี้ เรือออกจากต้นทางที่ตาบาติงกาเวลาเที่ยงครึ่ง แวะจอด 2 ท่า ได้แก่ Benjamin Constant ตอนบ่าย 3 โมง และท่า Sao Paulo de Olivenca ราว 5 ทุ่ม เช้าวันนี้จอดก่อนฟ้าสว่างไป 1 ท่าชื่อ Amatura และประมาณ 8 โมงครึ่งจอดที่ท่า Santo Antonio do Ica บางคนเห็นปลาโลมาน้ำจืดกระโดดขึ้นมาทักทายแถวๆ ท่าน้ำ แม่ค้าพ่อค้าถือสินค้า บ้างทูนบนศีรษะอยู่ริมตลิ่ง นอกจากมีผู้โดยสารลงที่ท่าและขึ้นมาใหม่แล้ว บางคนก็ลงไปซื้อข้าวของเหล่านั้น ส่วนมากเป็นของกิน

หลังเรือออกจากท่านี้ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจอย่างแปลกๆ วิ่งขึ้นไปดูจุดวางถุงนอนบนชั้น 3 เสื้อกั๊กกันหนาวที่ผมถอดยัดไว้ในถุงนอนหายไป ปกติผมระวังเรื่องนี้เสมอ ระหว่างนั่งรถไฟ รถบัส เรือ หรือแม้แต่เครื่องบิน ของจะไม่หายตอนยานยนต์กำลังแล่นไป จะหายก็ตอนขึ้น-ลงที่สถานี ผมมัวแต่ไปมองหาปลาโลมา เพราะไม่คิดว่าใครจะขโมยเสื้อกั๊ก สงสัยว่าคนขโมยน่าจะเป็นพวกที่ผูกเปลนอนอยู่ใกล้ๆ และลงจากเรือไปแล้ว

ระหว่างนี้ผมได้รู้จักกับหนุ่มอายุประมาณยี่สิบกลางๆ ถึงยี่สิบปลายๆ ชื่อ “เอดัวร์โด” เขาเป็นชาวเวเนซุเอลา ไปเรียนมวยไทยที่เปรูกับครูมวยที่เป็นคนไทย เวลานี้ครูมวยกลับเมืองไทยไปแล้ว เขาก็เดินทางกลับเวเนซุเอลา ถึงมาเนาส์แล้วเขาจะนั่งรถบัสไปยังชายแดนบราซิล-เวเนซุเอลา แล้วเดินทางต่อไปยังภูมิลำเนา

ท้ายเรือชั้น 3 หรืออาจเรียกว่า “ดาดฟ้า” ที่เป็นมากกว่าจุดชมวิว

เอดัวร์โดขึ้นเรือมาตั้งแต่ตาบาติงกาแล้ว เขาพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ผมอยากมีซิมการ์ดบราซิลไว้ใช้เพราะยังไม่ได้ส่งคอลัมน์ และเดดไลน์ก็ใกล้เข้ามาแล้ว พอถึงท่า Tonantins ตอนเวลาประมาณ 11 โมง เอดัวร์โดวิ่งนำ ผมวิ่งตามลงจากเรือ ขึ้นฝั่งไปหาซื้อซิมการ์ด และได้มาอย่างง่ายดาย ถ้าจำไม่ผิดราคา 10 เรียล หรือประมาณ 70 บาท ผมมั่นใจว่ามีแค่เบอร์ นอกจากไม่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว เผลอๆ ยังโทร.ไม่ได้ บอกเจ้านักมวยไทยว่าจะเติมอินเทอร์เน็ต เขาว่าเดี๋ยวไปเติมในเรือ

ขากลับขึ้นเรือเราเดินอย่างสบายใจเพราะยังไม่มีเสียงหวูดเรียกจากเรือ พอถึงเรือหวูดก็ดังขึ้น เรือออกจากฝั่ง เอดัวร์โดใส่ซิมให้ผม พยายามจะจัดการเรื่องอินเทอร์เน็ตแต่ไม่สำเร็จ เขาว่าต้องรอให้เรือจอดท่าถัดไปช่วงเย็นๆ แล้วจะลองอีกครั้ง

เจ๊แม่ครัวประกาศเสียงตามสาย เรียกกินมื้อเที่ยง ผมรอให้แถวที่ยาวเฟื้อยสั้นลงเหลือประมาณ 10 คนแล้วจึงไปเข้าคิว ปรากฏว่าสตูเนื้อหมดไปแล้ว เส้นสปาเกตตีไม่เหลือ เหลือข้าวสวยและถั่วเหลืองในซอสรสหวานๆ เค็มๆ แล้วเดินไปให้เจ๊แม่ครัวตักเนื้อสับผัดถั่วลันเตาราดลงไปเพิ่ม นั่งกินท้าโควิดในห้องอาหารกับคุณป้าโยมติดตามพระ 2 คนที่นั่งอยู่ก่อน สารภาพว่าผมยังเกรงโควิดอยู่ตลอดเวลา อยู่ในห้องปิดอย่างนี้ผมหายใจเพียงเบาๆ เท่านั้น

เป็นที่สังเกตว่ามันสำปะหลังสีเหลืองๆ ที่บดจนเกือบเป็นผง ภาษาโปรตุเกสเรียกว่า “ฟาริงญา จิ มันจอกา” (Farinha de mandioca) เป็นเครื่องเคียงที่มีอยู่บนโต๊ะ ไว้สำหรับโรยใส่อาหารแทบทุกเมนู รวมถึงโรยบนข้าวสวย คงเปรียบได้กับน้ำปลาพริกบ้านเรา รสชาติกรอบๆ เค็มๆ แต่ไม่เค็มมาก ผมเองก็มักจะโรยลงบนข้าว เพราะกินทีหลังเหลือกับข้าวน้อย ส่วนผลไม้นั้นหมดก่อนทุกที

บ่ายวันนี้ฟ้าครึ้มๆ ทำให้แดดไม่ร้อน ผมเลยข้ามขั้นจากกาแฟขึ้นไปสั่ง ITAIPAVA จากร้านหนุ่มอ้วนแล้วนั่งดื่มบนโต๊ะที่โล่งกลางดาดฟ้า แกล้มหมูแผ่นที่ซื้อไปจากเมืองไทย

เพื่อนชาวสก็อตของผมคนหนึ่งที่ช่วงเวลาเดียวกันท่องเที่ยวอยู่ในลาตินอเมริกาพูดถึงการโดยสารเรือเฟอร์รีในแม่น้ำแอมะซอนระหว่างตาบาติงกา-มาเนาส์ว่าเป็น “ปาร์ตี้เคลื่อนที่แบบนอน-สต็อป 4 วัน” ซึ่งเขาได้ยินมาจากเพื่อนอีกคน แต่ที่ผมประสบไม่เป็นเช่นนั้น คงเพราะว่าไม่มีกลุ่มคนหนุ่มที่มาด้วยกันในจำนวนที่มากพอ ที่เพื่อนของเขาพูดถึงคงหมายถึงก่อนการระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวยังคึกคัก และจะว่าไปการมองเป็นงานรื่นเริงเคลื่อนที่คงผิดวัตถุประสงค์การเดินเรือโดยสารไปหน่อย ทว่าหากใครจะใช้เป็นปาร์ตี้สถานก็ทำได้ไม่ยาก โซนหลังเรือชั้น 3 หรือที่ผมเรียกดาดฟ้านี้มีแต่คนหนุ่มสาวที่มานั่งมายืน แยกส่วนออกไปจากโซนพักผ่อนหรือโซนผูกเปลอย่างชัดเจน

มีลำโพงสามารถยกเคลื่อนที่อยู่ตัวหนึ่ง คุณภาพเสียงพอใช้ได้ มีสายเสียบเปิดเพลงจากโทรศัพท์ได้เลย แต่ไม่ว่าใครหรือกลุ่มไหนใช้ลำโพงตัวนี้จะต้องเปิดเพลงอยู่เพลงหนึ่งทุกครั้ง นั่นคือเพลง Tá Rocheda ของศิลปิน Os Barões da Pisadinha เป็นเพลงป๊อปของบราซิล ดนตรีได้ยินแต่เสียงโมโนของคีย์บอร์ด อาจจะมีแอคคอเดียนแซมด้วย ออกมาคล้ายระบบเสียงคาราโอเกะยุคเก่าที่เสียงโดดออกมาเหมือนกดโน้ตคีย์บอร์ดทีละตัว

ฟังครั้งสองครั้งก็พอฟังได้ แต่บนดาดฟ้าแห่งนี้ผมฟังไม่ต่ำกว่าวันละ 10 รอบจนรู้สึกรำคาญ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเพลงฮิตในบราซิลเกือบ 3 ปีแล้ว มียอดวิวในยูทูบมากกว่า 300 ล้านวิว และใช่ว่าจะได้รับความนิยมเฉพาะในบราซิล ตอนผมไปถึงอาร์เจนตินาก็ยังมีคนเปิดเพลงนี้ให้ฟัง จึงเข้าใจว่าคงฮิตไปทั่วแดนลาตินอเมริกา เพลงอื่นๆ ของศิลปินกลุ่มเดียวกันนี้ก็จะมีลักษณะเด่นเหมือนกัน ขึ้นมาด้วยเสียงตุ๊งๆๆๆๆ ของคีย์บอร์ด

ผมทนฟังเสียงตุ๊งๆๆๆ อยู่จนเกือบ 5 โมงเย็น เรือของเราเข้าเทียบจอดที่ท่าชื่อ Jutai ตรวจสอบแล้วท่านี้แวะนานหน่อยเพราะจะมีการขนน้ำเปล่าขึ้นเรือหลายสิบถัง ผมจึงเดินลงไปหาเครื่องดื่มสำหรับคืนนี้ โชคดีเจอซูเปอร์มาร์เก็ต รีบร้อนหยิบไวน์มา 1 ขวด เห็นสุราพื้นบ้านจำนวนหนึ่ง ฉลากข้างขวดเขียนว่า Cachaça

ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่า “กาจาซา” นี้คืออะไรจึงไม่ได้หยิบมา

กลับขึ้นเรือได้ไม่กี่นาทีเรือก็ออก ผมลืมเดินไปหาเอดัวร์โดตอนเรือกำลังจอดที่ท่า นึกขึ้นได้ก็รีบวิ่งไปหาเพื่อให้เขาจัดการเรื่องอินเทอร์เน็ตให้ เอดัวร์โดบอกว่า “พรุ่งนี้” เขาไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ว่าทำไมต้องพรุ่งนี้ ผมมาทำความเข้าใจได้เองว่าถ้าจะซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตก็ต้องซื้อตอนมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งเอดัวร์โดคงจะเติมให้ได้จากเครื่องของเขา แล้วผมก็จ่ายเขาเป็นเงินสด

ปกติผมจะไม่เดือดร้อนเรื่องไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ระหว่างเดินทาง ซ้ำยังไม่โพสต์เรื่องการเดินทางลงในโซเชียลมีเดีย หากจะโพสต์บ้างก็ต้องรอให้เรื่องนั้นๆ ถูกเขียนลงคอลัมน์นี้เสียก่อน แต่ที่วันสองวันนี้ร้อนใจอยู่พอประมาณก็เพราะว่ากลัวจะไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตส่งคอลัมน์สำหรับอาทิตย์นี้ ตามกำหนดการเดินทางของเรือลำนี้ตอนถึงเมืองมาเนาส์นั้นก็จะเลยเวลาหนังสือพิมพ์ปิดเล่มไปแล้ว

มื้อเย็นวันนี้ผมพลาดซุปเนื้อของเจ๊แม่ครัวไปอีกวัน ต้องพึ่งแฮมเบอร์เกอร์ของหนุ่มอ้วน เหน็บไวน์ที่เพิ่งซื้อขึ้นมาด้วย ถามหาที่เปิดขวดกับหนุ่มอ้วน ได้รับคำตอบ “โน เตงโก” เหมือนเดิม

มีกลุ่มเด็กวัยรุ่นขึ้นเรือมาเมื่อตอนกลางวันจากท่า Santo Antonio do Ica พูดภาษาอังกฤษพอใช้ได้เพราะกำลังเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก พวกเขามีอยู่ด้วยกัน 4 คน แบ่งเป็นชาย 3 หญิง 1 พวกผู้ชายบอกว่าผู้หญิงชื่อ “ราฟาเอนญา” เปิดขวดไวน์ได้ด้วยมือเปล่า ผมยื่นขวดไวน์ให้เธอ ยังคิดไม่ออกว่าเธอจะเปิดได้อย่างไร เธอเอาผ้าห่อขวดไวน์แล้วใช้มือทุบตรงก้นขวด ทุบๆ ไปเธอกลับเขินอาย ขอแอบไปทุบในที่ลับตา ไม่นานกลับมาจุกค็อกของไวน์หายไปแล้ว ผมชวนให้พวกเขาดื่มด้วยกัน แต่ไม่มีใครดื่ม

นึกว่าจุกค็อกหายไปไหน ปรากฏว่าอยู่ในขวด ราฟาเอนญาคงทุบไม่ออก เธอก็เลยยัดมันเข้าไปในขวดแทน ผมรินไวน์ลงแก้วที่บุรุษพยาบาลแจกให้ตอนขึ้นเรือ ดื่มเข้าไปยังไม่ทันกลืนก็อยากจะบ้วนทิ้ง เพราะเป็นไวน์หวาน ผมน่าจะเอะใจ ฉลากขวดระบุไว้แค่ 10 ดีกรี ไวน์ดีกรีต่ำส่วนใหญ่คือไวน์หวาน และถ้าผมสังเกตอีกหน่อยว่าฉลากเขียนไว้ด้วยว่า Vinho Doce ทราบแต่ความหมายของ Vinho แปลว่า “ไวน์” แต่ Doce นั้นไม่รู้ มาแน่ใจว่าแปลว่า “หวาน” ก็ตอนจิบไปแล้ว

ไวน์รสหวานเกินไปจนกลืนไม่ลง ผมนำลงไปเก็บแล้วหยิบ Ron Medellin Dorado มาจากกระเป๋าสัมภาระชั้น 2 กลับขึ้นมายังหน้าเคาน์เตอร์ของหนุ่มอ้วน ซึ่ง “รอน” ก็คือ “เหล้ารัม” ในภาษาสเปน รอนเหลืออยู่นิดเดียว ประมาณ 1 ใน 3 ของขวดขนาด 375 มิลลิลิตร ผมเก็บไว้ในยามจำเป็น นี่คือของดีจากเมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย

เอดัวร์โดเดินตัวเปล่าเข้ามานั่งด้วย ทำให้ผมคิดถึงขวดไวน์หวานขึ้นมาทันที หากวางไว้บนโต๊ะก็คงมีประโยชน์เหมือนกัน

เพราะพอผมถามเจ้านักมวยไทยว่า “รอนมั้ย?” เขาก็พยักหน้า.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก