จีน-มะกันรับปากจะไม่ กดดันให้ไทยต้องเลือกข้าง?

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มาเยือนไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวัง อี้ มาเยี่ยมไม่กี่วัน

คนไทยที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้คงจะสนใจว่าทั้งสองท่านพูดถึงความร่วมมือกับประเทศไทยในแง่มุมไหนบ้าง

การทูตไทยที่เดินตามแนว “เป็นมิตรกับทุกฝ่าย” คงจะต้องปรับยุทธศาสตร์ในภาวะที่การเมืองระหว่างประเทศกำลังปรับเปลี่ยนอย่างหนักหน่วง

ไม่ใช่การทูตแบบตั้งรับ แต่ต้องเป็นการทูตเชิงรุกที่ต้องสื่อสารให้ยักษ์ใหญ่และเวทีระหว่างประเทศได้รับรู้ว่าเรามี “เนื้อหาสาระ” แห่งการทูตของเราในยุคสมัยนี้เหมือนกัน

ไม่ใช่เพียงแค่โปรยคำหวานให้กับทุกคนโดยที่เขาพอจะเดาได้ว่าเราคิดอะไรอยู่ในใจ

คำถามของนักข่าวสำหรับบลิงเคนที่น่าสนใจคือ ข้อกล่าวหาว่าสหรัฐฯ กำลังมาตั้ง NATO ในเอเชีย

เป็นคำวิพากษ์ที่มาจากรัฐมนตรีหวัง  อี้ ก่อนหน้านี้

บลิงเคนตอบกว้างๆ แบบอ้อมๆ ว่าสหรัฐฯ กับประเทศในภูมิภาคนี้มีคำมั่นสัญญาและเป้าหมายในอนาคตร่วมกันบนพื้นฐานที่เสรี, เปิดกว้าง และปลอดภัย

และเสริมว่า ภายใต้พื้นฐานนี้ แต่ละประเทศต้องสามารถตัดสินใจกำหนดทิศทางของตัวเองว่าด้วยอนาคตของตนโดยไม่มีสิ่งใดแอบแฝง ไม่ว่าจากใครก็ตาม ทั้งในแง่ผู้คนที่ควรได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตได้อย่างเสรี มีอิสระในการแสดงความเห็น รวมถึงมีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคตเช่นเดียวกับสินค้าและการลงทุนก็ควรจะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี

บลิงเคนอ้างว่าการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ สหรัฐฯ ได้ดำเนินการทั้งความร่วมมือทวิภาคีและกรอบความร่วมมือต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน, เอเปก รวมถึงกรอบความร่วมมือใหม่ๆ เช่น QUAD ซึ่งประกอบด้วยอินเดีย, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF)

ซึ่งเน้นด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, เทคโนโลยี รวมถึงการสร้างความมั่นใจว่าภาครัฐของแต่ละประเทศจะมีประสิทธิภาพ ปราศจากคอร์รัปชัน

ประโยคที่น่าสนใจจากบลิงเคนคือ  “ความพยายามทั้งหมดนี้ไม่ใช่ข้อเรียกร้องหรือการรบเร้าให้ทำ แต่เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ทางเลือก และแต่ละประเทศมีสิทธิเลือกด้วยตนเอง”

คล้ายกับที่รัฐมนตรีจีนเคยบอกว่า ปักกิ่งจะไม่กดดันให้ประเทศเล็กๆ ในอาเซียนต้องเลือกข้าง

หวัง อี้ ย้ำกับอาเซียนในการไปปราศรัยที่สำนักงานอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศในแถบนี้ควรจะ “เป็นตัวของตัวเอง” และไม่ถูกประเทศมหาอำนาจใดใช้เป็นเครื่องมือ

และเน้นว่าทุกประเทศย่อมจะต้องตัดสินกำหนดนโยบายของตนเอง

 ผมหวังว่าทั้งวอชิงตันและปักกิ่งจะทำตามที่ประกาศ...คือไม่กดดัน ไม่เรียกร้องให้ไทยและเพื่อนอาเซียนของเราต้องเลือกข้างเพื่อยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

แต่ที่ชัดเจนคือสหรัฐฯ กำลังเรียกร้องให้อาเซียนและจีนช่วยกันกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ฟื้นฟูประชาธิปไตย

บลิงเคนประณามนโยบายปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหารเมียนมา

และเรียกร้องให้จีนรวมทั้งสมาชิกอาเซียนร่วมกดดันกองทัพเมียนมาให้ทำการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยและปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพที่ได้ตกลงไว้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วด้วย

ในระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ รมต.บลิงเคนกล่าวว่า “เป็นหน้าที่ของจีนและผลประโยชน์ของจีน ที่จะเห็นพม่า กลับคืนสู่เส้นทางที่เคยดำเนินมาก่อนหน้าที่จะถูกสกัดกั้นอย่างรุนแรงโดยเหตุรัฐประหาร”

และย้ำด้วยว่า แม้ว่าอาเซียนจะบรรลุฉันทามติ 5 ข้อกับเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว

แต่จวบจนวันนี้ “ยังไม่มีพัฒนาการเชิงบวกในด้านนี้เลย”

บลิงเคนย้ำต่อว่า “ประเทศอาเซียนจำเป็นต้องทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ... และเดินหน้าเรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษด้วย”

เขาบอกว่า นอกจากจะไม่เห็นพัฒนาการเชิงบวกใดๆ จากเมียนมาแล้วยังกลับเห็นการใช้ความรุนแรง และยังมีการจับฝ่ายต่อต้านไปขัง

และยังมีการลี้ภัยของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทหารอยู่อย่างต่อเนื่อง

ที่รัฐบาลไทยควรจะต้องอธิบายให้ประชาชนคนไทยได้เข้าใจคือ ที่บลิงเคนลงนามกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์

กับบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยและสหรัฐฯ ด้วย

เพราะน้อยคนจะรู้ว่าเอกสารที่ลงนามไปนั้นมีความหมายในภาคปฏิบัติอย่างไร

อะไรคือ “หุ้นส่วนและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์” ที่ฟังดูแล้วไม่อาจจะวาดภาพได้ว่าประชาชนคนไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง

และจะเข้าข่ายทำให้เราถูกมองว่า “เลือกข้าง” อะไรอย่างไรหรือไม่

ปีหน้านี้ไทยกับสหรัฐฯ จะฉลองการครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต

ภาษาการทูตที่ใช้คือสองประเทศเป็นพันธมิตรเก่าแก่

และ “ประกาศยึดมั่นที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายระยะยาวในการขยายและการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่จะช่วยป้องกันความขัดแย้งต่างๆ พร้อมกับปกปักรักษาบรรยากาศด้านความมั่นคงที่อยู่ในภาวะสันติ และส่งเสริมการแสดงออกอย่างมีเสรีและสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่มีสมดุล ยั่งยืน และเปิดกว้างสำหรับทุกฝ่าย”

ภาษาการทูตเป็นเรื่องของนักการทูตและนักการเมือง

แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง กระทรวงต่างประเทศต้องแปลภาษาดอกไม้เหล่านี้เป็นภาษาที่ชาวบ้านทั่วไปได้เข้าใจ และเห็นประโยชน์ของความเป็น “หุ้นส่วนและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์” ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ