การทูตในภาวะสงครามสไตล์ ‘โจโกวี’

 “การทูตสไตล์โจโกวี” แห่งอินโดนีเซียต้องเรียกว่า “มาเหนือเมฆ” เลยทีเดียว

เพราะประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กลายเป็นผู้นำเอเชียคนแรกที่พบผู้นำของรัสเซียและยูเครนเพื่อเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ให้คู่กรณีสงครามยูเครนสามารถ “สื่อสารกันและกัน” เพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพ

ส่วนจะได้ผลในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับว่าผู้นำของประเทศในอาเซียนคนนี้ได้แสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศอย่างโดดเด่น

เกินความคาดหมายของหลายๆ ประเทศในยุโรปด้วยซ้ำ

เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นว่าทั้งปูตินและเซเลนสกีเห็นอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ “เป็นกลาง” พอสมควร

ไม่เหมือนกับผู้นำยุโรปหลายชาติที่บินไปทั้งกรุงเคียฟและมอสโกเพื่อทำหน้าที่เป็น “กาวใจ” เหมือนกัน

แต่ส่วนใหญ่ถูกมองว่ามี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อยู่ในที

ไม่อาจจะเป็น Honest Broker หรือ “คนกลางผู้ซื่อสัตย์” (ที่ไร้วาระซ่อนเร้น) ได้

ดังนั้นพอโจโกวีเสนอตัวไปพบผู้นำคู่กรณีสงครามด้วยตัวเอง จึงได้รับการต้อนรับจากทั้ง 2 ฝ่ายอย่างค่อนข้างจะอบอุ่นและเป็นกันเอง

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของโจโกวีก็เพื่อจะ “คานอำนาจ” ของตะวันตกที่กดดันไม่ให้อินโดฯ เชิญปูตินไปร่วมประชุมสุดยอดของ G-20 ที่จะจัดขึ้นที่เกาะบาหลีในเดือนพฤศจิกายน (ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนหน้าประชุมสุดยอด APEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพเพียงไม่กี่วัน)

โจโกวีเห็นช่วงเวลาของการประชุมสุดยอด G-7 ที่เยอรมันนีในจังหวะเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน

จึงถือโอกาสบินพบปะกับผู้นำตะวันตกที่นั่นก่อนที่จะบินไปกรุงเคียฟและมอสโก

เป็นทำนอง “ขอปรึกษาหารือ” กับทางตะวันตกก่อนว่าเขาจะไปเจอผู้นำยูเครนและรัสเซียเพื่อพูดเรื่องที่จะให้ปล่อยเรือสินค้าเพื่อส่งมอบธัญพืช, ปุ๋ยและวัตุดิบอื่นๆ ไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังเดือดร้อนเพราะสงครามได้อย่างไร

ผลจากการพบปะนั้นผู้นำอินโดฯ บอกว่าได้รับคำมั่นจากปูตินที่จะเปิดเส้นทางเดินเรือ และอนุญาตส่งออกอาหารและปุ๋ยจากยูเครน

โดยที่ผู้นำรัสเซียยืนยันว่าเขาก็ต้องการจะบรรเทาวิกฤตอาหารโลกเช่นกัน

และชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่ประเทศตะวันตกที่สร้างวิกฤตเรื่องนี้ เพราะรวมหัวกันคว่ำบาตรรัสเซีย

โจโกวีเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนยูเครนและรัสเซียเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยแสดงความคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการผ่อนคลายปัญหาการส่งออกอาหารและปุ๋ยของยูเครนและรัสเซียไปสู่ตลาดโลก

เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของห่วงโซอุปทาน หรือ supply chain ระดับโลกอันเกิดจากสงครามยูเครน

โจโกวีไม่เพียงแต่เน้นเรื่องวิกฤตอาหารที่กระทบประเทศยากไร้ที่มีประชากรร่วมกันกว่า 2 พันล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามเท่านั้น

แต่ยังเสนอตนที่พร้อมจะสวมบทบาทเป็นสะพานทางการทูต เชื่อมระหว่างรัสเซียและยูเครนอีกด้วย

เพราะเขาเผยว่าได้นำเอา “สาร” จากเซเลนสกีมาฝากปูติน

แต่ไม่เปิดเผยว่าข้อความคืออะไร และเมื่อปูตินได้รับสารนั้นแล้วมีปฏิกิริยาอย่างไร

หลังการพบปะหารือแล้ว โจโกวีก็ยืนแถลงข่าวร่วมกับปูตินที่กรุงมอสโก

ผู้นำอินโดฯ แสดงความขอบคุณผู้นำรัสเซียที่ยอมให้มีการเปิดเส้นทางเดินเรือ เปิดทางให้มีการส่งออกสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งรวมถึงข้าวสาลีและธัญพืช กับปุ๋ยจากยูเครนและรัสเซีย

ผู้นำอินโดฯ บอกว่า “ผมรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ท่านจะรับประกันความปลอดภัยสำหรับเสบียงอาหารและปุ๋ยที่จัดส่งจากทั้งรัสเซียและยูเครน นี่ถือว่าเป็นข่าวดีของมนุษยชาติ นอกจากนี้ผมยังสนับสนุนความพยายามของสหประชาชาติในการฟื้นฟูการจัดส่งสินค้าอาหารและปุ๋ยของรัสเซียและสินค้าอาหารยูเครน กลับคืนสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลกอีกครั้ง”

ปูตินซึ่งยืนแถลงข่าวเคียงคู่กับโจโกวียืนยันถ้อยคำของโจโกวี แต่ไม่ระบุรายละเอียดว่าจะสามารถเปิดทางให้มีการส่งอาหารและปุ๋ยออกจากท่าเรือทางใต้ของยูเครนที่กองกำลังรัสเซียปิดล้อมทางทะเลได้เมื่อไหร่

ปูตินย้ำว่าปัญหานี้ยูเครนต้องแก้ไข เพราะกองทัพยูเครนได้วางทุ่นระเบิดตรงทางเข้าท่าเรือของตัวเอง

ผู้นำรัสเซียบอกว่ายูเครนยังไม่ยอมเข้าเคลียร์ทุ่นระเบิด แม้ว่ามอสโกจะรับประกันความปลอดภัยในการขนส่งธัญพืชออกจากที่นั่นแล้วก็ตาม

ยูเครนอ้างว่าถ้าหากมีการเคลียร์ทุ่นระเบิด ทหารรัสเซียก็จะถือโอกาสโจมตีเป้าหมายทางทหารของยูเครนอีกรอบ

นั่นย่อมแปลว่าแม้โจโกวีจะได้รับคำยืนยันจากปูติน แต่ในทางปฏิบัติคำมั่นสัญญานั่นจะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถจะบอกได้

ผู้นำอินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G-20 ของปีนี้ซึ่งมีรัสเซียรวมอยู่ในประเทศสมาชิกด้วย

ตะวันตกขับไล่รัสเซียออกจากกลุ่ม G-8 เดิมหลังเกิดการผนวกแหลมไครเมียจากยูเครนกลับเป็นของรัสเซียเมื่อปี 2014

จาก G-8 กลายเป็น G-7 ทุกวันนี้

เดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้แต่งตั้งโจโกวีเขาให้เป็น 1 ใน 6 ผู้นำ ‘กลุ่มรับมือวิกฤตการณ์โลก’ (Global Crisis Response Group)

เป็นกลุ่มที่ได้รับภารกิจรับมือกับภัยคุกคามจากความอดอยากหิวโหยทั่วโลกอันเกิดจากภาวะสงครามในยูเครน

โจโกวีบอกว่าเขาได้เรียกร้องผู้นำกลุ่ม G-7 ในระหว่างการประชุมที่เยอรมนีเมื่อสัปดาห์ก่อน สร้างความมั่นใจว่าการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารและปุ๋ย

แต่นั่นแหละ ก็ไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นฝ่าย G-7 หรือรัสเซียที่จะยืนยันได้ว่าสงครามยูเครนจะเบาบางลงเพื่อเปิดทางให้ยูเครนสามารถส่งอาหารและวัตถุดิบไปยังตลาดทั่วโลกได้เมื่อใด

ภารกิจด้านการทูตของผู้นำอินโดนีเซียจึงเป็นบทใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศที่น่าวิเคราะห์ต่อไป

เพราะเป็นการตอกย้ำว่าคำว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือ Geopolitics นั้นสามารถมองข้ามทวีป...จากอาเซียนไปสู่สงครามยูเครนได้เช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ