ปลายเดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) กล่าวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และ "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่" ในเบื้องต้นประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินเดีย
และ 7 ชาติอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งหมด 13 ประเทศ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย บทความนี้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้
ประการแรก สามารถแก้ขาดดุลการค้าได้หรือไม่
สหรัฐยอมรับว่าการค้าเสรีดั้งเดิม การให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเหตุผลสำคัญทำให้สหรัฐขาดดุลต่อเนื่องมหาศาล คำถามคือ การสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุน IPEF จะแก้ปัญหานี้ได้หรือตราบใดที่ระบบการผลิตของตนยังสู้หลายประเทศไม่ได้ แทนที่จะปรับปรุงเพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพกลับพยายามสร้างระบบที่เอื้อตนเองแต่เพิ่มต้นทุน ลดคุณภาพชีวิตของโลกโดยรวม
ตั้งแต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มาถึงโจ ไบเดน ในขณะนี้ (คนหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน กับอีกคนจากพรรคเดโมแครต) ต่างต่อต้านการค้าเสรีดั้งเดิมกับโลกาภิวัตน์ที่รุนแรง (hyperglobalization) ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐในอดีตล้วนมีส่วนผลักดันการค้าเสรีกับโลกาภิวัตน์ รวมทั้งสถาบันวิชาการของชาติตะวันตกที่พยายามให้ความรู้ว่าการค้าเสรีเป็นประโยชน์ ถูกต้องตามหลักวิชาการ อ้างหลักเศรษฐศาสตร์การแบ่งงานกันทำ มุ่งประสิทธิภาพสูงสุดอันจะก่อประโยชน์สูงสุดตามมา ยอมที่จะให้บางภาคส่วนของแต่ละประเทศต้องปรับตัวและยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
แต่บัดนี้รัฐบาลกับคลังสมองสหรัฐเปลี่ยนทิศจากหลักการเหล่านี้ มุ่งสู่ระเบียบโลกใหม่ในแบบที่สหรัฐได้ประโยชน์มากที่สุด การล้ม NAFTA (ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก) เป็นตัวอย่างที่ทำในสมัยทรัมป์ นำสู่ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดาใหม่ (United States–Mexico–Canada Agreement หรือ USMCA) ที่สหรัฐได้ประโยชน์มากจนพอใจ
น่าเห็นใจที่โรงงานหลายหมื่นแห่งต้องปิดตัว แรงงานอเมริกันนับแสนนับล้านตกงาน (หรือเปลี่ยนงาน) คนพวกนี้แหละที่ต่อต้านการค้าเสรี ต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าอเมริกาเสียเปรียบบางประเทศ เป็นแรงกดดันรัฐบาล
ตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนกำลังทำเช่นนี้กับอินโด-แปซิฟิก หาก IPEF ทำงานได้จริงและต่อเนื่อง ในระยะยาวจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ
ประการที่ 2 เรื่องของทวิภาคีกับความยั่งยืน
ลักษณะเด่นของ IPEF คือ การวางกรอบเศรษฐกิจที่เน้นความยืดหยุ่น อะไรเจรจาสำเร็จก่อนสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอเจรจาครบทุกด้าน ไม่ต้องรอชาติสมาชิกอื่น ดังนั้น แท้จริงแล้ว IPEF เหมือนกระบวนการเจรจาทวิภาคีระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับชาติสมาชิกแต่ละประเทศ ตามกรอบแนวทางที่รัฐบาลวางไว้
แน่นอนว่า ในภาพรวมจะมีการเชื่อมโยงภายในกลุ่มแต่จะเกิดตามหลัง
มาจึงจุดนี้มีคำถามหนึ่งที่พูดกันมาก คือ ข้อตกลงต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐหรือไม่
ในเบื้องต้นยังไม่มีคำตอบชัดเจน หากต้องผ่านสภาคองเกรสจะต้องเพิ่มเวลาของกระบวนการรัฐสภา ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ หากรัฐสภาไม่อนุมัติ การเจรจาสูญเปล่าซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะ IPEF เป็นแนวคิดของรัฐบาลไบเดนและพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน อาจไม่เห็นชอบ หรือมีเงื่อนไขข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การผ่านคองเกรสจึงเป็นเรื่องยาก เสียเวลา แม้ฝ่ายสนับสนุนให้รัฐสภารับรองชี้ว่าข้อตกลงแบบนี้คงทนมากกว่า เป็นประโยชน์มากกว่า ประวัติศาสตร์ชี้ว่าเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อย นั่นคือ เป็นนโยบายรัฐบาลแต่รัฐสภาไม่เห็นชอบ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลเห็นชอบแต่ถูกล้มในขั้นวุฒิสภา
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไบเดนอาจเน้นข้อตกลงที่ประธานาธิบดีตัดสินใจได้เลย ข้อเสียคือข้อตกลงอาจไม่ยืนยาวเมื่อถึงรัฐบาลชุดต่อไป อาจถูกล้มหรือต้องเจรจาปรับเปลี่ยนข้อตกลงอีกครั้งจนกว่ารัฐบาลสหรัฐชุดใหม่จะพอใจ เท่ากับว่าข้อตกลงอาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเป็นที่พอใจของรัฐบาลสหรัฐแต่ละชุด หรือไม่ IPEF อาจยุติที่รัฐบาลไบเดนนี้
ประการที่ 3 ชาติที่เข้าร่วมจะได้ประโยชน์หรือไม่
ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจหลายประเทศอยู่ในสภาพไม่สู้ดีอยู่แล้ว โควิด-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ เศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศ จนล่าสุดคือสงครามยูเครน เงินเฟ้อ น้ำมันแพง ทั้งหมดเป็นปัจจัยลบ รัฐบาลทุกประเทศดิ้นรนหาทางออก หากข้อเสนอของไบเดนเป็นประโยชน์ ประเทศต่างๆ ย่อมต้องทำข้อตกลง เกิดผลรูปธรรมอย่างรวดเร็ว
มีคำถามว่า ถ้ารัฐบาลไบเดนบอกว่า IPEF สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่สหรัฐ ทำไมไม่รวมจีนเข้ามา ซึ่งน่าจะสร้างประโยชน์ได้มหาศาล (การขาดดุลจีนเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลสหรัฐพูดมาตลอด) เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ทั้งๆ ที่แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐจะสัมพันธ์กับจีนอย่างสร้างสรรค์ในทุกเรื่องที่ทำได้ ไม่มีเหตุใดที่ 2 ชาติมหาอำนาจจะอยู่ร่วมกันโดยสันติไม่ได้ น่าสงสัยว่า IPEF ไม่สร้างสรรค์หรืออย่างไร
รัฐบาลทุกประเทศย่อมทำเพื่อประโยชน์ประเทศของตน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าแผนหรือสิ่งที่ทำมีคุณประโยชน์ต่อประเทศอื่นที่เข้าร่วมด้วยหรือไม่
แย่กว่านั้นคือ เป็นแผนบ่อนทำลายประเทศอื่นหรือไม่ เจตนาที่มุ่งหวังคืออะไร เหล่านี้เป็นคำถามที่ประเทศอื่นๆ จะตั้งคำถามอยู่เสมอ การเป็นหุ้นส่วน การเป็นพันธมิตรหมายถึงอย่างไรกันแน่ เป็นแนวทางที่หวังสร้างประโยชน์ให้กันและกันมากที่สุด หรือเป็นกลไกเพื่อควบคุมประเทศอื่นให้สหรัฐคงความเป็นเจ้าต่อไป จะเป็นอีกหลักฐานที่บ่งชี้ความต้องการที่แท้จริงของรัฐบาลอเมริกัน
Seun Sam จาก Royal Academy of Cambodia ชี้ประเด็นว่า รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าสนับสนุน ‘หลักอาเซียนเป็นศูนย์กลาง’ แต่ IPEF สนับสนุนชาติอาเซียนบางประเทศ ทิ้งบางประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา จึงตั้งคำถามว่าต้องการบ่อนทำลายเอกภาพอาเซียนหรือไม่ ที่ผ่านมาการจัดตั้ง AUKUS กับ Quad ที่สัมพันธ์กับภูมิภาคโดยตรง แต่กลับไม่มีชาติอาเซียนในนั้นเลย
วิเคราะห์: ถ้ายึดว่า IPEF มีมาตรฐานสูงและเห็นว่าบางประเทศไม่อาจปฏิบัติตาม แนวคิดของ Seun Sam อาจไม่ถูกต้อง แต่การกีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วมตอกย้ำการแบ่งขั้วชัดเจน
ท้ายที่สุดแล้วถูกวิพากษ์ว่าการเจรจาทำให้ชาติสมาชิกอื่นได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะชาติอาเซียนทั้ง 7 ประเทศที่เข้าร่วม (ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม)
ประการที่ 4 อีกหลักฐานการถดถอยของสหรัฐหรือไม่
หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐทุกชุดไม่ว่ามาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครต ต่างดำเนินนโยบายปิดล้อมจีน กีดกันเศรษฐกิจจีน เกิดแผนมากมาย เช่น TPP ในสมัยรัฐบาลโอบามา ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในสมัยทรัมป์ แต่แผนใหญ่ๆ ที่ว่าล้วนล้มเหลว รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถหยุดการก้าวขึ้นมาของจีน ทำได้เฉพาะประเด็น เช่น กีดกันบริษัทโทรคมนาคม เทคโนโลยีสื่อสาร 5G กีดกันนักศึกษาจีนไม่ให้ศึกษาต่อสหรัฐในบางสาขาวิชา ล่าสุดสหรัฐยังคงขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นทำลายสถิติต่อเนื่องแม้รัฐบาลทรัมป์จะตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน 20-30% แล้วก็ตาม และคาดว่าจะขาดดุลเช่นนี้อีกหลายปี
จึงน่าติดตามว่า IPEF ซึ่งเป็นนโยบายหลักของไบเดนเพื่อต้านเศรษฐกิจจีนจะได้ผลหรือไม่ หรือจะเป็นเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ล้มเหลวหรือไม่ค่อยได้ผล
และต้องไม่ลืมว่า IPEF คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหรัฐ ดังนั้นต้องเข้าใจว่าทั้งหมดคือการจัดระบบระเบียบทุกด้าน ทุกมิติ (ไม่ว่าจะการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมของภูมิภาค ฯลฯ) โดยรัฐบาลสหรัฐนั่นเอง
ถ้าไม่คิดเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและมองเฉพาะกรอบเศรษฐกิจโลกที่ยามนี้อ่อนไหว มีทีท่าอาจย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ ควรถามรัฐบาลไบเดนว่า IPEF จะช่วยชาติสมาชิกคู่เจรจาอย่างไร ช่วยให้เศรษฐกิจโต ประชาชนของเขาอยู่ดีมีสุขมากขึ้นหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด