ล่องไปในแอมะซอน (1)

เรือของบริษัท Oliveira Navegacoes  ออกเดินทางจากท่าเรือตาบาติงกาทุกวันพุธ เวลา 12.00 น. และมีกำหนดถึงท่าเรือเมืองมาเนาส์ เวลา  18.00 น.ของวันเสาร์ เรือที่เราจะฝากชีวิตไว้ในอีก 78  ชั่วโมงข้างหน้ามีชื่อว่า “GM OLIVEIRA II”

ราคาในตั๋วระบุไว้ 240 เรียล แต่มีเงื่อนไขพิเศษ เข้าใจว่าเป็นเพราะคณะของเราซื้อหลายใบจึงได้ราคา  220 เรียล หรือประมาณ 1,550 บาท ถือว่าถูกมากเพราะอยู่ในเรือตั้ง 4 วัน 3 คืน ถูกมากเพราะมีอาหารเลี้ยงวันละ 3 มื้อ และถูกมากเพราะเป็นการเดินทาง  1,628 กิโลเมตรไปบนแม่น้ำสายยิ่งใหญ่ของโลก

      เจ้าของแม่น้ำเรียก “อามาโซนัส” (Rio  Amazonas ทั้งในภาษาสเปนและโปรตุเกส) ภาษาอังกฤษออกเสียง “แอมะซอน” และสำนักราชบัณฑิตยสภาของไทยก็ให้ใช้ “แอมะซอน” ผมจึงขออนุญาตเขียน “แอมะซอน” นะครับ

      เมื่อปี ค.ศ. 1541 นักสำรวจและผู้พิชิตดินแดนชาวสเปน ชื่อ “ฟรานซิสโก เด โอเรยานา” เผชิญหน้าและถูกทำร้ายโดยกลุ่มสตรีชนพื้นเมือง ทำให้เขานึกถึง  “อามะโซเนส” นักรบหญิงในเทพนิยายกรีก ว่ากันว่านี่้คือที่มาของชื่อแม่น้ำ แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าน่าจะมาจากคำหนึ่งในภาษาถิ่นดั้งเดิม นั่นคือ “อามาสโซนา” แปลว่า “สิ่งที่ทำลายเรือ”

ไม่ใช่ระเบิดปรมาณู จานบินมนุษย์ต่างดาว หรือเห็ดยักษ์

      จุดกำเนิดของแอมะซอนมาจากต้นน้ำนับพันแห่ง แต่ต้นทางที่วัดได้ไกลที่สุดคือตาน้ำบนภูเขารูมิครูซ (Cordillera Rumi Cruz) ของแม่น้ำมันทาโร ในประเทศเปรู

      การพิสูจน์นี้เป็นที่ยอมรับเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำแอมะซอนยาวขึ้นกว่าเดิม และทำให้ยาวกว่าแม่น้ำไนล์ในทวีปแอฟริกา โดยแม่น้ำไนล์ยาว  6,650 กิโลเมตร ขณะที่แอมะซอนยาว 6,762  กิโลเมตร

      แอมะซอนมีแม่น้ำสาขาราว 1,100 สาย แอ่งหรือพื้นที่ลุ่มน้ำมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 7 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมประเทศเปรู เอกวาดอร์  โคลอมเบีย โบลิเวีย เวเนซุเอลา และบราซิล แผ่ความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตรของป่าดิบชื้นแอมะซอน ซึ่งป่าดิบชื้นแอมะซอนมีพื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของป่าดิบชื้นที่เหลืออยู่ในโลก และผลิตออกซิเจนออกมาเลี้ยงโลกประมาณ 1 ใน 5 ของทั้งหมด

ชุมชนริมน้ำแห่งหนึ่ง ช่วงต้นของแอมะซอนในบราซิล

      Discharge หรืออัตราการไหลเฉลี่ยของแม่น้ำแอมะซอนเท่ากับ 209,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไหลออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกที่รัฐปารา ประเทศบราซิล คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำที่ไหลลงทะเลในโลกนี้ ทิ้งห่างอันดับ 2 คือแม่น้ำคองโกที่มีอัตราการไหล  41,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

      ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพก็มีมากที่สุดในโลก  นิตยสาร Nature ให้ข้อมูลว่ามีสัตว์น้ำมากกว่า 4 พันสปีชีส์ คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของพันธุ์ปลาน้ำจืดในโลก

      เรือโดยสารของเราออกจากท่า Terminal de  Embarque Fluvial-Porto Tabatinga  เวลา 12.30 น. ช้ากว่ากำหนดครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่ในยูนิฟอร์มอายุประมาณ 50 กลางๆ ถึงปลายๆ นำแก้วน้ำมาแจกคนละใบ เป็นแก้วพลาสติกหนาสีขาว มีลวดลายสัญลักษณ์ของบริษัท แก้วนี้สำคัญมากสำหรับคนที่ไม่มีแก้วขึ้นเรือมาอย่างผม เพราะใช้เป็นที่รองน้ำดื่ม กดกาแฟ  แปรงฟัน รวมทั้งใส่เบียร์ ใส่ไวน์ และสุดท้ายเปรียบเสมือนของที่ระลึก คุณจะไม่มีแก้วแบบนี้ถ้าไม่ได้เดินทางล่องแอมะซอน

      เจ้าหน้าที่ท่านเดียวกันนี้ยังนำแท็กสำหรับผูกข้อมือ ยืนยันความเป็นผู้โดยสารมาให้ทุกคน แกยิ้มแย้มเป็นกันเองกว่าใคร หลายคนคิดว่าแกเป็นกัปตัน แต่ตำแหน่งคือ  Auxiliar de saúde หรือบุรุษพยาบาลประจำเรือ

      เรือ GM OLIVEIRA II ที่เราโดยสารนี้เป็นเรือ 3 ชั้น ระบุตัวเลขความจุผู้โดยสารไว้ว่าชั้นแรกรับได้  215 คน ชั้น 2 รับได้ 200 คน และชั้น 3 รับได้  115 คน แต่ชั้น 1 ดูเหมือนจะไม่มีผู้โดยสาร หากแต่เน้นบรรทุกยานพาหนะและพัสดุ ส่วนใหญ่ผู้โดยสารจะอยู่กันบนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ส่วนชั้น 3 นั้นมีพื้นที่นอนราวครึ่งหนึ่งของชั้น 2 มีโซนดาดฟ้าอยู่ท้ายเรือ และร้านค้าประจำเรือ 1 ร้าน

      สำหรับร้านค้าประจำเรือนี้ผมอาจจะพูดถึงบ่อยครั้งหลังจากนี้ไป มีลักษณะเป็นเคาน์เตอร์ที่พ่อค้าอยู่ด้านใน ขายตั้งแต่ลูกกวาดยันแฮมเบอร์เกอร์ และเป็นเสมือนบาร์อีกด้วย หลังคาเรือปิดปกคลุมส่วนที่นอนและโซนร้านค้า เว้นส่วนท้ายเรือไว้ ใครจะขึ้นไปบนหลังคาเรือก็ได้ เป็นที่เก็บเรือบดหรือเรือชูชีพ นั่งเล่นได้แต่ไม่สะดวกสบาย

      การเดินทางในแอมะซอนจากตาบาติงกาไปยังมาเนาส์ยังมีเรือเร็วกว่านี้ ใช้เวลาประมาณ 33 ชั่วโมง เรือขนาดใกล้เคียงเรือด่วนเจ้าพระยา มีที่นั่งเป็นแถวเป็นตอนเหมือนรถบัส ถ้าใครรีบกว่านี้ก็ต้องขึ้นเครื่องบิน ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง และยังมีเรือที่ช้ากว่า 4 วัน 3  คืนอีก คือประมาณ 1 สัปดาห์

      ท่าเรือที่ GM OLIVEIRA II ของเราจะจอด จากตาบาติงกาถึงมาเนาส์นั้นมีอยู่ด้วยกัน 8 ท่า 8 เมือง  ท่าเรือเล็กๆ เรือโดยสารของเราจะไม่จอด เรือจะรับคนขึ้นมาใหม่และส่งคนจากท่าก่อนๆ ลงไป หลายเมืองในรัฐอามะโซนัสของบราซิลไม่มีถนนเชื่อมต่อกัน วิธีไปมาหาสู่ รวมถึงเดินทางทำมาหากินจำเป็นต้องพึ่งพาเรือ

      ตอนที่เรือออกจากตาบาติงกาซึ่งเป็นท่าเรือแรกหรือท่าบนสุดของแอมะซอนในบราซิล มีผู้โดยสารอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของความจุ และค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเต็มพิกัดเมื่อผ่านวันที่ 2 ไปครึ่งวัน

      เพื่อไม่ให้โดนลมเย็นยามดึก คณะของเราขึ้นจับจองพื้นที่ชั้น 2 ของเรือส่วนหน้าสุดสำหรับผู้โดยสาร โดยอยู่ถัดจากกลุ่มห้องพักของลูกเรือและห้องพยาบาล ซึ่งอยู่หลัง  Bridge หรือห้องควบคุมเรือที่เป็นส่วนหน้าสุดของเรือ

      พื้นที่ของผู้โดยสารนั้นจะเป็นพื้นโล่งยาวไปจนติดห้องอาหารที่อยู่ด้านท้ายเรือ เพดานของห้องผู้โดยสารสูงประมาณ 2.5 เมตร และตรงขื่อคานเหล็กที่เรียงกันอยู่ตามแนวยาวลำเรือมีตะขอไว้พร้อมสำหรับให้ผู้โดยสารผูกเปลตามแนวขวางลำเรือ 2 แถวซ้าย-ขวา นี่คือเคบินส่วนตัวของแต่ละคน ที่วางสัมภาระของแต่ละคนก็คือใต้เปล

เคบินส่วนตัวของผู้โดยสารแต่ละคนในเรือล่องแอมะซอน

      ทุกคนเตรียมเปลขึ้นมาเพื่อผูกนอน ยกเว้นโยมติดตามพระธุดงค์ 2 คน ผมซื้อเปลมาจากเมืองไทย 3  ปาก เลือกแบบที่สามารถปรับให้มีมุ้งในตัว โดย 2 ปากถวายแด่พระสุธรรม ฐิตธัมโม และพระศุภชัย สุภาจาโร อีกปากไว้ใช้เอง แต่ผมพิจารณาดูแล้วว่าคงจะนอนในเปลไม่ได้ตลอดคืนด้วยสภาพโค้งๆ ของเปลจะทำให้ปวดหลัง มีโทรทัศน์จอแบนแขวนอยู่ เชื่อว่าจะต้องมีคนเปิดดูข่าว ดูหนังในยามค่ำคืน และเหตุผลสำคัญคือจะต้องมีคนกรน ผมรู้ว่ามีอย่างน้อย 1 คนในคณะที่มีเสียงกรนดังสนั่นหวั่นไหว คล้ายการประสานเสียงระหว่างเสือโคร่งและเรือกลไฟ  เปลของผมเลยมอบให้คุณป้าติดตามพระท่านหนึ่ง

      ผู้ช่วยกัปตันเรือ ในภาษาโปรตุเกสเรียกว่า  Imediato เห็นว่าคุณป้าอีกท่านไม่มีเปล แกก็ไปเปิดห้องพักนำเปลออกมาให้ยืม ทุกอย่างลงตัว ทุกคนมีเปลนอน ผมจึงขึ้นไปหาทำเลบนชั้น 3 โดยส่วนหน้าของเรือชั้น 3 มีห้องพักลูกเรืออีกจำนวนหนึ่งและอาจจะมีห้องเก็บของด้วย จำนวนห้องชั้น 3 นี้มีมากกว่าชั้น 2 เสียอีก

      เปลผูกอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่พื้นที่ว่างมีมาก ถือว่าชั้น 3 ค่อนข้างโล่ง และบนพื้นเรือด้านหน้าที่ผมเลือกวางถุงนอนนี้ป้องกันลมหรือเรียกได้ว่าอับลม ส่วนเรื่องยุงก็จะไม่เป็นปัญหา ตอนนี้ทราบแล้วว่าไม่มียุง (เพราะว่ามีลม)  กระเป๋าสัมภาระของผมยังคงวางรวมอยู่กับของคณะบนชั้น  2 นอกจากถุงนอนแล้วผมนำขึ้นมาแค่ผ้าขนหนูเพื่อเตรียมม้วนทำหมอนหนุน

      ห้องน้ำในเรือมีอยู่ทั้งชั้น 2 และชั้น 3 แต่ชั้น 2 มีมากกว่า รวมแล้วประมาณ 20 ห้อง แยกชาย-หญิง ชั้น 1 ก็น่าจะมีแต่ผมไม่ได้เดินลงไปสำรวจ ห้องอาบน้ำอยู่รวมกับส้วม ถังพักน้ำของโถชักโครกอยู่สูงเกือบถึงเพดาน  เสร็จธุระก็ดึงเชือกที่ถังพักน้ำ ฝักบัวอาบน้ำติดตั้งปล่อยน้ำลงมาจากเพดานห้อง ตอนจะอาบน้ำต้องนำกระดาษชำระไปวางบนฝาถังพักน้ำ ไม่เช่นนั้นจะเปียกยุ่ย ราวหรือตะขอแขวนผ้าเช็ดตัวนั้นไม่มี แต่พอหาที่เกี่ยวได้ สบู่ ยาสระผมต้องวางกับพื้น หรือบนฝาโถส้วม น้ำที่ใช้อาบและใช้กดชักโครกมาจากแหล่งเดียวกัน คือแม่น้ำแอมะซอน

      อ่างล้างหน้า-แปรงฟันแยกส่วนออกมาจากห้องน้ำ มีทั้งบนชั้น 2 และชั้น 3 แต่ชั้น 2 มีจำนวนก๊อกมากกว่า ตั้งอยู่ท้ายเรือ ด้านหลังห้องครัว น้ำที่ไหลจากก๊อกคือน้ำที่สูบขึ้นมาจากแอมะซอนเช่นกัน

      ส่วนน้ำดื่มถ้าไม่อยากซื้อจากร้านค้าประจำเรือก็มีให้กดดื่มจากเครื่องกรอง ติดตั้งอยู่หน้าห้องครัว น้ำดื่มนี้เป็นน้ำสะอาดที่เตรียมมาจากบนฝั่ง และทุกครั้งที่ผมแปรงฟันผมจะใช้แก้วที่บุรุษพยาบาลให้มา รองน้ำสะอาดจากก๊อกน้ำดื่มไปใช้

      พระท่านหนึ่งเรียกหาน้ำร้อนเพื่อชงกาแฟ ผมอาสาไปซื้อกาแฟมาถวาย และอยากดื่มเองสักถ้วย ถามหนุ่มอ้วนเจ้าของร้านประจำเรือเป็นภาษาสเปน เขาก็ตอบสเปนกลับมาว่า No tengo แปลว่า “ไม่มี” ซึ่งกาแฟในภาษาสเปนออกเสียง “กาเฟ” และโปรตุเกสออกเสียง “กาแฟ”  ยิ่งคล้ายภาษาไทย

      ลงไปถามเจ๊แม่ครัวก็ตอบว่าไม่มี ผมขอน้ำร้อนเป็นภาษาสเปน เธอพูดภาษาโปรตุเกสกลับมาเป็นชุด ผมเดาใจความจากอวัจนภาษาได้ว่า 5 โมงเย็นจะมีกาแฟ หรือไม่ก็น้ำร้อน ระหว่างนี้หลวงพี่จึงต้องทัศนาวิวแอมะซอนไปพลางๆ ก่อน

. โซนหัวเรือชั้น 2 กับป้าย “ห้ามเข้า” (ที่ไร้ความหมาย)

      บนเรือทั้ง 3 ชั้นมีพื้นที่ทางเดินข้างตัวเรือกว้างพอสมควร มีกราบเรือรอบทิศสูงประมาณเอว บางคนลากเก้าอี้พลาสติกจากโซนดาดฟ้ามานั่งรับลมและชมวิวชิดกราบเรือ ทางเดินริมเรือชั้น 2 ที่จะเชื่อมไปยังส่วนของห้องพักลูกเรือ ห้องควบคุมเรือ และด้านหน้าของเรือมีประตูเล็กกั้นอยู่ เขียนว่า Acesso Restrito หมายถึงห้ามเข้า แต่ผมเห็นพระบางรูปยืนอยู่ตรงหัวเรือเรียบร้อยแล้ว ตอนแรกนึกว่าเจ้าหน้าที่เรือเกรงใจพระ แต่ความจริงใครๆ ก็เข้าไปได้

      ผมเดินเข้าไปบ้างทางฝั่งขวามือ กัปตันเรือซึ่งในภาษาโปรตุเกสเรียกว่า Comandante บังคับเรืออยู่มองออกมาทางประตูห้องควบคุมเรือ ผมโค้งทักทาย แกทำท่าตะเบ๊ะ ผมทำท่ายกกล้องขึ้นแล้วชี้ไปที่ตัวแก เป็นคำถามว่าถ่ายได้ไหม แกหันฝ่ามือให้ แล้วอีกสองสามวินาทีแกก็ชี้ไปที่พังงาหรือพวงมาลัยเรือ ผมไม่เข้าใจ พอไปอยู่ตรงด้านหน้าห้องกัปตันซึ่งเป็นทางเดินและระเบียงหัวเรือ  มีม้านั่งวางอยู่เหมือนเชื้อเชิญให้นั่ง ผมขอถ่ายจากมือถือแบบเซลฟี เห็นกัปตันอยู่ด้านหลัง แกยกหัวแม่มือให้กล้อง

      เป็นเวลาชั่วอึดใจที่หลายครั้งเราไม่เข้าใจความหมายในสิ่งที่เห็น และมาเข้าใจหลังจากนั้น บางทีแค่ชั่วอึดใจต่อมา บางทีอีกนานหลายวัน หรือต้องมีเหตุการณ์อื่นมากระตุ้น แล้วเราจะนึกย้อนไปยังเหตุการณ์ข้างต้น ในภาษาภาพยนตร์เรียกว่า “แฟลชแบ็ก” ทีนี้ก็เข้าใจ ปะติดปะต่อเรื่องราว

      กรณีของผม กัปตันเชิญให้เข้าห้องควบคุมเรือไปถือพังงา ผมมั่นใจว่าแกหมายความอย่างนั้น แต่ผมช้าไป และพลาดแล้วพลาดเลย จังหวะแบบนี้มีแค่ครั้งเดียว จะให้กลับไปถามว่า “กัปตันครับเมื่อกี๊ชวนให้ผมถือพังงาขับเรือในแม่น้ำแอมะซอนใช่มั้ยครับ ประมาณว่าให้ผมขับเรือถือพังงานิ่งๆ ไม่กี่วินาทีแล้วกัปตันจะถ่ายรูปให้ใช่มั้ยครับ”

      ใครกันจะกล้าพูดอย่างนั้นกับกัปตันเรือ และเป็นกัปตันเรือแห่งแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ถึงจะกล้า ผมก็พูดภาษาโปรตุเกสไม่เป็น คิดได้ดังนี้ก็ถ่ายรูปน้ำ ท้องฟ้า และก้อนเมฆไปดีกว่า

      แม่น้ำช่วงแรกผ่านเกาะขนาดใหญ่ทางขวามือ อีกฝั่งของเกาะนี้คือแอมะซอนสาขาที่ไหลมาจากพรมแดนเปรู-บราซิล ชื่อแม่น้ำ Javary ผ่านเกาะนี้ไปสักพักก็มีเกาะใหม่ และเกาะใหม่ แม่น้ำบางช่วงจึงแคบ บางช่วงกว้าง แต่ที่ว่าแคบนี้ก็กว้างกว่าแม่น้ำสายใหญ่อื่นๆ ทั่วไป เฉลี่ยช่วงที่แคบสุดของแอมะซอนคือ 1 กิโลเมตร และช่วงที่กว้าง เฉลี่ยกว้างตั้ง 10 กิโลเมตร

      เวลา 5 โมงเย็น เจ๊แม่ครัวมาขอพูดจากไมโครโฟนในห้องกัปตัน ส่งเสียงผ่านลำโพงที่ติดอยู่ทั่วตัวเรือ ผมมาทราบทีหลังว่าเธอประกาศให้ผู้โดยสารไปรับอาหารเย็น วันนี้คือซุปเนื้อ เช่นเดียวกับทุกวันต่อมา ผมไม่เคยได้กินมื้อเย็นแม้แต่ครั้งเดียว เพราะมักจะอยู่แถวร้านหนุ่มอ้วนตอนเวลาอาหารเย็น เช่นเดียวกับมื้อเช้าที่ตื่นไม่ทัน ซึ่งทุกวันคือขนมปัง ส่วนกาแฟนั้นมีให้บริการในตอนเช้าพร้อมขนมปัง และตอนบ่าย 2 โมงหลังจากมื้อเที่ยง เป็นกาแฟร้อนชงสำเร็จในถังใบใหญ่สำหรับกดดื่ม รสชาติหวานเจี๊ยบ

บุรุษพยาบาลให้ชิม “อิงกา” (ingá) รสชาติออกมันๆ จืดๆ เม็ดกินไม่ได้ถ้าไม่ทำให้สุก

      ทุกมื้อหลังเจ๊แกทำอาหารเสร็จก็จะเดินไปที่ห้องควบคุมเรือ ขอไมโครโฟนจากกัปตัน แล้วประกาศว่าอาหารพร้อมแล้ว จากนั้นก็เดินกลับไปยังห้องครัวเพื่อตักอาหารให้ผู้โดยสารที่เข้าแถว ช่วงต้นมื้อแถวจะยาวออกไปจากห้องอาหาร ยาวไปจนเกือบกลางลำเรือ ส่วนมากผู้โดยสารจะนำภาชนะของตัวเองมารับอาหารแล้วกลับไปนั่งกินในเปลใครเปลมัน หรือบนพื้นข้างๆ เปล ส่วนน้อยที่กินในห้องอาหาร ซึ่งนั่งได้คราวละประมาณ 30 คน คนหนุ่มที่ขี้เกียจล้างจานคือขาประจำ เพราะจานช้อนมีให้พร้อม กินเสร็จก็นำไปส่งให้เจ๊แม่ครัว ไม่ต้องล้างเอง

      ท้องฟ้าปลายเมษายนมีสีฟ้าสดใส หมู่เมฆสีขาวลอยต่ำ เห็นเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วแต่จินตนาการ เมฆบางก้อนกลั่นน้ำฝนลงมามองเห็นแต่ไกล เวลา 5 โมงกว่าๆ ที่หัวเรือหน้าห้องกัปตันลมพัดปะทะใบหน้าเย็นสบาย แต่พอเวลายิ่งผ่านไปลมก็ยิ่งเย็นจนต้องหนีกลับเข้าไปในตัวเรือ

      เรื่องกาแฟผมเลิกสนใจไปนานแล้ว เดินขึ้นชั้น 3 ไปถามซื้อเบียร์จากหนุ่มอ้วน ภาษาโปรตุเกสต้องเรียกว่า “เซอเวจา” เขามีให้เลือก 3 ยี่ห้อ ได้แก่ บัดไวเซอร์, ไฮเนเกน และ ITAIPAVA

      ผมถามเขาว่า “อิไตปาวาเป็นเซอเวจาของบราซิล?” เขาตอบว่าใช่ ผมเลยซื้อมาลอง เบียร์กระป๋องเล็กจิ๋ว ขนาดแค่ 269 มิลลิลิตร คงเหมาะเป็นพิเศษในวันอากาศร้อน เบียร์ไม่ทันหายเย็นก็ดื่มหมดกระป๋องพอดี

      เจ๊แม่ครัวเดินผ่านมา แกชี้ไปที่กระป๋องเบียร์แล้วพูดยิ้มๆ ว่า “กาแฟ ?”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก