ขณะนี้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงภัยร้ายจากขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่กำจัดได้ยาก ทำให้หลายประเทศเริ่มกำหนดนโยบายเพื่อลดขยะดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู
ซึ่งล่าสุดได้มีข้อกำหนดและออกเป็นกฎระเบียบบังคับให้บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกและวางขายในท้องตลาด ต้องมีแผนการกำจัดบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน รวมถึงกำหนดเรื่องของกระบวนการผลิตที่จะต้องถูกตรวจสอบ มีแหล่งที่มา และนำกลับไปรีไซเคิลกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างปลอดภัย
และภายในปี พ.ศ.2567 ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วมโครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งยังได้กำหนดเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี 2573 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้
สำหรับประเทศไทยนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ตื่นตัวในเรื่องปัญหาโลกร้อนเช่นกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลาง หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 หรือปี พ.ศ.2608 ส่วนภาคเอกชนก็ได้ร่วมกับภาครัฐจัดเวทีให้ความรู้และผลักดันให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญในการนำกลไก EPR มาบริหารจัดการในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy : CE) และเป็นการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ BCG โมเดลของไทย
โดยมุ่งหวังที่จะขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Brand owner) เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ที่ไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่เพียงผู้ผลิต แต่รวมถึงผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้จัดเก็บรวบรวม หน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ที่จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา รวมทั้งขยะที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
และช่วงปลายเดือน ธ.ค.2564 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE ร่วมมือกับ 50 องค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ได้นำรูปแบบของ EPR มาปรับใช้เพื่อจัดการกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วในพื้นที่นำร่อง จ.ชลบุรี ภายใต้ “โครงการ PackBack…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน” เพื่อให้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ต้องยอมรับว่า ขยะเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย โดยปี 2564 ไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 24.98 ล้านตัน มีเพียง 9.28 ล้านตัน หรือประมาณ 37% เท่านั้นที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง และนำกลับมาใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน หรือ 32%
ซึ่งที่ผ่านมานั้นไทยได้กำหนดนโยบายต่างๆ ในการกำจัดขยะอย่างต่อเนื่อง เน้นหลักการการส่งเสริมให้ผู้ผลิตรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนเองหลังการบริโภคหรือ EPR มาใช้ โดยมีเป้าหมายการนำบรรจุภัณฑ์ 4 กลุ่ม ขยะพลาสติก, แก้ว, กระดาษและอะลูมิเนียม
ซึ่ง นภดล ศิวะบุตร รองประธาน TIPMSE ได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบการจัดการขยะของไทย ที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ภาคประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือน รวมถึงยังไม่มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในการคัดแยก ส่วนภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลเองก็ยังไม่มีเทคโนโลยีรองรับ แถมหน่วยงานรับผิดชอบมีหลายหน่วยงาน กรอบกฎหมายสำหรับ EPR หรือ Regulatory Framework และความมั่นคงของนโยบายภาครัฐที่หากเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายจะเปลี่ยนตามหรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไข
ขณะที่ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อรรถพล เจริญชันษา ย้ำว่า ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ EPR เพื่อขยายผลความร่วมมือแก้ไขขยะพลาสติก และยังเป็นภาคสมัครใจ แต่ระยะต่อไปกรมฯ กำลังพิจารณาที่จะยกร่างเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของโลกในการลดภาวะโลกร้อนเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น และมีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นภาคการส่งออกของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวรับมือ และต้องเดินหน้าสู่ EPR ภาคบังคับ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรปแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีผลกับประเทศคู่ค้า แต่ในอนาคตไม่ช้านี้เชื่อว่ากฎหมายนี้ต้องนำมาใช้กับประเทศคู่ค้าแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของไทยต้องเร่งปรับตัวรองรับไว้ เพื่อไม่ให้ถูกกีดกันทางการค้าในอนาคต และหากสามารถปรับตัวได้เร็วจะทำให้เป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการเอง.
บุญช่วย ค้ายาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ
ปี68ธุรกิจบริการอาหารยังโตต่อเนื่อง!
“ธุรกิจบริการอาหาร” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาในปี 2568 จากอานิสงส์ท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคอาหารน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐยังมีการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก