เลติเซีย-ตาบาติงกา

โคลอมเบียมีตุ๊กๆ ให้บริการในบางเมือง และเรียกว่า “ตุ๊กๆ” เหมือนอย่างบ้านเรา แต่เขียนด้วยอักษรโรมันว่า Tuc Tuc ส่วนใหญ่เป็นรถยี่ห้อ Bajaj นำเข้าจากอินเดีย และที่เมืองเลติเซีย รัฐอามะโซนัส ตุ๊กๆ ถือเป็นขนส่งสาธารณะหลัก

ภิกษุหนุ่ม พระศุภชัย สุภาจาโร หนึ่งในคณะพระธุดงค์เพื่อสันติภาพโลก นั่งตุ๊กๆ มาจอดหน้าที่พัก Casa Hotel Maüneซึ่งมีลักษณะเป็นเกสต์เฮาส์มากกว่าโรงแรม ตั้งอยู่ตรงบริเวณหัวมุมถนน Calle 12 ตัดกับ Carrera 8ท่านแยกมาจากคณะที่ไปหาซื้อตั๋วเรือโดยสารล่องแอมะซอน มารับผมไปช่วยหาอีกแรง

ผมเก็บกระเป๋าในห้องพักแล้วเอากระเป๋าของฝากซึ่งล้วนเป็นอาหารแห้ง 1 กระเป๋าเต็มๆ ที่ซื้อจากร้านน้ำพริกนิตยา บางลำพู ขนมาฝากคณะ เก็บในห้องของโยมที่ติดตามพระธุดงค์ ตอนนี้มีท่านหนึ่งอยู่ในห้อง ชื่อแม่พริ้งกี้ ไม่ได้ออกไปหาซื้อตั๋วกับคณะใหญ่ แกบ่นหิว ผมจึงแนะนำให้ประทังท้องด้วยกวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป ตอนที่แกต้มน้ำร้อนผมก็ออกไปเรียกตุ๊กๆ กับพระศุภชัย 

ขณะนั่งตุ๊กๆ อยู่ในเมืองตาบาติงกา ประเทศบราซิล

คนขับวัยรุ่นคิดค่ารถ 5 เปโซ หรือประมาณ 45 บาท (1 เปโซเท่ากับ 9 บาท) สำหรับระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตรไปพรมแดนโคลอมเบีย-บราซิล เรียกว่า Frontera พอถ่ายรูปตรงนี้เสร็จผมขอให้ข้ามไปเมืองตาบาติงกา ฝั่งบราซิล เขายังไม่เรียกราคาเพิ่ม

ตุ๊กๆ ในเมืองเลติเซีย ประเทศโคลอมเบีย

สำหรับเมืองตาบาติงกานี้อยู่ในรัฐชื่ออามะโซนัสเช่นกัน โดยรัฐอามะโซนัสของบราซิลเป็นรัฐขนาดใหญ่สุดของประเทศ มีเมืองมาเนาส์เป็นเมืองเอก ซึ่งจะเป็นปลายทางของคณะในการเดินทางล่องเรือ 1,600 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 วัน 3 คืน

ไม่มีการตรวจเอกสารใดๆ ตอนข้ามแดน ไม่มีอะไรกั้น ทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ยืนตรวจตรา มีเพียงธงชาติ 3 ประเทศ ได้แก่ โคลอมเบีย บราซิล และเปรู อยู่ตรงวงเวียนก่อนข้ามแดน

เนื่องจากสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา คนขับพาเราไปที่ท่าเรือสำหรับเรือเล็ก กลางแม่น้ำแอมะซอนมีร้านอาหารเรือนแพจำนวนสามสี่ร้าน ฝั่งตรงข้ามคือประเทศเปรู แผ่นดินที่มองเห็นคือเกาะกลางแอมะซอนชื่อ “จิเนเรีย” ตั้งอยู่ในเขตเมืองยาวาริ รัฐโลเรโต แม่น้ำแอมะซอนบริเวณนี้คือเขตแบ่ง 3 ประเทศ อาจเรียกเล่นๆ ได้ว่า “แอมะซอนสามชาติ” หรือ “สามเหลี่ยมทองคำแห่งแอมะซอน” ก็ย่อมได้

ก่อนเครื่องบินลงจอดที่เลติเซีย มองเห็นแม่น้ำปูตูมาโย สาขาหนึ่งของแม่น้ำแอมะซอน

เปรูมีรัฐชื่ออามะโซนัสเช่นเดียวกับโคลอมเบียและบราซิล แต่อยู่ถัดไปทางตะวันตกของรัฐโลเรโต ไม่ได้ติดกับอามะโซนัสของโคลอมเบียและบราซิล
สำหรับเมืองเลติเซียที่เราค้างแรมนั้นในอดีตเคยทำให้เปรูต้องรบกับโคลอมเบียมาแล้วในช่วงปลายปี ค.ศ.1932 ถึงต้นปี ค.ศ.1933 เพราะเปรูไม่พอใจสนธิสัญญาปักปันเขตแดนในพื้นที่ช่วงบนของแอมะซอนกับโคลอมเบียใน 1 ทศวรรษก่อนหน้านั้น
หลังจากเปรูประกาศทวงเลติเซียคืนก็ได้นำกำลังเข้าขับไล่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐโคลอมเบียจนต้องหนีกระเจิดกระเจิงเข้าไปในบราซิล ทั้งนี้ด้วยความช่วยเหลือสนับสนุนจากชาวบ้านในเมืองเลติเซียที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเปรู กว่าทางโบโกตาจะทราบเรื่องก็ผ่านไปหลายวัน ก่อนจะจัดแจงส่งกองทัพบุกลงมา

สงครามยืดเยื้ออยู่ 8 เดือน สูญเสียชีวิตจากอาวุธไปฝั่งละประมาณ 60 คน ตายจากโรคในป่าอีกประมาณข้างละ 200 คน อย่างไรก็ตามโคลอมเบียหลีกเลี่ยงที่จะบุกเข้าเลติเซีย และเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเปรูในกรุงลิมาทำให้ผู้นำคนใหม่ของเปรูออกคำสั่งถอนกำลังออกจากเลติเซีย สนธิสัญญาสงบศึกลงนามกันหลังจากนั้นที่เมืองรีโอเดจาเนโรของบราซิล และเลติเซียก็กลับเป็นของโคลอมเบียตามสนธิสัญญาฉบับก่อนหน้านั้น
ผมบอกคนขับตุ๊กๆ ด้วยภาษาอังกฤษผสมสเปนกระท่อนกระแท่นว่าให้พาไปท่าเรือที่จะล่องไปมาเนาส์ เขาก็เข้าใจ และทำท่าทางประมาณว่า 5 เปโซไม่ไหวนะ ผมบอกว่าเดี๋ยวให้เพิ่ม เขาก็บึ่ง “บาจัจ” ออกไปตามคำขอ

บรรยากาศของฝั่งบราซิลดูคึกคักมีชีวิตชีวากว่าฝั่งโคลอมเบียอย่างเห็นได้ชัด ถ้าไม่ดูหน้าตาคนและเสียงดนตรีที่ได้ยินมาจากร้านค้าและลำโพงของรถราที่วิ่งบนถนน ก็อาจคิดว่ากำลังอยู่ในอินเดีย
เราเจอคณะใหญ่เดินออกมาจาก Porto de Tabatinga ท่าเรือสำหรับเรือใหญ่ล่องแอมะซอน แต่มาถึงช้าหมดเวลาขายตั๋วไปแล้ว ผมจ่ายเงินให้คนขับตุ๊กๆ 30 เปโซ เพื่อเป็นค่ารถที่มาส่งผมและพระศุภชัย รวมกับที่จะให้ขับไปส่งสุภาพสตรีค่อนข้างสูงวัยทั้งหลายที่เป็นโยมติดตามรับใช้พระธุดงค์ให้ถึงที่พัก น่าทึ่งที่เหล่าคุณป้าเดินกันมาจากที่พักในเมืองเลติเซีย ฝั่งบราซิล ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เวลาตอนนี้เลย 6 โมงเย็นมาแล้ว คงทรหดเกินไปหากต้องเดินกลับอีก 4 กิโลเมตร

ผมกับพระศุภชัยร่วมแจมกับคณะหมายจะเดินกลับโรงแรม แต่เดินไปได้กิโลนิดๆ หนึ่งในคณะสงฆ์โบกได้รถ 3 ล้อมีกระบะคันหนึ่ง ตัวรถเป็นมอเตอร์ไซค์ แต่นำมาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก ขณะที่พวกเราสนใจรถ ผู้คนก็ให้ความสนใจพระ ขอถ่ายรูปอยู่หลายนาที คนขับรถก็ถ่ายด้วย สุดท้ายได้เจรจากันและตกลงให้ไปส่งที่พักในราคา 30 เปโซ พระสงฆ์ 6 รูปและ 1 ฆราวาสอัดกันในกระบะเล็กๆ รถวิ่งไปบนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง ลงหลุมทีก็ร้องโอ้ยพร้อมกัน ถึงโรงแรมคนขับลงมาเปิดท้ายให้ แต่ละคนค่อยๆ ยืดขา ลงจากรถอย่างช้าๆ แล้วสำรวจกระดูกกระเดี้ยว โชคดีไม่มีใครถึงกับบาดเจ็บ

โยมที่มาถึงก่อนนิมนต์คณะสงฆ์ไปฉันน้ำปานะที่ร้านค้าใกล้ที่พัก ผู้ชายอายุคงเกือบๆ 60 ปีนั่งดื่มเบียร์อยู่ที่โต๊ะตัวหนึ่ง เห็นผมมองเบียร์ในมือแกด้วยความสนใจแกก็ชวนให้ผมนั่ง ก่อนนั่งผมก็ไปซื้อเบียร์ยี่ห้อ Poker แบบเดียวกับแกมา 1 กระป๋อง ต่างคนต่างพูดกันคนละภาษา ก็สนุกดี คณะกลับห้องพักไปแล้วผมไปหยิบเบียร์มาอีกกระป๋อง ผมจำราคาไม่ได้ รู้สึกว่า 2 หรือ 3 เปโซเท่านั้น

ผมจับใจความจากที่พูดกันได้ว่าชายคนนี้ทำงานที่สนามบินเลติเซีย แขนแกบาดเจ็บจากการทำงานข้างหนึ่ง เวลานี้ใช้สายคล้องไหล่ ช่วงเบียร์กระป๋องที่ 2 นี้เองมีอีกคนเข้ามาหาแก คุยกันไม่ยาวชายคนนั้นก็ลุกไป แกบอกว่า “แขนเจ็บอยู่ ไม่ได้ทำงาน ยังจะมายืมเงินอีก” ผมฟังภาษาสเปนไม่ออก แต่เข้าใจว่าความหมายน่าจะเป็นอย่างนี้

จบเบียร์ Poker ไว้ที่ 2 กระป๋อง ผมเดินกลับที่พัก อาบน้ำแล้วออกไปกินมื้อค่ำกับโยมติดตามพระท่านหนึ่ง หาร้านอยู่นานกว่าจะลงเอยที่ร้านอาหาร Cali Pollos เน้นขายไก่ย่างแบบเสียบเหล็กหมุน หนังไก่แทบละลาย และเครื่องปรุงสมุนไพรก็เข้าเนื้อ รสชาติไก่ดีมาก เข้ากับเบียร์ Poker ที่ผมซื้อมาอีก 1 กระป๋องจากร้านขายของชำตอนเดินหาร้านอาหาร คุณป้าที่มาด้วยกันกินไปราว 1 ใน 4 ของไก่ 1 ตัว ผมกินที่เหลือทั้งหมดโดยไม่ใส่น้ำจิ้ม มีสลัดและมันต้มเป็นเครื่องเคียง ผมจำราคาอาหารไม่ได้แล้ว รู้สึกแต่เพียงว่าถูกมาก

เช้าวันต่อมาคณะไปซื้อตั๋วเรือ และวางแผนล่องเรือเล็กเที่ยวตามแม่น้ำสาขาของแอมะซอนในฝั่งเปรู คนไทยเข้าเปรูได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ส่วนญาติโยมที่ติดตามพระก็มีพาสปอร์ตอเมริกาเข้าได้เกือบทุกประเทศทั่วโลก ผมไม่ได้ไปล่องเรือด้วยเพราะติดเขียนคอลัมน์ เช่นเดียวกับแม่พริ้งกี้ที่เฝ้าที่พักเหมือนเดิม เราฝากพาสปอร์ตไปกับคณะเผื่อว่าต้องใช้ประกอบการซื้อตั๋ว

เรือโดยสารล่องแอมะซอนที่เราจะฝากชีวิตไว้ 4 วัน 3 คืน

แม่พริ้งกี้ท้องอืดเพราะกวยจั๊บตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้แล้ว เส้นคงสุกไม่พอเพราะแค่ลวกน้ำร้อนเท่านั้น แกบ่นว่าปวดท้อง ผมพกยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบินไปจากเมืองไทย 2 ขวด ยกให้แก 1 ขวด ยานี้มีประโยนช์มากยามเดินทางแบบลุยๆ เพราะเราไม่รู้ว่าปัญหาเรื่องท้องไส้จะบังเกิดขึ้นเมื่อใด ผมเคยมีอาการหนักมากที่เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย เมื่อหลายปีก่อน ท้องเสียอยู่ 3 วันกว่าจะนึกขึ้นได้ว่าพกยาธาตุน้ำขาวไปด้วย กินปุ๊บไม่กี่ชั่วโมงก็ดีขึ้น
ได้เวลามื้อเที่ยง ผมเดินออกไปหาซื้อในรัศมีสามสี่ร้อยเมตร เห็นร้านขายไก่หมุนแบบเดียวกับที่กินเมื่อคืนก็เข้าไปซื้อมาครึ่งตัว รสชาติคล้ายๆ กัน แม่พริ้งกี้กินไก่อย่างเอร็ดอร่อย ผมยังนึกเสียดายที่ซื้อมาแค่ครึ่งตัว ไม่คิดว่าแกจะหายปวดท้องเร็วขนาดนี้

ไม่เลือกกินไม่อดตาย แมวสองแม่ลูกต่อแถวกินขนมขบเคี้ยวจากหนูน้อยจิตอารี

แม่พริ้งกี้เป็นคนอุดรธานี เล่าให้ผมฟังว่าสมัยสาวๆ เป็นช่างเสริมสวยในตอนกลางวัน และเป็นนักร้องตามร้านอาหารในตอนกลางคืนช่วงที่อเมริกาเข้าไปตั้งฐานทัพในไทยระหว่างสงครามเวียดนาม รวมถึงที่จังหวัดอุดรธานี โชคชะตาพลิกผันไปเป็นหมอนวดไทยแผนโบราณที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย แกว่ามีผู้หญิงไปขายบริการที่นั่นเยอะมาก และถูกจับตรวจภายในทุกๆ 3 เดือน แกผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการขายบริการก็โดนหางเลขไปด้วย “ทุก 3 เดือนก็หวาดผวากันทีหนึ่ง” แกว่า

พอกลับเมืองไทยมีคนชักชวนให้ไปเป็นช่างเสริมสวยที่อเมริกา จนต่อมาได้เป็นพลเมืองอเมริกันเต็มขั้นและอยู่ยาวจนถึงทุกวันนี้ ในวัย 80 ปีแกยังดูแข็งแรง ติดตามพระธุดงค์มาแล้วราว 3 เดือน เรื่องฝีมือการนวดยังคงยอดเยี่ยม วันหนึ่งผมเจ็บเอ็นร้อยหวายจนเดินแทบไม่ไหว แกจับเส้นนิดๆ หน่อยๆ พร้อมประคบเย็น พักแป๊บเดียวก็เดินปร๋อ
ผมได้รับข้อความจากทางคณะที่ไปซื้อตั๋วเรือว่ากำลังอยู่ที่ตรวจคนเข้าเมือง สนามบินเลติเซีย ที่ต้องไปที่นั่นเพราะเพิ่งทราบว่าต้องนำพาสปอร์ตไปประทับตรา “ออก” จากโคลอมเบีย เจ้าหน้าที่ต้องการให้คนไปปรากฏตัวพร้อมกับพาสปอร์ต
พอผมและแม่พริ้งกี้เตรียมจะเรียกตุ๊กๆ ก็ได้รับข้อความใหม่ว่า ตม.ใจดีปั๊ม “ออก” ให้แล้ว หลังจากมีผู้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าผมและแม่พริ้งกี้ท้องเสีย เป็นเหตุให้ไม่สามารถไปพร้อมกับคณะได้ตั้งแต่แรก
เวลาสำหรับคณะในการล่องแม่น้ำสาขาของแอมะซอนในเปรูคงเหลือไม่มาก แต่ก็ไม่พลาด กลับกันมาตอนฟ้ามืดพอดี

วันต่อมา เรือโดยสารกำหนดออกเดินทางเวลาเที่ยงตรง แต่เราเช็กเอาต์ออกจากเกสต์เฮาส์ประมาณ 9 โมงเช้า มีพระฝรั่งจากอเมริกา 2 รูปไม่ได้เดินทางไปด้วย ท่านทั้งสองมีกำหนดกลับสหรัฐในอีกไม่กี่วันหลังจากนี้

เจ้าของเกสต์เฮาส์โทรศัพท์เรียกแท็กซี่ให้ 3 คัน ขนทั้งคนและสัมภาระ ที่หมายแรกคือสถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตาบาติงกา ประเทศบราซิล (Departmento de Policia Federal – Tabatinga) เพื่อนำพาสปอร์ตไปประทับตรา “เข้า”
คนไทยสามารถพำนักในบราซิลได้คราวละ 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า ส่วนอเมริกันก็เข้าได้สบายๆ อยู่แล้ว สำหรับชาวโคลอมเบียหรือเปรูเข้าบราซิล หากอยู่แต่ในเมืองตาบาติงกา ผมเชื่อว่าคงได้รับการยกเว้นไม่ต้องประทับตราเข้าเมือง เพราะตาบาติงกาไม่มีถนนเชื่อมกับเมืองถัดไปของบราซิล การออกจากตาบาติงกาถ้าไม่นั่งเครื่องบินไปยังเมืองมาเนาส์ ก็ต้องนั่งเรือ และหากนั่งเรือก็ต้องมาที่สถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแห่งนี้

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั่งประจำเคาน์เตอร์อยู่ 2 คน แต่ทำงานครั้งละคน รับพาสปอร์ตจากพวกเราไป 9 เล่ม แล้วเรียกทีละคน ค่อยๆ เปิดพาสปอร์ตทีละหน้า กว่าจะครบใช้เวลาตรงนี้เกือบ 1 ชั่วโมง แท็กซี่ที่เช่าไว้ไปส่งที่ท่าเรือ และที่ท่าเรือพวกเราต้องเข้าคิวเพื่อถ่ายรูปทำประวัติ ตรงท่าเรือแม้คิวจะยาว แต่กระบวนการผ่านไปค่อนข้างรวดเร็ว เวลาที่เหลือโยมติดตามพระก็ไปซื้อมื้อเที่ยงเพื่อถวายเพลในเรือ บางคนก็ไปหาที่แลกเงิน บ้างซื้อซิมโทรศัพท์บราซิล ส่วนผมเฝ้ากระเป๋าสัมภาระรออยู่ที่ท่าเรือ

ตอนใกล้เที่ยงได้เวลาลงเรือ ซึ่งจุดลงเรืออยู่ห่างจากอาคารท่าเรือประมาณ 150 เมตร ทางเดินเป็นถนนซีเมนต์อย่างดี ไม่มีใครอยากลากกระเป๋าสัมภาระไปเอง จึงใช้บริการรถเข็นกระเป๋า โดยต้องใช้ 2 คัน คนเข็น 2 คน สองหนุ่มเรียกคันละ 60 เรียล (1 เรียลเท่ากับ 7 บาท) หรือ 420 บาทต่อคัน เท่ากับรวมแล้ว 840 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก ก่อนจะลดราคาลงมาเหลือคันละ 40 เรียล เท่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันตามกฎหมายใหม่ของบราซิล

พอขนไปถึงเรือ พระท่านหนึ่งให้ทิปอีกคนละ 50 เรียล รวมเป็น 100 เรียล ท่านคงเข้าใจว่า 100 บาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย