ข่าวเกี่ยวกับ “ฐานทัพเรือเรียม” ในกัมพูชาใกล้บ้านเราที่รัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นนี้กลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง
วอชิงตันโพสต์รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ชาวตะวันตกว่า สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ที่ฐานทัพ Ream ของกัมพูชา ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวไทย ทางยุทธศาสตร์ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ "เฉพาะ" ของกองทัพเรือจีน
แต่รัฐบาลทั้งกัมพูชาและจีนออกมาปฏิเสธ โดยพนมเปญกล่าวว่า การพัฒนาฐานทัพนี้ “ไม่เป็นความลับ” แต่ประการใด
เตีย บันห์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชา และหวัง เวนเทียน เอกอัครราชทูตจีนไปร่วมในพิธีที่ประกาศว่าพร้อมเริ่มก่อสร้างในสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ที่นั่น
ซึ่งรวมถึงโรงซ่อมบำรุงเรือ ท่าเรือ 2 แห่ง ท่าเรือแห้ง ทางลื่น และการขุดลอกทรายสำหรับเรือขนาดใหญ่
ทูตจีนบอกนักข่าวว่า “กิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศที่ 3 และความร่วมมือระหว่างกองทัพทั้ง 2 จะเอื้อต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และการจัดหาสินค้าสาธารณะระหว่างประเทศได้ดีขึ้น” หวังกล่าว
เตีย บันห์ แจ้งว่าโครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากจีน รวมถึงการบริจาคยุทโธปกรณ์ทางทหารและการซ่อมแซมเรือรบกัมพูชา 8 ลำ รวมถึงการยกระดับและขยายโรงพยาบาล
“มีข้อกล่าวหาว่าฐานทัพ Ream สมัยใหม่จะถูกใช้โดยกองทัพจีนเท่านั้น ไม่จริง มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย” รัฐมนตรีกลาโหมเขมรบอกกับผู้คนหลายร้อยคน รวมถึงนักการทูตต่างประเทศที่มาร่วมพิธีวันนั้น
“อย่ากังวลมากไป ฐานทัพเรือแห่งนี้สั้นเกินไป…มันจะไม่เป็นภัยต่อใครไม่ว่าที่ไหนก็ตาม”
สเตฟานี อาร์เซต โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค “แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขาดความโปร่งใสในเจตนา ลักษณะและขอบเขตของโครงการนี้” รวมถึงบทบาทของจีนในการก่อสร้าง
“การปรากฏตัวทางทหารของจีนที่ฐานทัพเรียมอาจเป็นอันตรายต่อเอกราชของกัมพูชา และบ่อนทำลายความมั่นคงในภูมิภาค” โฆษกมะกันกล่าว
หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ก็มีข่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว
ปี 2019 Wall Street Journal รายงานเกี่ยวกับ “ร่างข้อตกลงลับ” ที่อนุญาตให้ปักกิ่งใช้ฐานทัพเรือของกัมพูชาแห่งนี้เพื่อกิจการด้านการทหาร
ที่เป็นประเด็นเพราะหลังจากมีข่าวเรื่องนี้ กัมพูชาก็ได้รื้อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ฐานทัพแห่งนี้ที่สร้างด้วยเงินช่วยเหลือของสหรัฐฯ
คนไทยควรสนใจเรื่องนี้ เพราะในแง่ยุทธศาสตร์แล้วมีความใกล้ชิดกับประเทศไทยไม่น้อย
ดูแผนที่นี้แล้วจะเห็นว่าเส้นทางเดินเรือจากจีนจากฝั่งทะเลจีนใต้สู่มหาสมุทรอินเดียนั้นต้องผ่านช่องแคบมะละกาเป็นหลัก
หากเกิดอุบัติเหตุหรือความตึงเครียดทางการเมืองหรือทางทหาร และช่องแคบถูกปิด จีนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสแน่นอน
เป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า
ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเล
และโครงการ “ท่าเรือน้ำลึกดาราสาคร” ที่สีหนุวิลล์ของกัมพูชา
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อมโยงโครงการนี้กับ “EEC” และ "คลองไทย" ของไทยเรา เป็นหัวข้อที่คนไทยควรจะสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะกรณีฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาที่กำลังเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชานั้นโยงไปถึงบทบาทของจีนที่ช่วยปรับปรุงทั้งฐานทัพเรือเรียมและโครงการดาราสาครที่ตั้งอยู่ใกล้กัน
อีกทั้งยังอยู่ไม่ห่างจากจังหวัดตราดของไทย
ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์นี่คือหัวข้อที่ควรแก่การศึกษาวิเคราะห์อย่างยิ่ง
คุณปรางทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยไทยได้ค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องนี้ ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับเธอในเรื่องนี้ จึงขอนำเอาบางตอนที่เธอได้สรุปเนื้อหามาสาธยายให้ฟัง
รัฐบาลจีนยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่ทำให้โครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ต้องชะงักงันทั่วโลก
ในเดือนมิถุนายน 2563 กระทรวงต่างประเทศจีนแถลงว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อร้อยละ 20-30 ของโครงการ BRI และร้อยละ 20 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
แต่ปัญหานี้ดูเหมือนจะมีข้อยกเว้นสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โครงการ BRI โดยรวมเดินหน้าไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้อาเซียนขึ้นครองตำแหน่งภูมิภาคที่มีการลงทุน BRI ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปพร้อมๆ กับการเป็นภูมิภาคคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในปีเดียวกัน
BRI ในอาเซียนสำคัญต่อจีนอย่างไร หนึ่งในคำตอบนี้อยู่ที่ความสำคัญของน่านน้ำทะเลจีนใต้ต่อความมั่นคงด้านพลังงานของจีนมานมนาน
เส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนใต้ที่เริ่มต้นจากช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางการนำเข้าน้ำมันดิบสายหลักของจีน
โดยตัวเลขใน พ.ศ.2559 รายงานโดยเว็บไซต์ ‘Strait of Malacca’ ระบุว่า ราวร้อยละ 90 ของการนำเข้าน้ำมันดิบ และร้อยละ 64 การค้าทางทะเลของจีนใช้การขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนในประเด็นทะเลจีนใต้จัดเป็นความสัมพันธ์ที่อีหลักอีเหลื่อและมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย
ด้วยข้อพิพาทช่วงชิงพื้นที่ในน่านน้ำระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนอย่างน้อย 4 ประเทศ ที่บางครั้งถึงขั้นมีการเผชิญหน้าทางทหาร นำไปสู่วลี ‘Malacca Dilemma’
ที่สะท้อนความวิตกว่า เส้นทางการเดินเรือสายหลักนี้จะถูกปิดโดยประเทศบางประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของประเทศสมาชิกอาเซียนยามที่ความขัดแย้งปะทุขึ้น
ในขณะที่จีนยืนยันว่า โครงการ BRI มีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจของตนและประเทศผู้รับโครงการ
แต่ปัญหาเฉพาะของทะเลจีนใต้ทำให้โครงการบางโครงการได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ
หนึ่งในนั้นคือโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดาราสาคร (Dara Sakor) ที่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา บริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทยติดชายแดนจังหวัดตราดของประเทศไทย
โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดาราสาครถูกจัดให้อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ BRI
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เขตทดลองการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างบริษัทเอกชนจีนกับรัฐบาลกัมพูชา’ ที่รู้จักกันในนามโครงการดาราสาคร
เป็นการลงทุนของบริษัทเอกชนจีน Union Development Group (UDG) ในเครือบริษัท Tianjin Wanlong Group ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีนที่เซ็นสัญญาสัมปทานเช่าที่ดินกับรัฐบาลกัมพูชา เป็นเวลา 99 ปี
พื้นที่ดังกล่าวมีขนาดกว่า 270,000 ไร่ ครอบคลุมร้อยละ 20 ของชายฝั่งใน 2 อำเภอหลักของจังหวัดเกาะกง คือ อำเภอคีรีสาคร (Kiri Sakor) และบ่อธมสาคร (Botum Sakor)
ท่าเรือน้ำลึกดาราสาครกลายเป็นประเด็นจับตามองของนักวิเคราะห์และสื่อมวลชน
เพราะความเหมาะเหม็งของศักยภาพและจุดที่ตั้งทางยุทธศาสตร์
แม้จะไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าปัจจุบันมีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างมากน้อยเพียงใด แต่โครงการนี้ก็ตกเป็นข่าวและข้อถกเถียงเป็นระยะในประเด็นว่าจีนมีเจตนาแอบแฝงในการใช้ประโยชน์ทางการทหารจากโครงการนี้ในอนาคตหรือไม่
หากสร้างเสร็จตามแผน ท่าเรือน้ำลึกดาราสาครจะมีศักยภาพเหนือกว่าท่าเรือน้ำลึกทั้งหมดในกัมพูชา และท่าเรือขนาดใหญ่ในภูมิภาคบางแห่ง รวมทั้งท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย.
(วันจันทร์ : ท่าเรือน้ำลึกดาราสาครกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงจีน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ