การพัฒนาประเทศภายใต้รัฐบาลทหารรักษาการของนายพลเนวิน
การพัฒนาประเทศภายใต้รัฐบาลทหารรักษาการของนายพลเนวิน
ในปลายปี พ.ศ. 2501 พม่าปกครองโดยรัฐบาลทหารรักษาการภายใต้นายพลเนวินที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการลงมติของสภาโดยการเสนอชื่อของ อู นุ ผู้ซึ่งลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเสนอชื่อนายพลเนวินต่อสภา การที่ อู นุ ทำเช่นนั้นเป็นการชิงตัดหน้าไม่ให้ทหารสายคุมกำลังทำรัฐประหาร แม้ว่าการตัดสินดังกล่าวของเขาจะอยู่ภายใต้การกดดันของฝ่ายทหารสายคุมกำลัง แต่ก็ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2490 ยังคงอยู่ แต่การเชิญนายพลเนวินให้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นการเปิดทางให้ทหารพม่าขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองเป็นครั้งแรก และกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองอันยาวนานโดยทหาร แม้ว่านายพลเนวินจะรักษาการตามกำหนดเวลา และลงจากอำนาจหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ต่อมา ในปี พ.ศ. 2505 เขาก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจหลังจากที่นักการเมืองฝ่ายพลเรือนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งในปีนั้น
ที่น่าสนใจคือ หลังจากที่นายพลเนวินขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ. 2501 และจัดดั้งรัฐบาลโดยแต่งตั้งนายทหารเพียงสองคนให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยที่เหลือส่วนใหญ่เป็นพลเรือนทั้งสิ้น แต่เขาได้แต่งตั้งนายทหารรุ่นหนุ่ม 20 นายที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ยังเติร์ก” ของกองทัพให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆตามกระทรวงต่างๆ แม้ว่าจะไม่ใช่ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาต่างๆโดยตรง ซึ่งอาจเรียกอย่างง่ายๆได้ว่าเป็นตำแหน่ง “หน้างาน” โดยมีภารกิจสำคัญเบื้องต้นคือ การฟื้นฟูความมั่นคงของชาติและทำการกวาดล้างกลุ่มกบฏต่างๆและกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ถึงขนาดที่นายอัลเบิร์ต ราเวนโฮลท์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รายงานไว้ว่า พม่าเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตลอดหนึ่งทศวรรษ การเขียนรายงานเชียร์รัฐบาลทหารของนายพลเนวินเช่นนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ราเวนโฮลท์เป็นซีไอเอด้วยหรือเปล่า หรือถ้าไม่เป็น แต่ก็มีทัศนคติแบบรัฐบาลอเมริกันที่สนับสนุนการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนาในยุคสงครามเย็น ?
รัฐบาลนายพลเนวินยังได้ตั้งโครงการที่เรียกว่า Warazein ที่มีความหมายว่า “สายฟ้าจากเบื้องบน” ที่เปิดให้ประชาชนทั่วทุกหมู่บ้านได้มีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงของชาติ โดยการให้ข้อมูลกับทางการผ่านการหย่อนข้อความชี้เบาะแสหรือปัญหาต่างๆลงในหีบเล็กที่ตั้งไว้ทั่วทุกหมู่บ้านและมีทหารคุ้มกันอย่างดี ส่งผลให้เกิดการประสานร่วมมือกันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และที่สำคัญคือ จากข้อมูลดังกล่าวนี้ ทำให้รัฐบาลสามารถเข้าจับกุมตัวผู้ก่อความไม่สงบและนักการเมืองและข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากโครงการดังกล่าวนี้ ได้นำไปสู่การจัดตั้ง “สภาสามัคคี” (Solidarity Councils) ตามหมู่บ้านและเมืองต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมคือ ประชาชนพลเมืองทั่วไป และห้ามไม่ให้นักการเมืองเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารของสภา สภาสามัคคีได้กลายเป็นองค์กรสาธารณะที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประชาชนและสภาความมั่นคงของเขตต่างๆ สภาความมั่นคงในเขตต่างๆนี้มีทหารเข้าร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่พลเรือนเพื่อวางแผนกำหนดว่า แต่ละภูมิภาคควรจะต้องได้รับการตอบสนองในเรื่องอะไร สภาสามัคคีในท้องถิ่นต่างๆจะทำหน้าที่จัดหาฟืนให้แก่ชุมชนที่ขาดแคลน และทำหน้าที่เตรียมตัวรับมือกับอุทกภัย และจัดตั้งการป้องกันตัวเองในแต่ละชุมชนขึ้น คำขวัญของสภาสามัคคีคือ ความกล้าหาญ และมีสัญลักษณ์เป็นรูปสิงโต รัฐบาลนายพลเนวินได้ประกาศแก่สมาชิกของสภาสามัคคีว่า “สิบปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาอันเลวร้ายของประเทศ และไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล สภาทั้งสองนี้จะยังคงอยู่แน่นอน” และ “จำได้ว่า ตราบเท่าที่ชาติพม่ายังอยู่ กองทัพก็จะคงอยู่และเป็นยามเฝ้าบ้านให้พวกท่าน และเราจะไม่มีวันยอมให้บ้านเมืองกลับไปสู่สภาพเดิมๆ”
ฟังดูแล้ว อดคิดไม่ได้ว่า ทหารพม่ากับทหารไทยมีวิธีคิดคล้ายๆกัน !
การปฏิบัติการของสภาสามัคคีท้องถิ่นและสภาความมั่นคงตามเขตต่างๆดำเนินไปโดยทหารทำหน้าที่ระดมและขับเคลื่อนประชาชนให้เอาชนะปัญหาความฉ้อฉลทางการเมืองที่ดำเนินมาก่อนหน้าและรวมตัวกันทำหน้าที่ป้องกันประเทศจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย การปฏิบัติการของทหารดำเนินไปด้วยยุทธศาสตร์สงครามจิตวิทยาอย่างเข้มข้น มีการแบ่งประเภทคอมมิวนิสต์ออกเป็นพวก “แดงจัด” (deep red) “แดง” (red) “ชมพู” (pink) และ “ชมพูอ่อน” (pink-washed) และทหารพม่าจะใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไปในการจัดการและรับมือของกลุ่มต่างๆเหล่านี้
การปฏิบัติการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ทหารพม่าได้รณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงการทำลายพุทธศาสนาของพวกคอมมิวนิสต์ตามพื้นที่ในท้องถิ่นต่างๆ เช่น การทำลายวัดและเจดีย์ต่างๆ ซึ่งเมื่อทหารขึ้นมาเป็นรัฐบาล ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมกลับคืนมา การให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ประชาชนพม่า ทำให้คนพม่ามีความรู้สึกร่วมกับชาวธิเบต เพราะคนพม่าทั่วไปได้รับรู้ข่าวที่ชาวธิเบตลุกขึ้นมาต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์จีนที่ไปทำลายศาสนาและวัดของชาวธิเบต
ในด้านเศรษฐกิจ จากความสามารถที่จะนำประเทศเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยและควบคุมพื้นที่ต่างๆให้อยู่ภายใต้รัฐบาลได้ ทำให้เศรษฐกิจพม่าเข้าสู่สภาพการฟื้นฟู โดยรัฐบาลได้เน้นไปที่การปฏิบัติที่ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยนายพลเนวินได้ดึงนายพลจัตวา อ่อง ยี (Aung Gyi ได้รับเลื่อนยศหลังจากที่นายพลเนวินขึ้นเป็น
รัฐบาล) นายทหารสายกำลังที่เคยอยู่ในกลุ่มที่วางแผนจะทำรัฐประหารให้มาดูแลควบคุมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านการออกมาตรการบังคับต่างๆ
เหตุที่ต้องใช้การออกมาตรการบังคับ เพราะร้อยละ 70 ของสินค้านำเข้าของพม่าตกอยู่ภายใต้พ่อค้าคนกลางชาวอินเดียและปากีสถาน นายพลจัตวาอ่องยีได้ให้สินค้านำเข้าดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมจัดการขององค์กรที่เขาจัดตั้งขึ้นมา อาทิ สหกรณ์และคณะกรรมการดูแลจัดหาอุปทานฝ่ายพลเรือน ส่งผลให้สามารถตรึงราคาข้าวของให้คงที่โดยการกำหนดราคาไม่ให้ผู้ค้าปลีกสามารถขึ้นราคาข้าวของได้ตามใจชอบ นั่นคือ ไม่เกินร้อยละ 10 และมีการเข้าไปควบคุมดูแลการดำเนินการของธนาคารต่างชาติอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะธนาคารที่ได้รับการสนับสนุนโดยจีนคอมมิวนิสต์ ได้มีการปรับปรุงจัดการคณะกรรมการพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งปรับปรุงการบริหารกิจการรถไฟ ท่าเรือ และการคมนาคมทางน้ำในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลนายพลเนวินยังขยายบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่มีชื่อว่า “สถาบันบริการการป้องกันประเทศ” (the Defense Services Institute/DSI) ที่หน้าที่เดิมคือ ดูแลด้านพลาธิการให้แก่กองทัพ โดยให้ DSI เข้าไปดำเนินการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ควบคุมหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และจัดตั้งร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในกรุงย่างกุ้ง และยังเข้าไปดำเนินธุรกิจดูแลอาหารพื้นฐาน อันได้แก่ นมและไข่ และยังจัดตั้งร้านขายยาในราคาถูก และเข้าไปควบคุมดูแลอุตสาหกรรมการประมงด้วย
อีกทั้งรัฐบาลนายพลเนวินได้สร้างสายสัมพันธ์กับอิสราเอลในความร่วมมือต่างๆ เช่น การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การใช้ตัวแบบของระบบการศึกษาของกองทัพอิสราเอลเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคนิคแก่เยาวชนพม่าพร้อมๆไปกับการปลูกฝังสำนึกและอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าได้ส่งนายทหารและเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคไปศึกษาที่อิสราเอล
และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 นายพลเนวินได้เดินทางไปเยือนอิสราเอลเป็นประเทศแรกหลังจากที่เขาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการในปลายปี พ.ศ. 2501
ซึ่งการเข้าไปผูกสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับอิสราเอลโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็เป็นไปตามหนึ่งในเป้าหมายของนายพลเนวินที่เขาได้ประกาศหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมนิยม เพราะนายพลเนวินสนใจในแนวทางเศรษฐกิจของอิสราเอลที่มีการผสมผสานระหว่างสังคมนิยมและการริเริ่มของภาคเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของพม่าที่ต้องการพัฒนาประเทศโดยหลีกเลี่ยงแนวทางทุนนิยมที่เปิดเสรีแก่ภาคเอกชนอย่างไม่มีข้อจำกัด
จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภายใต้ยุคสงครามเย็น ในปี พ.ศ. 2501-2502 พม่าภายใต้รัฐบาลนายพลเนวินที่ขึ้นสู่อำนาจแบบกึ่งๆรัฐประหารได้นำประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมกลายๆ โดยมีอิสราเอลเป็นต้นแบบ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธแนวทางคอมมิวนิสต์และอิทธิพลของจีน แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการรัฐประหารอย่างชัดเจนได้ปฏิเสธแนวทางคอมมิวนิสต์และอิทธิพลของจีนเช่นเดียวกันกับพม่า แต่ได้นำประเทศเข้าสู่เส้นทางทุนนิยมโดยสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญต่อการเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกที่หนึ่งสาระสำคัญคือ เน้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมโดยอาศัยการส่งเสริมการลงทุนเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้เอกชนดำเนินการ
(แหล่งอ้างอิง: Albert Ravenholt, Burma’s New Deal from the Army---Is It a Pattern for Asia ? June 25, 1959)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร