การพัฒนาประเทศภายใต้รัฐบาลทหารรักษาการของนายพลเนวิน
แม้ว่าการเมืองพม่าจะตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารที่มีนายพลเนวินเป็นผู้นำต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 26 ปี แต่การครองอำนาจยาวนานของนายพลเนวินไม่ได้เริ่มต้นเมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปลายปี พ.ศ. 2501 เพราะในการขึ้นสู่อำนาจครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการที่นายอู นุ ลาออกและเชิญให้นายพลเนวินมาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยผ่านการลงมติของสภา ถูกต้องตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ สาเหตุที่ อู นุลาออกและเชิญนายพลเนวินเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเขาต้องการให้นายพลเนวินขึ้นมาตีกันทหารสายคุมกำลังที่กำลังจะทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก อู นุ และรัฐบาลของพรรค Clean AFPFL และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีทหารสายคุมกำลังกับพรรค Stable AFPFL
หลังจากนายพลเนวินจัดตั้งรัฐบาลในปลายปี พ.ศ. 2501 แล้ว เขาและนายทหารระดับ “ยังเติร์ก” ได้ดำเนินการกวาดล้างกลุ่มกบฏต่างๆที่ทำให้พม่าต้องเข้าสู่สงครามกลางเมืองและความไม่สงบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 จนถึง พ.ศ. 2501 โดยจัดโครงการร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับทหารในการสืบค้นติดตามจับผู้ก่อความไม่สงบและนักการเมืองและข้าราชการที่คอร์รัปชั่นหรือรู้เห็นเป็นใจกับการป่วนเมือง จนทำให้นายอัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงกับรายงานว่า พม่าไม่เคยเข้าสู่ภาวะความสงบเรียบร้อยอย่างที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลนายพลเนวิน นอกจากนี้ นายพลเนวินยังได้ขยายบทบาทหน้าที่ขององค์กรของทหารให้ทำหน้าที่ดูแลจัดหาข้าวของเครื่องใช้ในราคาควบคุมแก่ประชาชน รวมทั้งรวมมือกับรัฐบาลอิสราเอลในการพัฒนาแรงงานและการก่อสร้างอาคารใหญ่ๆในกรุงร่างกุ้ง
ความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างพม่ากับอิสราเอล
ราเวนโฮลท์รายงานว่า ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว รัฐบาลนายพลเนวินที่ให้ทหารเข้าไปบริหารงานแทนพลเรือนได้ตกแต่งเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ของเมืองหลวงของพม่าอย่างรวดเร็ว เพราะก่อนหน้านี้ นอกจากเจดีย์ทองชเวดากองอันเหลืองอร่ามแล้ว ที่เหลือในกรุงย่างกุ้งก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากมหานครอื่นๆในเอเชีย นั่นคือ มีคนชนบทอพยพหลั่งไหลเข้ามาอาศัยในย่างกุ้ง เกิดสลัมที่ก่อขึ้นจากสังกะสีขึ้นสนิมและเศษไม้ เต็มไปด้วยความสกปรกและเชื้อโรค เกิดขยะสั่งสมเป็นกองสูงตามถนน ผู้รับสัมปทานเก็บขยะก็ไม่มาเก็บตามสัญญา แต่เอาเงินไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ตรวจจับผู้รับสัมปทาน คนขับรถขยะไม่เก็บขยะ และก็กลับลักลอบเอาน้ำมันรถมาขายตามถนนหนทาง ในช่วงที่มีฝนตกหนัก ขยะไปอุดตันท่อระบายน้ำทำให้เกิดน้ำดันกลับพุ่งออกจากท่อแทนที่จะไหลลงไป ย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยฝูงสุนัขจรจัดที่เพ่นผ่านขี้เยี่ยวไปทั่วท้องถนน จนน่าอันตรายต่อสุขภาวะของผู้คนในเมือง นักการเมืองที่มีหน้าที่ดูแลความสะอาดก็ไม่กล้าฆ่าหรือกำจัดสุนัขเหล่านี้ เพราะศาสนาพุทธห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สิ่งที่ทำได้ก็คือ การถกเถียงกันว่า ตกลงแล้ว จะเอาสุนัขตัวผู้หรือตัวเมียไปปล่อยเกาะดี ไม่ต่างจากถนน ที่ไม่มีใครดูแล ท่อประปาก็รั่วแตก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือน้ำสกปรก
เจดีย์ชเวดากองที่โด่งดังไปทั่วโลก
แต่ความเละเทะเหล่านี้ได้หายไปอย่างปลิดทิ้งภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลนายพลเนวินและกลุ่มนายทหาร “ยังเติร์ก” ภายใต้นโยบายรณรงค์ที่เรียกว่า “ทำให้ย่างกุ้งให้สะอาดด้วยหยาดเหงื่อของพวกเรา” (clean Rangoon with our sweat) ถนนในย่างกุ้งสะอาดและได้รับการดูแลซ่อมแซม มีการกำจัดสุนัขถึงห้าพันตัว และอีกาอีกมากกว่าหนึ่งหมื่นตัว มีการรื้อสลัมต่างๆที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ ขณะเดียวกันกับที่มีการรื้อสลัม คณะนายทหารผู้บริหารกิจการของรัฐได้ทำการสำรวจพื้นที่นาข้าวของเมืองรอบๆย่างกุ้ง และได้ทำการสร้างถนนเชื่อมต่อเส้นต่างๆรวมเป็นระยะทาง 150 ไมล์เสร็จภายในเวลาสี่เดือน มีการวางท่อประปาระหว่างทุกช่วงอาคาร และมีการติดตั้งไฟฟ้าตามถนน มีการให้ครอบครัวของชาวสลัมลงทะเบียน โดยทางการจัดหาที่อยู่ให้เมืองนอกกรุงย่างกุ้ง และมีกำหนดเส้นตายที่จะต้องย้ายออกไป อีกทั้งรัฐบาลยังมอบหมายให้กองทัพบกควบคุมดูแลให้รถบรรทุกรับจ้างพร้อมรับบริการขนย้ายชาวสลัมในราคาถูก และดูแลให้รถไฟขนไม้ไผ่ กระดาน วัสดุมุงหลังคาที่นำเข้าและนำไปขายในราคาต้นทุนให้ชาวสลัมเพื่อให้พวกเขาได้สร้างที่อยู่อาศัยขึ้นด้วยตัวเอง ทำให้ชาวสลัมคนไร้บ้านได้ที่อยู่อาศัยใหม่โดยมีสัญญาเช่านานถึง 30 ปีและอาจจะต่อสัญญาใหม่ได้อีก 90 ปี จากที่เคยอยู่ในสลัม บัดนี้ พวกเขามีบ้านสองชั้นที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง ชาวสลัมที่ได้บ้านใหม่และย้ายออกไปจากย่างกุ้งมีจำนวนถึง 170,000 คน
อย่างไรก็ตาม การพยายามปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของกองทัพต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคแรงเสียดทานจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ (ของไทยเรียก ข้าราชการ) ในระบบรัฐการของพม่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐพม่าส่วนใหญ่จะได้รับการศึกษาจากระบบการศึกษาแบบอังกฤษ แต่กระนั้น ก็ดูจะไม่ได้ช่วยให้ระบบรัฐการของพม่าไม่เช้าชามเย็นชาม และแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยจะมีความสามารถและไม่พอใจกับผลพวงต่างๆที่นักการเมืองได้ทำไว้หลังประเทศได้เอกราช แต่คนเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ข้ามคืนอย่างที่กองทัพพม่าคาดหวัง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ยังติดอยู่กับค่านิยมที่คิดว่าตนอยู่เหนือประชาชน คนเหล่านี้จึงยากที่จะยินดียอมรับแนวทางการปฏิรูปประเทศของทหาร ซึ่งสภาพการณ์ของระบบรัฐการแบบนี้ของพม่าก็ไม่ต่างไปจากระบบรัฐการหรือระบบราชการของประเทศด้อยพัฒนาในเอเชีย อีกทั้งโครงสร้างของระบบรัฐการพม่าก็ถูกออกแบบมาให้ทำงานแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าจะมีวิธีคิดที่จะพัฒนาปรับปรุงการบริการประชาชนอย่างจริงจังในระยะยาว แผนการการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆโดยกองทัพจึงดูจะไม่ค่อยจะมีหลักประกันหรือมีอนาคตสักเท่าไร
จากที่ราเวนโฮลท์ตั้งข้อสังเกตมานี้ จะเห็นได้ว่า กองทัพพม่าภายใต้รัฐบาลนายพลเนวินมีบทบาทและเป้าหมายที่จะพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ทำให้ผู้เขียนคิดถึงทรรศนะของแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) ศาสตราจารย์ทางด้านการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) ผู้โด่งดังในศตวรรษที่ยี่สิบ โดยเขาได้กล่าวถึงบทบาทของทหารไว้ว่า
“ขณะที่สังคมเปลี่ยนไป บทบาทของทหารก็เปลี่ยนด้วย ถ้าอยู่ในสังคม อภิชนาธิปไตย ทหารก็เป็นพวกหัวรุนแรง ถ้าอยู่ในสังคมชนชั้นกลาง ทหารก็เป็นผู้ร่วมมือ.. ถ้าอยู่ในสังคมของชนชั้นล่าง ทหารก็เป็นผู้พิทักษ์แบบจารีตนิยมที่คอยรักษาความสงบเรียบร้อย …ถ้าอยู่ในสังคมล้าหลัง ทหารก็จะเป็นพวกหัวก้าวหน้า และถ้าอยู่ในสังคมเจริญก้าวหน้า ทหารก็จะเป็นพวกจารีตนิยม หรือเป็นกลุ่มปฏิกิริยา”
ซึ่งทหารพม่าในปี พ.ศ. 2502 ก็เป็นดังที่ฮันติงตันได้กล่าวไว้ เพราะกองทัพพม่าตระหนักว่าพวกเขามีภารกิจพิเศษ ไม่เพียงแต่มีทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศเท่านั้น แต่เป็นกองทัพที่จะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยอย่างรวดเร็วด้วย
(แหล่งอ้างอิง: Albert Ravenholt, Burma’s New Deal from the Army—Is It a Pattern for Asia ? June 25, 1959; Samuel P. Huntington, Political Order in Changing Societies, (New Haven: Yale University Press: 1968),
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร