พอได้อ่านคำพยากรณ์ว่าด้วย “ฉากทัศน์สุดเลวร้าย” ของนักวิเคราะห์ที่อเมริกาแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามว่าไทยจะผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่
และจะทำอย่างไร
ผมคุยกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล แห่งธนาคารกรุงเทพ แล้วก็ได้รับคำตอบสั้นๆ แต่ไม่ง่ายว่า
“สูตรที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเตรียมการให้ดี”
ผมอ่านเจอที่แกเขียนวิเคราะห์เอาไว้ในประเด็นนี้น่าสนใจว่า
เวลาที่เกิดวิกฤตใน Emerging Markets สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ก็คือ นักลงทุนจะพยายามมองหา "เหยื่อ" รายต่อไป
คำถามที่สำคัญที่สุดคือ "Who is next?"
ใครจะเป็นรายต่อไป
ในกระบวนการดังกล่าว นักลงทุนมักจะมี List รายชื่อของประเทศในกลุ่ม Emerging Markets ที่
(1) ทำตัวคล้ายๆ กับประเทศที่กำลังเกิดปัญหา เช่นในกรณี Latin American Debt Crisis รัฐบาลกู้ยืมจากต่างประเทศมามาก รัฐบาลขาดดุลการคลังมาก หรือกรณี Asian Financial Crisis วิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศมีฟองสบู่ มีเงินไหลเข้ามามาก สถาบันการเงินอ่อนแอ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
(2) กำลัง "ออกอาการ"
นำชื่อประเทศเหล่านี้จัดเข้าไปไว้ในจอเรดาห์ของตนเอง เพื่อเตรียมตัวหนีตาย ทยอยออกจากประเทศดังกล่าว ลดสัดส่วนการลงทุน ทั้งในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลที่เคยซื้อเอาไว้ หุ้นที่เคยลงทุน ทำให้เงินทุนที่เคยไหลเข้าเริ่มไหลออก
ครั้นเงินทุนเริ่มไหลออกต่อเนื่อง ค่าเงินของประเทศดังกล่าวก็จะค่อยๆ อ่อนค่าลง เงินสำรองร่อยหรอลง
สะสมพลัง!!!
จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อเห็นว่าประเทศนี้ "มีโอกาสพอสมควร" ที่จะเกิดวิกฤต ก็เริ่มเก็งกำไรในค่าเงินของประเทศดังกล่าวเป็นระลอกๆ ทำให้ธนาคารกลางต้องเริ่มเข้าไปต่อสู้ ปกป้องค่าเงินของตนเอง
เร่งกระบวนการทำให้เงินไหลออกเร็วขึ้น และเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็วขึ้น
ท้ายสุด นำไปสู่วิกฤต เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2540
หรืออย่างวิกฤตล่าสุดที่ศรีลังกา นักลงทุนบางส่วนก็เริ่มไปพิจารณาดูปากีสถาน เนปาล ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ และมีลักษณะคล้ายๆ กับศรีลังกาอย่างใกล้ชิด
และเริ่มดู กานา แซมเบีย สปป.ลาว ที่ไม่อยู่ใกล้ แต่กำลังประสบปัญหา
หัวใจสำคัญที่สุดที่จะ "รอดพ้น" จากการเป็นเหยื่อ
ก็คือทำให้นักลงทุนเห็นว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และแตกต่างจากประเทศที่กำลังเกิดปัญหา
เนื่องจากมรสุมเศรษฐกิจที่กำลังพัดมารอบนี้จะส่งผลกับ "ทุกประเทศ" อย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ราคาพลังงานและอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ประเทศส่วนใหญ่ขาดดุลการค้ามากขึ้น มีปัญหาเงินเฟ้อ
รัฐบาลจำเป็นต้องเอาเงินไปกดราคาน้ำมันในประเทศ ไม่ให้กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากไป นำไปสู่การขาดดุลการคลัง เป็นหนี้มากขึ้น
เงินเฟ้อที่เพิ่มในประเทศ ก็จะทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเร่งขึ้นดอกเบี้ย กระทบเศรษฐกิจ
ยิ่งต่อไปเมื่อเฟดยกระดับของการต่อสู้กับเงินเฟ้อ เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ประเทศที่เคยกู้ยืมจากต่างประเทศมามาก ทั้งในส่วนรัฐและเอกชน ก็จะมีภาระในการชำระหนี้มากขึ้น
ทุกประเทศในกลุ่ม Emerging Markets ก็จะถูกทดสอบความแข็งแกร่งทนทานอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
จะมีประเทศที่เข่าอ่อน ร่วงลงไปทีละรายสองราย
ต้องไปติดต่อ IMF ขอความช่วยเหลือ
ทั้งหมดจะยิ่งทำให้ข่าวที่ว่า "Emerging Markets กำลังเกิดวิกฤต" หนาหูมากขึ้น ส่งผลให้ทุกประเทศถูกกดดันจากการไหลออกของเงิน และจากการโจมตีเก็งกำไรของนักลงทุนที่จะเกิดขึ้น
ทางออกของประเทศไทยก็คือ ใช้เวลาที่เหลือก่อนที่มรสุมเศรษฐกิจจะครอบคลุม Emerging Markets ในการเตรียมการให้ดี ใน 3 เรื่อง
เรื่องแรก - เตรียมการสร้างแรงส่ง หรือ Momentum ของเศรษฐกิจ เพราะเมื่อวิกฤตเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะมีแรงต้านมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างชะลอลง
เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่
(1.1) พลิกวิกฤตอาหารโลกให้เป็นโอกาสของภาคเกษตรไทย ทำให้คนอยู่ในภาคดังกล่าว 20 ล้านคน สามารถดูแลตนเองได้ดี เร่งปลดล็อกเรื่องปุ๋ยขาดแคลน ทั้งในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยจุลินทรีย์ และนำโปแตสที่เรามีออกมาใช้
(1.2) เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อให้คนอีก 10 ล้านคนในภาคท่องเที่ยวสามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
ซึ่งการที่ภาคท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวในช่วงนี้ ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีของเรา ซึ่งหากเราสามารถปลุกภาคท่องเที่ยวได้ดีใน 1 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยก็จะมีแรงส่งให้กับ GDP ของประเทศเพิ่มมากกว่าประเทศอื่น ปีละ 2-3% อย่างน้อย
(1.3) เร่งภาคส่งออก ถ้าวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ ทำให้การค้าโลกแตกเป็นส่วนๆ ไทยซึ่งไม่มีปัญหากับใคร เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญของภูมิภาคก็จะได้โอกาส ดีกับคนอีก 2-3 ล้านคนที่ผลิตสินค้าส่งออกเหล่านี้
ค่าเงินบาทที่อ่อน จะช่วยให้ภาคเกษตร ภาคท่องเที่ยว และภาคส่งออกไปได้
ทั้งหมดหมายความว่า ระหว่างที่ประเทศอื่นลำบากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ไทยจะยังมีคน 30 กว่าล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้น สามารถพอจะประคองตนได้ระดับหนึ่ง
ซึ่งถ้ารัฐบาลเอาจริงเรื่องการลงทุนใน EEC ในโครงสร้างพื้นฐาน และในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ประเทศไทยก็จะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยให้เราฟันฝ่าวิกฤตที่รออยู่ได้
เรื่องที่สอง - เตรียมการทำตัวให้แตกต่าง
ถ้านักลงทุนจะถามว่า Who is next?
เราก็ต้องไม่เป็นคนนั้น
เราต้องใช้เวลาที่เหลืออยู่ดูแลให้พื้นฐานเศรษฐกิจของเราดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ
ไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากนัก หรือจะให้ดีก็คือ "เป็นบวก" จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวใน 2 ปีข้างหน้า จากการประหยัดการใช้พลังงาน
มีฐานะการคลังที่พอไปได้ ไม่มีหนี้เยอะไปนัก
มีสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง
มีบริษัทเอกชนฐานะไปได้
ซึ่งในประเด็นเหล่านี้คือ "ตัวเลขหลัก" ที่นักลงทุนจับตามองอย่างใกล้ชิด
โชคดีที่ขณะนี้ไทยมีเงินสำรองที่มากพอสมควร มีสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนที่ฐานะดี
ถ้าเราสามารถฟื้นภาคท่องเที่ยว และสร้างแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ ไม่ใช้เงินภาครัฐอย่างไม่ระวัง พยายามปล่อยให้ราคาน้ำมันเข้าสู่กลไกตลาดมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็จะค่อยๆ ดีขึ้น (ขณะที่คนอื่นแย่ลง)
และจะทำให้รัฐบาลยังมีฐานะการคลังที่พอไปได้ (ไม่ดูสุ่มเสี่ยงเหมือนอีกหลายประเทศ)
หากประเทศไทยจะมีจุดอ่อนอยู่บ้างก็คือ หนี้ครัวเรือนที่สูง แต่การที่คน 30 กว่าล้านคน จะพอไปได้ช่วงที่เกิดวิกฤต ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา
เรื่องที่สาม - เตรียมการรับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก เราก็คงพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับผลกระทบด้วย จากการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ
แต่ถ้าเราเตรียมเรื่องที่หนึ่งและสองไว้ดี มีแรงส่งทางเศรษฐกิจ และมี Fundamentals พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ประเทศไทยก็น่าจะรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นได้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะคล้ายๆ กับปี 2008 ที่เราได้รับผลกระทบไป 1-2 ปี ระหว่างที่เกิดวิกฤตรอบๆ
แต่หลังจากมรสุมพัดผ่านไป เราก็จะสามารถออกตัวได้ดีกว่าคนอื่นๆ และกลับมาเดินหน้าได้
ดร.กอบศักดิ์สรุปอย่างหนักแน่นว่า
“ขอย้ำอีกทีว่า หากเรารักษาตัวไว้ได้ดี ไม่ปล่อยเวลาที่เหลืออยู่ให้เสียไปโดยไม่เตรียมการ เราก็พอจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้”
ทราบแล้วเปลี่ยนครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว