2 ประเด็นสำคัญที่ไบเดนเผชิญในสมรภูมิยูเครน

สงครามยูเครนก้าวสู่เดือนที่ 5 นาโตยืนยันสนับสนุนยูเครนสู้กับรัสเซียต่อไป กองทัพรัสเซียมุ่งยึดพื้นที่ด้านตะวันออกตามยุทธศาสตร์สร้างเขตกันชนที่ประกาศตั้งแต่ต้น ผลคือแม้ยูเครนไม่สามารถทำลายกองทัพรัสเซียแต่สงครามยืดเยื้อตราบเท่าที่ 2 ฝ่ายยังไม่สงบศึก

ในมุมของสหรัฐผู้เป็นแกนนำนาโต คำถามคือสงครามนี้จะจบอย่างไร มี 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องคิดหนัก

ภาพ: ระดับราคาน้ำมัน WTI ย้อนหลัง 5 ปี
เครดิตภาพ: https://www.cnbc.com/quotes/@CL.1

ประการแรก ความเป็นเจ้าของสหรัฐ

แม้นาโตประกาศตั้งแต่ก่อนสงครามว่าการรบครั้งนี้ทหารนาโตจะไม่ปะทะกับทหารรัสเซีย เป็นการรบระหว่างยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น แต่เมื่อสงครามผ่านไปนาโตเริ่มส่งอาวุธช่วยยูเครน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรบยืดเยื้อ ในเวลาต่อมารัสเซียชี้ว่าเป็นสงครามเศรษฐกิจด้วย

สมรภูมิยูเครนมีส่วนคล้ายสงครามอัฟกานิสถาน พวกมูจาฮีดีน (Mujahidin) ต่อต้านการรุกรานของกองทัพโซเวียตเมื่อปี 1979 เหตุการณ์ครั้งนั้นรัฐบาลสหรัฐส่งอาวุธช่วยมูจาฮีดีน มีผู้อธิบายว่าเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสหรัฐกับโซเวียตรัสเซีย นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการให้สมรภูมิยูเครนเป็นเหมือนอัฟกานิสถานครั้งนั้น

แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน กองทัพรัสเซียค่อยๆ รบ หลีกเลี่ยงการปะทะการสูญเสียโดยไม่จำเป็น ดูเหมือนว่าเตรียมทำศึกระยะยาว

อาจวิเคราะห์ว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกยังมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายชนะ กองทัพรัสเซียอ่อนแอลงทุกที ยิ่งยืดเยื้อรัสเซียยิ่งมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำ พร้อมกับด้านเศรษฐกิจที่รัสเซียโดนกดดันอย่างหนัก ขอเพียงสมาชิกนาโตร่วมมือร่วมใจก็จะไม่แพ้ หรืออาจมองว่าหากยุติการรบตอนนี้การลงทุนที่ผ่านมาจะสูญเปล่า ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสงามๆ เล่นงานรัสเซียอีก ซ้ำร้ายกว่านั้นหากจบไม่สวยถูกตีความว่านาโตเป็นฝ่ายแพ้ เช่นนี้ย่อมยอมรับไม่ได้ สหรัฐไม่อาจสูญเสียความเป็นเจ้า การแพ้ในสมรภูมิเดียวบั่นทอนสถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ

ไม่ว่าจะใช้มุมมองใด เป้าหมายท้าทายของสหรัฐคือต้องการยุติสงครามโดยที่โลกรับรู้ว่ารัสเซียสูญเสียหนัก แม้ยูเครนต้องเสียดินแดนบางส่วนก็ตาม

รวมความแล้วศึกครั้งนี้เดิมพันสูง รัฐบาลไบเดนไม่อาจปล่อยให้ถูกตีความว่าสหรัฐเป็นฝ่ายแพ้ นาโตหรือฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายให้กับอำนาจนิยมรัสเซีย

เช่นเดียวกับประธานาธิบดีปูตินที่ไม่อยากเป็นฝ่ายแพ้เช่นกัน นักวิเคราะห์บางคนคิดว่าคนอย่างปูตินจะไม่ยอมเป็นฝ่ายแพ้เด็ดขาด Graham Allison จาก Harvard University ชี้ว่าถ้าจำเป็นปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายทุกสิ่งให้สิ้นซากดีกว่ายอมแพ้

ถ้ามองในกรอบรัสเซียเป็นผู้ถูกกระทำ รัสเซียถูกนาโตเล่นงานเรื่อยมา ครั้งนี้เป็นโอกาสเอาคืน ถ้าหากชนะย่อมเปิดทางแก่โอกาสดีๆ ตามมาอีกมาก

การศึกจึงต้องยืดเยื้อต่อ ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐประกาศให้พันธมิตรเตรียมตัวทำศึกหลายปี ไม่กี่วันต่อมา เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตพูดซ้ำ ขอให้เตรียมรับมือสงครามยูเครนแบบยาวๆ สมรภูมิยูเครนเข้าสู่การรบยืดเยื้อ ค่อยๆ บั่นทอนข้าศึก (a war of attrition)

พร้อมกับการรบคือเจรจาทั้งทางตรงทางลับจนกว่าฝ่ายหนึ่งจะชนะหรือได้ข้อตกลงที่ยอมรับได้ นาโตอยู่ระหว่างหารือเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์หลังสงครามยูเครน ในขณะที่รัสเซียดำเนินตามแผนของตนเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วการสงบศึกจะต้องเกิดขึ้นก่อน เป็นกระบวนการแรกสู่การจำกัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจการเมือง เปิดโอกาสให้โลกกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ประการที่ 2 ความสูญเสียทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง

ยุทธศาสตร์ของฝั่งสหรัฐกับพวกที่ใช้ตั้งแต่ต้นคือกระชับการปิดล้อมรัสเซีย ออกมาตรการคว่ำบาตรหลายระลอก โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นรายได้หลักของรัสเซีย หวังให้อียูเลิกซื้อ

ด้านรัฐบาลปูตินซึ่งเคยเผชิญการคว่ำบาตรใหญ่เมื่อปี 2014 สมัยยึดไครเมียโต้กลับทันควัน พร้อมเลิกสัญญาซื้อขายพลังงานที่ทำไว้กับชาติสมาชิกอียูและต้องซื้อด้วยเงินรูเบิล ผลจากการคว่ำบาตรทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเพิ่มขึ้นเท่าตัว (ยึดราคาน้ำมันดิบ WTI นับจากก่อนเกิดโควิด-19 จนถึงที่ระดับราคา 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนก๊าซธรรมชาติกับถ่านหินเพิ่มมากกว่าเท่าตัว)
ด้วยราคาที่ถีบตัวสูงขนาดนี้ไม่แปลกที่ Centre for Research on Energy and Clean Air (CREA) ชี้ว่า 100 วันสงครามยูเครน รัสเซียได้กำไรจากการส่งออกพลังงานฟอสซิล 98,000 ล้านดอลลาร์ (3.4 ล้านล้านบาท) เฉลี่ยแล้วส่งออกในราคาสูงกว่าปีก่อน 60%

Steve H Hanke จาก Johns Hopkins Institute อธิบายว่า การคว่ำบาตรส่งผลกระทบต่อผู้ออกมาตรการด้วย ฝ่ายการเมืองจะพยายามปกปิดไม่ให้สังคมรับรู้ว่าเสียหายหนักแค่ไหน สิ่งที่ปรากฏในสื่อไม่ใช่ทั้งหมด ความเสียหายจริงมากกว่านั้นมาก ในกรณีสงครามยูเครน อียูแบกรับความเสียหายมากกว่าสหรัฐหลายเท่าและสร้างความเสียหายแก่คนทั้งโลก พวกที่ได้รับผลรุนแรงสุดคือประเทศที่ยากจน พวกคนจนทั้งหลาย

นโยบายห้ามซื้อใช้พลังงานฟอสซิลรัสเซียทำให้ตลาดพลังงานโลกกลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แบ่งขั้วทางการเมือง การซื้อขายน้ำมันไม่เสรีอีกต่อไป (ไม่เสรีเท่าอดีต) ที่เป็นปัญหาคือทุกคนในโลกจะต้องซื้อใช้พลังงานในที่ราคาสูงขึ้นมาก

แต่ละปีทุกประเทศมีเงินเฟ้ออยู่แล้วจะมากหรือน้อยเท่านั้น (ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลทรัมป์กับไบเดนต่างอัดฉีดเงินช่วยเหลือเข้าระบบมหาศาล) การคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียทำให้ปัญหาเงินเฟ้อที่มีอยู่แต่เดิมรุนแรงขึ้นอีก ข้อมูลหลายประเทศชี้ชัดตรงกันว่าน้ำมันกับอาหารคือตัวสร้างเงินเฟ้อ

การแก้ภาวะเงินเฟ้อเงินล้นระบบเป็นเพียงจุดเริ่มของปัญหาที่จะตามมาอีกหลายขั้นตอน หลายคนเอ่ยถึงเศรษฐกิจถดถอย บางคนพูดถึง stagflation

ประเด็นอยู่ที่ว่า ความตั้งใจที่จะบั่นทอนเศรษฐกิจรัสเซียส่งผลรุนแรงต่อสหรัฐกับนานาชาติด้วย เป็นอีกครั้งที่นโยบายต่างประเทศสหรัฐสร้างความสูญเสียแก่นานาชาติอย่างร้ายแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งคนอเมริกัน 330 ล้านคน

เศรษฐกิจโลกโตช้าลง บางประเทศถดถอย ไม่เป็นผลดีต่อทั้งฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย ทั้งคู่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องดูแลเศรษฐกิจสังคมอย่างใกล้ชิด เมื่อเศรษฐกิจสังคมเสียหายมาก ประชาชนแสดงความไม่พอใจมากขึ้นตามลำดับ ถ้าพูดอย่างเป็นกลาง ต้องรอดูต่อไปว่าฝ่ายใดจะยอมแพ้ทางเศรษฐกิจการเมืองก่อน

สงครามยูเครนเป็นสมรภูมิจำกัดขอบเขต แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมแพร่ทั่วโลก สร้างความเสียหายมหาศาลมากกว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของยูเครนกับรัสเซียหลายเท่า
ทางออก ... จะออกทางไหน:

การศึกในยูเครนไม่ใช่เรื่องที่อยากเลิกก็เลิกได้ทันที เพราะสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าความเป็นไปของยูเครนที่มหาอำนาจไม่อาจสูญเสีย

ดังที่นำเสนอในบทความก่อนแล้วว่าเงินเฟ้อมาจากหลายปัจจัย แต่รอบนี้ที่กลายเป็นปัญหารุนแรงระดับโลกมาจากราคาพลังงานเป็นหลัก ทำให้สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน ดังนั้นลำพังการทำให้การซื้อขายพลังงานฟอสซิลกลับสู่ที่เดิมหรือชะลอการเปลี่ยนแปลงออกไป เพียงเท่านี้ปัจจัยทางจิตวิทยาจะดีขึ้นทันที กลับมามองอนาคตในแง่บวก ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการแก้ปัญหาจริงที่ต้องใช้เวลาอีกนาน

แต่เนื่องจากทั้งรัฐบาลสหรัฐกับรัสเซียต่างมีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา ไม่อาจสูญเสียเกียรติภูมิของมหาอำนาจ ถูกชี้ว่าเป็นฝ่ายแพ้ แนวทางยุติศึกจะต้องเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เหล่านี้เป็นอุปสรรคว่า “จะจบอย่างไร” หรือ “จะจบได้อย่างไร” อย่างไรก็ตามปัจจัยเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศ แรงกดดันจากนานาชาติน่าจะเป็นแรงผลักดันให้ได้ข้อสรุปในที่สุด และควรสังเกตว่ารัฐบาลเซเลนสกีแทบไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเหล่านี้เลย ทั้งๆ ที่ประเทศตัวเองเป็นพื้นที่สมรภูมิ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด

ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ

กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ

จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย

อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด