เมื่อจีนย้ำกับมะกันว่า พร้อมรบถ้าไต้หวันแยกตัว

จะเรียกว่า “วิวาทะ” อย่างเผ็ดร้อนก็ได้ หรือจะถือว่าเป็นการ “แลกหมัด” ระหว่างฝ่ายความมั่นคงของจีนและสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาก็ได้เช่นกัน

แต่เป็นดัชนีวัดความร้อนแรงของ 2 ยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีความเกี่ยวโยงกับ “ระเบียบโลกใหม่” ได้เป็นอย่างดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน เว่ย เฟิงเหอ เตือนสหรัฐฯ อย่าก้าวก่ายกิจการในประเทศและบีบคั้นจีนให้จนมุม

เพราะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน และนำไปสู่การเผชิญหน้าในการประชุมด้านความมั่นคงประจำปี แชงกรี-ลา ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue) ที่ประเทศสิงคโปร์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการใส่ร้ายป้ายสีและสกัดจีนหยุดการก้าวก่ายกิจการภายในของจีน

จีนย้ำว่าความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถยกระดับขึ้นได้จนกว่าฝั่งสหรัฐฯ จะทำตามเงื่อนไขดังกล่าว

รัฐมนตรีจีนบอกว่าไม่ว่าความพยายามของสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร สหรัฐฯ จะไม่ขัดขวางจีนจากความมุ่งมั่นในการต่อต้านการเป็นเอกราชของไต้หวัน

 “ประเทศไหนที่พยายามแบ่งแยกไต้หวันออกจากจีน จะถือว่าทำให้จีนไม่มีทางเลือก นอกจากจีนจะต่อสู้ทุกวิถีทาง และจะต่อสู้จนถึงที่สุด นี่คือทางเลือกเดียวของจีน...”

จีนย้ำว่าพร้อมจะทำสงครามหากไต้หวันพยายามจะแยกตัวออกจากจีน

 “แม้จะต้องแลกกับอะไรก็ยอม” คือจุดยืนหนักแน่นของปักกิ่ง

ท่าที รมต.เว่ย ของจีน เกิดขึ้นหลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ยืนยันว่าสหรัฐฯ จะดำเนินการตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ซึ่งอนุญาตให้มีการส่งอาวุธให้ไต้หวันเพื่อป้องกันตนเอง

จีนถือว่าเป็นการก้าวก่ายกิจการในประเทศโดยมหาอำนาจนอกภูมิภาค

การแลกเปลี่ยนวาทะร้อนแรงนี้เกิดขึ้นนอกรอบของการประชุมด้านความมั่นคงประจำปี Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์

เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังเกิดการระบาดของโควิด

หัวข้อถกแถลงเน้นไปที่ความสัมพันธ์และความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงโครงการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ และสงครามในยูเครน

อีกด้านหนึ่งที่สะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มระดับขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น เปิดเผยแผนที่จะส่งเสริมความสามารถทางทหารของประเทศ และช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล

นายกฯ คิชิดะ ระบุว่า “ยูเครนวันนี้อาจเป็นเอเชียตะวันออกในวันพรุ่งนี้”

เป็นคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบเพื่อชี้ว่า ประเด็นของไต้หวันอาจกลายมาเป็นภัยคุกคามแบบปัจจุบันทันด่วนต่อความสันติสุขของเอเชียตะวันออก

ผู้นำญี่ปุ่นยังเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลกรุงโตเกียวมีแผนที่จะจัดหาซื้ออาวุธต่อต้านการโจมตีใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือการโจมตีใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เขาเรียกสิ่งที่นำเสนอนี้ว่า Kishida’s Peace Vision หรือ “วิสัยทัศน์สำหรับสันติภาพของคิชิดะ”

ที่มีเป้าหมายช่วยเสริมสร้างงานด้านการทูตและความมั่นคงของญี่ปุ่น

ในจังหวะเดียวกันนั้น สื่อ Global Times กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดริเริ่มของญี่ปุ่นก่อนที่คิชิดะจะขึ้นกล่าวปราศรัย

บทนำนั้นบอกว่า “ญี่ปุ่นใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับ ‘การป้องกันวิกฤตเช่นเดียวกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ไม่ให้เกิดขึ้นในเอเชีย’ เพื่อปูทางให้กับความชอบธรรมสำหรับตนในการสมรู้ร่วมคิดกับนาโต และชักชวนให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเชื่อเช่นเดียวกันตน เพียงเพื่อพุ่งเป้าการโจมตีมายังจีน”

นอกจากประเด็นยูเครนแล้ว คิชิดะก็ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ซึ่งทำการยิงทดสอบขีปนาวุธมาแล้วถึง 18 รอบนับตั้งแต่ต้นปีมา เพื่อแสดงคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของตนที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

และยังแสดงความผิดหวังต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ไม่สามารถทำการใดๆ ต่อกรุงเปียงยางได้ เพราะสมาชิกบางประเทศ (คงหมายถึงจีนและรัสเซีย) สามารถใช้ออกเสียงยังยั้งมติได้

ประเด็นร้อนแรงที่กำลังถกเถียงกันอย่างหนักในญี่ปุ่น คือการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 2% ของประเทศเพื่อกิจการด้านทหาร

มองเห็นชัดว่าญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าพยายามที่จะก้าวให้พ้นเงาของสหรัฐฯ หลังจากที่ถูกรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยสหรัฐฯ ไม่จัดสรรงบทหารมานานนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างแหลมคมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมจีนและสหรัฐฯ ในที่ประชุมนี้คือสงครามยูเครน

รัฐมนตรีกลาโหมออสตินเรียกร้องให้จีนระงับการสนับสนุนด้านวัตถุใดๆ แก่รัสเซีย

จีนย้ำว่าปักกิ่งไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัสเซียแต่อย่างใด

แต่ทั้ง 2 รัฐมนตรีก็ได้ย้ำถึงการสื่อสารที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่างกองทัพทั้ง 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกที่กลายเป็นความขัดแย้ง

รัฐมนตรีเว่ยของจีนบอกว่า มีแนวคิดในการจัดตั้งกลไกการสื่อสารในภาวะวิกฤต เป็นไปได้ว่ากลไกเหล่านี้อาจมีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในปลายปีนี้

ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับไทยคือ การที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

โดยที่ภาพของ “ระเบียบโลกใหม่” หลังสงครามยูเครนยังมีความไม่แน่นอนสูงอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ