เมื่อวันเสาร์ ผมเขียนถึงโครงการ “ท่าเรือน้ำลึกดาราสาคร” ของกัมพูชาที่ติดอยู่กับจังหวัดตราดของไทย
มีมิติทางความมั่นคงที่เชื่อมกับจีน-สหรัฐฯ และหนีไม่พ้นต้องโยงถึงความมั่นคงของไทยด้วย
คุณปรางทิพย์ ดาวเรือง ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างน่าสนใจเล่าว่า
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศไทยประจำกรุงพนมเปญในรายงานปี 2563 ระบุว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกดาราสาครเป็นการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสองแห่ง
แห่งที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างสามารถรองรับเรือได้ 20,000 ตัน หรือเรือสินค้าสี่ลำพร้อมกัน
ส่วนท่าเรือน้ำลึกแห่งที่สองที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคตนั้น จะรองรับเรือได้สูงสุดถึง 100,000 ตัน ซึ่งเป็นศักยภาพที่ใหญ่กว่าท่าเรือแหลมฉบังของไทยถึง 1.2 เท่า
โดยแหลมฉบังมีศักยภาพ 83,000 ตัน นอกจากนั้นท่าเรือดาราสาครยังใหญ่กว่าท่าเรือน้ำลึกสีหนุที่เป็นท่าเรือนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา 6 เท่า และใหญ่กว่าท่าเรือนานาชาติพนมเปญ 20 เท่า
แม้โครงการดาราสาครจะเป็นการลงทุนของเอกชนโดยตรง แต่ท่าทีของผู้นำจีนและกัมพูชาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในสายตาของรัฐบาลไม่น้อย
เช่นคำกล่าวแสดงการยอมรับของ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เมื่อ พ.ศ.2558 ที่ว่าโครงการดาราสาครเป็น “เขตนำร่องการลงทุนและการพัฒนาที่ครอบคลุมกัมพูชา-จีน”
นอกจากนั้นใน พ.ศ.2559 เว็บไซต์ของบริษัท UDG รายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้การยอมรับโครงการนี้ในฐานะโครงการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ของ BRI
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนยังมีท่าทีเน้นย้ำความสำคัญของโครงการดาราสาครในวาระที่ต่างกัน
เช่นการที่นาย Zhang Gaoli สมาชิกคณะกรรมการกลางโปลิตบูโรแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นประธานในการเซ็นสัญญาโครงการ
หรือรายงานในเว็บไซต์ UDG เรื่องนาย Liao Keduo ผู้บังคับการทางการเมืองของกองบัญชาการทหารรักษาการณ์เทียนจินของกองทัพจีน (People's Liberation Army - PLA) กล่าวกับ พลเอกเตีย บัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เมื่อฝ่ายหลังเดินทางไปเยือนเทียนจินใน พ.ศ. 2558 ว่า
เขา “หวังว่าดาราสาคร ดอกไม้แห่งมิตรภาพที่หล่อเลี้ยงโดยประเทศจีนและกัมพูชา จะเบิกบานในเร็ววัน”
ข้อสังเกตเรื่องความเป็นไปได้ในการใช้ท่าเรือน้ำลึกดาราสาครเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เช่นรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ Financial Times พ.ศ.2559 อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาย Jeoff Wade
ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียว่าแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดาราสาครเป็นตัวอย่างล่าสุดเกี่ยวกับความพยายามของจีนในการควบคุมอำนาจทางทะเลในเอเชีย
โดยส่วนหนึ่งผ่านการก่อสร้าง ลงทุน และเข้าถึงเครือข่ายท่าเรือในภูมิภาค
แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าจีนมีเจตนาจะใช้ท่าเรือน้ำลึกเกาะนี้เพื่อประโยชน์ทางการทหาร แต่ท่าเรือแห่งนี้มีขนาดที่ใหญ่พอที่จะรองรับเรือรบและเรือพิฆาตของจีนได้หากจำเป็น
รายงานหน่วยราชการหรือนักวิเคราะห์ไทยก็กล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกัน
เช่นรายงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศไทย ณ กรุงพนมเปญ ที่ระบุว่าท่าเรือน้ำลึกดาราสาครนอกจากจะรองรับเรือที่ใช้ทางการทหารได้แล้ว ยังตั้งในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเข้าถึงอ่าวไทยและหมู่เกาะในทะเลจีนใต้โดยง่าย
เมื่อบวกกับศักยภาพของสนามบินนานาชาติดาราสาครที่มีรันเวย์ยาวถึง 3.4 กิโลเมตรที่สามารถรองรับการขึ้นลงอย่างรวดเร็วของเครื่องบินทหาร รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ จึงทำให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นที่สังเกตของนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้
ความเห็นเหล่านี้อาจฟังดูเกินกว่าเหตุถ้าปราศจากการศึกษาทัศนะภายในประเทศจีนเอง
งานวิจัยหัวข้อ Harbored Ambitions: How China's Port Investments are Strategically Reshaping the Indo-Pacific ยกตัวอย่างงานของ Jean-Marc F. Blanchard ปี 2560 ที่วิเคราะห์เนื้อหาของสมุดปกหัวข้อ “Asia-Pacific Security Cooperation” ของกองทัพจีนที่เขียนขึ้นในปี 2560 แล้วให้ความเห็นว่า
กองทัพจีนก็ไม่อาจตัดมิติด้านความมั่นคงจากยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลและ BRI ได้
ต่อให้รัฐบาลจีนตั้งใจให้มันอยู่เพียงในกรอบทางเศรษฐกิจจริงๆ ในสมุดปกขาวได้ระบุไว้ว่า ความมั่นคงและการพัฒนามีความเชื่อมโยงใกล้ชิดและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่ง Blanchard ถือว่าเป็นทัศนะหลักของกองทัพจีนในเอเชียแปซิฟิก
เขายังชี้ว่า นักวิเคราะห์ชาวจีนที่ศึกษาเรื่องการลงทุนท่าเรือน้ำลึกมักให้ความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติมากกว่าวัตถุประสงค์ด้านผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างที่ปรากฏในเอกสารทางการของจีน
ในขณะเดียวกัน ทัศนะของกองทัพก็เอื้อต่อแนวคิดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ประโยชน์ได้สองทาง (dual-used infrastructure)
ซึ่งหมายถึงความสามารถในการปรับท่าเรือน้ำลึกเชิงพาณิชย์ในต่างประเทศของจีนให้เป็นท่าเรือที่ใช้ประโยชน์ทางการทหารได้
โดย Zhang Jie นักวิชาการประจำ Chinese Academy of Social Sciences ได้เขียนแนะขั้นตอนการใช้ประโยชน์ท่าเรือในต่างประเทศไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2015 ว่า
จีนควรเริ่มต้นด้วยการลงทุนในท่าเรือ แล้วใช้ทรัพยากรท้องถิ่น ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดให้มีอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมสินแร่ และทำให้ท่าเรือนั้นค่อยๆ มีศักยภาพในการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์แก่เรือจีนจนกลายเป็นจุดสนับสนุนทางยุทธศาสตร์ของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมภายนอกที่ได้เปรียบ
สำหรับการผงาดขึ้นของจีน
ข้อสงสัยจากภายนอกทำให้กัมพูชาและจีนต้องออกมายืนยันปฏิเสธเป็นระยะๆ
ในเดือนธันวาคม 2561 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ Asia Times รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวทางการทูตว่า รัฐบาลจีนได้ดำเนินการลอบบี้กัมพูชามาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อใช้ท่าเรือและที่ดินขนาดใหญ่ในเกาะกงเป็นฐานทัพ
เป็นผลให้นาย John Sullivan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอเมริกาในเวลานั้นกล่าวว่า ถ้าหากรายงานนี้เป็นความจริง ก็จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชา
ทำให้นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ต้องเขียนจดหมายถึงนาย Mike Pence รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนั้นชี้แจงว่ารัฐธรรมนูญของกัมพูชาไม่อนุญาตให้มีการสร้างฐานทัพเพื่อกองทัพเรือ กองทัพบก หรือกองทัพอากาศของต่างชาติในราชอาณาจักร
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน พยายามแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวกับเพื่อนบ้านอาเซียน ในการเดินทางเยือนเวียดนามในเดือนเดียวกับที่มีรายงานข่าว เขากล่าวกับผู้นำเวียดนามว่าตนจะไม่อนุญาตให้มีฐานทัพต่างชาติในกัมพูชา
หนึ่งเดือนให้หลัง นาย Wang Chao รองประธานบริษัท UDG ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า โครงการดาราสาครเป็นโครงการเพื่อสร้างกำไรทางการค้า ไม่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างฐานทัพ
และได้แจกแจงกิจกรรมทางธุรกิจต่อรัฐบาลกัมพูชาอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นในข้อตกลงกับรัฐบาล
ความจริงเป็นเช่นไรอีกไม่นานก็จะชัดเจน....เพราะจีนกับสหรัฐฯ กำลังงัดข้อเรื่องฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาอย่างร้อนแรงอยู่ในขณะนี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ