เยือนโบสถ์ใต้ดิน บิณฑบาตสวนสาธารณะ

กิจนิมนต์ของคณะพระธุดงค์เพื่อสันติภาพโลกที่นำโดย “พระสุธรรม ฐิตธัมโม” หลังจากงานสานสัมพันธ์ไทย-โคลอมเบียที่กรุงโบโกตาจบลงแล้ว อีกเกือบ 3 สัปดาห์ถัดมาก็จะไปร่วมงานลักษณะเดียวกันที่กรุงการากัส ประเทศเวเนซุเอลา ช่วงระยะเวลาที่เหลือนานพอสมควรนี้ทำให้คณะพระธุดงค์และญาติโยมติดตามใช้ทัศนศึกษาและเดินทางสะสมประสบการณ์อันหาได้ยาก

ช่วงสามสี่วันแรกท่องเที่ยวในกรุงโบโกตาและเมืองใกล้เคียง ก่อนจะบินไปเลติเซีย เมืองทางใต้สุดของโคลอมเบีย เพื่อข้ามแดนสู่ตาปาติงกา ประเทศบราซิล และนั่งเรือโดยสารประมาณ 1,600 กิโลเมตร ล่องแอมะซอนไปมาเนาส์ เมืองเอกของรัฐอามะโซนัส แล้วหารถบัสเข้าเวเนซุเอลาจากที่นั่น

ก่อนจะบินไปเมืองเลติเซีย ผมขอกล่าวถึง 2 สถานที่ที่คณะสงฆ์ได้ไปเยือนเสียก่อน แห่งแรกคือโบสถ์เหมืองเกลือ (Catedral de Sal หรือ Salt Cathedral) ในเมืองซิปากิรา จังหวัดกุนดินามาร์กา ห่างจากที่พักในกรุงโบโกตาแค่ 50 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะการจราจรช่วงออกจากตัวเมืองค่อนข้างติดขัดแม้เป็นวันเสาร์เช้า และเมื่อออกจากเมืองแล้วสภาพถนนไม่ค่อยดี คุณทอดด์ ทองดี ศิลปินที่ได้รับเชิญมาในงานของสถานทูตนั่งรถไปโบสถ์เหมืองเกลือด้วยกัน แกถึงกับกล่าวออกมาว่าคงต้องกลับไปชื่นชมถนนเมืองไทยให้มากกว่าเดิมเสียแล้ว

รถตู้ที่คณะเช่าไว้แวะจอดที่ร้านอาหารชื่อ Brasas del Llano ในเมืองซิปากิรา ก่อนถึงโบสถ์เหมืองเกลือประมาณ 1 กิโลเมตร ร้านนี้เน้นอาหารจำพวกเนื้อย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง ตกแต่งร้านด้วยข้าวของโบราณจำนวนนับชิ้นไม่ถ้วน โชเฟอร์คงรู้จักเจ้าของร้านเป็นอย่างดี และน่าจะป้อนลูกค้ารับค่าคอมมิชชันเป็นประจำ

เจ้าของร้านพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเข้ามาพูดคุยเสนอขายตั๋วเข้าโบสถ์เหมืองเกลือ เขาเทียบให้ดูกับเว็บไซต์ทางการของโบสถ์ว่าราคาเท่ากัน ตั๋วที่ซื้อซึ่งเป็นแบบ Basic (ยังมีแบบ Standard และ Premium สำหรับใช้เข้าสถานที่ต่างๆ ได้จำนวนมากกว่า) คนละ 77,500 เปโซ หรือประมาณ 685 บาท (ตั๋วสำหรับชาวโคลอมเบียราคา 49,500 เปโซ) แต่ซื้อกับเขานั้นดีกว่าเพราะไม่ต้องไปเข้าคิวซื้อหน้าโบสถ์ ทางคณะตกลงซื้อ และขอเมนูอาหารติดตัวขึ้นรถไปด้วย เพราะกะว่าจะโทร.สั่งอาหารเพลถวายพระมาจากในโบสถ์เพื่อให้ทางร้านเตรียมไว้ก่อน ใกล้เที่ยงก็ออกจากโบสถ์ตรงมาฉันได้เลย

สำหรับเหมืองหินเกลือที่กลายมาเป็นโบสถ์ในปัจจุบัน ชาวมุยสกาซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมเคยขุดเกลือใช้สอยและทำการค้ามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 นักวิชาการยืนยันว่าเป็นเหมืองหินเกลือขนาดใหญ่กว่าที่ทำกันในยุโรปยุคเดียวกันเสียอีก

ภายในโบสถ์เหมืองเกลือ Catedral de Sal เมือง Zipaquira

เมื่อสเปนมาถึงพวกเขาก็เข้าทำเหมืองเกลือต่อ และราวปี ค.ศ.1932 ได้ขุดโถงถ้ำให้เป็นเสมือนโบสถ์และแกะสลักรูปไม้กางเขน เพื่อการสวดมนต์ขอพรก่อนเริ่มงานในแต่ละวัน จากนั้นปี ค.ศ.1950 ก็สร้างโบสถ์ขึ้นในเหมือง ปัจจุบันเรียกว่า “โบสถ์เก่า” แต่เนื่องจากโบสถ์ตั้งอยู่ในเหมืองที่กำลังขุดหินเกลือกันอยู่ ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยทำให้รัฐบาลสั่งปิดโบสถ์เก่าในปี ค.ศ.1992 ควบคู่ไปกับการสร้างโบสถ์หินเกลือแห่งใหม่ โดยได้ขุดลงไปใต้ดิน 180 เมตร ลึกกว่าโบสถ์เก่า 60 เมตร เมื่อสร้างเสร็จสามารถจุคนได้ถึง 8,000 คน เปิดใช้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1995

โบสถ์เหมืองเกลือนี้เป็นโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีได้ แต่ไม่มีบิชอป จึงไม่ถือว่าเป็นโบสถ์อย่างเป็นทางการ แต่ความยิ่งใหญ่อลังการอันเป็นผลจากความอุตสาหะในการขุดเจาะและแกะสลัก จึงได้ถูกเรียกว่า “อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมยุคใหม่ของโคลอมเบีย” และ “สิ่งมหัศจรรย์ของโคลอมเบีย”

คุณทอดด์ ทองดี ณ จุดใดจุดหนึ่งใน 14 จุดของมรรคาศักดิ์สิทธิ์

Catedral de Sal เป็นส่วนหนึ่งของ Parque de la Sal ที่มีพื้นที่ครอบคลุม 32 เฮกตาร์ หรือประมาณ 200 ไร่ ภายในคอมเพล็กซ์มีสถานที่ต่างๆ อีกนับ 10 แห่ง นอกเหนือจากโบสถ์แล้ว หากมีเวลาก็ไม่ควรพลาดพิพิธภัณฑ์เหมืองเกลือ

สำหรับการเดินทางมายัง Catedral de Sal สามารถขึ้นรถไฟท่องเที่ยวแบบรถจักรไอน้ำ Tren Turistico de la Sabana มาจากกรุงโบโกตา สถานีตั้งอยู่ไม่ห่างจากจัตุรัสโบลิวาร์ โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานีซิปากิรา อำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเที่ยวโบสถ์เหมืองเกลือโดยเฉพาะ

รถไฟออกจากสถานีต้นทาง Sabana Station ในโบโกตาเวลา 08.20 น. แวะสถานี Usaquen อีกสถานีในกรุงโบโกตาเช่นกันเวลา 09.05 น. แล้วแล่นผ่านทุ่งหญ้าสะวันนาให้นักท่องเที่ยวชื่นชมทิวทัศน์เป็นเวลารวม 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึงสถานี Zipaquira Station เวลา 10.45 น. ส่วนขากลับออกจาก Zipaquira Station เวลา 15.15 น. ถึง Sabana Station เวลา 17.35 น. ให้บริการเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ราคาตั๋วสำหรับไป-กลับ 68,000 เปโซ ส่วนรถไฟขนส่งผู้โดยสารทั่วไปของโคลอมเบียนั้นหยุดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 แล้ว

โชเฟอร์รถตู้ให้เบอร์โทรศัพท์ผมไว้ เขาพูดภาษาสเปนพร้อมทำไม้ทำมือ ผมก็เข้าใจว่ากลับออกมาจากโบสถ์เหมืองแล้วให้โทร.หา เขาจะได้เตรียมรถออกไปรับ

ตอนที่พวกเราถึงหน้าทางเข้าก็เป็นดังที่เจ้าของร้านอาหารบอกไว้ แถวซื้อตั๋วยาวหลายเมตร ทางคณะถ่ายภาพบริเวณจัตุรัสชาวเหมือง (Plaza del Minero) กันพอหอมปากหอมคอแล้วเดินตรงไปยังประตูทางเข้าโบสถ์เหมืองเกลือ

ช่วงแรกของโบสถ์เป็นอุโมงค์หรือโถงทางเดินสูง 13 เมตร ยาว 386 เมตร มี 14 ที่หมายสู่กางเขน หรือที่เรียกว่า “มรรคาศักดิ์สิทธิ์” (Stations of the Cross) แยกออกเป็นปีกซ้าย-ปีกขวา ตรงสุดฝั่งผนังถ้ำของทั้ง 14 จุดที่ขุดเข้าไปมีการแกะเป็นรูปไม้กางเขน แล้วให้แสงไฟหลากสีสวยงามทั้ง 14 จุด หรือ 14 Station แต่ละ Station มีการเขียนเหตุการณ์กำกับไว้ ตั้งแต่ Station ที่ 1 พระเยซูถูกตัดสินประหารชีวิต จนถึง Station ที่ 14 ร่างพระเยซูถูกวางในที่ฝัง

พวกเราเดินกันมาจนถึงจุดสิ้นสุดของมรรคาศักดิ์สิทธิ์ ไฟฟ้าภายในโบสถ์เหมืองก็ดับลง ไฟสำรองติดขึ้นทำให้เห็นว่าถึงทางเชื่อมสู่ส่วนทำพิธีของโบสถ์ที่อยู่ด้านล่างลงไป หากไฟไม่ดับเราก็จะเห็นไม้กางเขนแกะจากหินเกลือสูง 16 เมตร กว้าง 10 เมตรอยู่บนแท่นบูชาเอก

หลังจากอยู่ในความสลัวนานหลายนาที เป็นที่เข้าใจว่าคงไปต่อไม่ได้ คณะเดินมาถึงเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่มีใครบอกได้ว่าแสงสว่างจะกลับมาตอนกี่โมง และเวลาตอนนี้ก็ใกล้ 11.00 น. แต่ละคนจึงใช้ไฟฉายจากมือถือเดินย้อนทางเดิมกลับออกจากโบสถ์เหมือง ผมโทร.หาโชเฟอร์โดยพูดภาษาอังกฤษ เขาพูดสเปน คุยกัน 4 วินาทีก็เข้าใจความหมาย ตอนที่ออกจากปากทางเข้าโบสถ์เหมือง เห็นคิวซื้อตั๋วยาวกว่าเดิมสามสี่เท่า
ถึงร้าน Brasas del Llano ภัตตาหารเพลสำหรับพระสงฆ์รอไม่นานก็พร้อมประเคน ส่วนอาหารของคณะติดตามส่วนมากมาสั่งกันที่ร้าน พระฉันเสร็จ เด็กวัดก็รับประทานตามหลังอย่างลงตัว และเมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ก็ลงความเห็นตรงกันว่าจะไม่กลับไปที่โบสถ์เหมืองเกลืออีก เพราะไฟฟ้าอาจยังไม่ติด และถึงจะติดแล้วคนก็คงจะแน่นทั้งปากทางเข้าและภายในโบสถ์ เพราะเข้าคิวสะสมกันอยู่นาน

คุณทอดด์ถามเจ้าของร้านว่าดนตรีของโคลอมเบียแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร คงอยากจะให้เปิดจากเครื่องเล่น แต่เจ้าของร้านไปตามนักดนตรีมาจากไหนไม่รู้ ได้มา 1 วง สมาชิก 3 คน เครื่องดนตรีมีกลอง กีตาร์ และเครื่องเป่า โดยผู้เป่ามีย่ามบรรจุเครื่องเป่าหลายชนิด ดึงออกมาเป่าสลับชนิดไปมาอย่างคล่องแคล่ว สัมภาษณ์ภายหลังทราบว่าทั้ง 3 คนมาจากเปรู

คณะนักดนตรีให้ความบันเทิงอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง คณะโยมออกไปเต้นประกอบเพลงไว้ลายเลือดไทยตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้าย จบการแสดงมือกลองก็นำแฟลชไดรฟ์บันทึกเสียงดนตรีของพวกเขาออกขายชิ้นละ 50 เปโซ ผมซื้อมาด้วยจึงได้รู้ว่าวงของพวกเขาชื่อ MUYU MARKA แฟลชไดรฟ์บรรจุเพลงอยู่ประมาณ 10 ชุด ระบุว่าเล่นดนตรีแอนดีส (Musica Andina) และที่มาวันนี้ไม่ได้มาเต็มวง

วงดนตรี Muyu Marka จากเปรู

ขากลับเข้ากรุงโบโกตารถติดอย่างหนัก และพอถึงครึ่งทางฝนก็ตกลงมาซ้ำเติม กว่าจะถึงโรงแรมที่พักใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง

เช้าวันต่อมาซึ่งเป็นวันอาทิตย์ “มิสเตอร์ฌอน” ลูกศิษย์ชาวโคลอมเบียของท่านเจ้าคุณพระวิจิตรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดฟลอริดาธรรมมาราม จัดรถตู้มารับคณะสงฆ์และญาติโยมถึงโรงแรมย่าน Marly เขต Chapinero หรือเขตที่ 2 ไปยังสวนสาธารณะอูซาเกน เขตอูซาเกน (Usaquen) หรือเขตที่ 1 (กรุงโบโกตามี 20 เขต) ซึ่งทั้ง 2 เขตนี้ วิกิพีเดียระบุว่าเป็นเขตของชนชั้นผู้มีฐานะดี (Upper middle class และ Upper class)

ตลาดนัดประจำสัปดาห์ของอูซาเกนมีเจ้าของแผงค้ามาเริ่มจัดร้านบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เปิดขาย คณะสงฆ์วันนี้ผู้มีพรรษามากสุดคือท่านเจ้าคุณพระวิจิตรธรรมภาณี ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตไทยนิมนต์ท่านมาในงานไทย-โคลอมเบีย เพื่อแสดงธรรมเทศนาแก่ผู้ร่วมงาน วันนี้ท่านจึงอยู่หัวแถวเดินไปตามย่านตลาดตามคำแนะนำของมิสเตอร์ฌอน บรรดาญาติโยมติดตามเห็นอาหารที่น่าสนใจก็ซื้อติดไม้ติดมือเพื่อเตรียมตักบาตรฉันเพล

ย่านอูซาเกนนี้มีอาคารเก่าแก่สมัยอาณานิคมคล้ายๆ ย่านลากันเดลาเรียอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน และติดกับสวนสาธารณะอูซาเกนมีโบสถ์ที่มีชื่อเสียงคือ Santa Barbara de Usaquen สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1665

ตอนราวๆ 10 โมงคณะสงฆ์ใช้พื้นที่ด้านหน้าของโบสถ์ Santa Barbara ที่ยังไม่ถึงเวลาเข้าโบสถ์ของคริสต์ศาสนิกชนเป็นจุดรับบิณฑบาต ญาติโยมติดตามที่เป็นคนไทยมาจากสหรัฐอเมริกาเริ่มตักบาตรทีละคน ชาวโคลอมเบียและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสอบถาม พอได้ความแล้วก็สนใจ จำนวนหนึ่งไปซื้อของมาใส่บาตรบ้าง บางคนก็รับเอาจากญาติโยมติดตามที่มีของเตรียมไว้มากพอไปใส่บาตรต่ออีกทอดหนึ่ง เสมือนเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและสร้างบรรยากาศแห่งมิตรไมตรี ก่อนและระหว่างฉันเพลกลางสวนสาธารณะก็มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาพูดคุยและทำความเข้าใจกิจกรรมตักบาตร ทั้งไปหาของมาถวายและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

โคลอมเบียเวลานี้ยังมีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจจากกลุ่มติดอาวุธ

ตอนนั่งรถกลับระหว่างทางฝนตกลงมาอีกจนได้ และเท่าที่ผมสังเกต ตั้งแต่อยู่โบโกตามาเกือบ 1 สัปดาห์ ฝนจะตกลงมาทุกวันในช่วงบ่าย บางวันตกหนักจนน้ำขึ้นสูงแต่ระบายลงท่อไปอย่างรวดเร็ว วันนี้เราได้เห็นและได้ยินเสียงของลูกเห็บตกกระทบกระจกและตัวรถ ดังระรัวนานหลายนาที
วันต่อมาท่านเจ้าคุณพระวิจิตรธรรมภาณีและโยมอีก 1 คนเดินทางกลับอเมริกาตั้งแต่เช้าตรู่ คุณทอดด์ยังอยู่ต่อที่โบโกตา ส่วนคณะที่เหลือรวมทั้งตัวผมบินไปเมืองเลติเซีย

คณะใหญ่บินตอน 11 โมงกับสายการบิน LATAM ผมบินตามไปบ่ายโมงครึ่งด้วยสายการบิน Avianca ขึ้นเครื่องแล้วและเครื่องแท็กซี่ออกไปแช่นิ่งๆ เกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนจะออกไปยังรันเวย์และนักบินนำเครื่องขึ้น โดยใช้เวลาบินเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง จากปกติ 2 ชั่วโมง ซึ่งยังถึงช้ากว่ากำหนดอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง

พอผมรับกระเป๋าจากสายพานแล้วจะเดินออกไปขึ้นแท็กซี่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ถามหาเอกสารบางอย่าง ผมไม่เข้าใจ เขาชี้ไปยังเคาน์เตอร์ริมห้อง ตอนรอรับกระเป๋าผมก็สงสัยอยู่ว่าเหตุใดถึงมีคนเข้าคิวกันอยู่ตรงนี้ ปรากฏว่าเป็นจุดจ่ายค่าธรรมเนียมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังเมืองเลติเซียซึ่งเป็นเขตพื้นที่ป่าและแม่น้ำแอมะซอน ค่าธรรมเนียมคนละ 32,000 เปโซ หรือเกือบๆ 300 บาท คงเป็นรายได้สำหรับนำไปใช้ในการอนุรักษ์

คณะที่มาถึงก่อนส่งข้อความมาทางไลน์ แต่ผมส่งข้อความตอบไม่สำเร็จเพราะสัญญาณเครือข่าย Movil แย่เอามากๆ ไม่ใช่เพียงในพื้นที่ใกล้ป่าแอมะซอน แม้แต่ในกรุงโบโกตาก็ช้าอืดอาด มีคนโคลอมเบียเคยส่ายหน้าตอนที่เขาถามผมว่าใช้ซิมของบริษัทอะไร ความจริงใครๆ ก็แนะนำให้ใช้ Claro แต่ผมพลาดไปถามหาซื้อซิมการ์ด Claro ในห้าง Exito โดยที่ตอนนั้นไม่รู้ว่าห้าง Exito เจ้าของเดียวกับ Movil พนักงานบอกว่า Claro หมด เหลือแต่ Movil

พ้นจากเจ้าหน้าที่ตรวจใบเสร็จค่าธรรมเนียมเข้าพื้นที่แอมะซอนมาได้ มีชายคนหนึ่งหน้าตาชนพื้นเมืองเข้ามาขอช่วยถือกระเป๋า พูดคำว่า “แท็กซี่” ผมนึกว่าเขาเป็นโชเฟอร์แท็กซี่ก็เลยให้เขาช่วยลากกระเป๋า 1 ใบ ผมลาก 1 ใบ และสะพายเป้บนหลังอีกใบ

เดินไปอีกหน่อย ยังไม่ทันออกจากอาคารสนามบินก็มีหนุ่มอีกคน หน้าตายุโรป เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ

“ผมชื่อฆวนอันโตนิโอ มีอาชีพเป็นล่าม ในเลติเซียคุณจำเป็นต้องมีล่าม เพราะไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษกับคุณ”

สามคนเดินไปจนถึงจุดรอแท็กซี่ที่มีคนรออยู่เกือบ 20 คน ผมจึงรู้ว่าคนลากกระเป๋าให้ผมไม่ใช่โชเฟอร์แท็กซี่ แต่เขาก็ยังเข้าคิวต่อแถวกับผมด้วย ผมถามฆวนอันโตนิโอว่าควรให้หมอนี่กี่เปโซ เขาตอบว่า “ไม่ต้องให้หรอก หรือถ้าคุณสงสารก็ให้สัก 2 เปโซ” ผมขอเบอร์ฆวนอันโตนิโอไว้แล้วกล่าวลา

ย่านการค้าการท่องเที่ยวในเขตอูซาเกน ส่วน BBC ที่เห็นย่อมาจาก Bogota Beer Company

ถึงคิวแท็กซี่ของผมเข้ามาจอด ผมรีบยื่นให้คนช่วยลากกระเป๋า 2 เปโซก่อนที่เขาจะช่วยยกกระเป๋าขึ้นแท็กซี่ ซึ่งถ้าผมปล่อยให้เขาทำอย่างนั้นก็ไม่แคล้วต้องให้เขา 5 หรือ 10 เปโซ แล้วผมก็ยกกระเป๋าขึ้นท้ายรถแท็กซี่ด้วยตัวเอง

ถนนหนทางหลายช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ รถวิ่งโคลงไปเคลงมา โชเฟอร์แท็กซี่คิดค่าโดยสาร 10 เปโซ สำหรับระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรจากสนามบินถึงเกสต์เฮาส์ในตัวเมืองเลติเซีย

คณะที่มาถึงเมื่อตอนบ่ายออกไปหาตั๋วเรือสำหรับเดินทางล่องแอมะซอน ผมขอรหัส Wifi จากผู้ดูแลที่พักเพื่อจะแจ้งทางคณะใหญ่ว่าตามมาถึงแล้ว สัญญาณอินเทอร์เน็ตของที่พักช้าพอๆ กับเครือข่าย Movil

มักมีคนถามผมว่ามาต่างประเทศหลายวันคิดถึงเมืองไทยมั้ย คิดถึงอาหารไทยมั้ย บ่อยครั้งผมตอบกลับไปว่าคิดถึงถนนและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เมืองไทยมากกว่าครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย