เขย่ากันน่าดู
ไม่ใช่เซียมซีครับ แต่เป็นการเมือง
ว่าไปก็เสียวแทนรัฐบาลอยู่เหมือนกัน หากคนที่วางแผนล้มรัฐบาลทุ่มหมดหน้าตัก เพราะมันมีโอกาสเป็นไปได้นั่นเองครับ
พรรคเศรษฐกิจไทยประกาศถอนตัวจากรัฐบาลไปแล้ว ตอนนี้ไปยืนเก้ๆ กังๆ ตกลงเป็นฝ่ายค้านเต็มตัวล่มหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล แล้ว
หรือเป็นฝ่ายค้านอิสระกันแน่
ก็เป็นไปตามตัวเลขที่เขียนถึงไว้ตั้งแต่วานนี้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมี ๒๖๙ คน ส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านมี ๒๐๘ คน
๑๘ เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยถอนตัวออกไป จะทำให้รัฐบาลมี ส.ส.เหลือ ๒๕๑ คน ส่วนฝ่ายค้านจะเพิ่มเป็น ๒๒๖ ที่นั่ง
จำนวน ส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกัน ๒๕ คน
ผีปอบเข้าผีกระหังแทรก ส.ส.พรรคเล็กพรรคน้อยในนาม ส.ส.กลุ่ม ๑๖ จะย้ายพรรคด้วย
จะทำให้เสียงรัฐบาลเหลือ ๒๓๕ เสียง ส่วนฝ่ายค้านจะเพิ่มขึ้นมา ๒๔๒ เสียง
รัฐบาลจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปทันที ส่วนฝ่ายค้านมีมากกว่ารัฐบาล ๗ เสียง
ครับ...ปูพื้่นกันอีกที เพราะวันนี้มาว่ากันเรื่อง การล้มรัฐบาลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วต้องตั้งรัฐบาลกันใหม่ หน้าตาจะเป็นอย่างไร
ในทางทฤษฎีมีโอกาสที่รัฐบาลจะแพ้โหวตในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ก่อนอื่นกลับไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๑ กันก่อน
รัฐธรรมนูญมาตรานี้บัญญัติว่า เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐบาลจะยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ได้อย่างเด็ดขาด
“เมื่อเสนอญัตติแล้ว จะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะถอนญัตติ หรือ ลงมติแล้ว”
ฉะนั้นหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นหลังวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันโหวตเสียงในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
หาก ๒๔๒ เสียงฝ่ายค้าน ที่บวกพรรคเศรษฐกิจไทย และกลุ่ม ๑๖ โหวตไม่ไว้วางใจ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" สิ่งที่จะเกิดขึ้นมี ๒ ประการ
พล.อ.ประยุทธ์จะต้องตัดสินใจ ไม่ยุบสภา ก็ลาออก
หากยุบสภาก็จบครับ
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง บัญญัตติว่า
"...การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร..."
หมายความว่าไปเลือกตั้งกันใหม่ หลังยุบสภาผ่านไป ๔๕ วัน แต่ไม่เกิน ๖๐ วัน
แต่หากลาออก สิ่งที่ต้องทำคือเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
เพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ก่อนอื่นต้องกลับไปดูครับว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้มีใครบ้าง
พรรคเพื่อไทยมี ชัยเกษม นิติสิริ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
"ชัชชาติ" กำลังสนุกกับการไลฟ์สดในเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. คงยากที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโควตาพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ คุณหญิงหน่อย สร้างดาวของตัวเองขึ้นมา กำลังปลุกปล้ำพรรคไทยสร้างไทยอย่างหนัก ยากที่จะกลับมาในโควตาเพื่อไทยเช่นกัน ไม่ใช่เพราะคุณหญิงหน่อยไม่อยากกลับ
แต่เพราะผู้มีบารมีเหนือพรรคเพื่อไทย ไม่ต้อนรับอีกแล้ว
ก็จะเหลือเพียง ชัยเกษม นิติสิริ เพียงคนเดียว
ส่วน "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ถูกจำหน่ายออกจากสารบบไปแล้ว เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา ๑๐ ปี
มาดูอีกฟาก พลังประชารัฐ ยังคงมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่
ประชาธิปัตย์ มีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
และภูมิใจไทย มีชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล
ฉะนั้นพอมองเห็นภาพคร่าวๆ ว่า หากมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นมาหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ใครจะได้เป็นนายกฯ
ตัด ๒๕๐ ส.ว.ออกไปก่อนครับ มาว่ากันที่สภาผู้แทนราษฎร
วันที่ ๒๓ กรกฎาคม หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างยุบสภา กับลาออก อะไรมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน
นายกฯ ที่ถูกคว่้ำเพราะสภาโหวตไม่ไว้วางใจ ในทางการเมืองจะเกิดมลทิน จนยากจะสลัดพ้นในระยะเวลาอันใกล้
นั่นหมายความว่า หากสภาไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โอกาสจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งใน ๒-๓ เดือน ถือว่ายากมาก
มาได้แต่แรงกระเพื่อมมหาศาล
ฉะนั้นโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจึงมากกว่ายุบสภา เพราะยุบสภาต้องไปวัดกันใหม่ โอกาสกลับมาก็ไม่ง่าย
กฎหมายเลือกตั้งก็ยังไม่เสร็จ หากยุบสภาไปเสียก่อน
การลาออกจึงดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังเกาะเกี่ยวกันอยู่ แค่เปลี่ยนตัวนายกฯ เท่านั้น
และเป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับการเปลี่ยนตัวนายกฯ
หากเป็นไปตามนี้ "อนุทิน" มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุด
กลับกัน หากพรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาลจริงๆ ก็เป็นได้ ๒ รูปแบบ
คือใช้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมกับกลุ่มที่เพิ่งจะย้ายขั้ว แต่เสียงรัฐบาล มากกว่าฝ่ายค้าน ๗ เสียง กว่าจะเลือกตั้งใหม่มีนาคมปีหน้า ต้องลุ้นเหนื่อยตลอดเวลาแน่นอน
อีกรูปแบบคือดึงพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล
ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ได้ อยู่ ๕๙ คน เมื่อไปรวมกับฝ่ายค้านเดิม และฝ่ายค้านใหม่ที่มี ๒๔๒ เสียงแล้ว เท่ากับว่า จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนสูงถึง ๓๐๑ เสียง
เงื่อนไขนี้นายกรัฐมนตรีอาจเป็นได้ทั้ง "ชัยเกษม นิติสิริ" และ "อนุทิน ชาญวีรกูล" จะเป็นใครอยู่ที่การเจรจา
เมื่อ ส.ว. ๒๕๐ คนต้องมาเกี่ยวข้องในการเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยก็ต้องไปหาเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาเพิ่มเติม
ปัจจุบันในสภามี ส.ส.รวมทั้งสิ้น ๔๗๗ คน ส.ว. ๒๕๐ คน รวมเป็น ๗๒๗ กึ่งหนึ่งตัวเลขกลมๆ ๓๖๔ เสียง
นั่นหมายความว่าต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เพิ่มอย่างน้อย ๖๓ เสียง
แบบนี้รัฐบาลใหม่จึงจะมั่นคงไปจนครบวาระเดือนมีนาคมปีหน้า แต่คนที่ใช้สูตรนี้ต้องคำนวณว่าคุ้มทุนหรือไม่กับระยะเวลาที่เหลืออยู่
ครับนั่นคือฝันของใครบางคน ในทางทฤษฎีสามารถเกิดขึ้นได้ ในทางปฏิบัติไม่ปิดประตูตายเสียทีเดียว
แต่...พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ดีครับว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีการวางแผนจะโค่นรัฐบาลลงให้ได้
และรู้ดีว่า นายกรัฐมนตรีที่สอบไม่ผ่าน โอกาสไปต่อยากมาก
สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หาก ส.ส.กลุ่ม ๑๖ ยังคงโหวตให้รัฐบาล และมีแนวโน้มสูงมากว่าจะเป็นเช่นนั้น
ฉะนั้นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะไม่มีการยุบสภา หรือลาออก
แต่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี
เตรียมต้อนรับรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงจากโควตากลุ่ม ๑๖ ได้เลยครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี