น่าคิด...
ถึงจะเป็นประเด็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การย้ายพรรคของ ส.ส.ต้องทำภายในกี่วัน ในเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็มีประเด็นต่อเนื่องให้ต้องพูดถึงกันมากทีเดียว
มาตรา ๙๗ (๓) ระบุคณะสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ไว้ว่า
“...เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน....”
รัฐบาลลุงตู่วางไทม์ไลน์การทำงานมานานพอควรแล้วว่า จะอยู่เป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก ๒๐๒๒) ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายนนี้
หลังจากนั้นยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่
จะยุบหรือไม่ยุบโดยเงื่อนเวลาแทบไม่ต่างกันเท่าไหร่
แม้วาระของสภาผู้แทนราษฎรจะหมดลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๖ แต่สมัยประชุมสภาสมัยสุดท้ายจะปิดลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ก็หมายความว่า ส.ส.สามารถประชุมสภานัดสุดท้ายได้ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
หลังจากนั้นก็ปิดสมัยประชุม
หากมีการยุบสภาต้นปี การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นก่อนกรณีสภาอยู่ครบวาระเพียง ๒-๓ เดือนเท่านั้น
แต่ในมุมการเมืองส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลพยายามจะอยู่ครบวาระมากกว่ายุบสภา
เว้นเสียว่าความนิยมในตัวรัฐบาลไต่ขึ้นไปแตะเพดานสูงสุด การชิงยุบสภาเพื่อความได้เปรียบในการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้น
การเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกมีความสำคัญทั้งในแง่ภาพพจน์ทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี และการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ ในกลุ่ม
เช่นการประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๔๖ หลังจากการประชุมเอเปกได้สิ้นสุดลง ไทยได้มีข้อตกลงร่วมกับบางเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปกทันที
อาทิ ข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน ความตกลงสภาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและรัสเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้การมาเยือนไทยของผู้นำชาติเอเปก ๒๑ ชาติ อาทิ
ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ล้วนสามารถยกระดับภาพความเป็นผู้นำอินเตอร์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไม่ยาก
แต่...ต้องอยู่บนเงื่อนไขผู้นำประเทศยักษ์ใหญ่ต้องมากันครบ
โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกากับรัสเซีย
เพราะนี่จะเป็นเวทีแรกๆ ที่ทั้งคู่ได้เจอกัน หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
หาก "ลุงตู่" ต้องการภาพอินเตอร์ ทีมงานนายกฯ น่าจะวางแผนเอาไว้แล้วว่า ไทยจะรับอาสาเป็นตัวกลางในการพูดคุยหรือไม่อย่างไร
ไม่ใช่เล่นเกินเบอร์
แต่เป็นโอกาสที่ไทยทำได้
จำเป็นครับที่ "ลุงตู่" จะต้องปรับบุคลิกนิดหน่อยให้ดูสมาร์ทและสมูธกว่าเดิม เพื่อให้ภาพรวมการประชุมเอเปกดูราบรื่น และยิ่งใหญ่ไร้ตำหนิ
ทั้งหมดจะมีผลต่อการเลือกตั้งมหาศาล
โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. และเขตเมืองของจังหวัดต่างๆ
พูดง่ายๆ เวทีการประชุมเอเปก เป็นได้ทั้งเวทีสนับสนุนให้ "ลุงตู่" ติดลมบน พรรคการเมืองไหนได้ไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเตรียมฉลองได้เลย
ในมุมกลับ เป็นเวทีฆ่า "ลุงตู่" ได้เช่นกัน
กรณีนี้เกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก
ปัจจัยภายในคือ การเมืองภายในประเทศเอง การสนับสนุนม็อบของพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ระดับความรุนแรงยังฟันธงไม่ได้ อยู่ที่สถานการณ์การเมือง ณ ขณะนั้นเป็นหลัก
หากเกิดความผิดพลาดเพราะเกมของชาติมหาอำนาจ ที่ใช้เวลาเอเปกห้ำหั่นกัน เป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยควบคุมได้ยาก
กรณีนี้ก็น่ากลัวเช่นกันหาก "ลุงตู่" ไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นมือประสาน
และกรณีเดียวกันนี่เองสามารถสร้างชื่อให้ "ลุงตู่" ดังไปก้องโลก หากสามารถจบปัญหาระดับโลกได้ที่ไทย
เวทีนี้จึงสำคัญต่อการเลือกตั้งอย่างมาก
หากจบเอเปกกระแส "ลุงตู่" พุ่งกระฉูด ก็เป็นไปได้สูงว่าจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นวิถีของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา
รัฐบาลมีความนิยมสูงก็ชิงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้รัฐบาลมีเสียงมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลที่มั่นคงขึ้นด้วย
ฉะนั้น ส.ส.จะย้ายพรรคก็ต้องเล็งให้ดี
สูตรง่ายๆ อยู่ครบวาระต้องย้ายก่อนเลือกตั้ง ๙๐ วัน
ยุบสภาย้ายก่อนเลือกตั้ง ๓๐ วัน
หากไม่มีอุบัติเหตุการเมืองใดๆ และรัฐบาลลุงตู่ จัดประชุมเอเปกผ่านไปเรียบร้อย หลังเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๖ ฝุ่นตลบแน่นอน
"ลุงตู่" แผ่ว พลังประชารัฐก็วูบ
กลับกัน "ลุงตู่" ขึ้นหม้อ พลังประชารัฐเตรียมซื้อเก้าอี้เข้าพรรคเพิ่ม
แต่ก็มีความพยายามทำให้รัฐบาลลุงตู่จบในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน
ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
"ธรรมนัส พรหมเผ่า" ยังเป็นหอกข้างแคร่ที่ควรให้ความสนใจหรือไม่?
มองในแง่แท็กติกทางการเมือง "ธรรมนัส" สร้างความปั่นป่วนได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาล เพราะ "ลุงป้อม" ค้ำอยู่เหนือ "ธรรมนัส" อีกที
ท่าทีของ "ธรรมนัส" ในวันนี้จึงมีเป้าหมายแซะ "ลุงตู่" เป็นหลัก
การเมืองไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร
เพื่อไทยทำท่าจะยืมจมูก "ธรรมนัส" หายใจ แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะ "ธรรมนัส" เองก็มีแผลรอบตัว
ที่สำคัญเป็นแผลที่ฝ่ายค้านเป็นคนแทงเสียเอง
จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันอยู่
ทำไม "ธรรมนัส" ต้องเขย่า "ลุงตู่" แล้วทำไม "ลุงป้อม" ไม่ห้ามปราม หรือห้ามไม่ได้
แน่นอนครับเป้าหมายของ "ธรรมนัส" ไม่ใช่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ต้องการตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาล
อัปตัวเองขึ้นมาอีกระดับ ก็ต้องชนรุ่นใหญ่
การห้ามปราบของ "ลุงป้อม" ก็คือจับแยกออกจากพลังประชารัฐ ส่งไปคุมพรรคเศรษฐกิจไทย ทำมากกว่านี้คงยาก เพราะน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
แต่การเขย่า "ลุงตู่" ของ "ธรรมนัส" นั่นไม่ค่อยจะได้ผลนัก ก็เพราะแผลรอบตัวนั่นเอง
วันก่อน "ธรรมนัส" พยายามจะส่งสัญญาณว่า
"...หากได้รับเสียงสนับสนุนในสภาน้อย มันก็ควรที่จะต้องพิจารณาตัวเอง..."
"...ถ้าเป็นผมอง ถ้าได้ที่โหล่อย่างนั้น ก็คงจะไป..."
"ธรรมนัส" คงลืมไปว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ รัฐนตรีที่ได้คะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุดชื่อ "ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"
ได้คะแนนไว้วางใจ ๒๖๙ คะแนน
ขณะที่ "ลุงตู่" และรัฐมนตรีคนอื่นๆ ได้ ๒๗๒ คะแนน
ยกเว้น "ลุงป้อม" ที่กระโดดไป ๒๗๗ คะแนน
"ธรรมนัส" โหล่สุด และไม่ลาออก แต่ถูก "ลุงตู่" ปลดในเวลาต่อมา
การเมืองไม่ได้เล่นกันวันเดียวครับ
อดีตจะเป็นชนักติดหลังไปจนตาย
คนที่จะชี้อนาคตรัฐบาลและพลังประชารัฐไม่ใช่ "ธรรมนัส"
แต่เป็น "ลุงตู่".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี