การจากไปแบบช็อกโลกของอดีตนายกฯ ชินโซะ อาเบะ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีผลเขย่าแวดวงการเมืองของญี่ปุ่นครั้งประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว
ผู้ติดตามการเมืองญี่ปุ่นอาจมีความทรงจำเกี่ยวกับเขาในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน
เช่น มองว่าเขาเป็นนักการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่มีความสนิทสนิมแน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกา
ตอนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีปี 2017 อาเบะเป็นผู้นำโลกเกือบจะคนแรกที่บินไปจับมือแสดงความยินดีกับเขา
บางคนอาจจะจำภาพที่อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นคนนี้ทำเรื่องยั่วยุจีนในหลายๆ เรื่อง
เช่น การเข้าสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ที่เป็นที่ประดิษฐานป้ายวิญญาณของอาชญากรสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้ฝ่ายปักกิ่งต้องออกมาประท้วงหลายครั้ง
แต่เขาก็พลิกเกมให้คนประหลาดใจได้ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่
กลายเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรกในรอบหลายปี ที่เดินทางไปกรุงปักกิ่ง จับมือกับสี จิ้นผิง
ถึงขั้นที่ประกาศร่วมกันว่าจีนกับญี่ปุ่นน่าจะจับมือกันไปลงทุนในประเทศที่ 3
แม้จะสร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยในตอนนั้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้
อีกหลายคนก็อาจจะจดจำอาเบะในชุด “ซุปเปอร์มาริโอ” ในพิธีส่งมอบการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศบราซิลในปี 2016
คนที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจการเมืองก็จะจำศัพท์ยอดฮิตในช่วงนั้นคือ Abenomics
หรือนโยบายเศรษฐกิจแบบอาเบะ
ที่เน้น 3 เสาหลัก (ที่เขาเรียกว่า Three Arrows หรือลูกศรสามดอก) นั่นคือการผ่อนปรนนโยบายการเงิน, การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ
แม้สำหรับข้อ 3 จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนนัก แต่อาเบะก็ทำได้ดีใน 2 ข้อแรกจนดันให้ตัวเลขผลผลิตมวลรวมของประเทศ หรือ GDP ขยับขึ้นไปได้อย่างน่าประทับใจ อย่างน้อยก็ในจังหวะนั้น
แต่การจากไปอย่างฉับพลันของอาเบะจะก่อให้เกิดความปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของนโยบายของญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก
ทั้งในด้านภายในประเทศและต่างประเทศ
เพราะญี่ปุ่นได้สูญเสียบุคคลที่มีบารมีสูงและที่สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศได้
โดยทำงานจากเบื้องหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมาตลอด แม้จะลงจากตำแหน่งนายกฯ มาแล้ว 2 ปีเศษ
อาเบะสร้างสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าเขาได้ทิ้งร่องรอยที่ไม่อาจจะลบออกได้ฝากไว้เป็นวาระทางการเมืองของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
หลังจากที่อาเบะและพรรค LDP หรือเสรีประชาธิปไตยของเขาชนะการควบคุมของรัฐบาลในปี 2555 เขาก็เริ่มเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทันที
เริ่มด้วยการออกนโยบายให้ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 2%
ต่อมาในปี 2556 อาเบะตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติภายใต้การควบคุมโดยตรงของนายกรัฐมนตรี
ในปีถัดมา คณะรัฐมนตรีของอาเบะได้ออก “การตีความใหม่” ว่าด้วยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีมาตรการ “การป้องกันตนเอง” บางส่วน
เป็นการเปิดทางแก้ไขกฎกติกาที่จะให้ญี่ปุ่นมากองทัพของตนเองหลังจากที่ถูกห้ามมาตั้งแต่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
แนวทางใหม่เหล่านี้ถูกส่งต่อมายังผู้สืบทอดตำแหน่งนายกฯ ต่อมาคือ โยชิฮิเดะ สุกะ และนายกฯ คนปัจจุบัน ฟุมิโอะ คิชิดะ
อาเบะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2020 เพราะอาการป่วย
แต่เขายังคงมีบารมีต่อมุ้งใหญ่ทางการเมือง และนักการเมืองกับข้าราชการจำนวนไม่น้อยยังแวะเวียนไปหาคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติอยู่ไม่น้อย
อาเบะเป็นผู้ผลักดันให้เพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า
แม้เขาจะลงจากตำแหน่งแล้ว แต่เป้าหมายก็ยังปรากฏอยู่ในพิมพ์เขียวเศรษฐกิจปัจจุบัน
อิทธิพลของอาเบะมาจากตำแหน่งผู้นำของ “มุ้งการเมือง” ที่ใหญ่ที่สุดในพรรค LDP
ขณะที่นายกฯ คิชิดะคนปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มที่ใหญ่อันดับ 4 เขาจึงต้องคอยเงี่ยหูฟังทิศทางของกลุ่มก้อนที่สวามิภักดิ์ต่ออาเบะ
ทั้งเพื่อดำเนินแนวทางที่สะท้อนความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ...และเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตน
การเสียชีวิตของอาเบะได้เปลี่ยนแปลงพลวัตทางการเมืองภายในพรรค LDP ประการหนึ่ง
เพราะไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าใครควรเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มของอาเบะ
มุ้งการเมืองนี้เรียกขานอย่างเป็นทางการว่า เซวะ เซซากุ เคนคิวไค
หัวใจของแนวทางของอาเบะที่รัฐบาลปัจจุบันนำไปปฏิบัติต่อคือ การเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอย่างเป็นรูปธรรม
โดยอ้างภัยคุกคามที่อาจจะมาจากจีนและเกาหลีเหนือ
เพราะอาเบะเคยประกาศยืนข้างไต้หวัน ทำให้ปักกิ่งมีความขุ่นเคืองไม่น้อย
พันธมิตรทางการเมืองบางค่ายไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ผู้ว่าการธนาคารกลาง Haruhiko Kuroda ซึ่งเป็นหัวหอกในแผนการเงินของแนวทาง Abenomics จะสิ้นสุดวาระในเดือนเมษายนที่จะถึง
ใครจะมาแทนเขาจึงมีความสำคัญต่ออนาคตของทิศทางแห่งนโยบายการเงินที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ในด้านการทูตระหว่างประเทศ อาเบะถูกมองว่าเป็น “รัฐบุรุษ” ที่มีความกระตือรือร้นในการยื่นมือออกไปสานความสัมพันธ์กับผู้นำระดับโลกยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
ทันทีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2017 อาเบะก็แสดงความสนิทสนมด้วยการบินไปแสดงความยินดีด้วยตนเองเกือบจะทันที
เป็นโอกาสที่อาเบะนำเสนอ "กลยุทธ์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง"
สงครามยูเครนตอกย้ำถึงผลกระทบที่ร้ายแรงของการทูตระหว่างประเทศของญี่ปุ่น
ว่ากันว่าถ้าอาเบะยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่วันนี้ ท่าทีของญี่ปุ่นต่อแนวทางของ “ระเบียบโลกใหม่” อาจจะขึงขังตึงตังมากกว่าที่เห็นอยู่วันนี้ก็ได้
สรุปว่าการจากไปอย่างน่าสยดสยองของอาเบะได้ทิ้งช่องว่างที่กว้างและลึกสำหรับญี่ปุ่นในเวทีการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศอย่างยิ่ง
หาคนมาถมช่องว่างนี้ยากเต็มทน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ