ใครที่ติดตามวิกฤตศรีลังกาคงกำลังตั้งคำถามว่าบ้านเมืองไร้ขื่อไร้แปอย่างนี้จะเดินหน้าไปได้อย่างไร...และจะมีทางออกอะไรเหลืออยู่
ประธานาธิบดีเผ่นหนีไปนอกประเทศ แต่งตั้งนายกฯ ขึ้นมารักษาการแทนตัวเอง
ตอนแรกเอาเครื่องบินทหารอากาศไปลงมัลดีฟส์ ต่อมาเมื่อคืนวันพฤหัสฯ ก็ไปลงสิงคโปร์
กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์บอกว่าเป็นการ “มาเยือนส่วนตัว” (private visit) ซึ่งฟังดูแปลกประหลาดไม่น้อย
เดิมทีผู้นำทั้งสองของประเทศรับปากว่าจะลาออกเพื่อเปิดทางให้สภาฯ ตั้ง “รัฐบาลสมานฉันท์” มาบริหารประเทศ
แต่ทั้งประธานาธิบดีและนายกฯ ก็เบี้ยว อีกทั้งไม่มีวี่แววว่าจะมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้เมื่อไหร่ อย่างไร
ความช่วยเหลือจากประเทศจีนและอินเดียที่ศรีลังกาขอไปก็ยังไม่มา เพราะความสับสนอลหม่าน ไม่รู้ใครรับผิดชอบบ้านเมือง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่ได้รับคำร้องขอให้เงินกู้ก็ยังไม่รู้ว่าจะเจรจากับใคร
วิกฤตศรีลังกาที่เข้าระดับ “ล้มละลาย” จนประชาชนทนไม่ได้ ต้องบุกทำเนียบประธานาธิบดีและเผาบ้านพักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จะตั้งรัฐบาลผสมของทุกพรรคสำเร็จหรือไม่ก็ยังไม่แน่ชัด
แต่ที่แน่ๆ คือถ้านักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่มีสำนึกความรับผิดชอบและสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนแล้ว เราอาจจะเห็นตัวอย่างของ “รัฐล้มเหลว” หรือ Failed state อย่างชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีศรีลังกากล่าวเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจ
ที่เป็นภาระหนี้สินหนักหน่วงเกินแก้ไขของประเทศเข้าสู่โหมด “พังทลาย” (collapse) โดยสิ้นเชิงแล้ว
เหตุผลคือรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าอาหารและเชื้อเพลิง เพราะไม่มีเงินสดจ่ายสิ่งของจำเป็นที่ต้องเข้าทั้งหลาย
เป็นหนี้ท่วมหัวแล้วก็ยังต้องผิดนัดชำระหนี้เพราะถังแตก
นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม กำลังเน้นย้ำภารกิจสำคัญที่เขาต้องเผชิญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่เขากล่าวว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่ “จุดต่ำสุด”
วันเสาร์ที่ผ่านมา ทั้งนายกฯ และประธานาธิบดีโคตาบายา ราชปักษา ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องยอมไขก๊อกด้วยแรงกดดันที่รุนแรง เพราะผู้ประท้วงที่โกรธแค้นบุกที่พักของผู้นำทั้งสอง
ถึงขั้นจุดไฟเผาบ้านพักนายกฯ
ทั้งสองต้องหนีหัวซุกหัวซุน เพราะไม่อาจจะสื่อสารให้ประชาชนยอมรับความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารวิกฤตนี้ได้อีก
วิกฤตนี้กระทบปากท้องของชาวบ้านอย่างหนัก
ครอบครัวส่วนใหญ่ต้องอดมื้อกินมื้อ เพราะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลน
อีกทั้งยังต้องเข้าแถวเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อแย่งกันซื้อเชื้อเพลิงที่ขาดหาย
นั่นคือความจริงอันโหดร้ายสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจเคยเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้ออย่างดีมาก่อน
คำถามคือ วิกฤตครั้งนี้ร้ายแรงแค่ไหน?
คำตอบคือรัฐบาลเป็นหนี้เงิน 51,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท)
เมื่อไม่มีเงินก็ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้
ไม่ต้องพูดถึงการส่งคืนเงินต้น
การท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เจอวิกฤตเพราะการระบาดใหญ่ของโควิด และความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยหลังจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในปี 2019
อีกด้านหนึ่ง ค่าเงินของประเทศก็ทรุดตัวลง 80% ทำให้การนำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อแย่ลงอย่างแรงจนถึงระดับที่ควบคุมไม่ได้
ซ้ำร้าย ตัวเลขทางการบอกว่าค่าอาหารพุ่งขึ้น 57%
ในความเป็นจริงอาจจะเลวร้ายกว่านั้น
เมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ก็แทบไม่มีเงินนำเข้าน้ำมัน นม ก๊าซหุงต้ม หรือแม้กระดาษชำระ
ซ้ำเติมด้วยปัญหาคอร์รัปชัน
และหากเงินกู้จาก IMF หรือธนาคารโลกมาถึงก็จะมาพร้อมกับเงื่อนไขที่เข้มงวด เพราะกลัวนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถบริหารจัดการให้ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง
คำถามต่อมาก็คือ วิกฤตครั้งนี้มีผลกระทบต่อคนจนอย่างไร?
คำตอบคือที่ผ่านมา ศรีลังกาไม่ได้ขาดแคลนอาหาร เพราะตั้งอยู่ในโซนที่เหมาะกับการเพาะปลูก
แต่วันนี้ผู้คนกำลังหิวโหยเพราะวิกฤตรอบด้าน
โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติระบุว่า เกือบ 9 ใน 10 ครอบครัวต้องกินมื้อข้ามมื้อ เพราะขาดแคลนอาหารและรายได้
ตัวเลขทางการแจ้งว่า ประชาชนประมาณ 3 ล้านคน ต้องเข้าโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉิน
อีกด้านหนึ่งแพทย์ทั้งหลายต้องใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพยายามหาอุปกรณ์และยาที่สำคัญ
ชาวศรีลังกาจำนวนมากขึ้นกำลังดิ้นรนทำหนังสือเดินทางเพื่อหนีไปทำงานต่างประเทศ
เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยได้รับวันหยุดพิเศษเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาปลูกอาหารกินเอง
คำถามอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ ทำไมเศรษฐกิจถึงอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นนี้?
ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ที่เกาะติดเรื่องนี้จะได้รับคำตอบว่า วิกฤตนี้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การจัดการที่ผิดพลาด และการทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลายาวนาน
ความโกรธแค้นของประชาชนส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีโคกาบายา ราชปักษา และน้องชายของเขา อดีตนายกรัฐมนตรีมหินดา ราชปักษา
คนหลังลาออกในเดือนพฤษภาคม หลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลายสัปดาห์ติดต่อกันจนกลายเป็นความรุนแรงนองเลือดกลางถนน
สถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศก็เสื่อมทรุดมาอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2019 เหตุระเบิดฆ่าตัวตายในโบสถ์และโรงแรมในช่วงอีสเตอร์ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 260 คน
เป็นผลให้การท่องเที่ยวพังทลายทั้งๆ ที่เป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญสำหรับประเทศ
เมื่อรายได้หดหาย รัฐบาลก็จำเป็นต้องหาทางเพิ่มรายได้ เพราะหนี้ต่างประเทศที่กู้มาสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพิ่มสูงขึ้นทุกที
แต่นายกฯ มหินดา ราชปักษา กลับผลักดันให้มีการลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศรีลังกา
แม้ว่ามาตรการลดภาษีจะถูกยกเลิกภายหลัง แต่ก็ช้าไป เพราะเจ้าหนี้ปรับลดอันดับเครดิตของศรีลังกา เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้กู้ยืมเงินมากขึ้น
ในขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจมลง
จากนั้นการท่องเที่ยวก็พังพินาศอีกครั้งในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19
ถึงเดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
แต่ก็มีผลสร้างความตกใจฉับพลันให้กับเกษตรกร จนทำลายผลผลิตของพืชผลต่างๆ โดยเฉพาะข้าว มีผลดันราคาสูงขึ้น
รัฐบาลต้องการประหยัดเงินตราต่างประเทศด้วยการห้ามการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็ไร้ผล
พอเกิดสงครามยูเครน ก็ทำให้มีการผลักดันราคาอาหารและน้ำมันให้สูงขึ้น
เฉพาะในเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ 40% และราคาอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 60%
กระทรวงการคลังกล่าวว่า ศรีลังกามีเงินสำรองระหว่างประเทศที่ใช้ได้เพียง 25 ล้านดอลลาร์
นั่นคืออาการ “ถังแตก” ที่ชัดเจน
ศรีลังกาจะออกจากวิกฤตได้อย่างไร เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญสำหรับคนทั้งโลกจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ