ถิ่นนี้ชื่อว่า ‘ลา กันเดลาเรีย’

งาน Week of Friendly Countries, Colombia – Thailand : Strengthening relationships ปิดฉากลงในเวลาเที่ยงของวันที่ 21 เมษายน บ่ายวันเดียวกันคุณภูมิผู้มีถิ่นพำนักในเม็กซิโกและเคยเดินทางมาเที่ยวกรุงโบโกตา อาสาพาผมและพระศุภชัย สุภาจาโร พระธรรมทูตหนุ่มไปเดินเล่นที่ย่าน “ลา กันเดลาเรีย” (La Candeleria) เขตเมืองเก่าของกรุงโบโกตา และถือเป็น 1 ใน 20 เขตการปกครองส่วนท้องถิ่นของเมืองหลวงโคลอมเบีย

 

แท็กซี่อูเบอร์ฝ่าสายฝนโปรยไปจอดใกล้ๆ จัตุรัสโบลิวาร์ (Plaza de Bolivar) ตั้งตามชื่อของ “ซิมอน โบลิวาร์” ผู้นำการปฏิวัติอเมริกาใต้ตอนเหนือ ปลดปล่อยราชอาณาจักรกรานาดาใหม่ (Nuevo Reino de Granada) ซึ่งประกอบไปด้วยโคลอมเบีย เวเนซุเอลา ปานามา โบลิเวีย และเปรู ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิสเปนเมื่อปี ค.ศ.1819

นอกจากชาวโคลอมเบียจะถือว่าซิมอน โบลิวาร์ คือบิดาผู้สร้างชาติแล้ว เขายังได้รับการยกย่องสรรเสริญจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ไม่แพ้ที่โคลอมเบีย ชื่อของโบลิวาร์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศเวเนซุเอลา ในชื่อทางการ “สาธารณรัฐโบลิวาร์เวเนซุเอลา” สกุลเงินของเวเนซุเอลาคือ “เวเนซุเอลันโบลิวาร์” ส่วนชื่อประเทศโบลิเวียก็มาจากโบลิวาร์เช่นกัน ตามคำเสนอในการตั้งชื่อประเทศเมื่อปี ค.ศ.1825 ว่า “หากโรโมลุสให้กำเนิดชื่อกรุงโรม เมืองของโบลิวาร์ก็ต้องใช้ชื่อโบลิเวีย”

ชาวมุยสกา (Muisca) ชนพื้นเมืองดั้งเดิมก่อนการเข้ามาของสเปนในปี ค.ศ.1538 เคยเรียกดินแดนของพวกเขาว่า “บากาตา” แต่ถูกสเปนเปลี่ยนเป็น “ซานตาเฟ” (Santafe) ในปี ค.ศ.1540 และเมื่อโบลิวาร์พิชิตสเปนได้ เขาก็กลับไปใช้ชื่อเดิมเพื่อเป็นการให้เกียรติชาวมุยสกา แต่เพี้ยนนิดหน่อย เป็น “โบโกตา” นอกจากนี้ก็เพื่อเน้นย้ำการปลดแอกจากสเปนอย่างเด็ดขาด และโบโกตาได้กลายเป็นเมืองหลวงของ Gran Colombia ดินแดนส่วนใหญ่ทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้

ก่อนปี ค.ศ.1821 จัตุรัสแห่งนี้ใช้ชื่อ Plaza Mayor (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Main Square) แล้วจึงเปลี่ยนเป็น Plaza de la Constitución สำหรับชื่อ Plaza de Bolivar ได้เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1846 พร้อมกับเผยโฉมรูปปั้น “ซิมอน โบลิวาร์” บริเวณกลางจัตุรัส ถือเป็นอนุสาวรีย์แรกของเมือง

จัตุรัสโบลิวาร์ตั้งอยู่ระหว่าง Calle 10 และ 11 ตัดกับ Carrera 7 และ 8 มีพื้นที่ 13,903 ตารางเมตร ล้อมรอบสี่ด้านด้วยอาคารที่มีความสำคัญและโดดเด่นอย่างมาก ได้แก่ Palace of Justice ทางด้านทิศเหนือ, อาคาร Lievano Palace อดีตวังที่กลายมาเป็นศาลากลางของกรุงโบโกตาอยู่ทางทิศตะวันตก, Capitolio Nacional อาคารรัฐสภา อยู่ทางทิศใต้หรือด้านหลังของรูปปั้นท่านโบลิวาร์ และมหาวิหาร Bogota Metropolitan Basilica Cathedral ซึ่งอยู่ติดกับ Sacred Chapel และ Archiepiscopal Palace ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ซึ่งฝั่งนี้คนมักใช้เป็นฉากหลังในการถ่ายภาพมากกว่า 3 ด้านที่ได้กล่าวไป เพราะได้วิวยอดเขา “มอนเซราเต” ทางด้านหลังแถมมาด้วย

อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายในเขต ลา กันเดลาเรีย เป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าสแปนนิชบาโรก, สแปนิชโคโลเนียล และอาร์ตเดโก สถานที่สำคัญๆ ของเมืองอัดแน่นกันอยู่ในย่านนี้ โดยเฉพาะบรรดาพิพิธภัณฑ์ ที่โด่งดังมากเป็นพิเศษคือพิพิธภัณฑ์ทองคำ จัดแสดงงานฝีมือที่ทำจากทองคำและอัญมณีอื่นๆ ยุคก่อนอาณานิคม สำหรับทองคำนั้นถือเป็นคอลเล็กชันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

ลา กันเดลาเรีย คือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของกรุงโบโกตา แต่น่าแปลกใจที่มักจะได้ยินคำเตือนว่าในเวลากลางค่ำกลางคืนให้หลีกเลี่ยงการออกมาเดินตามถนนหนทาง เพราะเกิดเหตุโจรปล้นชิงทรัพย์นักท่องเที่ยวอยู่เนืองๆ

 

วันต่อมาเราได้ขึ้นไปดูวิวเมืองจากยอดเขามอนเซราเตช่วงพระอาทิตย์ตก กลับลงมาราวๆ 2 ทุ่ม ตอนนั่งแท็กซี่อูเบอร์ผ่านย่านลา กันเดลาเรีย บนบาทวิถีแทบไม่เหลือใคร นอกจากคนไร้บ้านและเด็กวัยรุ่นรวมตัวกันทำกิจกรรมบางอย่าง ที่ยืนเดี่ยวๆ ก็มี โชเฟอร์แท็กซี่บอกให้ผมเก็บโทรศัพท์ดีๆ ช่วงนี้อย่าควักออกมาใช้งานเป็นอันขาด เขาว่าแม้อยู่ในรถก็ไม่รอดมาหลายรายแล้ว ผมถามว่าพวกเขาจะมาชิงไปยังไง ได้รับคำตอบว่า “ก็ทุบกระจกน่ะสิ”

เราเดินชมอาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่าอยู่พักใหญ่ หมายจะไปให้ถึงทำเนียบประธานาธิบดี Casa de Narino ก่อนนี้เราเดินไปเจอเจ้าหน้าที่กั้นรั้วปิดเส้นทางมาครั้งหนึ่งแล้ว พอเราเดินอ้อมไปถึงด้านหน้าทำเนียบก็ถูกขอให้เดินอ้อมไปทางหนึ่งอีก จึงตัดสินใจเดินกลับจัตุรัสโบลิวาร์ และมาโผล่ตรงที่ถนน Calle 11 ตัดกับ Carrera 7

ข้าวของวางขายอยู่มากมายริมบาทวิถี แต่ที่สะดุดตามากที่สุดคือกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ และโมเดลรูปสัตว์ต่างๆ ที่นำธนบัตรมาสานจะเป็นรูปร่างและใช้งานได้ ธนบัตรล้วนของจริง และคงทำไม่ได้ถ้าไม่ใช่ธนบัตรของเวเนซุเอลา

แผงค้านี้ตั้งอยู่ติดผนังกำแพงฝั่งขวาของ Bogota Metropolitan Basilica Cathedral แม่ค้าตาคมหน้าหวานกล่าวทักทายและเชื้อเชิญให้ชมสินค้า เธอพอพูดภาษาอังกฤษได้ และตอบคำถามของเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

ธนบัตรเหล่านี้ส่วนหนึ่งเธอเป็นคนนำออกมาจากเวเนซุเอลา และญาติของเธอก็ขนมาสมทบด้วย แม้มูลค่าในปัจจุบันอาจไม่ต่างจากกระดาษ แต่ธนบัตรก็ไม่ไร้ค่าเสียทีเดียว เธอแปลงกระดาษให้เป็นชิ้นงาน และกลายเป็นสินค้าขายนักท่องเที่ยวเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

 

เรื่องราวที่เธอเล่าอาจไม่เป็นความจริงทั้งหมด เธออาจไม่ได้เป็นคนสานกระเป๋าด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เป็นจริงแน่นอนคือสภาพทางเศรษฐกิจสังคมสุดเลวร้ายในเวเนซุเอลา รวมถึงวิกฤตทางการเมือง ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรและสนับสนุนนักการเมืองฝั่งตรงข้ามกับประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ แม้มีแหล่งน้ำมันสำรองมากสุดในโลก แต่ปัจจุบันเวเนซุเอลาไม่สามารถขุดขึ้นมาค้าขายได้

มีเรื่องเล่าของคณะพระธุดงค์ในอีกราว 3 สัปดาห์ต่อมา ขณะข้ามแดนจากบราซิลไปฝั่งเวเนซุเอลา แท็กซี่ที่คณะโดยสารเกิดน้ำมันหมดกลางทาง ต้องจอดรถและขอความช่วยเหลือจากรถที่ผ่านไปมา สุดท้ายรถคันหนึ่งแบ่งน้ำมันให้ 2 ลิตรพอจะขับต่อไปจนถึงที่พักแรม

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาที่ระบุโดยธนาคารกลางเวเนซุเอลาเอง ระหว่างปี ค.ศ.2016 ถึง 2019 ได้ขึ้นไปถึง 53,798,500 เปอร์เซ็นต์ จากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อ 6 เวเนซุเอลันโบลิวาร์ ในปี ค.ศ.2013 ร่วงลงไปเหลือ 1 ดอลลาร์ต่อ 524,000 เวเนซุเอลันโบลิวาร์ในปัจจุบัน

เพื่อหลีกหนีความอดอยากหิวโหย การจลาจลบนท้องถนน ปัญหาอาชญากรรม และความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 จนถึงปลายปี ค.ศ.2021 มีชาวเวเนซุเอลาอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ 6.05 ล้านคน คิดเป็นประชากรราว 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ประมาณ 5.5 ล้านคน ข้ามพรมแดนมายังโคลอมเบีย จำนวนหนึ่งเดินทางต่อไปประเทศที่ 3 แต่ที่ปักหลักอยู่ในโคลอมเบียก็ไม่น้อย คือราวๆ 1.7 ล้านคน หรือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของที่อพยพเข้ามา

ระหว่างการระบาดของโควิด-19 การทำมาหากินของผู้อพยพ โดยเฉพาะในภาคส่วนของการท่องเที่ยวคงจะทวีความยากลำบากเข้าไปอีก

คุณภูมิและพระศุภชัยช่วยซื้อกระเป๋าและของที่ระลึกจำพวกพวงกุญแจไปหลายชิ้น พอทั้ง 2 ท่านจ่ายเป็นเงินดอลลาร์ คุณแม่ค้าก็ยิ่งดีใจ ผมขอถ่ายรูปเธอก็ยินดี จากที่ปกติแล้วต้องจ่ายค่าถ่ายรูปให้เธอ 1,000 โคลอมเบียนเปโซ หรือประมาณ 9 บาท

ในบรรดาของที่ระลึก มีฟ่อนธนบัตรสกุลเวเนซุเอลันโบลิวาร์แบ่งขายด้วย แต่ผมจำราคาไม่ได้ เช่นเดียวกับชื่อของเธอที่ถามแล้วแต่ก็จำไม่ได้เช่นกัน

ไม่ห่างจากร้านของสาวเวเนซุเอลา รถเข็นขายน้ำอ้อยจอดอยู่ พ่อค้าชนพื้นเมืองหีบแท่งอ้อยสดๆ ด้วยเครื่องหีบอัตโนมัติ คุณภูมิและผมลองชิมคนละแก้ว เรียกความสดชื่นกลับคืนมา และเดินต่อบนถนน Carreara 7 ขึ้นไปทางทิศเหนือ

 

ถนน Carrera 7 ที่ออกจากจัตุรัสโบลิวาร์เป็นถนนปลอดรถยนต์ ขนาดค่อนข้างกว้าง ทางจักรยานอยู่ตรงกลาง ทางเดินอยู่ขนาบซ้ายขวา อาคารพาณิชย์อยู่หลังทางเดิน พื้นที่ระหว่างทางเดินกับอาคารเป็นร้านค้าแผงลอยที่เปิดให้จับจองขายสินค้าตามถนัด ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า หนังสือ ซีดี งานฝีมือของชนพื้นเมือง ของที่ระลึกจิปาถะ และพวกนักดนตรีพร้อมกล่องรับบริจาค รวมถึงร้านซ่อมจักรยานแบบตั้งขึ้นชั่วคราว

 

บางกลุ่มคนไม่ขายสินค้า ไม่ขายบริการ แต่จับกลุ่มเล่นหมากรุกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ที่ผมเห็นมีอยู่อย่างน้อย 3 กลุ่ม กลุ่มละหลายกระดาน ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ไม่แน่อาจจะเป็นการแข่งขันชิงรางวัล

คุณภูมิแวะซื้อไส้กรอก มันฝรั่งต้มลูกเล็ก และหนังหมูทอดจากร้านรถเข็น ผมหยิบหนังหมูทอดมาชิมชิ้นหนึ่ง หนังหมูแข็งมาก กินเนื้อที่ติดหนังมานิดหน่อย คายหนังใส่มือแล้วแอบไปทิ้งถังขยะ ร้านรถเข็นขายหนังหมูทอดแบบนี้มีอยู่หลายร้าน พ่อค้าหน้าตาคล้ายชนพื้นเมือง หรือไม่ก็ผสมระหว่างชนพื้นเมืองกับลูกหลานทาสจากแอฟริกาที่สเปนนำมาใช้แรงงานเมื่อสมัยอาณานิคม

ตลอดเส้นทางที่เดินมา ผมมองหาแผงขายกระเป๋าทำจากธนบัตรเวเนซุเอลา พบอีกเพียง 1 แผงเท่านั้น ขนาดเล็กกว่าของแม่ค้าสาวราว 3 เท่าตัว

 

วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี คุณภูมิบอกว่าหากเป็นวันอาทิตย์บรรยากาศการจับจ่ายและการสัญจรของผู้คนจะยิ่งคึกคักขึ้นอีกหลายเท่า

 

เราเดินมาบนถนน Carrera 7 จนถึงแยกที่ตัดกับ Calle 22 หมดช่วงที่เปิดเป็นตลาดขายสินค้า รวมระยะทาง 1.3 กิโลเมตร แต่ถนนจักรยานยังทอดยาวต่อไปเรื่อยๆ

เราไม่ได้เดินต่อ เพราะแท็กซี่อูเบอร์ที่เรียกไว้จอดรออยู่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย