มะกันขึ้นดอกเบี้ยล่าสุด : ยาแรงกว่านี้คนไข้จะทนได้ไหม?

ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวแนวทางของธนาคารกลาง หรือ Fed ของสหรัฐฯ ในเมืองไทยต้องอดตาหลับขับตานอนเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา

เพราะมีคำประกาศของประธาน Fed คือคุณ Jerome Powell เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยที่มีผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลกภายในภาวะที่ผันผวนอย่างยิ่ง

หลังเที่ยงคืนของวันนั้น คำประกาศที่ออกมาของธนาคารกลางก็เป็นไปตามคาด (หรือที่กลัวกัน) คือขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไป 0.75%

ซึ่งเป็นก้าวกระโดดสูงสุดใน 28 ปีกันเลยทีเดียว

เพาเวลล์ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ “ไม่ปกติ” เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจมันผิดเพี้ยนไปจากปกติมาก

เมื่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปสูงสุดในกว่า 40 ปีสำหรับสหรัฐฯ ที่ 8.6% เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อาการป่วยไข้ก็ปรากฏชัด

เมื่อใช้ยาแรงคราวก่อนด้วยการขึ้นดอกเบี้ยในอัตรา 0.5% ไม่ได้ผล เพราะมีอาการดื้อยา ก็ต้องเพิ่มยาให้แรงขึ้นอีก ซึ่งก็ย่อมจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน

เพราะถ้ายาแรงขนาดนี้ยังเอาไม่อยู่ ก็เข้าสู่โหมด “ตัวใครตัวมัน” เป็นแน่แท้

 “เห็นได้ชัดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันนี้เป็นเรื่องใหญ่ผิดปกติ              และผมไม่คาดหวังว่าการเคลื่อนไหวขนาดนี้จะเป็นเรื่องปกติ” พาวเวลล์บอกนักข่าวที่ตั้งวงซักถามอย่างดุเดือด

เพราะดูเหมือนผู้คนจะเริ่มไม่ค่อยเชื่อน้ำยาของการวินิจฉัยโรคของธนาคารกลางแล้ว

ยาแรงพอหรือไม่ต้องดูที่ปฏิกิริยาจากตลาดหุ้นและตลาดการเงิน

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทันทีคือ

Dow Jones +303.7 จุด หรือ +1%

Nasdaq +270.8 จุด หรือ +2.5%

US 2Y Bond -0.24% US 10Y Bond -0.19% USD index ลดลง -0.654 มาที่ 104.864

Bitcoin ตอนแรกก็เฉยๆ ไม่มีผลทางบวกแต่อย่างใด แต่ต่อมาอีกไม่กี่ชั่วโมง เมื่อซึมซับข่าวแล้วก็กระเตื้องขึ้นบ้าง

ความจริงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ แวดวงต่างๆ ก็คาดการณ์ว่า Fed ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรงเพื่อส่งสัญญาณชัดๆ ให้กับตลาด

เพราะเพียงแต่กระตุกอย่างที่ทำมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ดูจะไร้ผลเสียแล้ว

สรุปว่า ผลที่ตามมาเป็นไปทางบวก ตลาดหุ้นดีขึ้นเล็กน้อย ค่าเงินสหรัฐอ่อนลงนิดหน่อย

แต่ก็เป็นการปรับตัว “อย่างระมัดระวัง” เหมือนไม่มีใครเชื่อใจใครเท่าไหร่

ที่นักสังเกตการณ์ต้องการรู้มากกว่านั้นคือ แนวโน้มจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

ในเมื่อใช้ยาแรงขนาดนี้แล้ว ยังมีทางเลือกอื่นใดเหลืออยู่ในการทำสงครามกับเงินเฟ้อหรือ

จึงต้องฟังคำตอบของคุณเพาเวลล์ต่อคำถามนักข่าวทั้งหมด 17 ข้อที่ค่อนข้างจะดุและแรง

เพราะก่อนหน้านี้นักข่าวสายการเงินอาจจะยอมฟังประธาน Fed ที่ให้ความมั่นใจกับสาธารณชนว่า

ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

แกใช้คำว่า transitory ซึ่งแปลว่ามันผ่านมาก็จะผ่านไป ไม่มีอะไรน่ากังวล

ที่ไหนได้ศัตรูตัวนี้ดื้อและร้ายกว่าที่คิด

ฟังจากจังหวะและลีลาการตอบคำถามของเพาเวลล์รอบนี้ค่อนข้างจะลังเล ไม่ฟันธงอย่างมั่นใจเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

จึงไม่ต้องสงสัยว่านักข่าวหลายคนสรุปว่าประธาน Fed ตอบแบบแทงกั๊ก หลบไปมา ตอบแบบกว้างๆ

และโยนบาปไปยังปัจจัยอื่นๆ ที่ “อยู่นอกเหนือการควบคุมของ Fed”

เหมือนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ชี้นิ้วไปที่ประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกวันนี้                  เพราะรัสเซียบุกยูเครน

น่าสังเกตประโยคที่เพาเวลล์ยอมรับว่า "Path to soft landing" ได้แคบลงและยากขึ้นมาก

แปลว่าเส้นทางหรือโอกาสที่จะให้เศรษฐกิจที่เลวร้ายนี้ “ร่อนลงอย่างนุ่มนวล” นั้นหดตัวไปมาก

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องเผื่อใจและเตรียมการสำหรับ Hard landing หรือเครื่องบินชนพื้นแรงตอนลง

แต่เขาก็ยืนยันว่า Fed จะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดบาดเจ็บหนักเกินไป

แกย้ำว่าอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ Fed ไม่อาจจะควบคุมได้หมด

และอาจจะมีบางอย่างที่ทำให้ soft landing มันอยู่นอกเหนือการควบคุม หรือ out of our hands ของกลไกธนาคารกลาง

พูดอย่างนี้ก็เท่ากับเป็นการเผื่อว่าจะมีข่าวร้ายหนักกว่านี้ จะได้ไม่โทษ Fed ว่างั้นเถอะ

นักข่าวถามว่าแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปเป็นอย่างไร แกก็เลี่ยงไม่ตอบตรงๆ

ไม่เหมือนครั้งก่อนที่กล้าทุบโต๊ะว่า "ไม่มี 0.75% และจะขึ้น 0.5% อีก 2-3 ครั้ง"

คราวนี้ตอบแบบเอาตัวรอดไว้ก่อนว่า "ครั้งหน้าอาจจะ 0.5% หรือ 0.75% ขึ้นกับข้อมูลที่ออกมา"

แต่ก็หยอดเอาไว้ว่า ไม่คิดว่าการขึ้นครั้งละ 0.75% จะเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดเป็นประจำ    

ผู้เชี่ยวชาญจึงวาดภาพให้เห็นว่า

หากนับจากระดับล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ 1.5%-1.75% หมายความว่า Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 1.75% ในการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้ง         โดยขึ้น 0.5% อีก 3 ครั้ง และจบลงด้วย 0.25% ตอนการประชุมงวดสุดท้ายของปี 

แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของ Fed จากนี้ถึงสิ้นปีก็คืออัตราว่างงานด้วย

เพาเวลล์พยากรณ์ว่าปีนี้ อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 3.7% ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 3.9% ปีถัดไปจะเป็น 4.1%

นักข่าวสายบู๊ซักว่าถ้าตัวเลขเป็นอย่างนี้จะตีความได้ไหมว่า Fed อาจจะจงใจทำให้คนตกงานเยอะๆ และให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession เพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อลงใช่ไหม

ถามอย่างนี้เท่ากับเป็นการยั่วให้ต้องอธิบายทิศทางให้ชัดเจนขึ้น ห้ามอ้ำๆ อึ้งๆ

ประธาน Fed ตอบว่า ถึงแม้คนจะตกงานเพิ่มขึ้น แต่ 4.1% ก็ถือว่าต่ำมากสำหรับมาตรฐานปกติของสหรัฐฯ

เพราะบางสำนักประเมินว่าอัตราการว่างงานปีหน้าอาจจะขึ้นไปสูงถึง 4.2-4.5% ด้วยซ้ำไป

พอเจอคำถามว่า คราวหน้าจะขึ้นดอกเบี้ยเป็น 1% เลยไหม

คุณเพาเวลล์ก็ติดมุม แกหลบฉากด้วยการสรุปว่า ทุกอย่างจะขึ้นกับข้อมูล ไม่ขอทำนายอะไรล่วงหน้าทั้งสิ้น

โดยเน้นว่าเป้าหมายหลักประการเดียวคือ การจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อให้จงได้

มีอาวุธเท่าไหร่ก็ต้องงัดออกมาใช้

ไม่ต้องแปลกใจว่า ประธาน Fed จะต้องมองหาสาเหตุต่างๆ ที่ “อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา”

เช่น สงครามยูเครน จีนปิดเมืองเพราะโควิด ราคาน้ำมัน ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นซึ่งอยู่นอกเหนือการบริหารของธนาคารกลาง

แต่ไม่โทษประสิทธิภาพของการประเมินสถานการณ์ และการใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพของตนเอง!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ