ดับฝันแลนด์สไลด์

บันเทิงครับ....

ส.ส.และส.ว. รวมทั้งรัฐมนตรี กำลังจดจ่อเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.พรรคการเมือง

ชิงไหวชิงพริบกันว่า การคำนวณที่มาของส.ส.บัญชีรายชื่อจะเอาแบบไหนดี         

หาร ๑๐๐

หรือหาร ๕๐๐ ดี

หลังจากที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งใหม่ เป็นบัตรสองใบ

เปลี่ยนสัดส่วนระหว่างส.ส.เขตกับส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น  ๔๐๐ กับ ๑๐๐ คน ความบันเทิงยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อแก้ไขในรายละเอียด

ขณะนี้ถึงเวลาต้องถกเถียงกันว่าส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑๐๐ คน ต้องใช้วิธีการคำนวณแบบไหน

ก็มีอยู่ ๒ แนวทาง

แนวทางแรก เอาจำนวนบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อทั้งหมดมากองแล้วหารด้วย ๑๐๐  ผลลัพธ์ที่อออกมาคือจำนวนบัตรเลือกตั้งต่อส.ส. ๑ คน

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราวๆ ๕๐ ล้านคน

หากมีผู้มาใช้สิทธิ์ ๔๐ ล้านคน ก็เอา ๑๐๐ หาร

ผลลัพธ์คือ ๔ แสนคน

ก็เท่ากับว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑ คนต่อจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ ๔  แสนคน

อีกแนวทางคือเอา ๕๐๐ คือจำนวนส.ส.ทั้งสภาหาร

แต่กรณีนี้ต้องคำนวณ ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคการเมืองก่อน แล้วค่อยมาคำนวณหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ

ต้องไปดูว่าแต่ละพรรคการเมืองได้ ส.ส.เขตไปกี่ที่นั่งแล้ว  จึงจะเพิ่มจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อให้เต็มจำนวน ส.ส.พึงมีที่คำนวณเอาไว้        

ในสภาจะเอาวิธีไหน คงต้องสู้กันมันหยด เพราะสามารถชี้ชะตาผลการเลือกตั้งได้เลยทีเดียวว่า พรรคไหนจะกินรวบ หรือพรรคไหนจะสูญพันธุ์

ก็เป็นที่รู้กันครับว่า พรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยอยากได้บัตร ๒ ใบ ก็ได้ไปสมใจ

และพรรคเพื่อไทย อยากได้มากกว่านั้นคือหาร ๑๐๐ เพราะเชื่อว่าคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตเหนือกว่าใครแน่นอน

แนวคิดแลนด์สไลด์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อกินรวบส.ส.บัญชีรายชื่อนี่เอง

ขณะที่พรรคเล็ก อยากหาร ๕๐๐ กลับไปใช้สูตรส.ส.พึงมีเหมือนเดิม

ไม่เช่นนั้นไม่มีทางกลับเข้าสู่สภาได้อีก

แล้วพลังประชารัฐอยากได้แบบไหน?

โจทย์นี้ยากมาก นอกจากพกความมั่นใจมาเต็มร้อยว่า คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตจะมาเป็นอันดับหนึ่งเหมือนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

มาดูตัวเลขจากการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ กันหน่อยครับ

พลังประชารัฐ ๘,๔๔๑,๒๗๔  คะแนน

เพื่อไทย        ๗,๘๘๑,๐๐๖ คะแนน

อนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ๖,๓๓๐,๖๑๗ คะแนน

ประชาธิปัตย์ ๓,๙๕๙,๓๕๘ คะแนน

ภูมิใจไทย ๓,๗๓๔,๔๕๙ คะแนน

ที่เหลือต่ำว่า ๑ ล้านคะแนน

แต่เลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ เพื่อไทยพกความมั่นใจมาเต็มร้อยว่า คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตจะมากกว่าใคร เพราะพรรครัฐบาลเสื่อมความนิยมลงไปมาก

โอกาสที่พลังประชารัฐจะได้ ๘.๔ ล้านเสียงน่าจะยาก

ในมุมของ พลังประชารัฐเอง ก็ไม่ค่อยมั่นใจนักว่าพรรคตัวเองจะได้ คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต เหมือนเคย เพราะนิด้าโพลยกให้เพื่อไทยเป็นเต็งหนึ่ง

ความนิยมในตัว "อุ๊งอิ๊ง" ก็มากกว่า "ลุงตู่" หลายขุม

มีผลทางจิตวิทยาไม่น้อย!

ฉะนั้น พลังประชารัฐจึงสองใจสองใจ จะเอาสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อแบบไหนที่มีประโยชน์กับตัวเองมากกว่ากัน

และการตัดสินใจว่าจะโหวตแบบไหน จะเป็นการสะท้อนถึงการประเมินตัวเองของพลังประชารัฐ ว่าคะแนนนิยมอยู่ในระดับไหนเช่นกัน

ถ้าคิดว่าคะแนนนิยมยังดีอยู่ "ลุงตู่" ยังขายได้และขายดี ก็หาร ๑๐๐ ไป ได้เปรียบแน่นอน

แต่หากประเมินแล้ว ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง ไม่ง่ายเหมือนการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ ก็กลับไปที่ ๕๐๐

ไพ่ถูกแบออกมาหมดแล้ว เหลือแค่ตัดสินใจว่าจะเอาแบบไหน                             

ข่าวล่าสุดบอกว่า "ลุงตู" จับเข่าคุยกับ "ลุงป้อม" แล้วเคาะออกมาที่ หาร ๕๐๐

เพื่อดับฝันแลนด์สไลด์

ส่งตะแล็ปแก็ปไปยังพรรคร่วมรัฐบาลกับส.ว. ให้เอาตามนี้

ทิศทางการโหวตในฝั่งรัฐบาล ขณะนี้อยู่ในสถานะ ไม่เป็นเอกภาพ 

พลังประชารัฐกับภูมิใจไทยเอาแน่ๆ หาร ๕๐๐

แต่ประชาธิปัยต์นี่สิยังเป็นปัญหา เสียงยังแตกอยู่ 

หากประชาธิปัตย์ยังยึดภาคใต้ได้ทั้งภาค หาร ๑๐๐ อาจเป็นประโยชน์กว่า

เลือกตั้งคราวหน้าเก้าอี้ส.ส.ภาคใต้เพิ่มจาก ๕๐ เป็น ๕๘ คน 

หากประชาธิปัตย์ได้ภาคใต้มาเป็นกอบเป็นกำ บวกกับพื้นที่กทม.และภาคอื่นๆ คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตเยอะ โอากาสได้ส.ส.ถึง ๑๐๐ คน ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฯ มีกมธ.เสียงข้างน้อย ๖ คน ซึ่งเป็นฟากฝ่ายค้านสงวนคำแปรญัตติคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใช้ ๑๐๐ หารเอาไว้

ก็รอลุ้นกันว่าที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตออกมาหน้าไหน

แต่วิบากกรรมยังมีต่อแน่นอน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร อาจต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

หากออกมาสูตรหาร ๑๐๐ สุ่มเสี่ยงต่อขัดมาตรา ๙๓ และ ๙๔ เพราะ "ส.ส.พึงมี" นั้นยังอยู่ ไม่ได้ถูกแก้ไขไปด้วยแต่อย่างใด

ออกมาหาร ๕๐๐ ก็อาจมีคนไปร้องว่าขัดมาตรา ๘๖ และ ๙๑  เรื่องหลักเกณฑ์การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองอีก

ฉะนั้นอาจยังต้องลุ้นอีกนานพอควร กว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นไม่ใช่วันสองวัน

นี่คงเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่สู้กันตั้งแต่ออกกฎหมาย ไปจนถึงวันที่กฎหมายบังคับใช้

แต่ใช่ว่ากฎหมายจะเป็นตัวตัดสินว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว 

ความนิยมในตัวพรรคการเมือง และนักการเมืองคือปัจจัยสำคัญที่สุด

การสร้างความนิยมในแวดวงการการเมืองไทย มีสารพัดวิธี

ทั้งขาวและดำ

ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะหาร ๑๐๐ หรือ หาร ๕๐๐ ไม่เท่าหารความรู้สึกร่วมกับประชาชน

เป็นการบ้านที่ยากสำหรับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายยืนอยู่ในที่แจ้ง

ส่วนฝ่ายค้าน ไม่มีหน้าที่บริหารประเทศ งานหลักคือวิจารณ์ จึงมีความได้เปรียบในสังคมที่อ่อนแอเรื่องข้อมูลข่าวสาร

สุดท้ายจึงอยู่ที่ประชาชน

ประชาชนเป็นอย่างไร ส.ส.เป็นอย่างนั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี