นายกรัฐมนตรีเสริมสร้างพลังสตรี

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีสตรีจากทั่วประเทศร่วมงานกันอย่างล้นหลาม และเมื่อได้ยินได้ฟังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีแล้ว ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความปลื้มปีติกับวิสัยทัศน์และทัศนคติของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของสตรีในหลายๆ ด้าน นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนพัฒนาศักยภาพสตรีอย่างรอบด้าน ยกระดับ การสร้างโอกาส การประกอบอาชีพ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพิ่มความมั่นคงทางรายได้ของสตรี อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสตรีให้มีบทบาทเป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ

โครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างโอกาสด้านอาชีพให้แก่สตรี อีกทั้งยังมีแนวทางที่จะสร้างสรรค์บทบาทสตรีให้มีส่วนในการพัฒนาชุมชนสู่ความเข้มแข็ง ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พลังงานสตรีขับเคลื่อนประเทศ” มีคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และผู้เข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วมงาน ใจความสำคัญของการปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีได้ชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันสังคมไทยได้เปิดโอกาสให้สตรีมีบทบาทมากขึ้น ทั้งบทบาทในครอบครัว บทบาททางสังคม บทบาททางเศรษฐกิจ รวมทั้งบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติ

บทบาทของสตรีในด้านครอบครัว คือ บทบาทของความเป็นแม่ที่ต้องเป็นหลักในการเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบใหญ่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ สอดคล้องกับโครงการพัฒนาเยาวชนที่เป็นความร่วมมือกันแบบบูรณาการของ 12 กระทรวง ที่มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนของเราให้เป็นคนเก่ง (Head) เป็นคนดี (Heart) และมีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) ทำหน้าที่ให้ความรักความอบอุ่น และสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมแก่ลูกเพื่อให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในสังคม นอกจากความเป็นแม่แล้ว นายกรัฐมนตรียังพูดถึงสตรีที่มีบทบาทของความเป็นลูกสาวที่ต้องดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา

นอกจากบทบาทในครอบครัวแล้ว ผู้หญิงยังมีบทบาทสำคัญในหลากหลายวงการ ทั้งในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง แสดงให้เห็นว่าสังคมให้โอกาสผู้หญิงในการเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ ไม่แพ้ผู้ชาย เป็นการส่งเสริมความทัดเทียมทางเพศ สังคมไทยในปัจจุบันยอมรับความสามารถของผู้หญิงมากยิ่งขึ้น รัฐบาลมุ่งยกระดับและสร้างโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น โดยได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนต่างๆ นี้เชื่อมโยงไปถึงการกำหนดแผนปฏิบัติการของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และโครงการต่างๆ ของสมาชิกกองทุนที่ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อพัฒนาศักยภาพของสตรีให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาในท้องที่ของตน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ นั่นคือ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เป็นการให้ความสำคัญกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ มีการขับเคลื่อนด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยให้สตรีมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการให้การสนับสนุนเงินอุดหนุนแก่สมาชิกกองทุนฯ ว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของสตรีมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2565 โดยได้มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนให้สมาชิกร่วมกันทำโครงการไปแล้วกว่า 24,683 โครงการ และให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนกว่า 65,891 โครงการ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม คณะทำงานทุกระดับทุกฝ่ายที่มีส่วนช่วยกันขับเคลื่อนในลักษณะของการรวมพลังกันทำงานแบบบูรณาการ นอกจากคณะทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐแล้ว สตรีที่สมาชิกในชุมชนต่างๆ ก็ได้มีบทบาทที่ช่วยกันระดมความคิดเห็นและออกแบบโครงการที่ตรงกับความต้องการของชุมชนตนเอง จนทำให้โครงการประสบความสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดีและเป็นที่ชื่นชมของฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการ เป็นความสำเร็จที่สตรีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของโครงการ

โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นโครงการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน เป็นการพัฒนาสินค้าจากวัตถุดิบและภูมิปัญญาในชุมชน ส่งเสริมสินค้าของชุมชนที่มีทั้งการใช้วัตถุดิบ การผลิต การตลาด การขาย ที่สตรีในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตามแนวทางการส่งเสริมของรัฐบาล ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เห็นความสำคัญของสตรีในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับชุมชน จากภาพความสำเร็จเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสตรี ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วที่มีโครงการที่เหมาะสมในการพัฒนาศักยภาพของสตรีให้เข้มแข็งและก้าวหน้า และโครงการนี้ก็จะยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน เพื่อความเข้มแข็งของทางด้านเศรษฐกิจของชุมชน เป็นการพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย แต่ยังคงดำรงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อสร้างความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ และตรงตามความต้องการของตลาด ไปจนถึงกระบวนการผลิต การแปรรูป การขนส่ง การตลาด การจัดจำหน่าย ในกระบวนการทางด้านเศรษฐกิจ โครงการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนยังคงมุ่งเน้นที่จะรักษาศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติตามปรัชญาของการพัฒนาบนรากฐานของความยั่งยืน ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาบทบาทสตรี สร้างความเข้มแข็งให้สตรีตามนโยบายของรัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัคนาธนูกับเค้าโครงชีวิตปี 2568

ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุขภาพอนามัย-หนี้สิน-ลูกน้องบริวาร และเกือบตลอดปีผู้หลักผู้ใหญ่อวยสถานะ-ยศ-เงินทองให้ แต่มีช่วงซ้อมรับทุกข์และการได้ความผิดที่ไม่ได้ก่อ

เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร

ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง

'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้

ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง

ได้ฤกษ์ 'นายพล' ล็อต 2

ผ่านเดดไลน์ตามคำสั่ง ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทุกหน่วยส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

'ดร.เสรี' กรีดเหวอะ! ใครมีลูกสาวเก่งพอที่จะเป็นนายกฯ ต้องบอกลูกให้มีผัว 9 คนอยู่ใน 9 ภาค

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า ใครมีลูกสาวที่เก่งพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องบอกลูกนะคะ